บนพื้นที่ 20 ไร่ ของมหาวิทยาลัยมหิดล นครสวรรค์ สร้างเป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องผึ้งและความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ BEE LAND ผึ้ง-เกษตรกรเลี้ยงผึ้ง-เกษตรกรปลูกลำไย คือความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นห่วงโซ่ที่ต้องพึ่งพากันและกัน ส่วนเครือข่าย”รักษ์ผึ้ง” คือข้อต่อของห่วงโซ่ที่จะสร้างความยั่งยืนของวงจรผึ้ง
วัชรีภรณ์ พันธ์ภูมิพฤกษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืน ซินเจนทา บริษัทชั้นนำของโลกด้านวิทยาศาสตร์การเกษตรเปิดเผยว่า หนึ่งในแผนงานสำคัญตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพขององค์การสหประชาชาติ คือ ซินเจนทาได้ร่วมกับโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดจันทบุรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินโครงการ “รักษ์ผึ้ง” มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 โดยจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ และพัฒนาโรงเรียนต้นแบบเครือข่ายการเรียนรู้ “รักษ์ผึ้ง” ผ่านงานวิจัยและการอบรมส่งเสริมให้แก่กลุ่มเกษตรกร โรงเรียน และชุมชนรอบพื้นที่เกษตรกรรมภาคกลางและภาคตะวันออก เพื่อเผยแพร่ความรู้ และสร้างความตระหนัก ในการรักษาระบบนิเวศ ดูแลแมลงผสมเกสร ตลอดจนรักษาความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
ดร. สิทธิพงษ์ วงศ์วิลาศ นักวิชาการศึกษา โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้ร่วมรับผิดชอบโครงการ “รักษ์ผึ้ง” กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ของมหาวิทยาลัยมหิดล นครสวรรค์ ได้จัดเป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องผึ้งและความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ BEE LAND เพื่อพัฒนาหลักสูตรการเรียนและการสอน เรื่องการเลี้ยง การเพิ่มผลผลิต และการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผึ้ง รวมทั้งได้ประสานกับโรงเรียนระดับมัธยม เพื่อสร้างโรงเรียนเครือข่ายการเรียนรู้ “รักษ์ผึ้ง” ในเบื้องต้นมี 10 แห่งในจังหวัดนครสวรรค์ และ 5 แห่งในจังหวัดจันทบุรี เข้าร่วมเป็นโรงเรียนต้นแบบ นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชนเกษตรกร อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนลำไยและผู้เลี้ยงผึ้งได้ประสานความร่วมมือ เพื่อรักษาระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพโดยได้ประโยชน์ร่วมกันอย่างสมดุลทั้งชาวสวนและผู้เลี้ยงผึ้ง
อานพ วนามี เจ้าของฟาร์มผึ้งสอยดาว เป็นประธานศูนย์ประสานงานโครงการ “รักษ์ผึ้ง” อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี กล่าวเสริมว่า หัวใจสำคัญของโครงการ คือ ซินเจนทาและมหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้ามาสร้างความเข้าใจและตอบสนองความต้องการระหว่างเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งกับผู้ปลูกผลไม้ให้ได้ผลผลิตอย่างปลอดภัยตามระบบ GAP เพราะการดำเนินงานจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ โดยเฉพาะกลุ่มลำไย ซึ่งต้องการให้ผึ้งมาช่วยในการผสมเกสรดอก ยิ่งได้รับการผสมเกสรมากเท่าใด ผลก็ยิ่งติดลูกมากเท่านั้น การใช้ผึ้งช่วยผสมเกสรสามารถเพิ่มอัตราการติดดอกได้เพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 30 ส่วนเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง ต้องการนำรังผึ้งไปวางในสวนต่าง ๆ เพื่อนำน้ำหวานจากเกสรดอกลำไยมาผลิตน้ำผึ้ง ซึ่งน้ำผึ้งจากดอกลำไยเป็นที่นิยมในตลาดไทยและตลาดต่างประเทศ อาทิ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เพราะมีกลิ่นหอมและหวาน ดังนั้น หากเจ้าของสวนและผู้เลี้ยงผึ้งมีความรู้และความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น ก็จะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยกับผู้บริโภคมากขึ้น ปัจจุบันได้รับความสนใจจากเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งประมาณ และชาวสวนลำไยเกือบ 100 ราย โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต
กมลชนก บุญฤทธิ์ ครูผู้สอนวิชาชีววิทยา โรงเรียนเซนต์โยเซฟนครสวรรค์ หนึ่งในโรงเรียนต้นแบบในเขตพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า การดำเนินงานในโรงเรียนต้นแบบเครือข่ายการเรียนรู้ “รักษ์ผึ้ง” จะนำองค์ความรู้เกี่ยวกับนิเวศวิทยาการเลี้ยงผึ้ง เข้าไปอยู่ในวิชาหมวดการงานอาชีพของนักศึกษาระดับมัธยมปลายในโรงเรียนเป้าหมาย โดยนักวิชาการจากซินเจนทาและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดลจะไปร่วมถ่ายทอดความรู้เชิงทฤษฎีและเปิดโอกาสให้ฝึกปฏิบัติจริงในหลายด้าน อาทิ การศึกษาสภาพแวดล้อม ชีววิทยาและพฤติกรรมของผึ้งต่าง ๆ การบริหารจัดการรังผึ้งและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผึ้ง เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและเกิดความเข้าใจจากการปฏิบัติจริง แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงได้มีการปรับรูปแบบเป็นการเรียนออนไลน์แทน
เช่นเดียวกับ โรงเรียนมะขามสรรเสริญ สุพร พงศ์วิฑูรย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนและที่ปรึกษาโครงการโรงเรียนต้นแบบในเขตพื้นที่จังหวัดจันทบุรี กล่าวสนับสนุนว่า โครงการ “รักษ์ผึ้ง” สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ด้านการศึกษาที่ว่า “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” เป็นการเสริมความรู้และทักษะการประกอบสัมมนาอาชีพที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 โดยโครงการดังกล่าว ให้ทั้งความรู้และแนวทางการปฏิบัติ อีกยังเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ การอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ปัจจุบันมีโรงเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษาในเขตพื้นที่จังหวัดจันทบุรีเข้าร่วมเป็นโรงเรียนต้นแบบแล้ว 5 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนวัดวังจะอ้าย โรงเรียนวัดหนองสลุด โรงเรียนวัดมะทาย โรงเรียนบ้านมะขาม และโรงเรียนมะขามสรรเสริญ รวมทั้งมีแผนจะขยายไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ในพื้นที่ทั่วตะวันออกในอนาคต
“ความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ โรงเรียนต้นแบบเครือข่าย และศูนย์เครือข่ายทั้งหมดนี้ เป็นความมุ่งมั่นและตั้งใจของซินเจนทา ในการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีมาช่วยเหลือเกษตรกรและภาคการเกษตรของไทย โดย โครงการรักษ์ผึ้ง เป็นหนึ่งตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของการผสมผสานวิถีแห่งธรรมชาติเข้ากับนวัตกรรมการเลี้ยงผึ้งและการบริหารการเพาะปลูกผลไม้ได้อย่างเหมาะสมและสร้างสรรค์ ทำให้สามารถดูแลและรักษาผลผลิต สร้างผลกำไร ลดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมให้แก่เกษตรกรและชุมชนโดยรอบได้อีกด้วย” นางสาววัชรีภรณ์ กล่าวสรุป