กระแสดราม่าบนโลกออนไลน์เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาถึงการคว่ำบาตรการใช้ฝ้ายซินเจียงของ แบรนด์แฟชั่นยักษ์ใหญ่จากชาติตะวันตกที่มองว่าการผลิตฝ้ายดังกล่าวเป็นการคุกคามสิทธิมนุษยชนในชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ ทำให้บรรดาซุปตาร์จีนที่เป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับแบรนด์เหล่านั้นต่างเข้าคิวยกเลิกสัญญาเพื่อปกป้องภาพลักษณ์ของประเทศจีนจากข้อครหาดังกล่าว
จากประเด็นดังกล่าวทำให้ เห็นว่าฝ้ายเป็นวัตถุดิบที่มีความสำคัญต่อการผลิตเสื้อผ้า โดยกระบวนการผลิตฝ้ายตั้งแต่การเพาะปลูกไปจนถึงกระบวนการฟอกย้อมต้องใช้น้ำและสารเคมีในปริมาณมากทำให้ดินและน้ำมีสารตกค้างและปนเปื้อน ซึ่งส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้บริโภคในระยะยาว ตามการรายงานของ Ellen MacArthur Foundation พบว่า ทุกๆวินาทีมีขยะเสื้อผ้าขนาด 1 คันรถบรรทุกถูกทิ้งในหลุมฝังกลบ ด้วยเหตุนี้ เหล่าดีไซเนอร์และแบรนด์ต่างๆจึงเริ่มให้ความสำคัญกับการ Upcycling เสื้อผ้าเพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์แฟชั่นที่ยั่งยืน
กระแส Upcycling ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากเหล่าดีไซเนอร์ และผู้บริโภค โดย youmatter.world ได้ให้ความหมายของ Upcycling ว่า เป็นกระบวนการในการยืดอายุของสิ่งของเก่าๆด้วยการดัดแปลงเป็นสิ่งใหม่และมีคุณค่ามากขึ้น โดยยังก่อให้เกิดประโยชน์เพิ่มเติม เช่น การได้ใช้ไอเดียใหม่ๆในการสร้างสรรค์เสื้อผ้าใหม่จากเสื้อผ้าเก่า ที่มีส่วนส่งเสริมให้เกิดแฟชั่นที่ยั่งยืน และยังทำให้ผู้ที่ต้องการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบสามารถเข้าถึงได้
หลายๆแบรนด์ให้ความสำคัญกับการลดปริมาณขยะแฟชั่น พร้อมกับการลดการปล่อยคาร์บอนตามนโยบายความยั่งยืนของแบรนด์ เช่น H&M ตั้งใจเข้าร่วมการสร้างความยั่งยืนด้วยการส่งเสริมให้ผู้บริโภคลดการทิ้งเสื้อผ้าลงถังขยะ โดยที่ร้านแฟล็กชิพของแบรนด์ในกรุงสต็อกโฮมได้มอบประสบการณ์ให้ผู้บริโภคสามารถซื้อเสื้อผ้าที่ผลิตจากเสื้อผ้าเก่าที่ผ่านกระบวนการผสมผสานเส้นใยเก่ากับเส้นใยใหม่เข้าด้วยกัน และ Fabscrap เป็นอีกหนึ่งโปรเจ็คที่เห็นคุณค่าของเศษขยะแฟชั่นที่เหลือจากการผลิตจึงเกิดเป็นไอเดียในการรีไซเคิลเศษขยะให้สามารถกลับมาใช้งานได้ใหม่
นอกจากนี้ ยังมีแหล่งไอเดียสำหรับการคืนชีวิตเสื้อผ้าเก่าให้มีชีวิตเหมือนใหม่อีกหลายแห่งที่พร้อมให้ผู้บริโภคได้นำมาใช้เป็นเรฟเรนส์ เช่น ADIFF แบรนด์แฟชั่นในนิวยอร์ค ที่ลงทุนเปิด Open source fashion cookbook เพื่อเป็นแนวทางในการดัดแปลงให้เสื้อเก่าค้างตู้กลับมาปังปุริเยอีกครั้ง หรือแม้แต่ Upcycled Design School ที่เปิดคอร์สออนไลน์ให้กับผู้ที่สนใจเรียนรู้การดัดแปลงเสื้อผ้าเก่าให้มีความ Wow ไม่เหมือนใคร เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าผู้บริโภคจะสนับสนุนเสื้อผ้าอัพไซเคิลของแบรนด์ต่างๆหรือจะดัดแปลงขึ้นมาเอง ต่างก็มีส่วนช่วยสร้างสรรค์แฟชั่นให้มีความยั่งยืนมากขึ้น และยังมีส่วนเปลี่ยนแปลงความหมายของคำว่าขยะอีกด้วย เพราะขยะของคนบางคนสามารถเป็นสิ่งที่ล้ำค่าสำหรับอีกคนหนึ่งได้
credit:wwwgoodnetorgarticleshow-to-repurpose-old-clothes-from-your-own-closet