เอไอเอส ระดมทีมจัดเต็มเครือข่ายสื่อสารในโรงพยาบาลสนามหลักทุกภาคทั่วไทยแล้วกว่า 31 แห่ง ล่าสุดเข้าติดตั้งระบบสื่อสารในโรงพยาบาลสนาม จุฬาฯ เตรียมเปิดรับผู้ป่วยสัปดาห์นี้
วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า “นับตั้งแต่เริ่มต้นการระบาดของโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา ทีมงานทุกคนมีความตั้งใจอย่างมากที่จะนำเทคโนโลยีสื่อสารเข้ามาสนับสนุนภารกิจการรับมือภาวะการระบาดให้ได้อย่างดีที่สุด ภายใต้โครงการ “AIS 5G สู้ภัยโควิด” ทั้งการสนับสนุนซิมการ์ดและ SMS ให้แก่โรงพยาบาลต่างๆเพื่อให้บริการ Telemedicine นำหุ่นยนต์ไปให้บริการเพื่อลดความเสี่ยงบุคลากรทางการแพทย์ รวมไปถึง การติดตั้งเครือข่ายสื่อสารในพื้นที่โรงพยาบาลสนามในพื้นที่เสี่ยงซึ่งปัจจุบันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งเพื่ออำนวยความสะดวก เสริมขีดความสามารถในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และให้กลุ่มผู้ป่วยได้มีโอกาสสื่อสารกับครอบครัวให้คลายความกังวล”
ล่าสุด ในสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอก 3 โดยเฉพาะในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร นอกจากโรงพยาบาลสนามในสังกัด กทม.ที่มีเครือข่ายของเอไอเอสพร้อมแล้ว ยังมีการเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง อาทิ โรงพยาบาลสนามของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังนั้นทีมวิศวกรเอไอเอส จึงเร่งติดตั้งและขยายความสามารถในการรองรับการใช้งาน พร้อมความครอบคลุมของเครือข่าย AIS 4G, 5G และ ติดตั้ง AIS Fiber พร้อมสัญญาณ Free WIFI สำหรับลูกค้ามือถือทุกค่ายเพื่อให้พร้อมต่อการเริ่มเปิดรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่จะเข้าพักรักษาตัวในสัปดาห์นี้อย่างเร่งด่วนในห้วงที่เตียงโรงพยาบาลต่าง ๆ ขาดแคลนอย่างหนัก
ด้าน ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนาม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้านสื่อสารองค์กร กล่าวว่า “โรงพยาบาลสนาม จุฬาฯ สามารถรองรับผู้ป่วยได้ จำนวน 100 เตียง โดยเป้าหมายของโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ เพื่อเป็นอีกจุดหนึ่งที่จะรองรับผู้ติดเชื้อโควิด ทั้งที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นแก่บุคคลใกล้ชิดผู้ป่วยและปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับสังคม นอกจากนั้นยังช่วยลดความเสี่ยงแก่บุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยทั่วไปที่ไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 ในโรงพยาบาลต่าง ๆ ด้วย ในช่วงต้นจะเริ่มให้บริการแก่บุคลากรและนิสิตก่อน”
โดยในส่วนของระบบสื่อสารที่เอไอเอสร่วมสนับสนุนครั้งนี้ ถือว่าตรงกับความจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งการเสริมขีดความสามารถการทำงานของทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ในการรับ/ส่งข้อมูล รวมไปถึงการให้ผู้ป่วยได้ใช้สื่อสารเพื่อลดความเครียดระหว่างการพักรักษา ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นได้ในเร็ววัน”