เที่ยวป่าชายเลนปากน้ำประแส แลวิถีชีวิตชุมชน

หนีความวุ่นวายในกรุงเทพฯเพื่อไปหาความสงบร่มรื่น สูดโอโซนและซึมซับความเขียวสดชื่นของป่าชายเลนที่จะช่วยเยียวยาทุกสิ่งที่ทำให้ระดับความเครียดหายไป กับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติใกล้กรุงเทพฯแค่นี้เอง นักท่องเที่ยวสายธรรมชาติเตรียมแพคกระเป๋าได้เลย


ป่าชายเลนปากน้ำประแส ตำบลปากน้ำประแส จ.ระยอง คือหมุดหมายปลายทางของการเดินทางของทริปนี้ โดยกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย เป็นผู้พาสื่อมวลชนมาเดินป่าชายเลนเพื่อเรียนรู้การอนุรักษ์ป่าชายเลน ซึ่งมี ดร.สนใจ หะวานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านป่าชายเลน เป็นผู้ให้ความรู้ถึงประโยชน์ของป่าชายเลนที่เป็นต้นกำเนิดของห่วงโซ่อาหารที่มีปลายทางคือสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์และสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน

ที่มา:ภาพรางวัลที่ 2 จากการประกวดภาพถ่าย”ห้องเรียนธรรมชาติ ป่าชายเลนปากน้ำประแส” กลุ่มบริษัทดาว

ทั้งนี้กลุ่มบริษัทดาวเป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนที่เข้ามาดำเนินการปลูกป่าชายเลนรวมกับชุมชนแห่งนี้มานานกว่า 10 ปีแล้ว ในโครงการ Dow & Thailand mangrove allience ซึ่งปัจจุบันโครงการนี้ได้ปลูกต้นไม้ในป่าชายเลนไปแล้วกว่า 20,000 ต้น บนพื้นที่ปาชายเลน 600 ไร่

ป่าชายเลนปากน้ำประแสมีพื้นที่ 6,000 ไร่ เป็นผืนป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในภาคตะวันออก ก่อนหน้านี้ป่าชายเลนแห่งนี้ถูกทำลายจากการบุกรุกของนากุ้งและการขยายตัวของชุมชนจนกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม ในที่สุดราชการได้ร่วมมือกับชุนชมและเอกชนหลาย ๆ แห่ง เพื่อฟื้นฟูป่าชายเลนให้กลับมาอุดมสมบูรณ์มีการปลูกป่าใหม่ขึ้นมาเป็นจำนวนหลายพันไร่ พร้อมพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน

การเดินชมป่าชายเลนปากน้ำประแสต้องเดินไปตามสะพานไม้ทอดยาว 2.7 กิโลเมตร ที่ใช้เป็นเส้นทางห้องเรียนศึกษาธรรมชาติ สองฟากของสะพานร่มรื่นไปด้วยไม้โกงกางที่แข่งกันสูงจนกลายเป็นร่มเงาให้แก่นักท่องเที่ยว เสน่ห์อย่างหนึ่งที่ป่าบกไม่มีคือรากของต้นไม้ในป่าชายเลนที่ขึ้นอยู่เหนือน้ำทะเล เป็นรากไม้ทำหน้าที่ค้ำยังลำต้น เหมือนคนกำลังกางแขนออก นอกจากนี้ยังมีรากที่ผุดเป็นตอขึ้นมาเหนือน้ำเพื่อดูดซับออกซิเจนไปสังเคราะห์แสง นี่คือเหตุผลที่ทำไมมาเที่ยวป่าชายเลนจึงได้รับอากาศบริสุทธิ์กว่าป่าบกหรือชายทะเล

เดินชมนกชมไม้เพลิน ๆ บางโมเม้นต์อาจจะได้ยินเสียงปลากระโดดขึ้นมาเหนือน้ำ ใช่แล้ว!! เพราะป่าชายเลนมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์จึงมีทั้ง กุ้งหอย ปู ปลาว่ายจากทะเลเข้ามาหาอาหารที่มีอยู่ชุกชุมในป่าชายเลนรวมทั้งแอบมาวางไข่ด้วย น้ำที่นี่ใสจนเห็นฝูงปลาแหวกว่ายไปมาได้ชัดเจน ชาวบ้านบอกว่าถ้ามาเที่ยวในช่วงเดือนมีนาคม-กันยายน เป็นฤดูน้ำลด จะได้เห็นความงดงามแปลกตาของป่าผืนนี้เหมือนเทพนิยายที่เปลี่ยนฉากใหม่ เมื่อน้ำลดภาพความมหัศจรรย์ของรากต้นโกงกางและต้นลำพูจะลอยเห็นเด่นชัดแผ่อาณาเขตกว้างไกลสุดลุกหูลูกตากลายเป็นศิลปะความงดงามที่ธรรมชาติแต่งแต้มให้มนุษย์ได้เรียนรู้ความพิสดารของธรรมชาติจากผืนป่า

เดินเล่นเย็นสบายไปตามสะพานไม้ที่ทอดยาวคดเคี้ยวไปไม่เกินครึ่งชั่วโมงก็จะมาโผล่บนพื้นที่โล่งกว้าง ในที่สุดก็มาถึงไฮไลต์ของป่าชายเลนปากน้ำประแส คือ “ทุ่งโปรงทอง” หนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของเมืองไทยที่หาดูได้ยากมาก ปกติต้นโปรงแดงเป็นไม้ขึ้นตามป่าชายเลนบริเวณเลนแข็ง เป็นไม้โตเร็วมีความสูงเกิน 10 เมตร มีใบเป็นสีเขียวตลอดทั้งปี

แต่ไม้โปรงทองที่ขึ้นบริเวณทุ่งแห่งนี้เรียกว่าขึ้นผิดที่ผิดทาง เพราะอยู่ในบริเวณที่น้ำทะเลท่วมไม่ถึง จึงมีธาตุอาหารน้อย ความชื้นน้อย เลยทำให้ลำต้นแคระแกรนใบออกสีเหลืองตลอดทั้งปี พื้นที่ปลูกต้นโปรงแดงนี้ประมาณ 100 กว่าไร่ จึงกลายเป็นภาพของต้นโปรงที่อวดใบเหลืองสีทองเต็มทุ่งอย่างสวยงามตลอดทั้งปี มุมนี้มีศาลาไม้ยกสูงให้เป็นจุดชมวิว 360 องศาและแชะภาพสวย ๆ เก็บไว้เป็นที่ระลึกอีกด้วย

มาเที่ยวป่าชายเลนให้ครบเครื่องต้องเช่าเรือลัดเลาะไปตามชายฝั่งเพื่อชมธรรมชาติและความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน ตั้งแต่มีการฟื้นฟูป่าชายเลนและพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ชาวบ้านชาวประแสก็ใช้เวลาว่างส่วนหนึ่งมาออกเรือพานักท่องเที่ยวชมความงามของป่าชายเลนหารายได้พิเศษให้ครอบครัว เรือหางยาว 1 ลำบรรทุกนักท่องเที่ยวได้ 7 คน ๆ ละ 100 บาท ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง เปิดให้บริการตั้งแต่ 6.00 – 17.00 น.

ลุงชมชาย ไกแก้ว เจ้าของเรือเช่าเล่าถึงเส้นทางที่จะพานักท่องเที่ยวไปชมธรรมชาติ พาไปดูนกหลากหลายสายพันธุ์ ผ่านบ้านโบราณอายุ 100 ปีของลุงสนาน เข้าทุ่งโปรงทอง ผ่านศาลสมเด็จกรมหลวงชุมพรฯ อนุสรณ์เรือรบหลวงประแส คนขับเรือส่วนมากใจดีนักท่องเที่ยวต้องการขึ้นบกไปชมอะไรก็จะแวะให้ตลอดเส้นทาง

ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนทำให้ชาวชุมชนที่นี่มารายได้จากทำประมงเลี้ยงตัวได้ตลอดทั้งปี ถ้าหน้าน้ำขึ้นชาวบ้านจะปักหลักไม้ไผ่ตามชายฝั่งเพื่อเลี้ยงหอยนางรมสร้างรายได้ปีละเป็นหลักแสนบาท รวมถึงหน้าน้ำมีตัวเคยชุกชุม ใครขยันก็เอายอมาดักจับเคยไปขายเพื่อทำกะปิ ซึ่งกะปิจากตัวเคยให้รสชาติที่อร่อยจนกลายเป็นสินค้า OTOP อันเลื่องชื่อของชุมชนประแส จ.ระยอง

ชาวบ้านเล่าว่าพอถึงช่วงน้ำลดเหล่าฝูงปูก็ออกจากรูมาเริงร่าตามดินเลนต้อนรับนักท่องเที่ยว ส่วนชาวบ้านก็จับคราดหาหอยแครง หอยตลับ จับปูดำ ปูแสม นำมาต้มแล้วตำพริกเกลือไว้จิ้มกิน จับได้มากก็นำไปขาย เรียกได้ว่าความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนกลายเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชุมชนให้มีอาชีพมั่นคง สุดแต่ว่าใครขยันก็หารายได้ได้มากขึ้น

กว่าจะจบกิจกรรมช่วงเช้าเวลาก็เดินมาถึงตอนเที่ยงแล้ว มาถึงประแสถ้าไม่แวะกินอาหารที่ร้านเจ๊หน่องแซบเว่อร์ ถือว่ายังมาไม่ถึงประแสอย่างถึงแก่น

ร้านเจ๊หน่องแซบเว่อร์ ตั้งอยู่ในชุมชนบ้านเก่าริมน้ำประแส ซึ่งเป็นชุมชนริมทะเลเก่าแก่อายุเกือบร้อยปี มาเดินที่ชุมชนนี้เหมือนย้อนยุคกลับไปสัก 50 ปีที่แล้ว เพราะบ้านแต่ละหลังเป็นเรือนแถวไม้เก่าๆ ดำรงอาชีพแบบเดิม ๆ มาตั้งแต่บรรพบุรุษบ้านเรือนตั้งอยู่สองฟากถนนที่ทอดไปสุดทางที่ท่าเรือ

 

ร้านเจ๊หน่องไม่เพียงแต่อาหารอร่อยเท่านั้น แต่ที่นี่เน้นใช้วัตถุดิบที่มีเฉพาะที่ปากน้ำประแสมาปรุงเป็นอาหารจานเด็ด เรียกว่าอยากรู้ว่าที่นี่มีของดีอะไร มาร้านนี้ได้กินครบ อาทิ ข้าวผัดประแสใช้ซีฟู้ดเช่น กุ้ง หมึก ปู ปลาที่ชาวประมงพื้นบ้านจับได้ ทีเด็ดของเมนูนี้คือใส่ตัวเคย ของดีตามธรรมชาติจากป่าชายเลนประแสที่มีชุกมาก ชาวบ้านยกยอเคยสด ๆ ก็นำมาส่งให้ร้านเจ๊หน่องบ้าง นำไปทำกะปิเคยบ้าง ทำข้าวเกรียบเคยบ้าง

ทอดมันปลาเนื้อเหนียวรสชาติจัดจ้านแบบไม่ง้อน้ำจิ้ม เจ๊หน่องใช้เนื้อปลาสากเป็นปลาที่มีชุกชนในท้องถิ่น ซึ่งทอดมันนี้ต้องกินคู่กับข้าวผักประแสถึงได้จะครบรสความอร่อยของท้องทะเลแห่งนี้ อีกเมนูที่ควรสั่งมากินคือ หมึกกะตอยผัดน้ำดำ เป็นหมึกกระตอยที่จับสด ๆ มาจากทะเลรสหวานกรอบเพราะไม่แช่น้ำ ,แกงส้มผักกระชับ เดิมผักกระชับเป็นผักพื้นบ้านของประแส แต่ปัจจุบันแหล่งปลูกใหญ่อยู่ที่ทะเลน้อย ร้านเจ๊หน่องนำผักกระชับมาทำถึง 4 เมนูคือแกงส้ม ยำ ผัดน้ำมันหอยและชุบแป้งทอด

จบอาหารคาวต้องปิดท้ายมือกลางวันแสนอร่อยด้วยเมนูห้ามพลาดคือ วุ้นใบขลู่ ซึ่งใบขลู่คือสมุนไพรขึ้นชื่อของที่นี่ เจ๊หน่องนำชาใบขลู่ที่มีกลิ่นหอมมาทำเป็นวุ้นแล้วใส่ลงใน”ขนมกะลา”ที่ทำจากมะพร้าวเคี่ยวกับน้ำตาลแล้วขึ้นรูปเป็นกะลา ซึ่งเป็นขนมหวานโบราณของชาวประแส

อิ่มกันจนพุงกางแล้วก็เดินเล่นกันต่อในชุมชน แวะทำหมอนสัตว์ทะเลกับชมรมบ้านเก่าริมน้ำประแส ทำง่าย ๆ เพราะมีแพทเทิร์นให้เรียบร้อย ทำไม่เป็นมีพวกกลุ่มแม่บ้านคอยสอน หรือใครจะซื้อหมอนรูปสัตว์ทะเลเป็นของฝากติดมือกลับบ้านก็ได้ นอกจากนี้ชาวบ้านริมน้ำยังทำของฝากที่ได้จากทะเล เช่น กะปิโฮมเมดที่ทำจากเคย ปลากุเลาเค็ม เคยแห้ง ปลาแห้ง เป็นต้น

กิจกรรมช่วงบ่ายยังมีให้สนุกกันต่อ นั่งรถสามล้อเครื่องไปบ้าน ลุงชะโลม วงศ์ทิม วิสาหกิจชุมชนชาใบขลู่และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ไปถึงลุงชโลมก็เสิร์ฟ wellcom drink เป็นชาใบขลู่ร้อน ๆ กลิ่นหอมอ่อน ๆ จิบแล้วชื่นใจมาก ลุงชะโลมเล่าเรื่องที่มาของชาใบขลู่ว่าเป็นสมุนไพรท้องถิ่นซึ่งเป็นภูมิปัญญาสืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น แล้วลุงชะโลมก็นำมาต่อยอดพัฒนาชาใบขลู่ให้มีคุณภาพดีขึ้น สะอาดถูกหลักอนามัย ในบ้านลุงชะโลมยังมีสมาชิกวิสาหกิจมาสาธิตการทำชาใบขลู่ให้ชมอีกด้วย

ชาใบขลู่มีสรรพคุณทางยา อาทิ ลดไขมันในเส้นเลือด บรรเทาเบาหวานและขับปัสสาวะ เป็นต้น ใครไปเที่ยวก็อย่าลืมอุดหนุนชาใบขลู่ของลุงชะโลมเป็นของฝากจากประแส ที่นอกจากมีประโยชน์แล้วยังเป็นการช่วยชุมชนให้มีรายได้อีกด้วย

อีกไฮไลต์ปิดท้ายเที่ยวป่าชายเลนปากน้ำประแสที่ห้ามพลาดเด็ดขาดคือนั่งแพเปียกไปให้อาหารเหยี่ยวแดง พวกเรามานั่งดื่มน้ำเย็น ๆ รอเวลาลงเรืออยู่ที่บ้านชานสมุทรซึ่งเป็นเกสต์เฮ้าส์และที่ลงแพเปียกด้วย ควรรอเวลาแดดร่มลมตกประมาณ 4 โมงเย็นถึงออกเรือจะได้ไม่ร้อนมาก

อู่ต่อเรือ ที่ตั้งอยู่ตามริมปากน้ำประแส

ได้เวลาเดินทางกันแล้ว แพแล่นช้า ๆ ไปตามชายฝั่งดูบ้านเรือนและวิถีชีวิตของคนประแสที่นอกจากจะมีอาชีพประมงแล้ว ชาวประแสยังเก่งเรื่องต่อเรือและซ่อมเรืออีกด้วย เก่งขนาดรับจ้างต่อเรือลำใหญ่ ๆ ให้ต่างชาติไปแล้วหลายลำ เวลาแพแล่นผ่านไปจึงเห็นอู่ต่อเรือหลายแห่งที่มีเรือจอดไว้เป็นจำนวนมากสลับกับบางบ้านที่แปลงมาเป็นเกสต์เฮ้าส์ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เริ่มรู้จักประแสมากขึ้น

ดูเพลิน ๆ แพก็พาออกไปถึงปากน้ำที่มีป่าชายเลนหนาแน่นมากเห็นเป็นแนวสีเขียวยาวสุดขอบฟ้าตัดกับน้ำทะเลและท้องฟ้าสดใส มาถึงจุดนี้แพก็จอดนิ่ง ๆ ปล่อยให้พวกเราดื่มด่ำกับบรรยากาศอันสวยงามของป่าชายเลนสักพักก่อน
แล้วก็ได้เวลาดินเนอร์ของฝูงเหยี่ยวแดงกันแล้ว ลุงขับแพหยิบนกหวีดขึ้นมาเป่าเสียงแหลมกรีดดังไปทั่วคุ้งน้ำ สักพักก็ได้ยินเสียงขานรับของเหยี่ยวแดงนกประจำถิ่นที่หลบอยู่ในป่าชายเลน ส่งสัญญาณคุยกันสักพักเหยี่ยวแดงฝูงใหญ่ก็บินปรากฏขึ้นเต็มท้องฟ้า ลุงขับแพจะโยนอาหารคือ”มันเปลว” ลงไปในน้ำเพื่อให้เหยี่ยวแดงบินโฉบมากิน หรือถ้าใครอยากจะลองให้อาหารเหยี่ยวแดงก็ได้เพราะเหยี่ยวแดงจะเชื่องมากแต่ไม่บินมาใกล้คน

เสร็จจากให้อาหารเหยี่ยวแดงแล้วยังเหลือเวลาให้นักท่องเที่ยวได้ลงเล่นน้ำรอบ ๆ แพเพื่อรอเก็บภาพสวย ๆ ตอนพระอาทิตย์ตกดิน เป็นการปิดทริปด้วยภาพแสนโรแมนติก

 

Stay Connected
Latest News