สตรอว์เบอร์รี่ลูกโต คือเงินโบนัสของเกษตรกรดอยคำ

สตรอว์เบอร์รี่เกรดพรีเมี่ยม AAA ( 16 ลูก/กล่อง ) ของดอยคำปีนี้ราคากล่องละ 550 บาท ราคานี้อาจจะดูว่าแพงกว่าสตรอว์เบอร์รี่ที่มีขายทั่วไปในท้องตลาด แต่ในฤดูกาลเก็บเกี่ยวสตรอว์เบอร์รี่ที่บรรจุผลสดใส่กล่องมาขายในร้านดอยคำสาขาที่กรุงเทพฯ กลับขายดิบขายดีแทบไม่พอขาย เพราะความสดอร่อยคำโตนั่นเอง

แต่เหนือกว่าความอร่อยที่ลูกค้าหลายคนยังไม่รู้ว่าสตรอว์เบอร์รี่ลูกโตแต่ละลูกที่กัดลงไปนั้น หมายถึงคุณกำลังแบ่งปันเงินส่วนหนึ่งไปเป็นเงินโบนัสให้กับของเกษตรกรปลูกที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้นในปีนี้

“สตรอว์เบอร์รี่เกรดพรีเมี่ยมไม่ใช่เป้าหมายหลักของดอยคำ แต่ที่เราทำคัดเกรดพรีเมี่ยมเพื่อให้เกษตรกรสามารถขาย สตรอว์เบอร์รี่ลูกโตที่ผลิตได้เพียง 3 – 5 %ของผลผลิตในราคาที่แพงขึ้น เหมือนเป็นโบนัสที่พวกเกษตรกรจะได้เงินก้อนใหญ่ในแต่ละปี” ธนกฤต จันทรสมบัติ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาเกษตร โรงงานหลวงอาหารสําเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จ.เชียงใหม่ กล่าว

การก่อเกิดบริษัทดอยคำ เนื่องมาจากพระราชวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงต้องการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรชาวไทยภูเขาให้ดีขึ้น ทรงส่งเสริมการปลูกพืชผลไม้เมืองหนาวแทนการปลูกฝิ่น พร้อมทรงมีพระราชดําริให้จัดตั้ง สหกรณ์ชาวเขา และโรงงานหลวงอาหารสําเร็จรูปขึ้น เพื่อรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรอย่างเป็นธรรม และแปรรูปผลผลิต ภายใต้ตราสินค้า “ดอยคํา” รวมถึงจัดให้มีการค้นคว้า วิจัย และพัฒนา โดยจัดตั้งเป็น นิติบุคคลภายใต้ชื่อ “บริษัท ดอยคําผลิตภัณฑ์อาหาร จํากัด” ดําเนินกิจการในรูปแบบ“ธุรกิจเพื่อสังคม” ในปีพ.ศ.2537

และสตรอว์เบอร์รี่ก็เป็นหนึ่งในผลไม้ที่ดอยคำให้ความสำคัญ พัฒนาสายพันธุ์พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก รวมทั้งรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในราคายุติธรรมเพื่อนำไปแปรรูป จนปัจจุบันสตรอว์เบอร์รี่กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญทางภาคเหนือไปแล้ว

บนพื้นที่เชิงเขาบริเวณหมู่บ้านหนองเต่า อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ เต็มไปด้วยไร่สตรอว์เบอร์รี่ที่เกษตรกรแถวนั้นหันมาปลูกกันอย่างจริงจังเมื่อ 5- 7 ปีที่ผ่านมาเพื่อทดแทนการปลูกลิ้นจี่ที่ผลผลิตตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ

มนูญ ภูแสนธนา หนึ่งในเกษตรกรผู้บุกเบิกการปลูกสตรอว์เบอร์รี่ของหมู่บ้านหนองเต่าเล่าให้ฟังว่าเขาเป็นคนแรก ๆ ในหมู่บ้านที่หันมาปลูกไร่สตรอว์เบอร์รี่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว มนูญจบปริญญาตรีสาขานิติศาสตร์ จากราชภัฎฯแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนจะผันตัวเองมาเป็นทำไร่สตรอว์เบอร์รี่นั้นเขาต้องไปทำงานรับจ้างในเมืองเพื่อแลกกับรายได้เดือนละ 15,000 บาท แม้จะประหยัดแต่การใช้ชีวิตในเมืองทำให้เขาไม่มีเงินเก็บเลย มนูญเล่าถึงเส้นทางที่ตัดสินใจมาปลูกสตรอว์เบอร์รี่ว่า

“ก่อนที่ตัดสินใจมาปลูกสตรอว์เบอร์รี่ ผมไปศึกษาวิธีการปลูกกับพี่เขยที่ดอยอินทนนท์มาก่อน เพราะผมไม่อยากล้มเหลว ถ้าทำต้องสำเร็จเพราะไม่อยากให้ใครมาดูถูกว่าเราจบปริญญาตรีแล้วทำไม่ได้”
การปลูกสตรอว์เบอร์รี่เป็นเพียงหนึ่งในพืชหลัก ๆ ของเกษตรกร เพราะฤดูกาลปลูกเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน และเริ่มเก็บผลสุกได้ตั้งแต่เดือนธันวาคมไปจนถึงเดือนเมษายน เมื่อหมดหน้าสตรอว์เบอร์รี่ เกษตรกรก็เริ่มไปเก็บเกี่ยวลิ้นจี่และพืชอื่น ๆ ต่อไป

มนูญ ภูแสนธนา

สำหรับมนูญเขาใช้พื้นที่ 1 งานที่แบ่งจากพ่อแม่มาทดลองปลูกสตรอว์เบอร์รี่ 1,500 ต้น ในปีแรกเก็บผลผลิตได้เงิน 6 หมื่นบาท ซึ่งเป็นรายได้ที่ดีมากสำหรับเขาเมื่อเทียบกับการปลูกลิ้นจี่ 10 ไร่ได้เงินเพียงปีละ 15,000 บาทเท่านั้น
จากนั้นมามนูญก็เริ่มบุกเบิกต่อยอดจาก 1 งานเป็น 2 งาน ความสำเร็จของมนูญกลายเป็นแรงผลักดันให้คนในหมู่บ้านหันมาปลูกสตรอว์เบอร์รี่กันกว่า 30 หลังคาเรือนจากที่มีอยู่ 85 หลังคาเรือนจนสตรอว์เบอร์รี่กลายเป็นอาชีพหลักของคนในหมู่บ้านหนองเต่าไปแล้ว

“การปลูกสตรอว์เบอร์รี่นั้น ดูแลค่อนข้างยากมาก ตอนนี้ดอยคำส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยพวกเราเพื่อให้คำแนะนำเรื่องวิธีการปลูก การดูแล รวมถึงรับซื้อผลผลิตไปแปรรูปในโรงงานทำให้ผลผลิตของเราดีขึ้นมากและเก็บผลได้มากขึ้นด้วย”
เมื่อมนูญมีประสบการณ์ในการปลูกสตรอว์เบอร์รี่มากยิ่งขึ้น เขาก็ขยับขึ้นมาปลูกสตรอว์เบอร์รี่พรีเมี่ยมลูกโตพิเศษเพื่อหารายได้เสริมจากการปลูกสตรอว์เบอร์รี่เกรดโรงงานเพื่อนำไปแปรรูป

“สำหรับสตรอว์เบอร์รี่เกรดพรีเมี่ยมผมต้องปลูกให้ได้ตรงกับมาตรฐานของดอยคำ คือทุกลูกต้องไม่มีตำหนิ มีความหวาน ลูกโต ปลอดสาร ซึ่งค่อนข้างยากมาก ต้องใช้เวลาในการดูแลอย่างมาก แต่ก็ทำให้ผมมีรายได้เพิ่มขึ้นมาก”
ดอยคำเพิ่งจะหันมาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกสตรอว์เบอร์รี่เกรดพรีเมี่ยมเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมานี่เอง ด้วยเหตุผลที่ว่าการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรเพื่อนำไปแปรรูปทั้งหมดยังไม่สามารถทำให้เกษตรกรมีเงินมากพอจะเลี้ยงครอบครัวได้ จึงเกิดแนวคิดที่จะคัดผลสตรอว์เบอร์รี่ที่ดีที่สุดในแปลงซึ่งมีไม่เกิน 3 – 5 % มาบรรจุลงกล่องเพื่อส่งขายผลสดในราคาพิเศษ ส่วนผลผลิตธรรมดาก็ส่งโรงงานเพื่อแปรรูปต่อไป

มาตรฐานสตรอว์เบอร์รี่เกรดพรีเมี่ยมนั้นเริ่มตั้งแต่ 1.ห้ามใช้สารเคมีซึ่งตอนรับซื้อจะต้อมีการตรวจทุกครั้ง 2. ความสุกในการเก็บเกี่ยวอยู่ที่ 90 % ซึ่งเป็นช่วงที่สตรอว์เบอร์รี่มีรสหวานที่สุด 3 ขนาดของผลต้องได้มาตรฐาน 4.ทุกลูกต้องไม่มีตำหนิ

“ความจริงการตั้งโรงงานหลวงขึ้นมาเพื่อรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรเพื่อนำมาแปรรูปเท่านั้น แต่สตรอว์เบอร์รี่เกรดโรงงานรับซื้อในราคาเพียงกก.ละ 45 บาท ต่อให้เกษตรกรปลูกส่งโรงงานหลวงทั้งหมดแม้จะมีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในแต่ละครัวเรือน แต่ไม่มีเงินก้อนสำหรับใช้จ่ายในแต่ละปี รายได้จากการปลูกสตรอว์เบอร์รี่พรีเมี่ยมจึงเหมือนเป็นโบนัสให้พวกเขาเอาไว้ใช้จ่าย ”ธนกฤต จันทรสมบัติ กล่าว

แต่การริเริ่มสตรอว์เบอร์รี่เกรดพรีเมี่มขึ้นมาโดยรับซื้อราคาตั้งแต่กิโลกรัมละ 300 – 500 บาท เพื่อช่วยพยุงให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น “ เราเห็นเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าเดิม ไม่ต้องออกจากหมู่บ้านเพื่อไปรับจ้างหาเงินช่วงนอกฤดูกาลถือว่าเราทำงานประสบความสำเร็จ”

7 ปีที่มนุญหันมาปลูกสตรอว์เบอร์รี่เพื่อส่งโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่1(ฝาง) ให้กับดอยคำ ชีวิตเขาก็เริ่มดีขึ้นตามลำดับ “ เมื่อก่อนลิ้นจี่ที่ปลูกเริ่มไม่มีผลผลิตทำให้ทุกครอบครัวมีหนี้สิน 2 – 3 หมื่นต่อปี เพราะรายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย หลังจากมาปลูกสตรอว์เบอร์รี่ ทุก ๆ วันผมเดินเข้าไปในไร่ก็สามารถเก็บผลขายได้เงินทุกวัน ยิ่งพอเข้าโครงการกับดอยคำ ผมรับเงินทุกวันจนกว่าจะหมดฤดูกาล มีรายรับเป็นก้อนพอที่จะไปจ่ายค่าเล่าเรียนให้ลูก” มนูญกล่าวด้วยใบหน้าที่มีรอยยิ้มอย่างมีความสุข

 

Stay Connected
Latest News