ทีเอ็มบี-ธนชาต เปิด 30 โครงการพลัง ONE Volunteer Spirit เปลี่ยนชุมชนให้ยั่งยืนตลอดปี 2563

ทีเอ็มบีและธนชาต ตอกย้ำพลัง ONE Volunteer Spirit เดินหน้าพัฒนากว่า 30 โครงการตลอดปี 2563 เปิดใจ 3 ตัวแทนอาสาสมัครจากทั่วประเทศร่วมโครงการพัฒนาชุมชน โดยนุ่งเน้น 3 เรืองหลัก คือ 1.พัฒนาแบรนด์และสินค้า ให้เติบโตต่อเนื่อง 2.พัฒนาศูนย์เรียนรู้และทักษะเพื่อชุมชน และ 3.พัฒนางานด้านบริการให้สอดคล้องกับบริบทชุมชน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อชุมชนดีขึ้นอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด Make REAL Change พร้อมเดินหน้าก้าวต่อไปในปี 2564

กาญจนา โรจวทัญญู ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการตลาด ทีเอ็มบี กล่าวว่าปี 2563 ปีแรกที่พนักงานทีเอ็มบี และธนชาตได้รวมพลัง ONE Volunteer Spirit ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวเพิ่มความแกร่งทั้งด้านไอเดีย และโอกาสมากยิ่งขึ้น นำทักษะ และองค์ความรู้ไปช่วยกันเปลี่ยนเพื่อชุมชนดีขึ้นอย่างยั่งยืน พัฒนาให้มีโครงการดี ๆ จำนวนมากถึง 30 โครงการ มีชาวชุมชนได้รับผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมเกือบสามหมื่นคน ตอบโจทย์ความต้องการ 3 เรื่องหลักที่สำคัญ คือ 1.พัฒนาแบรนด์และสินค้าให้เติบโตต่อเนื่อง (Better Brands & Better Products) 2.พัฒนาศูนย์เรียนรู้ และทักษะเพื่อชุมชน (Better Learning Centers) และ 3. พัฒนางานด้านบริการให้สอดคล้องกับบริบทชุมชน (Better Community Services) เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อชุมชนดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป เรียกว่าอาสาสมัครทีเอ็มบี และธนชาต ได้เข้าไปช่วยตั้งแต่การรับฟังถึงปัญหา ระดมความคิด รวมถึงการบริหารจัดการ และแก้ไขด้วยแนวทางใหม่ ๆ โดยใช้องค์ความรู้ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“กิจกรรม FAI-FAH for Communities ถือเป็นหนึ่งตัวอย่างสำคัญที่ทำให้ชุมชนและลูกค้า ได้เห็นถึงแนวทางการทำงานตามแนวคิด Make REAL Change โดยธนาคารมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนองค์กร ตอกย้ำเรื่องการเป็นผู้นำผ่านการทำงานอาสาสมัคร ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของพวกเราในการจุดประกายการให้คืนกลับสู่ชุมชน เพื่อสร้างนิยามใหม่ผ่านแนวคิดการดำเนินธุรกิจการธนาคารที่ยั่งยืน ที่ไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องธุรกิจเพียงอย่างเดียว และพร้อมเดินหน้าเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้ชุมชนในปีต่อไปอย่างแน่นอน”

ตมิสา นงค์สูงเนิน อาสาสมัครทีเอ็มบีและธนชาต โครงการพัฒนาสื่อออนไลน์กระจายความรู้ คืนสัตว์สู่ป่า

ตมิสา นงค์สูงเนิน อาสาสมัครทีเอ็มบีและธนชาต โครงการพัฒนาสื่อออนไลน์กระจายความรู้ คืนสัตว์สู่ป่า เผยว่า ได้เข้าร่วมกิจกรรมอาสาสมัครเป็นปีแรก เหตุที่เลือกโครงการนี้เพราะมองว่าสัตว์ป่าก็ควรได้รับการช่วยเหลือเช่นกัน ประกอบกับพอมีความรู้ในเรื่องสื่อดิจิทัล จึงร่วมกับเพื่อนอาสาสมัครในทีม ช่วยกันพัฒนาสื่อดิจิทัลของมูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทยทุกช่องทาง เพื่อให้คนสนใจเข้ามาร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือสัตว์ป่า”
โดยตมิสาได้เข้ามาพัฒนาแบรนด์ให้มูลนิธิฯ ให้เป็นที่รู้จักและจดจำได้ง่ายขึ้น ด้วยการดีไซน์โลโก้ใหม่ให้ทันสมัย พัฒนาสื่อโฆษณาต่าง ๆ ซึ่งเดิมมูลนิธิฯ มุ่งให้ความรู้กับเด็ก ๆ ตามโรงเรียน นอกจากนี้ ยังช่วยเรื่องแผนการตลาด พัฒนาสินค้าที่ระลึกเพื่อตอบแทนผู้บริจาคเงิน เพื่อให้มูลนิธิฯ สามารถนำไปต่อยอดใช้ในการระดมทุนต่อไป รวมทั้งจัดทำตู้บริจาค และดำเนินการให้มูลนิธิเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์ม “ปันบุญ” ของทีเอ็มบี” (ปันบุญ เป็นโซลูชันที่ทีเอ็มบีพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยเรื่องการบริหารจัดการแบบครบวงจร ทั้งด้านการเงิน การระดมทุนและการบริหารงานเอกสารต่างๆ ให้แก่มูลนิธิและองค์กรสาธารณกุศล โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการติดตั้งใดๆทั้งสิ้น)

“ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคม ภูมิใจที่องค์กรสนับสนุนให้พนักงานทำงานจิตอาสาเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือสังคม ซึ่งทำให้เราได้รับหลายสิ่งกลับมาด้วย นอกเหนือจากความสุขใจแล้ว ยังได้เรียนรู้โลกใหม่อีกใบที่ไม่เคยรู้มาก่อน และนำความรู้เหล่านี้มาแบ่งปันให้คนอื่น บางคนอาจมองว่าการช่วยเหลือสังคมต้องสละเวลา หรือต้องลงพื้นที่ แต่จริง ๆ แล้ว งานเพื่อสังคมมีมากกว่านั้น เราสามารถนำทักษะ องค์ความรู้ที่เรามีเข้าไปช่วยเหลือสังคมได้โดยใช้เวลาเพียงเล็กน้อย สามารถเลือกให้เหมาะสมกับเวลาที่มีอยู่ได้”

สุวลักษณ์ เสนาะจิต อาสาสมัครทีเอ็มบีและธนชาต โครงการปันน้ำใจรักษ์สู่โรงพยาบาลขอนแก่น 2

ด้าน สุวลักษณ์ เสนาะจิต อาสาสมัครทีเอ็มบีและธนชาต โครงการปันน้ำใจรักษ์สู่โรงพยาบาลขอนแก่น 2 กล่าวว่า จุดประสงค์หลักของโครงการต้องการสร้างกิจกรรมให้ผู้สูงอายุในชุมชนได้ทำร่วมกัน ลดภาวะความเครียดช่วยให้ ไม่เจ็บป่วย และมีรายได้เข้ามาเป็นตัวเสริม โดยชุมชนตั้งอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลขอนแก่น 2 มีความโดดเด่นเรื่องการนวดแผนไทย แต่ต้องซื้อยาหม่องและลูกประคบจากแหล่งอื่น ทั้งที่มีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่เป็นต้นแบบการทำผลิตภัณฑ์ในชุมชนอยู่แล้ว จึงชวนชุมชนใช้พื้นที่ว่างของโรงพยาบาลปลูกสมุนไพร เพื่อทำยาหม่องและลูกประคบใช้เอง พร้อมทั้งวางขายในโรงพยาบาล สร้างกิจกรรมยามว่างที่เป็นประโยชน์และสร้างรายได้ไปพร้อมกัน โดยทีมอาสาสมัครจะเข้าไปช่วยวางแผนการตลาด

“การทำยาหม่องและลูกประคบตอบโจทย์ทำให้ทั้งโรงพยาบาลและชุมชนได้ประโยชน์จริง ๆ เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้กันอยู่แล้ว ทำให้ไม่ต้องซื้อสินค้าจากที่อื่น แถมยังสร้างรายได้ให้กับคนไม่มีงานทำ ซึ่งวันนี้มีผู้สูงอายุเข้าร่วมโครงการเกือบ 20 คน ดีใจที่ธนาคารสนับสนุนให้พนักงานได้ทำกิจกรรมจิตอาสา ซึ่งช่วยฝึกให้จิตอาสาได้ทำงานเป็นทีม แบ่งงานกันทำตาม ความถนัด สามัคคี เสียสละ ทำให้โครงการเดินหน้าอย่างรวดเร็ว เพราะมีเป้าหมายอยากเห็นความสำเร็จร่วมกัน”

อีกหนึ่งเสียงสะท้อนจาก ว่าที่ร้อยตรีหญิง สิรินทร แย้มยี่สุ่น อาสาสมัครทีเอ็มบีและธนชาต โครงการเอื้อรักษ์ สินค้าดีเพื่อคุณ เพื่อชุมชน เพื่อโลกของเรา เผยว่า โครงการนี้เข้าไปช่วยเหลือวิสาหกิจ “ชุมชนรักษ์สิ่งแวดล้อม” ซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้สูงอายุ ผลิตสินค้า 4 ชนิด ได้แก่ ไม้กวาดจากขวดน้ำพลาสติก ไข่เค็มสมุนไพร ผงพอกสมุนไพร และน้ำยาล้างจาน ที่ได้รับรางวัลที่หนึ่งจากการเคหะแห่งชาติ ถือว่าเป็นสินค้าที่มีจุดแข็งอยู่แล้ว แต่ชุมชนยังขาดความรู้เรื่องแผนการตลาด จึงเข้าไปช่วยพัฒนาแบรนด์และออกแบบบรรจุภัณฑ์ พัฒนาสินค้าให้ทันสมัย เพิ่มมูลค่าการขาย ภายใต้แบรนด์ “เอื้อรักษ์” ที่มาจากชุมชนเอื้ออาทรผนวกกับกลุ่มวิสาหกิจรักษ์แวดล้อม พร้อมนำความรู้เรื่องการรับสมัครสมาชิก การจัดสรรรายได้ การประชุมประจำปี เข้าไปช่วยพัฒนาให้วิสาหกิจ เพื่อเปิดให้คนที่มีความรู้เรื่องโซเชียลมีเดียเข้ามาเป็นสมาชิก ช่วยเรื่องการขายผ่านออนไลน์

ว่าที่ร้อยตรีหญิง สิรินทร แย้มยี่สุ่น อาสาสมัครทีเอ็มบีและธนชาต โครงการเอื้อรักษ์ สินค้าดีเพื่อคุณ เพื่อชุมชน

“ในช่วง 3 เดือนของการดำเนินโครงการ เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งการสร้างแบรนด์ พัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าให้สินค้า รวมทั้งปรับวิธีการผลิตใช้เทคโนโลยีที่คิดค้นโดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี คลอง 6 เข้ามาผลิตไม้กวาดจากขวดน้ำพลาสติก ช่วยให้ผลิตสินค้าได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ชุมชนได้เรียนรู้แผนการตลาดและการวิเคราะห์คำนวณต้นทุนการผลิตก่อนที่จะตั้งราคาขายสินค้า ที่สำคัญสร้างความมั่นใจให้ชุมชนว่าเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงสามารถทำให้ทุกอย่างเดินหน้า และดีขึ้นกว่าเดิม”

“สิ่งที่อาสาสมัครทีเอ็มบีและธนชาตเข้าไปช่วยพัฒนา เชื่อว่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ซึ่งความสำเร็จของโครงการเกิดขึ้นได้ด้วยองค์ความรู้ และความมุ่งมั่นของทีมอาสาสมัครที่ช่วยกันบริหารจัดการ ก้าวข้ามปัญหาต่าง ๆ ทำงานกันเป็นทีม โดยสิ่งที่ได้รับจากโครงการนี้ไม่ใช่แค่ความสุข ยังได้มิตรภาพที่ได้จากเพื่อนต่างสาขา ได้เห็นวิธีคิดของเพื่อนในทีม ได้เรียนรู้กันและกัน นำความรู้มาส่งต่อ จึงอยากเชิญชวนพนักงานให้นำความรู้ความสามารถที่มีมาช่วยกันส่งต่อให้กับชุมชนและเยาวชน ในโครงการของธนาคาร ที่เปิดโอกาสให้เรียนรู้ เพิ่มทักษะใหม่ ๆ เหมือนเปิดโลกอีกใบ มีความสุขอย่างแน่นอน”

ไฟ-ฟ้า กิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืนจากทีเอ็มบี และ ธนชาต จะมุ่งมั่นและตั้งใจเดินหน้าจุดประกายเยาวชนและชุมชน ภายใต้ปรัชญา Make REAL Change และสามารถติดตาม FAI-FAH for Communities ทั้ง 30 โครงการจากเหล่าอาสาสมัครทีเอ็มบีและธนชาต เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมดีขึ้นอย่างยั่งยืนได้ที่ www.tmbfoundation.or.th

 

Stay Connected
Latest News