ส่อง 4 เทรนด์ธุรกิจด้านความยั่งยืนที่ต้องจับตาในปี 2021

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความยั่งยืนเป็นเทรนด์ที่ได้รับการตอบรับที่ดีในกลุ่มธุรกิจและมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เหตุการณ์การล็อกดาวน์จากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในปี 2020 ส่งผลให้รูปแบบการใช้ชีวิตและการทำงานของเราเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง และเนื่องจากเราลดการทำกิจกรรมนอกบ้าน จึงส่งผลให้มลพิษทางอากาศในเมืองและการปล่อยคาร์บอนทั่วโลกลดลง 7% แต่นั่นก็เป็นเพียงผลที่เกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น

ในปี 2020 บริษัทกว่า 9,600 แห่งได้เปิดเผยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมผ่านแพลตฟอร์ม CDP ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร พบว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาเติบโต 14% นอกจากนี้สินทรัพย์ที่ขับเคลื่อนด้วยการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบทั่วโลกมีมูลค่าถึง 40.5 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นสองเท่าจากเมื่อ 4 ปีก่อน เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น และยังเป็นจุดสนใจบนเวทีการเมืองระดับโลกอีกด้วย
จากสถานการณ์ข้างต้น จึงเป็นเหตุให้ Carlos Sanchez ที่ปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้สรุป 4 เทรนด์ธุรกิจที่ยั่งยืนที่น่าจับตาในปี 2021 ซึ่งได้แก่

เทรนด์ที่ 1 ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการออกแบบให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

จากวิกฤติสุขภาพ สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อไฟป่าในออสเตรเลีย และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ กำลังทำให้เราในฐานะผู้บริโภคต้องเพิ่มความสนใจมากขึ้นต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ผู้บริโภคมีความเข้าใจว่าพวกเขาจะสามารถมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้และตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของพวกเขาได้

ผลการศึกษาของ NYU Stern แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าผลิตภัณฑ์ที่มีการตลาดอย่างยั่งยืนจะเป็นเพียง 16% ของตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค (CPG) ที่มีการเติบโต 54% ในช่วงปี 2015-2019 แต่ผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายให้กับสินค้าเหล่านั้นในราคาที่สูงขึ้นถึง 39.5% เมื่อเทียบกับสินค้าทั่วไป ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นคนหนุ่มสาว คนที่มีการศึกษาดี และคนที่อาศัยอยู่ในเมือง

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงค่านิยมและความคิดของผู้บริโภคสอดคล้องกับคลื่นลูกใหม่ของผลิตภัณฑ์ด้านความยั่งยืนที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพตรงกับสินค้าทั่วไป ทั้งนี้ เทรนด์ธุรกิจด้านความยั่งยืนที่สำคัญนี้จะสร้างโอกาสแก่ผู้ที่เริ่มดำเนินการก่อนและก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อบริษัทที่เริ่มต้นช้า โดยผลิตภัณฑ์ที่จะต้องจับตามองมีทั้งหมด 4 ประเภท ได้แก่

อาหาร

อาหารสุขภาพที่มาจากท้องถิ่นที่มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในระดับต่ำนับเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ ทั้งนี้ การผลิตอาหารจะสร้างก๊าซเรือนกระจก 26% และส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการใช้ประโยชน์ที่ดินและการใช้น้ำจืด ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคเองก็สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ด้วยการกินอาหารที่ยั่งยืนที่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์และนมในปริมาณที่น้อยลง ก่อขยะน้อยลง และเพิ่มอาหารประเภทผักและพืชตระกูลถั่วมากขึ้น ดังนั้น การบริโภคเนื้อจากพืชและผลิตภัณฑ์แทนนมจึงกำลังเติบโตในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ตามการรายงานของ Nielsen พบว่า การขายเนื้อทดแทนในสหรัฐอเมริกาเติบโต 140% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
เครื่องนุ่งห่มและสินค้าแฟชั่นที่ยั่งยืน

ผลการสำรวจของ BCG บริษัทที่ให้คำปรึกษาด้านการบริหารและการจัดการองค์กร พบว่า 38% ของผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนมาใช้สินค้าจากแบรนด์ที่มุ่งมั่นให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยที่แบรนด์ต่างๆได้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคด้วยการเปลี่ยนมาใช้วัสดุที่ยั่งยืน สร้างความโปร่งใสผ่านซัพพลายเชนของแบรนด์ พร้อมกับการสร้างระบบแฟชั่นหมุนเวียนด้วยการออกแบบ ผลิต จำหน่าย และเก็บสินค้าที่จะสามารถนำมาใช้ซ้ำเละเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้

ไลฟ์สไตล์

ความมุ่งมั่นในการลดผลกระทบต่อโลกจะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้า การทำงานทางไกล บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน และการใช้ทรัพยากรน้อยลงของเศรษฐกิจ (Dematerialization) ซึ่งจะนำสู่การเกิดเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing economy) การปรับเข้าสู่ระบบดิจิทัล (Digitalization) หรือ คลาวด์โซลูชันในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

ฉลากสิ่งแวดล้อม (Eco-labels)

เทรนด์ที่สำคัญคือการให้ความรู้และแจ้งข้อมูลแก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ ซึ่งนั่นก็คือฉลากสิ่งแวดล้อมที่จะเป็นตัวให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคในแง่ของประโยชน์ด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม หรือสังคม จ ากการสำรวจของ Nielsen พบว่า 2 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อถือความคิดเห็นของผู้บริโภคที่แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อออนไลน์ ดังนั้น แบรนด์ต่างๆจะทุ่มเทความพยายามมากขึ้นในการทำบล็อก สื่อสังคมออนไลน์ และชุมชน ด้วยคอนเทนท์ที่ผู้บริโภคสร้างขึ้นมาเพื่อเพิ่มการยอมรับผลิตภัณฑ์ของแบรนด์

เทรนด์ที่ 2 การลงทุนด้าน ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล)

การลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG จะได้รับแรงผลักดันเพิ่มขึ้นในปี 2021 เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และผลกระทบของเหตุการณ์นี้จะเร่งความคิดที่ว่าบริษัทต่างๆควรมองการณ์ไกลกว่าผลกำไร และเป้าหมายของธุรกิจควรสอดคล้องกับปัญหาสังคมเร่งด่วนของโลก ตามการรายงานของ Opimas LLC บริษัทที่ปรึกษาด้านตลาดทุน พบว่า มูลค่าของทรัพย์สินทั่วโลกที่ใช้ปัจจัย ESG เพื่อขับเคลื่อนการตัดสินใจด้านการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตลอดระยะเวลา 4 ปี ที่ผ่านมา คิดเป็น 40.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2020

ในขณะที่นักลงทุนต่างเร่งรวมปัจจัย ESG เข้ากับเกณฑ์การลงทุน หลายๆคนพยายามที่จะเปรียบเทียบการจัดอันดับบริษัทด้าน ESG ซึ่งปัญหาก็คือยังขาดมาตรฐานในการจัดอันดับและขาดความมั่นใจในข้อมูลพื้นฐาน ดังนั้น 5 องค์กรสำคัญๆที่ทำรายงานด้านความยั่งยืน ได้แก่ CDP, SASB, GRI, IIRC และ CDSB จึงมีมุ่งมั่นที่จะกำหนดเกณฑ์การรายงานด้านความยั่งยืนของบริษัท (CSR) ให้สอดคล้องกัน โดยทางมูลนิธิ IFRS ซึ่งเป็นองค์กรมาตรฐานการรายงานทางการเงินสากลที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ได้ออกหนังสือ a Consultation Paper on Sustainability Reporting เพื่อให้การรายงานด้านความยั่งยืนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเดียวกันและยังช่วยสร้างความมั่นใจต่อผู้มีส่วนได้เสียอีกด้วย

เทรนด์ที่ 3 พลังงานทดแทนจะมีราคาถูกอย่างมาก

ในอดีต เราใช้พลังงานฟอสซิลกันอย่างแพร่หลายเนื่องจากเป็นพลังงานที่ราคาต่ำกว่าพลังงานที่มาจากแหล่งพลังงานอื่นๆ แต่อย่างไรก็ดี ในช่วง 10 ปี ผ่านมา กลับพบว่าราคาพลังงานที่ได้จากลมและแสงอาทิตย์ถูกกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลถึง 70% และ 89% ตามลำดับ แถมความสามารถในการผลิตพลังงานดังกล่าวก็จะสูงกว่าถ่านหินและก๊าซในอีกไม่เกิน 5 ปี นอกจากนี้ กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานแสงอาทิตย์ได้กลายเป็น “พลังงานที่มีราคาถูกที่สุดในประวัติศาสตร์” และราคาต่ำกว่าถ่านหินด้วยซ้ำ เรามาลองพิจารณากันดูว่าเหตุใดพลังงานทดแทนถึงมีราคาเป็นอย่างมาก

1. เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานนิวเคลียร์ต้องอิงกับราคาพลังงานและต้นทุนการผลิต
2. การผลิตพลังงานทดแทนมีต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำกว่าและไม่อิงกับราคาเชื้อเพลิง
3. ต้นทุนทางเทคโนโลยีพลังงานทดแทนเป็นไปตามอัตราความก้าวหน้า (Learning curve) จึงทำให้พลังงานจากแสงอาทิตย์และลมมีราคาต่ำลงเนื่องจากการเพิ่มความสามารถในการผลิต
อย่างไรก็ดี ข้อได้เปรียบด้านราคาไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานสีเขียวเมื่อเทียบกับพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลจะช่วยเร่งการผลิตกระแสไฟฟ้าในการผลิตความร้อน เช่น ในกระบวนการผลิต และการขนส่ง เป็นต้น

เทรนด์ที่ 4 บริษัทปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าบริษัทที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2020 จะยังคงเป็นหนึ่งในเทรนด์ธุรกิจที่มีความยั่งยืนที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุด ตามการคาดการณ์ของนักวิทยาศาสตร์ การประสบความสำเร็จในการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ก่อนปี 2050 มีความจำเป็นที่จะทำให้เราปลอดภัยจากเหตุการณ์ร้ายแรงต่างๆที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ความมุ่งมั่นในการการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์นั้นยังเติบโตเป็นสองเท่าในปีนี้ เนื่องจากหลายบริษัทให้ความสำคัญต่อการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ (climate action) ในการฟื้นตัวจาก Covid-19

ดังนั้น บริษัทต่างๆจึงกำลังแข่งขันด้านการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์เพราะว่าวิทยาศาสตร์สภาพภูมิอากาศได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง และยังช่วยลดความเสี่ยง ค่าใช้จ่าย และดึงดูดนักลงทุนด้าน ESG และคนเก่งๆเข้ามานั่นเอง แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การขาดมาตรฐานด้านโรดแมพการเป็นศูนย์ด้านคาร์บอนทำให้หลายบริษัทชะลอการดำเนินการออกไป และคาดว่าในปี 2021 นี้ บริษัทต่างๆจะได้เห็นคำแนะนำเกี่ยวกับการเป็นศูนย์ด้านคาร์บอนจาก Science-Based Target initiative ซึ่งเป็นองค์กรที่กำหนดวิธีปฏิบัติและการดำเนินการด้านการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์นั่นเอง

Credit : carlossanchez.eco/blog/2021-sustainable-business-trends/

Stay Connected
Latest News