TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ รุ่น3 ชวนไปแอ่วกว๊านพะเยา เรียนรู้การบริหารจัดการน้ำ”บ้านตุ่นโมเดล”

“TCP Spirit….พยาบาลลุ่มน้ำ เย่!”
เสียงปลูกเร้าพลังดังกึกก้องจากเหล่าจิตอาสาสมัครหนุ่มสาวที่เดินทางมาจากทั่วประเทศ 60 คน เพื่อมาปฏิบัติภารกิจร่วมกัน 3 วัน 2 คืน ในการเรียนรู้ความสำเร็จการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจาก “บ้านตุ่นโมเดล” ต้นแบบการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ณ ชุมชนบ้านตุ่น ตำบลบ้านตุ่น จังหวัดพะเยา และหวังว่าคนรุ่นใหม่เหล่านี้จะนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดพัฒนาชุมชนสู่ความยั่งยืน


“ชุมชนบ้านตุ่น” ได้รับเลือกจากมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริแห่งที่ 11 ของประเทศ ในปี 2559 และเป็นตัวอย่างความสำเร็จการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและแก้มลิง ด้วยเหตุนี้กลุ่มธุรกิจ TCP ได้ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อพ.) และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) จัดกิจกรรม ‘TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ ชวนก๊วนไปแอ่วกว๊าน Limited’ เพื่อพาจิตอาสา รุ่นที่ 3 มาศึกษาเรียนรู้ความสำเร็จของการจัดการทรัพยากรน้ำของที่นี่ โดยกิจกรรมนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ ‘TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย’ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวถึงที่มาของการเข้ามาเรียนรู้เรื่องน้ำจาก “บ้านตุ่นโมเดล” ว่าที่นี่เป็นชุมชนเข้มแข็งในการจัดการทรัพยากรน้ำ “ น้ำเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิตที่สุด ในการเกษตรกรรมทั้งหลาย องค์กรเราจึงทำโครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อพ.) และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2562 เป้าหมาย เพื่อทำให้เกิดความยั่งยืนกับลุ่มน้ำแต่ละแห่ง โครงการ TCP Spirit ชักชวนคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมให้กับสังคมไทย”

สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP

ด้าน ดร. รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และประธานกรรมการ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า “มูลนิธิอุทกพัฒน์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ต่างมีพันธกิจสำคัญในการสนับสนุนให้ประเทศไทยบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เพื่อให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี โดยร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

กิจกรรมครั้งนี้ได้สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของการรวมพลังระหว่างชุมชน อพ. สสน. และกลุ่มธุรกิจ TCP ที่มีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการพัฒนาแหล่งน้ำสำคัญในพื้นที่ตำบลบ้านตุ่นจะได้รับการสานต่ออย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งต่อความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่อื่นๆ ต่อไป”กิจกรรมครั้งนี้

 

บ้านตุ่นโมเดล

ตำบลบ้านตุ่น จังหวัดพะเยา เป็นพื้นที่ต้นน้ำที่มีความสำคัญ โดยมีต้นน้ำทอดยาวจากยอดดอยหลวง ผ่านที่ลุ่มเกษตรกรรม จนถึงกว๊านพะเยา อันเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ทางภาคเหนือของประเทศไทยและเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่เป็นชีวิตของคนพะเยา เพราะเป็นแหล่งผลิตน้ำประปา และยังเป็นแหล่งที่อยู่ของปลาหลากชนิด ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำอิงไปรวมตัวกับแม่น้ำโขงในจังหวัดเชียงราย ในอดีตลำห้วยตุ่นประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำที่ใช้ในการทำเกษตรกรรมรวมถึงน้ำป่าหลากในฤดูฝน จากความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบตลอดระยะเวลา 25 ปี ทำให้ลำห้วยตุ่นกลับมามีความอุดมสมบูรณ์ และมีน้ำใช้เพียงพอตลอดทั้งปี ชุมชนสามารถบริหารจัดการน้ำอย่างทั่วถึง เพื่อให้ทุกพื้นที่สามารถทำเกษตรกรรมและมีน้ำใช้ในชีวิตประจำวันอย่างเพียงพอ

ส่งผลให้สามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี โดยมีชุมชนและเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากลำห้วยตุ่นถึง 11 หมู่บ้าน หรือ 1,683 ครัวเรือน คิดเป็นจำนวนประชากร 5,462 คน นอกจากนี้ ยังได้ขยายผลความสำเร็จสู่ความช่วยเหลือแก่ชุมชนอื่นๆ อีกด้วย

คุณพ่อสม หลวงมะโนชัย ผู้นำชุมชนบ้านตุ่นเล่าย้อนหลังถึงเส้นทางปัญหาของ ต.แม่ตุ่น ที่กว่าจะประสบความสำเร็จว่าบ้านตุ่นเป็นพื้นที่ลาดเอียงตั้งแต่ภูเขาจนถึงกว๊านพะเยา การไหลของน้ำจะไหลเร็วและนำตะกอนลงมาด้วย เมื่อก่อนชุมชนขาดการดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ ทำให้ตะกอนทับถมในลำห้วย ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ชุมชนเจอ วิธีแก้คือร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์และสสน. เก็บข้อมูลตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำ หลังจากสำรวจเสร็จก็ดำเนินการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ

คุณพ่อสม หลวงมะโนชัย ผู้นำชุมชนบ้านตุ่น

“กว่าจะตกลงเรื่องแบ่งปันน้ำต้องใช้เวลาพูดคุยกันถึง 3 ปี จนหน้าแล้งทุกคนก็ทำนาไม่ได้ เดือดร้อนกันทุกครัวเรือน ในที่สุดต้องหันหน้ามาประชุมกันว่าเราต้องมารวมใจกันแบ่งปันน้ำอย่างเป็นธรรมเพื่อให้ทุกคนสามารถใช้น้ำได้ทั่วถึง”

หนึ่งในภูมิปัญญาที่นำมาใช้แก้ปัญหาเรื่องน้ำคือ “แตปากฉลาม “ ซึ่งคุณพ่อสม เล่าถึงที่มาให้ฟังว่าเมื่อสมัยก่อนที่มีการแย่งน้ำกันจนเกิดปัญหาโต้เถียงระหว่างชาวบ้าน จนปี 2552 คุณพ่อสมคิดจึงนวัตกรรม“แตปากฉลาม” ซึ่งเป็นเครื่องผันน้ำไปยังที่สูงโดยไม่ใช้พลังงาน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำของชุมชนที่สูง โดยมีลักษณะคล้ายสามเหลี่ยม ตั้งกั้นบริเวณรอยต่อของลำเหมืองสองสาย เมื่อกระแสน้ำพัดมาก็จะมีแรงดันส่งน้ำส่วนหนึ่งไหลไปยังที่สูงกว่าได้ ปัจจุบันในชุมชนนี้สร้างไว้ 3 จุดโดยใช้งบประมาณจากการเรี่ยไรเงินบ้านละ 60 บาทมาเป็นค่าวัสดุในการก่อสร้าง นอกจากนี้ ยังมี “ต๊างนา” ร่องน้ำที่ใช้ในการลำเลียงน้ำเข้านา และ “ยอยน้ำ” ร่องน้ำที่ใช้ทยอยน้ำออกจากนา

คุณพ่อสมกล่าวสรุปว่าทุกวันนี้ชุมชนบ้านตุ่มร่วมกันสร้างกฎระเบียบเพื่อจัดสรรน้ำให้ทุกครัวเรือนมีน้ำใช้เพียงพอ เช่น มีการกำหนดวันปล่อยน้ำ และมีการคณะกรรมการจัดการน้ำทุกหมู่บ้าน มีการกำหนดเวลาเปิด-ปิดเพื่อจ่ายน้ำ และทุกปีจะมีการประกาศให้คนในชุมชนมา”เลาะเหมือง” คือขุดลอกลำราง ลำเหมือง และดายหญ้า เตรียมพื้นที่ให้พร้อมสำหรับการรับน้ำ

 

กว๊านพะเยา…น้ำคือชีวิต

ดร.รอยล กล่าวชื่นชมบ้านตุ่นโมเดลเป็นตัวอย่างของชาวบ้านที่มีการบริหารจัดการน้ำย่างเป็นระบบ ว่า “กว๊านพะเยาที่สวยมาได้ทุกวันนี้เพราะการมีส่วนร่วมของชุมชน วันนี้เรามาเรียนรู้การรักษาต้นน้ำดอยหลวง” เริ่มจากเมื่อ ปี 2551 ชาวบ้านบ้านตุ่นจึงทำแผนดูแลทั้งลุ่มน้ำพะเยา โดยมูลนิธิชัยพัฒนาและมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรทางน้ำ ร่วมกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำจากลำสาขาย่อยก่อน มี 11 ลำสาขา อ่างเก็บน้ำ 21 อ่าง

“ จุดเด่นที่นี่คือเป็นลุ่มน้ำย่อยของลุ่มน้ำแม่อิงมีน้ำประมาณ 330 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่มีที่เก็บน้ำเพีนง 80 ล้าน ลบ.ม จึงต้องแก้ปัญหาที่ป่าลุ่มน้ำ เมื่อก่อนนี้กว๊านพะเยาที่มีตะกอนเยอะมากจนเป็นบ่อเกิดของผักตบชวา เมื่อชาวบ้านแก้ปัญหาเรื่องตะกอนได้ ทุกวันนี้กว๊านพะเยาก็กลับมาใสเหมือนเดิม”

“น้ำคือชีวิต” เมื่อสายน้ำที่ไหลจากเขาหลวงสู่กว๊านพะเยาได้รับการดูแลจากชุมชน ส่งผลให้ทุกพื้นที่มีน้ำกินน้ำใช้อุดมสมบูรณ์ สายน้ำนี้ยังสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ทุกคนที่อาศัยอยู่โดยรอบพื้นที่ จากเมื่อก่อนชุมชนแห่งนี้ประกอบอาชีพทำนาอย่างเดียว ซึ่งบางปีน้ำน้อยก็ทำนาไม่ได้ แต่พอฟื้นป่าต้นน้ำชาวบ้านสามารถปลูกไม้ไผ่แดง พอหมดหน้านาทุกครอบครัวก็จะนำไม้ไผ่มาสานทำผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่เป็นอาชัพเสริม จนปัจจุบันกลายเป็นแหล่งผลิตเครื่องจักสานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยป้อนไปขายทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีอาชีพเสริมคือปลูกถั่วดาวอินคาได้อีกด้วย

ถ้าสายน้ำคือชีวิต “กว๊านพะเยา”ก็คือหัวใจของคนพะเยา ที่ทำให้ทุกชีวิตดำรงอยู่ได้ กว๊านพะเยาเป็นแหล่งน้ำจืดสร้างขึ้นเมื่อปี 2482 มีพื้นที่กว้าง 12,831 ไร่ ความอุดมสมบูรณ์ของกว๊านทำให้เป็นแหล่งอาศัยของปลาถึง 52 สายพันธุ์ รวมถึงเป็นที่วางไข่ของปลาน้ำจืดที่ว่ายมาจากแม่น้ำโขง สมศักดิ์ เทพตุ่น ประธานชาวประมงพื้นบ้าน จังหวัดพะเยา เล่าถึงวิถีชาวประมงที่เป็นอาชีพดั้งเดิมของ 17 ชุมชนรอบกว๊าน และปัจจุบันชาวบ้านก็ยังทำหน้าที่อนุรักษ์พันธุ์ปลาไปด้วยเพื่อให้เกิดอาชีพประมงที่มีความยั่งยืน ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของกว๊านที่มีปลาชุกชุมทำให้นี่เป็นแหล่งผลิตปลาส้มรายใหญ่และขึ้นชื่อ จนกลายเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงของจังหวัดพะเยา

สร้างจิตอาสาส่งต่อรักษ์น้ำอย่างยั่งยืน

สราวุฒิ ได้คาดหวังกับคนรุ่นใหม่ที่มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ว่า “ อยากให้เด็กรุ่นใหม่มาเห็นการทำงานของชุมชนที่เข้มแข็ง ถ้าประเทศไทยมีชุมชนบ้านตุ่นโมเดลแบบนี้มาก ๆ ประเทศก็จะเข้มแข้ง ต้องการให้เรื่องที่พามาดูลุ่มน้ำครั้งนี้เป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่มาสนใจเรื่องน้ำ รักษาน้ำกันอย่างไร และนำน้ำมาใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด”

ดังนั้นนอกจากอาสาสมัครTCP Spirit รุ่น 3 จำนวน 60 คนมาศึกษาเรียนรู้ดูงานที่พะเยาแล้ว เพื่อให้โครงการนี้สู่เป้าหมายการดูแลลุ่มน้ำอย่างยั่งยืน จิตอาสาทั้ง 60 คนจึงเป็นคนรุ่นใหม่ที่ตระหนักเรื่องการรักษาอนุรักษ์น้ำมาเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านจากคนรุ่นเก่า เพิ่มพูนต่อยอดด้วยความรู้คนหนุ่มสาวในเรื่องเทคโนโลยี คาดหวังว่าจะมีการส่งต่อกำลังใจไปสู่คนรุ่นใหม่ ให้อาสาสมัครมาเรียนรู้อย่างเข้าใจ เข้าถึงและนำความรู้ที่มาดูงานกลับไปแบ่งปันพัฒนาในชุมชนของตัวเอง อยากให้ทุกคนเริ่มจากบ้านตัวเองก่อน

ท่ามกลางน้อง ๆ อาสาสมัคร TCP Spirit รุ่น 3 ที่มีจิตมุ่งมั่นในการเรียนรู้ดูงาน ทริปนี้ก็ยังมี อเล็กซ์ เรนเดลล์ TCP Spirit Brand Ambassador และทูตสันถวไมตรี โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ คนแรกของประเทศไทย ได้อยู่ร่วมตลอดทริป เพื่อดูแลและคอยชี้แนะถึงการร่วมกิจกรรมให้แก่น้อง ๆ

อเล็กซ์ เรนเดลล์ กล่าวถึงกิจกรรมนี้ว่า “การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนต้องเริ่มต้นจากต้นตอของปัญหา ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ไม่ว่าจะภัยแล้งหรือน้ำท่วม จึงจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขตั้งแต่ต้นน้ำเช่นกัน การเป็น TCP Spirit Brand Ambassador ถึง 3 ปีทำให้ผมได้เรียนรู้โดยตรงจากผู้ที่พัฒนาการบริหารจัดการแหล่งน้ำในชุมชน รวมถึงประสบการณ์ที่ได้ร่วมลงมือแก้ปัญหาไปพร้อมๆ กับทุกคน และโอกาสที่ได้ส่งต่อพลังความตั้งใจในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับน้องๆ อาสาสมัคร ซึ่งจะเติบโตเป็นพลังแห่งการดูแลสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในอนาคตต่อไป”

บอย – กิตติพงษ์ ก้างยาง เจ้าหน้าที่สภาเด็กและเยาวชน จังหวัดเชียงราย เป็นหนึ่งในอาสาสมัคร TCP Spirit เป็นปีที่ 3 ที่ตั้งใจมาเข้าร่วมโครงการนี้เพื่อคาดหวังว่าจะนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดกับโครงการฝายที่ตนเองกำลังจะเริ่มทำ
“สภาเด็กฯกำลังทำเรื่องฝายหลวงอยู่ จึงตั้งใจมาเข้าค่ายนี้เพื่อจะนำความรู้ที่ได้ไปแก้ปัญหา เนื่องจากเชียงรายมีปัญหาเรื่องเผาป่า ฝุ่น PM 2.5 ซึ่งสภาเด็กเล็งเห็นว่าจะมีผลกระทบต่อชาวบ้าน เด็กและเยาวชน ดังนั้นถ้าเราทำฝายชะลอน้ำเพื่อเป็นที่กักเก็บน้ำ ถ้าเกิดไฟป่าขึ้นเราก็จะมีน้ำไว้ดับไฟได้ ”

บอย – กิตติพงษ์ ก้างยาง (คนซ้ายมือ)

ในช่วงทำกิจกรรมนี้ บอย-กิตติพงษ์ ได้เรียนหลายสิ่งหลายอย่างจากบ้านตุ่นโมเดล ซึ่งเขาคิดว่าเป็นตัวอย่างที่ดีในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและสามารถทำได้ประสบความสำเร็จ “ ผมจะนำหลายอย่างที่ได้เรียนรู้จากที่นี่ไปใช้ปรับปรุงฝายหลวงที่กำลังสร้างอยู่ที่เชียงราย เช่นเมื่อเช้านี้ผมขึ้นไปดูที่ต้นน้ำเขาหลวง ชาวบ้านขุดคลองน้ำซึ่งไม่จำเป็นต้องขุดให้กว้าง เพียงแค่ขุดให้น้ำไหลผ่านได้เร็วเท่านั้น ผมจึงคิดว่าจะนำความรู้นี้ไปใช้ขุดคลองบนดอยบ้าง”
นอกจากนี้ บอย-กิตติพงษ์ ยังตั้งใจจะเผยแพร่ความที่ได้จากบ้านตุ่นโมเดลเรื่องการบริหารจัดการน้ำไปเผยแพร่ทางสื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างขึ้นอีกด้วย

หนุ่มสาว 60 คนในวันนี้จะกลายเป็นต้นกล้าอ่อนที่พร้อมจะเดินทางกลับไปแตกดอกออกผลไปทั่วประเทศ เพื่อแพร่ขยายความรู้สู่การพัฒนาเรื่องการดูแลต้นน้ำอย่างยั่งยืน

Stay Connected
Latest News