ไมโครซอฟท์ไทยจับมือ 7 พันธมิตรจากทั้งภาครัฐ-เอกชน เปิดตัว “โครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อการจ้างงาน” มุ่งยกระดับคุณภาพแรงงานผ่านทักษะเชิงดิจิทัลแก่แรงงานไทยทั่วประเทศที่ จำนวน 250,000 คน ผ่านทางช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ภายในตุลาคม พ.ศ.2564
สถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้พนักงาน ลูกจ้าง และประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบด้านการทำงาน รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่งปี พ.ศ. 2563 โดยสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่าอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.03 หรือมีผู้ว่างงานเกือบ 400,000คน และคาดว่าในปีนี้จะมีแรงงานที่เสี่ยงถูกเลิกจ้างจำนวน 8.4 ล้านคน จากแรงงาน 3 กลุ่ม ได้แก่ แรงงานในภาคการท่องเที่ยวซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบประมาณ 2.5 ล้านคน แรงงานในภาคอุตสาหกรรมประมาณ 1.5 ล้านคน
และการจ้างงานในภาคบริการอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภาคการท่องเที่ยวและได้รับผลกระทบจากการที่สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง เช่น ตลาดสด ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ถูกปิด อีกจำนวน 4.4 ล้านคน ในขณะที่เด็กจบใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน 5.2 แสนคนก็มีแนวโน้มต้องเผชิญกับอุปสรรคในการหางานตั้งแต่การเริ่มต้นเข้าสู่ตลาดงาน
นอกจากนี้ รายงานผลการศึกษาโดย AlphaBeta strategy x economics ณ วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เกี่ยวกับผลกระทบต่อการจ้างงานของการระบาดของเชื้อโควิด–19 ที่มีต่อประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค ระบุว่าในประเทศไทย มีการคาดการณ์ว่าธุรกิจโรงแรม การบริการส่วนบุคคล และการขนส่ง จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากวิกฤตดังกล่าว และการนำ AI มาใช้อาจเพิ่มศักยภาพในการฟื้นตัวและกระตุ้นอัตรากำไรของภาคเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5-6
ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “จากสถานการณ์ในปีนี้คาดว่าจะมีกลุ่มงานที่หายไป และการจ้างงานใหม่จะเป็นการมองหาแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญทางการใช้ทักษะดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ไมโครซอฟท์มีความมุ่งมั่นในการนำดิจิทัลเข้ามาเสริมทักษะให้กับทุกคน ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงทักษะดิจิทัลที่ใช้งานได้จริงและเพิ่มมูลค่าทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ พร้อมปรับตัวรับงานใหม่ๆ และสามารถนำมาใช้เป็นพื้นฐานในการเพิ่มโอกาสด้านการจ้างงานในอนาคต ผมต้องขอขอบพระคุณพันธมิตรทุกราย กับความร่วมมืออันแข็งแกร่งในครั้งนี้ ผมเชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพของเทคโนโลยี จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะดิจิทัลในการจ้างงานได้อย่างเป็นรูปธรรม และจะเติมเต็มความตั้งใจของเรากับเส้นทางการสร้างทักษะทางแรงงานด้วยการพัฒนาทักษะเชิงดิจิทัลให้กับคนไทยกว่า 10 ล้านคนได้โดยเร็วที่สุด”
โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมืออย่างแข็งแกร่งระหว่างไมโครซอฟท์และพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนการดำเนินโครงการผ่านองค์ความรู้ ทรัพยากร และการสนับสนุนอื่นๆ ที่มีความจำเป็น เพื่อให้แน่ใจว่าโครงการจะสามารถเข้าถึงผู้คนทุกกลุ่มที่ต้องการเสริมทักษะดิจิทัลเพื่อเพิ่มโอกาสในการจ้างงานและมอบความช่วยเหลือได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ โดยแต่ละองค์กรที่เป็นพันธมิตรใน ‘โครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อการจ้างงาน’ มีบทบาทสำคัญ ดังนี้
บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดทำเนื้อหาการฝึกอบรม จัดทำวีดีโอการอบรม และคู่มือภาษาไทยเกี่ยวกับการใช้โปรแกรม Microsoft Word, Microsoft Excel, Microsoft PowerPoint, Power BI, Power App, Digital Literacy เพื่อจัดฝึกอบรมแก่วิทยากรจากหน่วยงานพันธมิตร พร้อมจัดการติวสอบ Microsoft Office Specialist สาขา Microsoft Excel เพื่อเป็นการปูทางไปสู่สายงานด้านนักวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analyst) และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) ต่อไป
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทักษะดิจิทัลที่ประชาชนสามารถเข้าถึงเนื้อหาการเรียนรู้ได้ผ่านเครือข่ายและแพลตฟอร์มของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เช่น https://www.digitalskill.org/ เพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนาทักษะดิจิทัลตามมาตรฐานสมรรถนะด้านดิจิทัล รวมถึงเปิดพื้นที่ส่งเสริมการจ้างงานผ่านคอมมูนิตี้ JobD2U ที่จะเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ตำแหน่งงาน และ โปรไฟล์คนหางาน เพื่อให้ “คนที่ใช่” ได้พบกับ “งานที่ชอบ”
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมมือกับไมโครซอฟท์เพื่อจัดฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิทัลแก่บุคลากรของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อนำความรู้ไปขยายผลแก่กลุ่มเป้าหมายของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ สนับสนุนความรู้และเนื้อหาการฝึกอบรมที่จัดทำขึ้นในโครงการให้สอดคล้องกับความต้องการตลาดแรงงาน ผ่านเครือข่ายและแพลตฟอร์มของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมทั้งร่วมกันปรับปรุงมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ และส่งเสริมให้แรงงานเข้าทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาพนักงานการใช้คอมพิวเตอร์ (ประมวลผลคำ ตารางทำการ และการนำเสนอผลงาน) ตามแผนงานและงบประมาณที่ได้รับจัดสรรไว้
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ดำเนินการร่วมกับไมโครซอฟท์ในการจัดการฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิทัลแก่ครูของสำนักงาน กศน. เพื่อส่งต่อทักษะความรู้ดังกล่าวให้แก่กลุ่มเป้าหมายราว 186,000 คน ผ่าน กศน.ตำบล 7,424 ศูนย์ทั่วประเทศ พร้อมสนับสนุนให้เนื้อหาการฝึกอบรมที่จัดทำขึ้นในโครงการสามารถไปถึงประชาชน ผ่านเครือข่ายและแพลตฟอร์มของ สำนักงาน กศน.
สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สนับสนุนให้มีการรับรองสมรรถนะด้านการใช้ดิจิทัล (Digital Literacy) ประเมินด้วยเครื่องมือประเมินระดับประเทศของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการประเมินสำหรับผู้เข้าร่วมโครงการบางส่วน ในจำนวนที่สอดคล้องกับงบประมาณของสถาบันในปี 2564 และนำรายชื่อผู้ที่ได้รับการรับรองทั้งหมดเผยแพร่ในแอปพลิเคชัน Propin ของสถาบัน
จ๊อบส์ ดีบี (JobsDB) ดำเนินการจัดการอบรมการเตรียมความพร้อมก่อนสมัครงาน แนวโน้มการจ้างงานในอนาคต และ การทำเรซูเม่ให้โดดเด่น รวมถึงรับคำแนะนำให้ผู้เข้ารับการอบรมในโครงการลงทะเบียนบนแพลตฟอร์ม JobsDB.com เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงโปรไฟล์ของผู้หางานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ประสานความร่วมมือกับศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ในการจัดการฝึกอบรมครูของทางศูนย์ฯ พร้อมสนับสนุนให้เนื้อหาการฝึกอบรมที่จัดทำขึ้นในโครงการสามารถเข้าถึงเยาวชนที่อยู่ห่างไกลทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผ่านแพลตฟอร์ม www.lll-olc.net ของยูเนสโก
มูลนิธิกองทุนไทย บริหารจัดการโครงการ ประสานงานกับทุกองค์กร และติดตามวัดผลโครงการ พร้อมทั้งติดตามความคืบหน้าจากผู้ได้รับการจ้างงาน และร่วมกันประชาสัมพันธ์โครงการ
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อเพื่อเข้ารับการฝึกอบรมโดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้ที่ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน) สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน และสำนักพัฒนาฝีมือแรงงานใกล้บ้าน และเรียนผ่านออนไลน์ได้จากเว็บไซต์ของพันธมิตรในโครงการดังกล่าวข้างต้น