เอสซีจีได้จัดเวทีเสวนาเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 แล้ว โดยปีแรกเป็นการปูพื้นฐานความรู้ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อนำไปปรับใช้ได้อย่างไร ส่วนปีที่สองเริ่มมีพันธมิตรเข้ามาร่วมมือกันเพื่อขยายผล และสำหรับปีนี้เอสซีจีจัดงานในธีม SD Symposium 2020 “Circular Economy: Actions for Sustainable Future เพื่อนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
โดย รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวเปิดงานด้วยการชี้ให้เห็นถึงปัญหาร้ายแรงที่โลกในปัจจุบันกำลังเผชิญคือเรื่องการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดการใช้หน้ากาก ถุงมือ และsingle used plasticมากขึ้นซึ่งเป็นการเพิ่มขยะให้กับสิ่งแวดล้อมอย่างมาก แต่ขณะเดียวกันก็สร้างความตระหนักให้กับมนุษย์ที่ได้เรียนรู้เพื่อเตรียมพร้อม ดังนั้นเรื่องสิ่งแวดล้อมจะกลายเป็นปัญหาใหญ่มากของมวลมนุษยชาติในอนาคต การนำCircular Economy มาใช้จะเป็นทางออกหนึ่งที่ช่วยเพื่อปรับตัวให้เหมาะกับการใช้ชีวิตในอนาคต
จากเดิมมีกลุ่มพันธมิตรเข้มแข็งที่เข้าร่วม 45 ราย แต่ในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 180 รายจากทุกภาคส่วนทั้งภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม เอสเอ็มอี เกษตรกรรมและภาคประชาสังคม โดยปีนี้ได้ร่วมกันนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน มาเป็นทางออกแก้ปัญหาพื้นฐาน 4 ด้านที่เป็นพื้นฐานความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของประเทศและของโลก คือสร้างระบบน้ำหมุนเวียน , ส่งเสริมเกษตร “ปลอดการเผา 100%” , การยกระดับการจัดการขยะพลาสติกให้เป็นวาระแห่งชาติ และเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง
ด้าน วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงแนวนโยบายของภาครัฐที่มีต่อ Circular Economy ว่าประเทศไทยมีการพัฒนาตามโมเดลเศรษฐกิจ หรือ BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) คือการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งชีวภาพ การหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว โดยมีแนวคิดด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์มีความทนทานใช้งานได้นาน เช่นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่นำมารีไซเคิล,ด้านการใช้งานและบริโภค รัฐสนับสนุนให้มีการจัดซื้อจัดจ้างแบบสีเขียว ติดฉลากฟุตพริ้นท์ , ด้านการจัดการขยะหรือของเสีย ส่งเสริมให้มีการรีไซเคิลและตั้งเป้าลดขยะฝังกลบให้เหลือปริมาณ 38 % ภายในปี 2578 และด้านการใช้วัตถุดิบรอบสอง ส่งเสริมให้มีการทำรีไซเคิลและup cycle สินค้าให้นำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดคุณภาพดียิ่งขึ้น โดยกระทรวงทรัพยากรฯได้ทำโครงการ “เปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ (เมื่อคุณหมุนเวียน)” เป็นต้น
และอีกหนึ่งแขกรับเชิญเป็นเยาวชนตัวอย่าง ด.ช.ภูมิ ตันศิริมาศ เยาวชนต้นแบบ นักจัดการขยะรุ่นจิ๋ว ได้เล่าถึงแรงบันดาลใจเรื่องการจัดการขยะจากหนังสือ “The Story of Stuff” จุดเริ่มต้นของการสร้าง Mission: To Green เพื่อลดการใช้พลาสติกและการจัดการขยะในชีวิตประจำวันโดยการใช้ซ้ำ หรือการแยกขยะอันตรายออกมาแล้วนำไปส่งให้องค์กรที่มีศักยภาพในการกำจัดอย่างถูกวิธี “สิ่งเหล่านี้เป็นวิธีการง่าย ๆ ที่จะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม”
ภายในงานยังมีการเสวนาถอดบทเรียนความสำเร็จและร่วมเสนอแนวทางความร่วมมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อให้หน่วยงานและชุมชนต่าง ๆ สามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เริ่มจาก ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึง แนวคิดเรื่อง “การจัดการน้ำหมุนเวียน” ซึ่งเป็นทางออกสำหรับแก้ปัญหาภัยแล้งเพื่อใช้น้ำต้นทุนที่น้อยให้คุ้มค่า พร้อมเสนอ 2 แนวทาง ได้แก่ การขยายความร่วมมือของภาคเอกชนเพื่อเข้าไปช่วยเหลือชุมชน และการกระตุ้นให้เกิดการขยายผลรวดเร็วขึ้นโดยอาศัยการสนับสนุนของภาครัฐ ขณะที่ บุญมี สุระโคตร ประธานเครือข่ายเกษตรแปลงใหญ่ระดับประเทศ มองว่าสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภาคการเกษตร คือการพัฒนาเกษตรกรด้วยการเสริมทักษะที่ยังขาด เช่น การนำเศษวัสดุทางการเกษตรไปผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการสร้างเกษตรกรต้นแบบแต่ละตำบล
นนทิกานต์ อัศรัสกร นักธุรกิจ Next Gen ผู้ก่อตั้งแบรนด์ “ลฤก”พวงหรีดเสื่อ มองว่าคนรุ่นใหม่ยังขาดความรู้เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน หากเปลี่ยนจากมุมมองว่าพลาสติกเป็นขยะ เป็นการนำมาใช้ประโยชน์ซ้ำ ๆ เช่น รีไซเคิลเพื่อทำเสื่อและต่อยอดเป็นพวงหรีดทำให้ไม่เกิดเป็นขยะหลังการใช้งาน ในส่วนอุตสาหกรรก่อสร้าง ประภากร วทานยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทสถาปนิก 49 จำกัด กล่าวว่า โดยทั่วไปขยะจากการก่อสร้างคิดเป็น 20-25% ของวัสดุที่ใช้ การแก้ปัญหาควรเริ่มที่ต้นทางด้วยการออกแบบไม่ให้มีเศษวัสดุเหลือทิ้ง ขณะที่ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างควรมีความรับผิดชอบในผลิตภัณฑ์ของตนเอง
ในส่วนของภาครัฐ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ อดีตเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี มองว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องอาศัยการบูรณาการจากทุกภาคส่วน ภาครัฐมีแนวทางสนับสนุนในหลายเรื่อง เช่น มีสิทธิพิเศษทางภาษี ปรับกฎหมายให้มีความสอดคล้อง ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ฯลฯ
ปิดท้ายเวทีเสวนาด้วย ธนวงษ์ อารีรัชชกุล ประธานคณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี กล่าวสรุปถึงความคืบหน้าในการผลักดันเวทีเสวนาเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy ไปสู่แนวทางการปฏิบัติเพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนโดยมีบทสรุป 4 เรื่องคือ
1. สร้างระบบน้ำหมุนเวียน ให้พร้อมรับวิกฤตแล้งรุนแรงในปีหน้า โดยสนับสนุนให้คนไทยพึ่งพาตนเองเรียนรู้การจัดรูปที่ดินและใช้เทคโนโลยี ควบคู่กับการให้ความรู้การเกษตรแก่เกษตรกรและคนกลับคืนถิ่นจากพิษเศรษฐกิจโควิด-19 และเชิญชวนรัฐบาลร่วมขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ไปพร้อมกับที่ภาคเอกชนดำเนินการ
เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ฟื้นคืนเศรษฐกิจชุมชน และเพิ่มผลผลิตเกษตรให้ไทยเป็นครัวโลกในที่สุด
2. ส่งเสริมเกษตร “ปลอดการเผา 100%” ในปี 2022 (พ.ศ.2565) เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ลดโลกร้อน และสร้างรายได้ 25,000 ล้านบาทต่อปี โดยหมุนเวียนวัสดุเหลือใช้ เช่น ตอซังใบข้าว ใบอ้อย ซังข้าวโพด มาแปรรูปเป็นพลังงานชีวมวล อาหารสัตว์ บรรจุภัณฑ์ รวมถึงสนับสนุนเทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร โดยเกษตรกรไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของเอง ด้วยการจัดตั้งกองทุนชุมชน เสริมสร้างรายได้ที่มั่นคง
3. การยกระดับการจัดการขยะพลาสติกให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยปรับปรุงหรือเพิ่มเติมกฎหมายการจัดการขยะพลาสติกอย่างจริงจัง มีโรดแมป มีเป้าหมายชัดเจน มีการทำงานที่เป็นรูปธรรม และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนดำเนินการไปพร้อมกัน (Plastic Waste Management System Roadmap) รวมถึงออกมาตรการสนับสนุนสินค้า รีไซเคิล และให้สิทธิพิเศษทางภาษีเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบธุรกิจรีไซเคิลขยะพลาสติก
4.เศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง เพื่อพลิกวงการก่อสร้างสู่ Green and Clean Construction โดยรัฐเป็นต้นแบบกำหนดแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยใช้เทคโนโลยีจัดการทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดวัสดุเหลือทิ้งให้น้อยที่สุด หรือการใช้วัสดุเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ และมอบสิทธิพิเศษทางภาษี
สำหรับ เอสซีจี ได้ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เดินหน้าองค์กรสู่ Net Zero ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593) เพื่อสนับสนุนการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) นอกจากนี้ ได้เล็งเห็นว่า จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปัญหาขยะที่รุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน จึงได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยกำหนดกลยุทธ์ ไว้ดังนี้
ธุรกิจแพคเกจจิ้ง มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถกลับมารีไซเคิลหรือใช้ซ้ำได้ และบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพิ่มสัดส่วนการเก็บกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตอย่างครบวงจร
ธุรกิจเคมิคอลส์ มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนตลอดทั้ง Supply chain ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่เพิ่มการรีไซเคิล ได้มากขึ้น เช่น Mono-materials การพัฒนาเทคโนโลยีที่รีไซเคิล ขยะพลาสติกกลับมาเป็นวัตถุดิบในสัดส่วนที่สูงขึ้น ส่งเสริมการคัดแยก และรวบรวมของเสียกลับมาใช้ใหม่ ผ่านชุมชน ไร้ขยะ และการจัดทำธนาคารขยะ โดยใช้ Digital Platform เป็นเครื่องมือในการจัดการ
ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีผสมผสานกับนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้ฉลาก “SCG Green Choice” ตั้งแต่การผลิตสินค้าที่มีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิล สินค้าสำเร็จรูปที่ลด waste ในกระบวนการติดตั้ง สินค้าและบริการที่ลดการใช้พลังงานหรือนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ เช่น พลังแสงอาทิตย์ มุ่งไปสู่ ‘Green Living and Green Society’ รวมถึงการนำของเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์ ‘Turn Waste to Wealth’ สร้างประโยชน์ให้กับสังคม