เมอร์เซอร์สำรวจ 577 บริษัท พบว่าปี 63 อัตราการขึ้นเงินเดือนต่ำสุดในรอบ 10 ปี

ผลสำรวจของเมอร์เซอร์บริษัท 577 แห่งในอุตสาหกรรมต่าง ๆ พบว่าผลกระทบของสถานการณ์โควิดพ่นพิษ ส่งผลต่อการขึ้นเงินเดือนปี 2563 มีอัตราต่ำกว่า 5% ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี ส่วนโบนัสปี 2563 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 2.3 เท่าของเงินเดือน โดยอุตสาหกรรมไฮเทคและเคมีภัณฑ์จ่ายโบนัสสูงสุด และมีบริษัทเพียง 5% ที่คาดว่าจะไม่จ่าย

จากผลการสำรวจอัตราค่าตอบแทนรวมในประเทศไทยประจำปี 2563 (Annual Thailand Total Remuneration Survey (TRS) 2020) โดยเมอร์เซอร์ (Mercer) บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำทางด้านทรัพยากรบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารจัดการพนักงาน ค่าตอบแทนและสวัสดิการสำหรับพนักงาน การเกษียณอายุ และการลงทุน โดยมีบริษัทเข้าร่วมการสำรวจทั้งหมด 577 บริษัทจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยสำรวจในช่วงเดือนเมษายนและมิถุนายนของปีนี้ และสำรวจเพิ่มเติมในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมเกี่ยวกับสภาพการณ์ตลาดที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

พิรทัต ศรีสัจจะเลิศวาจา Career Products Business Leader บริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เมื่อพิจารณาถึงความสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ส่งผลให้บริษัทต่าง ๆ มีการตรวจสอบและทบทวนงบประมาณสำหรับการขึ้นเงินเดือนอย่างระมัดระวังมากยิ่งขึ้น โดย 2 ใน 5 ของบริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจระบุว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออัตราการขึ้นค่าตอบแทนปี 2563 ที่บริษัทวางแผนไว้อย่างมีนัยสำคัญ”

อัตราการขึ้นเงินเดือนที่ประมาณการไว้นี้เกิดขึ้นจากภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ถดถอย โดยคาดว่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) จะลดลง 7.8% ในปี 2563 แม้มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้น 3.5% ในปี 2564 ก็ตาม หากอนาคตก็ยังคงไม่แน่นอน

อัตราการเพิ่มเงินเดือนลดต่ำลงครั้งแรกในรอบทศวรรษ

ในขณะที่บริษัทเพียง 22 บริษัทจาก 577 แห่งที่ร่วมการสำรวจครั้งนี้รายงานว่าไม่มีการขึ้นเงินเดือนในปี 2563 ค่ากลางของอัตราการขึ้นเงินเดือนของปี 2563 ปรับลดลงอยู่ที่ 3.7% เมื่อเปรียบเทียบกับที่ตั้งงบประมาณไว้ที่ 4.8% จึงถือเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษที่อัตราการขึ้นเงินเดือนต่ำกว่า 5% ซึ่งผลกระทบนี้แตกต่างกันไปในแต่ละอุตสาหกรรม

พิรทัต กล่าวว่า “การขึ้นเงินเดือนในอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น อุตสาหกรรมไฮเทค ยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิต และอุปกรณ์การโลจิสติคส์ มีอัตราการขึ้นเงินเดือนสูงกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมเนื่องจากลักษณะเฉพาะของอุตสาหกรรมนั้น ๆ โดยอุตสาหกรรมไฮเทคนั้นมีอุปสงค์เพิ่มสูงขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงาน (New way of work) ในขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์นั้นมีสหภาพแรงงานที่แข็งแกร่งจึงทำให้อัตราการขึ้นเงินเดือนยังอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเนื่องจากการหดตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน มีอัตราการขึ้นเงินเดือนน้อยที่สุดที่ 2.5%”

 

โบนัสแบบแปรผันยังคงที่ในปี 2563 แต่คาดว่าลดลงในปี 2564
เมื่อพิจารณาโดยรวม โบนัสตามงบประมาณยังเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 2.3 เท่าของเงินเดือน เมื่อเปรียบเทียบกับ 2.2 เท่าของเงินเดือนในปี 2562 โดยอุตสาหกรรมไฮเทคและเคมีภัณฑ์ยังคงมีอัตราสูงสุด โดยมีบริษัทเพียง 5% ของบริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจที่ไม่มีการให้โบนัส

แนวโน้มในอนาคตอันใกล้ 28% ของบริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจคาดว่าการจ่ายโบนัสในปี 2564 จะน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ในขณะที่ 39% ยังไม่สามารถตัดสินใจในเรื่องของโบนัสได้ ณ ขณะนี้ และมีบริษัทเพียง 5% ที่คาดว่าจะเพิ่มงบประมาณสำหรับโบนัสในปี 2564

จักรชัย บุญยะวัตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “หากพิจารณาในทุกแง่มุม บริษัทต่าง ๆ ยังคงอยู่ในสถานะของการเฝ้าจับตาและรอคอย โดยเฝ้าติดตามและตรวจสอบสถานการณ์ต่างๆอย่างใกล้ชิดไปพร้อมทบทวนกลยุทธ์การจ่ายค่าตอบแทนของบริษัทในปี 2564 โดยบริษัทส่วนใหญ่มีมุมมองต่อการจ้างงานในเชิงบวกโดยเฉพาะในตำแหน่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อธุรกิจและงานที่ไม่สามารถแทนที่ได้ด้วยเทคโนโลยีหรือปัญญาประดิษฐ์ (AI) ภายใต้สถานการณ์ที่ยังคงไม่แน่นอนในปีนี้ กลับมีธุรกิจที่เพิ่มจำนวนพนักงานมากกว่าธุรกิจที่พยายามลดพนักงาน”

ภายในสิ้นปี 2563 บริษัทกว่า 23% ที่ร่วมทำการสำรวจครั้งนี้จะมีการเพิ่มพนักงานใหม่ โดยมี 19% ที่ระบุถึงแผนการสรรหาพนักงานในปี 2564

จักรชัย กล่าวเสริมว่า “ในขณะที่อนาคตยังคงแขวนอยู่บนความไม่แน่นอน บริษัทต่างมีความกังวลต่องบประมาณทางด้านบุคลากร เมอร์เซอร์สนับสนุนให้บริษัทใช้เวลา และพิจารณาแผนการจ่ายค่าตอบแทนให้กับพนักงานแบบองค์รวมมากยิ่งขึ้น บริษัทควรใช้โอกาสนี้ทบทวนกลยุทธ์การจ่ายค่าตอบแทนแบบองค์รวมและมองให้ละเอียดกว่าการจ่ายค่าตอบแทนเป็นตัวเงินเพียงอย่างเดียว โดยพิจารณาถึงคุณภาพชีวิตโดยรวมของพนักงานให้พัฒนาทั้งความก้าวหน้าในอาชีพ และมีสุขภาพกายและใจที่ดี ความผูกพันของพนักงานที่มีต่อบริษัท และการรักษาพนักงานให้อยู่กับบริษัทจะกลายเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าที่เคยบนเส้นทางแห่งการฟื้นฟูธุรกิจของบริษัท”

เกี่ยวกับการสำรวจอัตราค่าตอบแทนรวมโดยเมอร์เซอร์ (Mercer’s Total Remuneration Survey)
การสำรวจอัตราค่าตอบแทนรวม คือการสำรวจและศึกษาของเมอร์เซอร์เกี่ยวกับการจ่ายค่าตอบแทนประจำปีและการกำหนดมาตรฐานผลประโยชน์ ซึ่งระบุถึงแนวทางการจ่ายค่าตอบแทนและนโยบายเรื่องผลประโยชน์ในปัจจุบัน รวมถึงงบประมาณ แนวโน้มการจ้างงานและการเข้าออกของพนักงานในปีถัดไป นอกจากนี้ เมอร์เซอร์ยังทำการสำรวจย่อยอย่างสม่ำเสมอตลอดปีเพื่อติดตามผลกระทบจากสภาพธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงการจ่ายค่าตอบแทนและแนวโน้มด้านแรงงาน

 

Stay Connected
Latest News

ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค และสเปลล์ เดินหน้าองค์กรสู่ความยั่งยืนทุกมิติ ประกาศความสำเร็จ ติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป รวมกว่า 56,000 ตร.ม. ร่วมลดการใช้พลังงานของประเทศ พร้อมสร้างคุณค่าต่อชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม