ดีแทคเปิดเส้นทางการเดินทาง”ขยะอิเล็กทรอนิกส์”ต้องจัดการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

“ในช่วงหลัง ๆ เวลาผู้บริหารของดีแทคไปโรดโชว์ในต่างประเทศ สิ่งที่นักลงทุนสถาบันในต่างประเทศมักจะตั้งคำถามคือเรื่ององค์กรเราทำอะไรเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมบ้าง เราทำอะไรที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมไหม เราบริหารจัดการเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างไร ซึ่งปัจจุบันสิ่งที่จะสร้างความแตกต่างให้กับองค์กรคือความมุ่งมั่นที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร ทุกวันนี้เป็นเรื่องที่จำเป็นแล้ว” อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอคเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าว


ทั้งนี้อรอุมาได้ขยายความต่อว่าภายใต้นโยบายความยั่งยืนของดีแทคนั้น เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งภารกิจใหญ่โดยเฉพาะขยะอิเลคทรอนิกส์ที่กำลังเป็นประเด็นสำคัญมากในยุคดิจิตอลเอจ และเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจหลักของดีแทคด้วยเช่นกัน โดยดีแทคได้ทำการเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์ประเภทมือถือมาได้ 8 ปีแล้ว และเริ่ทนโยบาย Zero Landfill เมื่อปี 2555

อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอคเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)

 

ทำเอง เก็บเอง นักเลงพอ

จากข้อมูลของฝ่ายสื่อสารองค์กรและความยั่งยืนของดีแทคระบุว่าในปี 2562 ดีแทคเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่า 213,476 ชิ้น แบ่งเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับจากผู้ใช้งานทั่วไป จำนวน 46,221 ชิ้น คิดเป็น 21% และขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นจากการการขยายโครงข่าย 167,255 ชิ้น หรือคิดเป็น 79% ของขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดที่เก็บได้


ทั้งนี้ดีแทคให้ความสำคัญกับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นภายในองค์กร เริ่มตั้งแต่สถานที่ที่ใช้เก็บอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เสื่อมสภาพ โดยจะต้องเป็นคลังสินค้าที่มีระบบการควบคุมรักษาความปลอดภัย เป็นไปตามมาตรฐานอาคารคลังสินค้าของกรมการค้าภายใน และสามารรองรับระบบการจัดเก็บเครื่องมือและอุปกรณ์ของดีแทคได้ ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินกับอุปกรณ์ จะไม่สร้างความเสียหายหรือมลภาวะใดๆ สู่ชุมชนรอบข้าง
สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มาจากหน่วยงานภายในดีแทค อย่างศูนย์บริการดีแทคและสำนักงาน ส่วนใหญ่เป็นเครื่องโทรศัพท์มือถือสำหรับทดลองใช้ อุปกรณ์เสริมที่ตกรุ่น เป็นต้น ดีแทคจะมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบจำนวนและสภาพของอุปกรณ์โดยเฉพาะ หากยังมีสภาพดี ก็จะนำกลับมาใช้ซ้ำในกิจกรรมต่างๆ ตามความเหมาะสม ส่วนที่เสื่อมสภาพถาวรแล้ว ก็จะเข้ากระบวนการกำจัดและรีไซเคิลต่อไป

 

ต้องเก็บอย่างรับผิดชอบต่อสังคม

ส่วนผลการสำรวจพฤติกรรมการจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์เมื่อไม่ใช้งานแล้วของสำนักสิ่งแวดล้อม พบว่า กว่าร้อยละ 50% ของผู้ใช้งานจะเลือกขายซากขยะอิเล็กทรอนิกส์กับผู้รับซื้อของเก่า หรือ รถขายของเก่า ซึ่งมักจะนำขยะไปแยกชิ้นส่วน โดยจะเลือกเฉพาะส่วนที่มีมูลค่าเพื่อนำไปขายต่อได้ และจะกำจัดซากขยะที่เหลือด้วยการทิ้งปะปนกับขยะทั่วไป ปัญหาสำคัญ คือ การทิ้งซากผลิตภัณฑ์ปะปนกับขยะทั่วไป และการจัดการซากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลต่อสุขภาพอนามัยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และก่อให้เกิดปัญหามลพิษต่อแหล่งน้ำ พื้นดิน และอากาศ

สำหรับการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิสก์ของดีแทคนั้นเริ่มต้นที่กระบวนการจัดหาบริษัทรีไซเคิลตามนโยบายการจัดซื้อจัดหาสินค้าและบริการ ด้วยการประเมินความเสี่ยงด้านต่างๆ อาทิ ธรรมาภิบาล การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ผู้รับกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์จะต้องลงนามในเอกสารว่าด้วยข้อตกลงในการปฏิบัติธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ หรือ Agreement of Responsible Business Conduct และต้องแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการประเภท 106 ออกโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยระบุประเภทกิจการที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดหรือรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ และต้องมีใบรับรองมาตรฐาน NIST 800-88R1 ซึ่งเป็นมาตรฐานการกำจัดข้อมูลต่างๆ ที่ยังอาจคงค้างอยู่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กันมากที่สุดทั่วโลก

ดีแทคมีหน่วยงานกำกับดูแลห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Sustainability Management) ทำหน้าที่ตรวจประเมินบริษัทผู้ให้บริการรีไซเคิลเหล่านี้เป็นประจำทุกปี เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทผู้ให้บริการที่ได้รับคัดเลือกมานี้ยังคงรักษามาตรฐานกระบวนการรีไซเคิล มีการพัฒนาระบบการทำงานและเทคโนโลยีอยู่เสมอ

 

จากถังสีฟ้า ‘ทิ้งให้ดี’ สู่กระบวนการรีไซเคิล

หลังจากผ่านกระบวนการคัดสรรแล้ว ดีแทคจึงเลือกบริษัท TES ผู้นำระดับโลกในเรื่องของการจัดการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้มาตรฐานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มาเป็นพันธมิตรในการจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยอรอุมากล่าวว่า “TES เป็นบริษัทที่ทำงานกับเรามานาน โดยเรียกตัวเองว่าเป็น IP Solution ที่บริหารจัดการด้านขยะอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ต้นจนจบ ประมาณ 96-98 % ที่กำจัดโดยนำไปรีไซเคิล ส่วนที่เหลือคือฝุ่นและปลายทางคือ Zero Landfill”

ดีแทคทำงานร่วมกับเทสมานาน 8 ปี เมื่อเทสรับซากโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เสริมต่างๆ จากโครงการ “ทิ้งให้ดี” มาถึงยังโรงงานแล้ว เทสจะทำการตรวจนับและชั่งน้ำหนัก เพื่อรายงานจำนวนและน้ำหนักและสถานที่รับเพื่อแจ้งให้ดีแทคทราบและยืนยันว่าได้รับอุปกรณ์เป็นที่เรียบร้อย จากนั้นจะนำเข้าพื้นที่จัดเก็บและจะทำการคัดแยกวัสดุตามประเภทหลักๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่ หูฟัง สายชาร์ตแบตเตอรี่ พาวเวอร์แบงค์ เป็นต้น

เพื่อนำวัสดุหลักดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการแกะแยก เช่น โทรศัพท์มือถือ หลังการแกะแยกจะทำการบรรจุวัสดุตามแต่ละประเภท วัสดุทั้งหมดจะถูกนำส่งออกไปยังโรงงานของเทสที่สิงคโปร์ เพื่อทำลายหน่วยความจำในเครื่อง และสกัดเป็นโลหะมีค่า ได้แก่ ทองคำ ทองแดง พาราเดี้ยม เหล็ก อลูมิเนียม ลิเทียม และวัสดุประเภทพลาสติก เพื่อนำไปใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าใหม่ต่อไป ทั้งนี้ 96-98% ของขยะทั้งหมดที่ดีแทคเก็บได้สามารถนำเข้าสู่กระบวนกำจัดที่ถูกต้อง และช่วยลดการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือลดคาร์บอนฟุตพรินต์ รวมทั้ง ไม่ทิ้งเศษซากขยะเป็นขยะฝังกลบเลย หรือ Zero Landfill ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555

กรวิภา ชัยประทีป หัวหน้าฝ่ายการขายและการตลาดของTES กล่าวถึงกระบวนการทำงานในการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ว่า “ ปัจจุบันนี้TES รับขยะอิเล็กทรอนิกส์มากำจัดได้ประมาณ 300 ตันต่อเดือน ซึ่งในจำนวนนี้สามารถรีไซเคิลได้เกือบ 100% โดยปลายทางคือส่งไปรีไซเคิลที่สิงคโปร์ และมีบางส่วนเท่านั้นที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ เช่น ผงหมึก ซึ่งจะต้องส่งเข้าโรงปูนซีเมนต์อินทรีย์ เพื่อเผาเป็นพลังงานเชื้อเพลิง หลังจากกำจัดเรียบร้อยแล้ว ทางโรงปูนฯจะมีใบรับรองให้TES เพื่อนำไปแสดงให้ลูกค้ารับทราบว่าเราได้กำจัดอย่างมีมาตรฐาน Zero Landfill “

ด้านอรอุมากล่าวสรุปถึงภารกิจในความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายความยั่งยืน โดยได้เริ่มดำเนินการจัดเก็บซากขยะโทรศัพท์มือถือเก่ามาตั้งแต่ปี2557 ซึ่งสามารถเก็บขยะมือถือได้ถึง 1,774,338 เครื่อง และล่าสุดได้ริเริ่มโครงการ “ดีแทค ทิ้งให้ดี” ที่เชิญชวนผู้ใช้งานอุปกรณ์สื่อสารที่มีอุปกรณ์สื่อสารที่ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว และยังเก็บไว้ในบ้าน ให้มาทิ้งที่ศูนย์บริการดีแทคทั้ง 51 แห่งทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้มือถือเห็นถึงความสำคัญของการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

 

Stay Connected
Latest News