ปะการังเทียม 3 มิติ Coral Carbonate บ้านหลังใหม่ของชีวิตใต้น้ำ

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เราอาจจะเห็นความพยายามของหลายหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศที่พยายามฟื้นฟูแนวปะการังที่ได้รับความเสียหายทั้งจากฝีมือมนุษย์และได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ซึ่งแนวปะการังนับเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลที่สำคัญอย่างหนึ่ง


จึงเป็นที่มาของโปรเจ็ค Coral Carbonate ของนักออกแบบจาก Objects and Ideograms ในการสร้างปะการังเทียม 3 มิติ ด้วยแคลเซียมคาร์บอเนต เพื่อสร้าง “บ้าน” ที่ยั่งยืนต่อการเจริญเติบโตของแนวปะการังและชีวิตใต้น้ำ

โดย Alex Schofield ได้ริเริ่มโปรเจ็คดังกล่าวเมื่อ 3 ปีที่แล้ว หลังจากที่เขาเรียนรู้มาว่าแนวปะการังทั่วโลกได้รับความเสียหายเป็นอย่างมากจากกิจกรรมของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ กอปรกับวัสดุหรือโซลูชันที่นำไปใช้ในการฟื้นฟูปะการังที่ผ่านมานั้นไม่มีความยั่งยืนเท่าไหร่นัก

เขาจึงปิ๊งไอเดียในการนำแคลเซียมคาร์บอเนตที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาจำลองเป็นปะการัง 3 มิติ รูปร่างทรงกระบอกที่เต็มไปด้วยรูพรุนและมีพื้นผิวเป็นหิน ซึ่งมีต้นแบบเป็นปะการังตามธรรมชาติ โดยรูปร่างและขนาดของโพรง Coral Carbonate ได้ถูกพัฒนาขึ้นผ่านการสังเกตโครงสร้างของปะการังตามธรรมชาติผสมผสานเทคนิคการออกแบบด้วยระบบดิจิทัล

“เป้าหมายของ Coral Carbonate คือเพื่อสร้างโครง “บ้าน” ให้กับสิ่งมีชีวิตทางชีวภาพได้อยู่อาศัยและเจริญเติบโตในบ้านหลังใหม่และชุมชนแห่งใหม่นี้ และหลังจากที่วางลงไปในทะเลแล้ว สัตว์น้ำต่างๆก็สามารถใช้ประโยชน์ได้เหมือนกับบ้านเดิม (ปะการังจริง) ของมัน” Schofied กล่าวกับ Dezeen

ทั้งนี้ Coral Carbonate ชุดแรกของ Objects and Ideograms ได้ถูกวางลงไปที่ฐานของ Float Lab (สถานีวิจัยลอยน้ำ) ในอ่าวซานฟรานซิสโก ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก California College of the Arts โดยปะการังดังกล่าวอยู่ระหว่างการสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งก็ได้เห็นสิ่งมีชีวิตเข้ามาอาศัยและเจริญเติบโตอยู่ในปะการัง Coral Carbonate บ้างแล้ว

https://www.dezeen.com/2020/08/06/coral-carbonate-reef-skeletons-objects-ideograms/

Stay Connected
Latest News