เอาจริง AIS จับมือ “กรีนพหลโยธิน” จัดชาเลนจ์รักษ์โลก หวังกำจัดขยะ E-Waste อย่างยั่งยืน

เอไอเอส สานต่อโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม “คนไทยไร้ E-Waste” ผนึกพลัง 3 ฝ่าย ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ร่วมเป็นภาคีเครือข่าย รณรงค์ สร้างจิตสำนึก ในการคัดแยกและนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) ไปทิ้งอย่างถูกวิธี ล่าสุดชวนมหามิตร “กรีนพหลโยธิน” 13 องค์กรชั้นนำบนถนนเส้นพหลโยธิน ทำภารกิจครั้งสำคัญเพื่อสิ่งแวดล้อมไทย “E-Waste The Battle ถ้ารักษ์จริง…มาทิ้งแข่งกัน” แข่งขันรวบรวม E-Waste เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี พร้อมเปิดตัวพันธมิตรรายใหม่ ECOLIFE แอปพลิเคชันรักษ์โลก สร้างความสนุกให้กับทุกการทิ้ง เปลี่ยนทุกขยะให้เป็นคะแนนสะสมแลกของพรีเมี่ยมสำหรับคนสายกรีน

“ นโยบายการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนของเอไอเอสนั้น ไม่ใช่ดูเรื่องผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องดูเรื่องกำไรหรือขาดทุนที่มีผลกระทบต่อต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย โดยใช้กลยุทธ์ 7 ด้าน และหนึ่งในด้านที่เราจะชวนทุกคนมาทำกันในวันนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อมคือเรื่อง “ขยะ” ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศไทย ทั้งขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste ) ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้มีการบริหารจัดการหรือบูรณษการทานร่วมกันอย่างเป็น วันนี้เราจึงชวนกันมาสร้างความตระหนักรู้และชักชวนให้ประชาชน มาร่วมกันทิ้งขยะ E-Waste อย่างถูกต้อง” นัฐิยา พัวพงศกร หัวหน้าแผนกงานพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน เอไอเอส กล่าวว่าถึงที่มาของการเริ่มเดินหน้าสานต่อโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม “คนไทยไร้ E-Waste” ซึ่งได้ริเริ่มเมื่อปลายปี 2562 กับก้าวต่อไปเพื่อสร้างต้นแบบของการจัดการขยะ E-Waste อย่างยั่งยืน

นัฐิยา พัวพงศกร หัวหน้าแผนกงานพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน เอไอเอส

นัฐิยา พัวพงศกร กล่าวขยายความต่อว่า “ในฐานะ Digital Life Service Provider ที่มีเป้าหมายในการเป็นผู้ให้บริการด้านดิจิทัลที่ดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ พร้อมร่วมดูแลรับผิดชอบต่อ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของประเทศให้พัฒนาและเติบโตไปพร้อมกัน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราได้ให้ความสำคัญต่อการจัดการปัญหาขยะทุกประเภท พร้อมทั้งบูรณาการจัดทำโครงการที่เป็นรูปธรรมกับทั้งพนักงานภายในและบุคคลทั่วไป รวมถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) ที่นับได้ว่าเป็นขยะอีกหนึ่งประเภทที่เรามุ่งมั่นค้นหาแนวทางในการคัดแยกและนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีอย่างต่อเนื่อง เราจึงได้ตั้งโครงการ “คนไทยไร้ E-Waste” ขึ้น โดยมีเป้าหมายในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนทั่วไปให้สามารถนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) ซึ่งประกอบไปด้วย โทรศัพท์มือถือ/แท็บเล็ต, แบตเตอรี่มือถือ, พาวเวอร์แบงก์, สายชาร์จ, หูฟัง มาทิ้งได้ที่ถังรับ E-Waste ที่ AIS Shop ทั่วประเทศ, AIS Telewiz, ที่ทำการไปรษณีย์ไทย, ศูนย์การค้าเครือเซ็นทรัล, มหาวิทยาลัย, อาคารชุดและคอนโดต่างๆ รวมกว่า 1,800 จุด”

ปัจจุบันโครงการ “คนไทยไร้ E-Waste” สามารถรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้จำนวนทั้งสิ้น 51,786 ชิ้น เทียบเท่าการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 517,860 กิโลกรัมคาร์บอนสมมูลย์  โดยทางเอไอเอส ได้นำขยะ E-Waste ที่เก็บรวบรวมได้จากโครงการทั้งหมด นำส่งให้กับบริษัท เทส จำกัด ผู้เชี่ยวชาญในการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้มาตรฐานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อกำจัดอย่างถูกวิธีด้วยกระบวนการ Zero Landfill (การจัดการขยะทำให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ให้เกิดมูลค่าได้อีกครั้ง)

ทั้งนี้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) นับว่าเป็นปัญหาใหญ่ของคนทั่วทั้งโลก ด้วยปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในทุกปี สวนทางกับปริมาณขยะที่ได้รับการจำกัดอย่างถูกวิธี ขยะที่หลงเหลือเหล่านั้นอาจส่งสารพิษ กลับมาทำลายสุขภาพ และก่อให้เกิดผลเสียกับสิ่งแวดล้อมในระยะยาว เพื่อสานต่อความตั้งใจ ที่ตั้งเป้าลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 5 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนสมมูลย์ หรือเทียบเท่าการนำขยะ E-Waste ไปกำจัดอย่างถูกวิธีรวม 500,000 ชิ้น

และแผนการรณรงค์เรื่องการกำจัดขยะ EWASTEภายในปี 2563 เอไอเอส จึงได้จัดชาเลนจ์เพื่อสิ่งแวดล้อมครั้งใหม่ ชวนองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมชาเลนจ์ “E-Waste The Battle ถ้ารักษ์จริง…มาทิ้งแข่งกัน” ประเดิมการแข่งขันนัดแรกกับมหามิตร “กรีนพหลโยธิน” 13 องค์กร ชั้นนำบนถนนเส้นพหลโยธิน

กลุ่ม “กรีนพหลโยธิน” เป็นกลุ่มองค์กรที่จัดขึ้นโดยการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายกับ 13 องค์กร ภาครัฐและภาคเอกชน บนถนนเส้นพหลโยธิน ประกอบด้วย สำนักงานเขตพญาไท, สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ, โรงพยาบาลพญาไท 2, บุญเติม, สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก , ธ.ออมสิน สำนักงานใหญ่, ธ.กสิกรไทย สำนักพหลโยธิน, ธ.กรุงไทย สาขาซอยอารีย์, ธ.เกียรตินาคิน สาขาพหลโยธิน, ธ.ยูโอบี สาขาถนนพหลโยธิน 8, ธ.กรุงเทพ สาขาซอยอารี, IBM และ Exim Bank

ถือเป็นการรวมพลังครั้งสำคัญของคนบนถนนพหลโยธิน ซึ่งเอไอเอสอาสาเป็นแกนนำ โดยมีเป้าหมายยกภาคีเครือข่ายนี้ให้เป็นต้นแบบของการจัดการขยะ E-Waste อย่างยั่งยืน เพื่อให้ทุกภาคส่วนมาร่วมรณรงค์ ผลักดันให้เกิดการคัดแยกและทิ้งขยะ E-Waste อย่างถูกวิธี โดยกิจกรรมชาเลนจ์ครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นการสานสัมพันธ์ความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายเป็นครั้งที่ 2 หลังจากเคยทำภารกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมร่วมกันในปีที่ผ่านมา

สำหรับการแข่งขันจะแบ่งองค์กรในกรีนพหลโยธินออกเป็น 2 ทีม ได้แก่ทีม A และ ทีม B ทั้งสองทีมจะต้องเชิญชวน พนักงาน ลูกค้า หรือผู้เข้ามาติดต่อให้เข้ามาร่วมทิ้งขยะ E-Waste ที่จุดรับทิ้งของแต่ละองค์กร เริ่มนับคะแนนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2563 โดยทีมที่ชนะและทีมที่แพ้จะได้รับเงินบริจาค เพื่อนำไปให้กับองค์กรหรือมูลนิธิที่เลือกไว้ ทั้งนี้เอไอเอส จะร่วมสมทบทุนมูลนิธิชัยพัฒนาเพื่อใช้ในกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม

และเพื่อให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ เอไอเอสจึงจับมือ KID KID องค์กรเพื่อสังคมด้านสิ่งแวดล้อม นำแอปพลิเคชัน ECOLIFE มาช่วยอำนวยความสะดวกในการแข่งขัน โดยสามารถติดตามปริมาณการทิ้งของแต่ละองค์กรได้แบบเรียลไทม์ ผ่านเว็บไซต์ http://www.ecolifeapp.com และยังเปิดมิติใหม่ในการทิ้งขยะ E-Waste ซึ่งจะได้ทั้งช่วยโลก ได้ทำบุญ และได้ ECO POINT คะแนนสะสมสำหรับสายกรีน ซึ่งสามารถนำไปแลกของพรีเมี่ยมผ่านแอปพลิเคชัน ECOLIFE ได้

ท็อป พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร ผู้ก่อตั้งบริษัท คิดคิด จำกัด กล่าวว่า “แอปพลิเคชันECOLIFE เป็นเทคโนโลยีที่สร้างการเปลี่ยนแปลงทางด้านสิ่งแวดล้อมและสามารถวัดผลอย่างเป็นรูปธรรม การมาร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับเอไอเอสในโครงการนี้ เราจึงวางแผนโดยใช้ฐานข้อมูลในแอปพลิเคชัน ECOLIFE เพื่อหากลุ่มเป้าหมายและวางแผนการสื่อสาร ซึ่งทำเป็นรูปแบบเกมและแต่งเพลงที่สอดแทรกความรู้เรื่องขยะE-WASTEเพื่อให้เกิดความสนุก รวมถึง การแข่งขัน มีการสะสมคะแนนเพื่อสร้างแรงจูงใจให้มาลดการใช้พลาสติก”

ส่วน ศุภกร พะวันนา ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารการตลาด กลุ่ม PMC โรงพยาบาลพญาไท หนึ่งในพันธมิตร “กรีนพหลโยธิน” กล่าวถึงแผนงานรณรงค์ฯว่า “ โรงพยาบาลพญาไทมีความเชี่ยวชาญในการจัดการเรื่องขยะติดเชื้ออยู่แล้ว โดยใช้การบริหารจัดการแบบ Quality Management เริ่มตั้งแต่อบรมพนักงานในองค์กรให้มีความรู้เรื่องการทิ้งขยะให้ถูกประเภท ดังนั้นเมื่อเพิ่มขยะ E-WASTE มาจึงไม่ใช่เรื่องยาก นอกจากนี้ยังพยายามให้ทุกคนมีส่วนร่วมผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับขยะ รวมทั้งใช้ภาคีเครือข่ายร้านค้าที่อยู่ในโรงพยาบาลมาร่วมด้วย”

ทางด้าน พลตรีรังษี กิติญาณทรัพย์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกให้ความเห็นว่า “ ปัจจุบันคนไทยใช้มือถือหลายล้านเครื่องจึงมี E-WASTE เป็นจำนวนมาก แต่การคัดแยกขยะที่ต้นทางยังเป็นปัญหามากสำหรับคนไทย สำหรับผมคิดว่านอกจากการรณรงค์ในโครงการนี้แล้ว ควรเพิ่มเครือข่ายสร้างการตระหนักรู้และปลูกฝังจิตสำนึกในการคัดแยกขยะและนำ E-WASTE ไปกำจัดอย่างถูกวิธีเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีคืนสู่สังคมร่วมกัน

“การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากองค์กรเครือข่ายกรีนพหลโยธิน ที่ตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดจากการทิ้งและกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) อย่างไม่ถูกวิธี เอไอเอส ยินดีที่จะเป็นตัวกลางในการสร้างเครือข่าย ขับเคลื่อนความร่วมมือที่ดีๆ แบบนี้ทั่วประเทศ โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าองค์กรเครือข่ายกรีนพหลโยธินจะเป็นต้นแบบการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน (From Green Network to Green Society) ต่อไป” นัฐิยา กล่าวปิดท้าย

Stay Connected
Latest News