ช่วงวิกฤติโควิดอาหารดีลิเวอร์รี่ส่งผลให้ขยะพลาสติกล้นเมือง

จากการที่ประชาชนต้องกักตัวอยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อช่วยชาติทำให้บริการส่งอาหารถึงประตูบ้านได้รับความนิยมเป็นอย่างมากเนื่องจากร้านค้าต่างๆไม่อนุญาตให้ลูกค้านั่งกินที่ร้านเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019  ในขณะที่บริการดังกล่าวได้สร้างความสะดวกสบายแก่ผู้บริโภค แต่กลับเพิ่มปริมาณขยะพลาสติกในประเทศไทยให้สูงขึ้น



ตามการรายงานของ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา แห่งสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ก่อนเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ได้ผลิตขยะพลาสติกในปริมาณ 5,500 ตันต่อวัน แต่ในวันนี้ปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 6,300 ตันต่อวัน “ผลกระทบของบริการจัดส่งอาหารนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครที่อุตสาหกรรมดังกล่าวเติบโตอย่างมาก”

โดยปกติแล้วกรุงเทพฯผลิตขยะทั้งสิ้นประมาณ 10,500 ตันต่อวัน แต่ปริมาณขยะก็ได้ลดลง 12% ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ส่งผลให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถมาเยือนประเทศไทยได้ แต่อย่างไรก็ดี ขยะพลาสติกในกรุงเทพฯก็ยังคงมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นราวๆ 3,000 ตันต่อวัน ซึ่งตามรายงานของกรมควบคุมมลพิษระบุว่าขยะพลาสติกในประเทศไทยคิดเป็น 12% ของปริมาณขยะทั้งหมดในประเทศตลอดทั้งปี (ประมาณ 2 ล้านตัน) แต่มีขยะพลาสติกเพียงแค่ 25% เท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิลขณะที่ขยะพลาสติกที่เหลือเป็นขยะพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวซึ่งจะถูกนำไปทิ้งในหลุมฝังกลบหรือลอยเกลื่อนอยู่ในทางน้ำ

ในปีที่ผ่านมา ได้มีการจัดแคมเปญรณรงค์ไม่ใช้พลาสติกเพื่อสร้างการรับรู้ต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย โดยในวันที่ 1 มกราคม ได้เริ่มมาตรการรณงค์เลิกใช้ถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทั่วทั้งประเทศ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสมาคมห้างค้าปลีกแห่งประเทศไทย แต่ข้อเมื่อเข้าสู่วิกฤติโควิด-19 ทำให้เกิดข้อจำกัดด้านการสัญจรของประชาชน ส่งผลให้บริการจัดส่งอาหารกลับมาเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงกลายเป็นสาเหตุให้ความพยายามใช้มาตรการลดปริมาณขยะพลาสติกหยุดชะงักลง

“ทุกๆ หนึ่งออร์เดอร์ของบริการจัดส่งอาหารมักจะมีพลาสติกเฉลี่ย 4 ใบ อาหารบางประเภท เช่น ก๋วยเตี๋ยว จะมีเครื่องปรุงที่ใส่แยกถุงอีก 2-3 ใบ พลาสติกหลายประเภทสามารถรีไซเคิลได้แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าขยะพลาสติกไม่ได้เข้าไปสู่กระบวนการจัดการขยะทุกครั้ง” ดร.วิจารย์ สิมาฉายา กล่าว

“วิกฤตินี้ได้ก่อให้เกิดอุปสรรคต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่คำถามที่สำคัญคือพลาสติกที่ใช้แล้วไปไหน และมันจะถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบได้ด้วยวิธีใด”

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาอย่างหนักจากความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่มีต้นเหตุมาจากขยะพลาสติกจำนวนมหาศาล ซึ่งประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ 5 ของโลกที่ทิ้งขยะลงในมหาสมุทรมากที่สุด

credit : www.channelnewsasia.com/news/asia/food-delivery-increases-thailand-plastic-waste-during-covid

Stay Connected
Latest News