เอไอเอส สานต่อภารกิจ “AIS 5G สู้ภัยโควิด” เสริมทัพสาธารณสุขให้แกร่งด้วยการติดอาวุธแอปพลิเคชันให้ “นักรบเสื้อเทา” สู้กับการแพร่ระบาดโควิด-19 แบบครบวงจร พร้อมจัดหนักมอบ ”ซิมฮีโร่” ให้อสม.ปฏิบัติภารกิจได้แบบไม่สะดุด และมอบฟรีประกันภัยโควิด เพื่อเป็นกำลังใจให้นักรบเสื้อเทา อสม. พร้อมต่อสู้ป้องกันการแพร่ระบาดรอบ 2 โดยมีเป้าหมายหลักคือการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างความยั่งยืน
จากกรณีที่ปัจจุบันการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในอัตราที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการของภาครัฐ ความร่วมมือของประชาชนที่ร่วมกันเว้นระยะห่างทางสังคม ( Social Distancing) รวมไปถึงการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขรวมถึง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ อสม. ทั่วประเทศที่ทุ่มเทแรงกายและแรงใจในการรักษา ฟื้นฟู และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสชนิดนี้อย่างหนักมาโดยตลอด
แต่ทว่ามาตรการคลายล็อกดาวน์ที่ภาครัฐกำลังผ่อนปรนให้หลาย ๆ ธุรกิจกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง อาจเป็นตัวจุดชนวนการแพร่ระบาดของเชื้อในระลอกที่ 2 ได้ จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันยับยั้งไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น
ล่าสุด เอไอเอส ได้ผนึกกำลังกับกระทรวงสาธารณสุข พัฒนาแอปพลิเคชันใช้เป็นอาวุธเครื่องมือให้กับ อสม. นักรบเสื้อเทา เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 แบบครบวงจร ตั้งแต่ระดับรากฐานไปจนถึงการรายงานผลภาพรวมในระดับประเทศ โดยการพัฒนาใหม่เพิ่มฟีเจอร์บนแอปพลิเคชัน “อสม. ออนไลน์” จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้ อสม. สามารถ เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง คัดกรอง และติดตามกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 ได้แบบเรียลไทม์ พร้อมมอบ “ซิมฮีโร่” พิเศษเพื่อสมาชิก อสม. ให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งความห่วงใยมอบฟรีประกันภัยโควิด-19 เพื่อเป็นกำลังใจและสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจป้องกันการแพร่ระบาดรอบ 2
ซึ่งเรื่องนี้ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “การที่เอไอเอสได้ลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องยาวนานเพื่อสร้างเครื่องมือต่าง ๆ มอบให้ อสม.นำไปต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ถือเป็นคุณูปการอันใหญ่หลวง นอกจากนี้เอไอเอสยังได้ช่วยกระทรวงสาธารณสุขโดยมาเสริมทักษะให้พี่น้องชาวอสม.ในเรื่องการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาดูแลสุขภาพของประชาชน และในวันนี้เอไอเอสได้พัฒนาฟีเจอร์ใหม่แอปพลิเคชัน “อสม. ออนไลน์” ใช้เป็นเครื่องมือช่วยเสริมการทำงานของอสม.ในการตรวจสอบและคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงในชุมชน ทั้งจากที่เดินทางมาจากพื้นที่อื่นและมีประวัติสัมผัสผู้ติดเชื้อ และสามารถส่งข้อมูลเหล่านี้ผ่านแอปพลิเคชันเพื่อนำไปวิเคราะห์สถานการณ์เฝ้าระวังและการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผมเชื่อมั่นว่าแอปพลิเคชันนี้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพพร้อมเป็นกำลังสำคัญในการนำพาประเทศก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ด้วยดี”
ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวถึงบทบาทของ อสม.ว่า เป็นหน่วยงานของสาธารณสุขด่านหน้าที่ไปเคาะประตูบ้านของประชาชนเพื่อให้ความรู้ส่งผลให้ตัวเลขการแพร่ระบาดของโควิดในต่างจังหวัดลดลงอย่างมาก ซึ่งผลงานเป็นที่ประจักษ์จนได้รับการยอมรับจากสังคมไทยและสังคมโลก ล่าสุดได้รับการชื่นชมจากองค์การอนามัยโลกว่าอสม.เป็นเสมือนพลังเงียบสู้ภัยโควิด-19 ที่ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 ลดลงเป็นที่น่าพอใจ
“ ซึ่งทางกรมฯ ได้ร่วมมือกับ เอไอเอส พัฒนาแอปพลิเคชัน “อสม.ออนไลน์” เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำงานให้กับ อสม.เป็นระยะเวลากว่า 4 ปี และร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลจัดโครงการประกวด อสม.แอปพลิเคชันมอบรางวัลชมรมอสม.ต่าง ๆ ในพื้นที่ จำนวน 202 รางวัลมากกว่า 10 ลบ. ในนามของกรมฯขอขอบคุณเอไอเอสที่เห็นความสำคัญของการทุ่มเทและเสียสละของอสม.อย่างต่อเนื่อง”
AIS ส่ง 5G เสริมทัพสู้ภัยโควิด
สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่านับตั้งแต่เอไอเอสประมูลคลื่น 5G เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ให้แข็งแกร่งและนำพาประเทศไทยก้าวไปอีกขั้นตามเจตนารมณ์ของภาครัฐ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขที่ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขในโครงการ” AIS 5G ต้านภัยโควิด-19” โดยขยายเครือข่าย 5G สนับสนุนการทำงานตามโรงพยาบาลทั่วประเทศด้วยงบประมาณ 177 ล้านบาท
“นับจากวันที่เอไอเอสได้ประกาศวิสัยทัศน์ในการนำพลานุภาพของเครือข่ายอัจฉริยะ 5G มาสนับสนุนการทำงานของทีมแพทย์ พยาบาล ยกระดับงานสาธารณสุขให้สามารถทำงานเชิงรุก ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เราได้ขยายเครือข่าย 5G ไปตามโรงพยาบาลต่าง ๆ 161 แห่งใน 77 จังหวัด นอกจากนี้ยังเพิ่มซุปเปอร์ไวไฟ 4G ให้กับทุกโรงพยาบาลด้วย ในโครงการ AIS 5G ต้านภัยโควิด-19 ”
ทั้งนี้ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้ทีมแพทย์และพยาบาลต้องทำงานเพื่อต่อสู้กับโรคมหัตภัยนี้ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการติดโรคแก่บุคลากรทางการแพทย์ ทาง เอไอเอส ได้ใช้ศักยภาพของ 5G ตั้งศูนย์เฉพาะกิจ AIS Robotic Labs พัฒนา Robot for Care หุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์ทำหน้าที่ตรวจรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ช่วยรักษาระยะห่างระหว่างหมอและคนไข้
ซึ่งเรื่องนี้สมชัย กล่าวเสริมว่า “เราสร้างหุ่นยนต์ Robot for care จำนวน 23 ตัว มอบให้กับ 22 โรงพยาบาล เพื่อลดความเสี่ยงของแพทย์และพยาบาลไม่ต้องสัมผัสกับคนไข้โดยตรง โดยหุ่นยนต์จะทำหน้าที่วัดไข้โดยไม่ต้องใช้คนมาตรวจด้วย Termo Scan นอกจากนี้คุณหมอยังสามารถบังคับหุ่นยนต์ Robot for care ด้วยมือถือ ให้ไปตรวจคนไข้ตามห้องต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงของแพทย์และพยาบาล ได้อีกด้วย”
นอกจากนี้เอไอเอส ยังนำระบบ AI อัจฉริยะส่งมอบให้ 2 โรงพยาบาลเพื่อใช้วิเคราะห์หาผู้ป่วยโควิดได้รวดเร็วแม่นยำ โดยกระบวนการนำข้อมูลจากทุกโรงพยาบาลที่ทำ TC scan ปอดของผู้ป่วย แล้วส่งผลตรวจมายัง AI วิเคราะห์เชื้อโรคโควิด-19 และสามารถทราบผลภายในเวลาเพียง 30 วินาที โดยมี ความแม่นยำถึง 97% จากการทดสอบที่ประเทศจีน
ติดแอป-ติดอาวุธให้อสม.
ล่าสุดเอไอเอสได้สานต่อภารกิจ “AIS 5G ต้านภัยโควิด-19” โดยผนึกกำลังกับกระทรวงสาธารณสุขพัฒนาฟีเจอร์บนแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ เพื่อสนับสนุนการทำงานของนักรบเสื้อเทาดังนี้
1 เพิ่มฟีเจอร์คัดกรองและติดตามโควิด-19 บน แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์เพื่อให้อสม.ใช้เป็นเครื่องมือในการเฝ้าระวังความเสี่ยง คัดกรอง และติดตามผลกลุ่มเสี่ยงผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชน ด้วยรูปแบบการรายงานดิจิทัล แบบเรียลไทม์ทางมือถือ ทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข รพ.สต. สาธารณสุขอำเภอและสาธารณสุขจังหวัด สามารถติดตามข้อมูลรายละเอียดการคัดกรองได้ทันเหตุการณ์
2 สนับสนุน”ซิมฮีโร่” ให้แก่อสม.ทั่วประเทศ มอบอินเตอร์เน็ตสำหรับใช้งานบนแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ได้ฟรีไม่จำกัดที่ความเร็ว 1Mbps เล่นเน็ตไม่รั่ว ที่ความเร็ว 128 kbps โทรทุกเครือข่ายวินาทีละ 2 สตางค์ ตลอด 24 ชั่วโมงนาน 1 ปี
3 มอบสิทธิ์ความคุ้มครองประกันภัยให้ อสม.ทั่วประเทศฟรี โดยมีระยะเวลาคุ้มครอง 30 วัน คุ้มครองการเสียชีวิตทุกกรณี 50,000 บาท และรับความคุ้มครองชดเชยรายวัน 400 บาท/วัน สูงสุดไม่เกิน 15 วัน เมื่อเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในฐานะผู้ป่วยในจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วย
ปัจจุบันมีสมาชิก อสม.ทั้งประเทศ 1,050,000 คน มียอดดาวน์โหลด แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ 410,000 ราย แต่ยอดใช้งานจริงเพียง 340,000 คน ซึ่งเชื่อว่าหลังจากเพิ่มการสนับสนุนไปแล้วจะทำให้มียอดใช้แอปฯ นี้เพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพให้การทำงานสาธารณสุขในเชิงรุก เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
AIS ร่วมสร้างความยั่งยืนสาธารณสุขไทย
สมชัย เล่าย้อนเหตุการณ์ว่า “เมื่อเดือนตุลาคม 2558 เอไอเอสได้บรรลุข้อตกลงร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อหาเครื่องมือช่วย อสม.ในการทำงาน ทางเอไอเอสจึงพัฒนา แอปพลิเคชัน “อสม.ออนไลน์” ขึ้นมา และเริ่มมีการจัดกิจกรรมขึ้นเพื่อส่งเสริมสนับสนุนและกระตุ้นให้ชาวอสม.เข้าใจ เข้าถึงและเกิดการใช้งาน จึงจัดโครงการประกวดการใช้งานแอปพลิเคชันอสม.ออนไลน์ โดยใช้งบประมาณ 10 ลบ ปัจจุบันดำเนินการมาเป็นปีที่ 3 ”
โครงการประกวดฯ จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 โดยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้หน่วยบริการสุขภาพ และ อสม. ได้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้เป็นเครื่องมือในการดูแลสุขภาพของประชาชน รวมทั้ง ส่งเสริมให้ อสม. มีทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) และมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) เพื่อนำองค์ความรู้ไปแนะนำการดูแลสุขภาพให้แก่คนในชุมชน นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เกิดการสร้างต้นแบบการใช้งานในพื้นที่ เกิดกระบวนการเรียนรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานในแต่ละพื้นที่ร่วมกัน อันจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการดูแลสุขภาพของคนไทย ทั้งด้านรักษาพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคได้อย่างทั่วถึงและยั่งยืน
ด้วยหลักการทำงานของแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ที่เน้นเสริมสร้างพื้นฐานทางด้านสาธารณสุขอย่างยั่งยืน แอปฯ นี้จึงได้รับรางวัลชนะเลิศการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ส่งเสริมกระบวนการทำงาน การเรียนรู้และสุขภาพประจำปี 2017 จาก WSIS 2017 Prizes Winner จากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU และองค์การสหประชาติ UN ที่สะท้อนให้เห็นว่าการใช้นวัตกรรมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้งาน ทุกเพศทุกวัยและกระจายสู่พื้นที่ต่างๆ อย่างเสมอภาค อีกทั้งยังสอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ในเรื่องการใช้งานอสม.ออนไลน์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ ให้มีการใช้แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์อย่างกว้างขวางและใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพมากที่สุด
สมชัย กล่าวสรุปถึงเป้าหมายการทำงานร่วมกันสาธารณสุขว่า “ตลอดเวลาแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ มีการพัฒนาเพิ่มเติมฟีเจอร์ฟังก์ชั่นต่างๆ อยู่ตลอดเพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานของอสม.ในพื้นที่ เช่นในปี 2562 มีการเพิ่มฟังก์ชั่นการทำการสำรวจลูกน้ำยุงลาย ส่งผลให้อัตรากรการติดต่อของโรคไข้เลือดออกลดลงอย่างน่าพอใจ สำหรับปีนี้เมื่อเกิดโควิดแพร่กระจายจึงเพิ่มฟังก์ชั่นรายงานโควิดขึ้นมา รวมถึงล่าสุดเราได้รับการร้องขอจากกระทรวงสาธารณสุขว่าหลังจากเรื่องโควิดแล้ว ขอให้เอไอเอสพัฒนาฟีเจอร์เรื่องสุขภาพจิต ซึ่งถือเป็นการบ้านที่เราจะต้องไปพัฒนาต่อไป”