สื่อนิวยอร์กชื่นชม “ปู-เจส” เจ้าของร้านอาหารไทย เดินตามรอย ร.๙ ทำอาหารแจกฝรั่งช่วงวิกฤติโควิด

วันนี้ (10 เม.ย.2563) สถานการณ์โควิด-19 ที่นิวยอร์กเข้าขั้นวิกฤติเมื่อมีผู้เสียชีวิตในวันนี้ถึง 799 คน มากจนไม่สามารถนำร่างผู้เสียชีวิตทั้งหมดไปประกอบพิธีทางศาสนาได้ จึงต้องนำร่างไปฝังรวมกันทั้งหมดที่เกาะเรือนจำนอกเมือง ทำให้นิวยอร์กกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงอย่างมาก ถือเป็นเรื่องสะเทือนใจของชาวนิวยอร์กและชาวโลกที่ติดตามข่าวนี้อย่างใกล้ชิด


แต่ในสถานการณ์ที่ความมืดมิดปกคลุมทุกชีวิตชาวนิวยอร์กนั้น พลันมีแสงเทียนเล็ก ๆ สว่างวาบขึ้นมา “ปูและเจส” คือผู้จุดแสงสว่างนั้นขึ้น เพื่อขออาสาเป็นกำลังใจให้ทุกชีวิตมีพลังบวกขึ้นมา

“เราสองสามีภรรยาตัดสินใจที่จะเป็นเทียนเล็กๆเล่มหนึ่งที่จุดขึ้นมาเพื่อเป็นแสงสว่างให้กับชุมชนในช่วงเวลาที่มืดมิดขณะนี้” ปู-กันยาวีร์ สาวไทยที่ไปเปิดร้านอาหารไทยในนิวยอร์กล่าวกับ SDThailand.com

 

 

ปู-กันยาวีร์ คาลโว เป็นสาวไทยอดีตนักประชาสัมพันธ์โรงแรมในกรุงเทพฯ เมื่อสองปีที่แล้วปูและและเจส คาลโวผู้เป็นสามีตัดสินใจไปเปิดร้านอาหารไทยที่นิวยอร์กชื่อ Thai Farm Kitchen เมื่อเดือนตุลาคม 2561 ทำอาหารไทยออแกนิคแบบ Farm to Table โดยอุดหนุนวัตถุดิบพืชผักจากชุมชนในท้องถิ่นซึ่งกิจการร้านอาหารไทยได้รับการต้อนรับอย่างดีจากคนในชุมชน

จนเมื่อเกิดไวรัสโควิดแพร่ระบาดเข้าสู่นิวยอร์ก ซึ่งกลายเป็นพื้นที่ที่คนติดเชื้อมากเป็นอันดับหนึ่งของอเมริกา รวมถึงเสียชีวิตมากที่สุดด้วย ทำให้ชุมชนซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านมีผลกระทบอย่างมาก ร้านค้าปิดหมด รวมถึงร้านอาหาร Thai Farm Kitchen ด้วย

แต่ด้วยจิตใจที่ดีงามของปูและเจสสองสามีภรรยา ทั้งคู่จึงเริ่มจากทำอาหารกล่องแจกให้พนักงานในร้านรวมถึงครอบครัวของพนักงานซึ่งขาดแคลนอาหารได้รับประทานกัน จากนั้นก็เริ่มขยายความช่วยเหลือไปสู่ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ติดเชื้อ รวมถึงผู้ที่เดือดร้อนและไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้

ในเมืองไทยการทำอาหารแจกผู้ยากไร้หรือผู้ประสบปัญหาเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมของคนไทยมานานแล้ว แต่สำหรับเมืองนอกการทำอาหารกล่องแจกผู้ประสบปัญหาในสังคมฝรั่งดูเป็นเรื่องแปลกประหลาด แต่ปูและเจสก็ยินดีใช้เงินส่วนตัวและแรงกายทำอาหารกล่องแจกทุกวัน จนกลายเป็นความประทับใจของผู้รับ พลังแห่งการ “ให้” ส่งผลให้คนในชุมชนต่างลุกขึ้นมาปรบมือให้กับจิตใจที่ดีงามของทั้งสอง

จนสื่อท้องถิ่นในนิวยอร์กทั้งสื่อโทรทัศน์และเว็บไซต์ต่างก็มาขอสัมภาษณ์ปรากฏการณ์นี้อย่างชื่นชม SDThailand.com มีโอกาสได้สัมภาษณ์เปิดใจ ปู-กันยาวีร์ คาลโว ถึงความตั้งใจในการสร้างพลังบวกครั้งนี้ จนได้รับความชื่นชมจากคนในชุมชนและสื่อในนิวยอร์ก และช่วยสร้างภาพลักษณ์และชื่อเสียงให้กับคนไทยอีกด้วย

                 * * * * * * * * * * * * * * * * *

สถานการณ์โควิดที่นิวยอร์กเป็นอย่างไรบ้าง

สถานการณ์โควิดที่นิวยอร์กแย่มาก มีคนเสียชีวิตค่อนข้างเยอะ และติดเชื้อมากมาย ธุรกิจปิดตัวตามคำสั่งของรัฐทั้งหมด ยกเว้นกลุ่มธุรกิจที่มีความสำคัญเช่น ร้านอาหาร ร้านขายยา เป็นต้น สินค้าราคาแพงและขาดตลาด ตัวแทนจำหน่าย(ซัพพลายเออร์)ที่ส่งสินค้ามาที่ร้านอาหารก็หยุดส่ง มีของขายบ้าง ขาดบ้าง

คนไทยที่นี่ส่วนใหญ่จะอยู่อาศัยที่ควีนส์ ส่วนร้านของเรานั้นอยู่ที่บรู๊คลิน คนงานที่เป็นคนไทยของเราที่อาศัยอยู่ควีนส์ก็ไม่สามารถที่จะเดินทางมาทำงานโดยรถสาธารณะได้เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคได้ง่าย เราจึงมีคนงานที่จำกัดมากๆ บางส่วนเราก็ช่วยเช่าที่พักให้เขาสามารถเดินมาทำงานได้โดยไม่ต้องใช้รถสาธารณะ

คนเอเซียถูกรังเกียจโดยคนบางกลุ่มเหมาว่าเป็นตัวนำเชื้อโรคมาสู่ประเทศเขา บ้างก็โดนมองด้วยสายตาเหยียดหยาม โดนด่า โดนทำร้าย หรือโดนฆ่าเลยก็มี

สถานการณ์โควิดกระทบถึงร้านอาหาร Thai Farm Kitchen อย่างไรบ้าง

ผลกระทบคือคนงานต้องถูกลดลง เพราะรายได้ลดลงมาก ยอดขายหล่นอย่างน่าตกใจ และสินค้าเครื่องปรุงขาดตลาด ราคาแพงมากขึ้น ซื้อด้วยเครดิตไม่ได้ ต้องชำระด้วยเงินสดเท่านั้น

ทำไมถึงคุณปูและคุณเจสถึงลุกขึ้นมาทำอาหารไปแจกให้คนในชุมชน

เราเริ่มต้นโดยการทำอาหารแจกให้พนักงานนำกลับไปทานที่บ้าน และนำไปฝากให้ครอบครัวของเขา และขยายไปให้เพื่อนๆของเรา ต่อมาเราเห็นว่ากระแสรังเกียจคนเอเซียมันมีมาก มีแต่ข่าวคนแก่งแย่งซื้อสินค้ากันเพื่อกักตุน ถึงกับขนาดว่าทำร้ายร่างกายกันเพียงเพื่อซื้อกระดาษชำระเท่านั้น และมีข่าวสารที่น่าหดหู่อยู่มากมายในสื่อต่างๆ ผู้คนเริ่มหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ห่างเหินจากกัน มนุษย์สัมพันธ์เริ่มแย่ขึ้นทุกๆวัน

เราสองสามีภรรยาจึงตัดสินใจที่จะเป็นเทียนเล็กๆเล่มหนึ่งที่จุดขึ้นมาเพื่อเป็นแสงสว่างให้กับชุมชนในช่วงเวลาที่มืดมิดขณะนี้ เพื่อให้ความอบอุ่น ความหวัง เพื่อสร้างพลังบวกให้เกิดขึ้นในชุมชน เราประกาศที่จะให้ความช่วยเหลือโดยจะส่งมอบอาหารกลางวันไปถึงหน้าประตูบ้านของผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ติดเชื้อ และผู้ที่เดือดร้อนและไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้   ส่วนค่าใช้จ่ายนั้นค่อนข้างสูง ประมาณ $500 US หรือประมาณ ฿16,500 บาท ต่อวัน เงินทุนทั้งหมดเป็นของเราเองทั้งสิ้น


ช่วยเล่ารายละเอียดว่าทำอาหารอะไร

อาหารที่ทำนั้นส่วนใหญ่เป็นอาหารประเภทผัด เช่น ผัดไท ผัดซีอิ้ว ผัดกระเพรา ข้าวผัด และแกงจืด ต้มข่าไก่ เป็นต้น บางคนอาจขออาหารพิเศษ เช่น โจ๊กไก่ ข้าวต้มปลา ส่วนบ้านไหนที่มีเด็ก เราก็จะทำขนมจีบ ปีกไก่ทอด ซี่โครงหมูทอด เสริมเข้าไปเพื่อให้เด็กได้กินถูกปากมากขึ้น พร้อมทั้ง ซื้อนมสด ซีเรียล ผลไม้ และขนม ไปฝากเขาเท่าที่จะมีทุนเพียงพอเหลือที่จะหาได้ในช่วงเวลานั้นๆ

ส่วนความช่วยเหลืออื่นๆที่ทำได้อีกคือการไปช่วยทำธุระให้เขา เช่นการไปรับยาที่ร้านขายยาให้คนเหล่านี้ หาของใช้จำเป็นที่เขาต้องการ หรือแม้กระทั่งการคุยทางโทรศัพท์เพื่อเป็นกำลังใจให้พวกเขาเหล่านั้น

ปัจจุบันมีผู้ที่อยู่ในความดูแลของเราประมาณ 25 ราย และตัวเลขของผู้ที่เดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือก็เพิ่มขึ้นทุกๆวัน ตลอดเวลา เราสองคนก็ตั้งใจว่าจะมอบความช่วยเหลือให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถึงแม้จะไม่มีอะไรเหลือที่จะมอบให้ ก็จะพยายามหาหนทางอื่นๆที่จะสามารถช่วยเหลือได้เท่าที่ปัญญาเราจะพึงทำได้

ผลตอบรับจากผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างไรบ้าง

พวกเขาประทับใจเป็นอย่างมาก บางคนถึงกับร้องไห้ บางคนเขียนมาขอบคุณเราเป็นรายวันเลยทีเดียว บ้างก็ส่งรูปถ่ายของลูกเขาที่กำลังทานอาหารที่นำไปให้อย่างเอร็ดอร่อยมาให้เราประทับใจ พวกเขาไม่คิดเลยว่าจะมีคนมาสนใจใส่ใจเขาถึงเพียงนี้ทุกๆวัน ทั้งที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ต่อกัน และไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เป็นปาฏิหาริย์อย่างแท้จริง และเริ่มเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อคนไทยอย่างเรา พวกเขาซาบซึ้งในน้ำใจเราเป็นอย่างมาก

ฝรั่งมองเรื่องการทำอาหารแจกว่าอย่างไรบ้าง

สำหรับฝรั่งแล้ว ชีวิตทุกๆคนมีความเป็นส่วนตัวสูงมากๆ ไม่ค่อยจะยุ่งเกี่ยวกันซักเท่าไร ไม่เหมือนคนไทยที่บ้านเรือนเคียงกันมักจะทักทายสนิทสนมเอื้อเฟื้อต่อกันดี ด้วยเหตุอันนี้จึงไม่ค่อยพบการช่วยเหลือสังคมในลักษณะอย่างที่เราทำอยู่ อีกทั้งทุกๆคนล้วนประสบกับความยากลำบาก และข้าวของที่นี่แพงไปหมดทุกอย่าง จึงแทบไม่พบว่าจะมีใครกล้าแสดงน้ำใจออกมาทำสิ่งเหล่านี้เป็นประจำทุกๆวันอย่างที่เราทำ อย่างมากพวกเขาอาจจะบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนคนละครั้ง แต่ไม่ได้ทำเป็นประจำทุกๆวัน ดังนั้นสิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้เป็นอะไรที่พิเศษอย่างมากสำหรับพวกเขา และให้การสรรเสริญเป็นอย่างมาก

ฝรั่งบางคนไม่เข้าใจว่าเราทำแล้วจะได้อะไร เราบอกว่านาทีนี้เราสามารถช่วยอะไรได้เราก็จะช่วย ฝรั่งบางคนพอเห็นว่าเราช่วย เขาก็มาช่วยเป็นจิตอาสาไปส่งอาหารให้เรา บางคนก็บริจาคเงินมาช่วย เมื่อวานมีฝรั่งโทรมาหาปู ขอบริจาคอาทิตย์ละ 500 เหรียญช่วยเรื่องค่าอาหาร ซึ่งความจริงเราไม่คิดจะรับบริจาคเพราะเราก็ทำเท่าที่เราไหว แต่เขาบอกว่าอยากช่วยชุมชนค่ะ อยากให้ฝรั่งเห็นมุมดี ๆ ของคนไทย

 

แรงบันดาลใจของคุณปูและคุณเจสมาจากอะไร

เราเลือกที่จะดำเนินชีวิตตามคำสอนของ องค์ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่พระองค์เคยตรัสสอนเอาไว้ว่า “คนเราจะต้องรับ และจะต้องให้ เราไม่ควรเอาแต่ได้ ช่วยที่ไหนได้ก็ช่วย ด้วยจิตใจที่เผื่อแผ่โดยแท้”

วันนี้ชุมชนที่เราอยู่ประสบความเดือดร้อนยากลำบาก หากเราสามารถช่วยได้เราก็ควรอย่างยิ่งที่จะต้องช่วย การช่วยนั้นไม่ได้หมายความว่าเราร่ำรวยหรือต้องการสร้างภาพ พวกเราก็ประสบความเดือดร้อนเหมือนคนอื่น หากแต่ความเดือดร้อนนั้นเราเจอมันอยู่ทุกวันขณะนี้ และเข้าใจดีถึงความรู้สึกของผู้ที่กำลังเดือดร้อน เราจึงเห็นใจและต้องการช่วยลดหรือเพียงแค่บรรเทาความเดือดร้อนของพวกเขา แค่นั้นจริงๆที่เราสองคนต้องการ

ปกติคุณปูและคุณเจสก็ชอบช่วยเหลือสังคมอยู่แล้วใช่ไหมคะ

เราทั้งสองสามีภรรยาได้ตั้งใจว่าต้องการดำเนินชีวิตบนพื้นฐานของการที่เป็นผู้ที่แบ่งปันช่วยเหลือสังคมและผู้ที่ตกทุกข์ยากลำบาก เราสองคนต่างรักในอุดมการณ์นี้ของกันและกัน ชีวิตของเราทั้งคู่ล้วนวนเวียนกับการช่วยเหลือสังคมมาโดยตลอด ไม่ว่าจะอยู่ที่ประเทศไทย หรือช่วงที่เราย้ายไปอยู่ประเทศอื่นๆก็ตาม เราพอใจที่เป็นแบบนี้ แล้วก็สอนลูกทั้งสองของเราให้เป็นคนเช่นนี้เหมือนกัน รู้จักกับความเมตตาและกรุณาต่อทุกชีวิต

ตัวเองนั้นเป็นอดีตอาสาสมัครผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มนมแม่ ของไทย ช่วยให้ความรู้เป็นวิทยาทาน โดยการเป็นวิทยากร และ แม่อาสา ให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาโดยตลอด

ก่อนที่จะย้ายมานิวยอร์กนั้น ได้รับประกาศเกียรติคุณในฐานะผู้ร่วมโครงการคุณธรรมจิตอาสา ซึ่งเป็นเกียรติอันสูงสุดจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ

ส่วนคุณเจสนั้นนอกจากเป็นอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยแล้ว ยังเปิดสอนให้ความรู้เป็นวิทยาทานแก่คนชรา ผู้พิการ และกลุ่มองค์กรสาธารณะกุศลเรื่องระบบการเกษตรไฮโดรโปนิกส์และธุรกิจด้านการเกษตร และมอบผักที่ปลูกบางส่วนนั้นให้เป็นอาหารกลางวันของนักเรียนในชุมชน เปิดโอกาสให้เด็กพิเศษได้มาฝึกงานเรียนรู้การจัดการร้านอาหาร ปัจจุบันให้ความรู้เป็นวิทยาทานสอนการนั่งสมาธิกรรมฐานแนวพุทธศาสนาเป็นประจำทุกๆสัปดาห์ให้กับชุมชนฝรั่งที่นิวยอร์กนี้เช่นกัน

สิ่งที่ได้รับจากเหตุการณ์ครั้งนี้

สิ่งที่ได้จากเหตุการณ์ครั้งนี้คือ “ความสุข” ที่ได้ช่วยเหลือผู้เดือดร้อน สร้างกำลังใจให้แก่พนักงานโดยร่วมกันช่วยเหลือสังคม ความประทับใจที่เห็นผู้คนในชุมชนไม่เลือกเชื้อชาติศาสนาได้เข้ามาร่วมเป็นอาสาสมัครไปกับเราในการไปส่งมอบอาหารทุกๆวันแด่ผู้ประสบความยากลำบาก มีผู้ประสงค์ร่วมบริจาคเข้ามาสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันที่เราทำอยู่ทั้งที่เราไม่เคยประกาศร้องขอรับบริจาคจากผู้ใดเลยเลย ชุมชนร่วมช่วยเหลือคนละไม้คนละมือโดยการเข้ามาช่วยอุดหนุนซื้ออาหารร้านเราเพื่อเป็นทุนสนับสนุนสานโครงการต่อไป ผู้คนทักทายขอบคุณและให้กำลังใจเราทั้งที่เราไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

เราพบว่าน้ำใจนั้นมีอยู่ทุกที่ ซึ่งแต่ละที่ก็มีวัฒนธรรมในการแสดงออกที่แตกต่างกันไป วันนี้แสงสว่างไม่ได้มีเพียงเทียนเล่มเล็กๆของเราแต่ผู้เดียว แต่เราได้แสงสว่างจากแสงเทียนรอบๆข้างเราอีกหลายเล่มที่มาร่วมกันจุดแสงสว่างลดความมืดนี้ออกไป และสร้างความสามัคคี ความรัก ความเห็นใจต่อกันในชุมชน อันเป็นภาพความประทับใจที่จะขอจดจำไปตลอด

Stay Connected
Latest News