ถ้าอุณหภูมิร้อนขึ้น 2 องศาจะส่งผลให้โลกเสี่ยงต่อโรคระบาดเพิ่มขึ้น

นับเป็นสิ่งที่สร้างความกังวลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนทั่วโลกเป็นอย่างมากเมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 (Covid-19) กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักไปทั่วโลกและได้สร้างความเสียหายมหาศาลทั้งต่อชีวิต ความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของโลก

และในสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ก็เกิดคำถามที่ว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลกนั้นจะส่งผลต่อการแพร่ระบาดและการติดเชื้อโรคหรือไม่

Erin Lipp ศาสตราจารย์ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม แห่งมหาวิทยาลัยจอร์เจีย ตอบสั้น ๆ ว่า “ใช่” การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลต่อการติดเชื้อและการแพร่ระบาดของโรค แต่สาเหตุของการเพิ่มจำนวนการแพร่ระบาดที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความซับซ้อนกว่าผลกระทบที่ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของมนุษย์ เช่น คลื่นความร้อนที่ก่อให้เกิดโรคเกี่ยวกับความร้อนและการสูญเสียชีวิต เป็นต้น แต่มันมีผลทางอ้อมต่อโรคติดเชื้อ เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงมีอิทธิพลต่อเชื้อโรค (แบคทีเรีย ไวรัส และอื่นๆ) พาหะ (แมลงหรือสัตว์อื่นๆ) และวิธีการติดเชื้อในมนุษย์

โรคบางชนิดจะมีความอ่อนไหวต่อสภาพอากาศ เช่น โรคท้องร่วง และโรคที่มีแมลงเป็นพาหะนำโรค เช่น เห็บซึ่งเป็นพาหะนำแบคทีเรียก่อโรคไลม์ (Lyme disease)* แพร่ระบาดเป็นวงกว้างในทางตอนเหนือของสหรัฐฯและแคนาดาตลอดระยะเวลา 20 ปีก่อน เนื่องจากอุณหภูมิอากาศที่ร้อนขึ้น โดยอ้างอิงจากงานวิจัยที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารนิเวศวิทยาประยุกต์ปี 2012 (โรคไลม์ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มีรูปร่างคล้ายเกลียวสว่าน ชื่อว่า Borrelia burgdorferi อาการของโรค ซึ่งบริเวณที่ถูกเห็บกัดจะมีลักษณะแผลเรียบสีแดง และขยายวงกว้างออกไป)

 

 

นอกจากนี้ ได้มีการค้นพบว่าเชื้อแบคทีเรีย Vibrio ที่พบได้ตามธรรมชาติโดยเฉพาะทะเลน้ำอุ่นซึ่งจะเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคท้องร่วง และบางครั้งเป็นสาเหตุของโรคกระแสเลือดเป็นพิษ ซึ่งพบได้ในผู้ที่กินหอยนางรมดิบหรือการติดเชื้อที่แผลหลังการว่ายน้ำทะเล ทั้งนี้ พบว่าแบคทีเรียดังกล่าวแพร่กระจายเป็นวงกว้างเนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลชายฝั่งที่อุ่น และมีการแพร่ระบาดของเชื้อดังกล่าวไปยัง New England และอลาสก้า ซึ่งในปัจจุบันนี้ การติดเชื้อแบคทีเรีย Vibrio ถูกนำมาใช้เป็นตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ U.S. Global Change Research Program

ยิ่งไปกว่านั้น การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการตกตะกอนของไอน้ำในอากาศยังเพิ่มโอกาสในการแพร่ระบาดของเชื้อโรคสู่มนุษย์ เช่นเดียวกับภาวะฝนตกหนัก น้ำท่วมหรือแม้แต่ภัยแล้งที่คาดว่าจะเกิดเพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อน้ำดื่มน้ำใช้ที่จะมีเชื้อโรคปนเปื้อนด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อการติดเชื้อและแพร่ระบาดของเชื้อโรค แต่ก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนั้นสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและการแพร่ระบาดของเชื้อโรคในวงกว้างได้

credit:edition.cnn.com/2015/11/20/world/two-degrees-question-climate-change-and-disease/index.html

Stay Connected
Latest News