เอสซีจีจะครบรอบ 108 ปี ในปี 2564 จึงผุดโครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พร้อมจับมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ สสน. และสยามคูโบต้า สนับสนุนให้ชุมชนลุกขึ้นแก้ปัญหาภัยแล้งด้วยตนเองตามแนวพระราชดำริ ที่ใช้ ‘ความรู้คู่คุณธรรม’ ทั้ง ‘ความรู้’ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อตรวจสอบแหล่งน้ำ วางแผนจัดทำผังน้ำ และการใช้น้ำที่เหมาะสมกับความต้องการของชุมชน ตลอดจนส่งเสริม ‘คุณธรรม’ ให้คนในชุมชน ‘รู้ รัก สามัคคี มีส่วนร่วม และพึ่งพาตนเอง
กรมอุตุคาดการณ์ว่าปี 2563 ประเทศไทยต้องเตรียมรับมือกับวิกฤตภัยแล้งที่คาดว่าจะมีความรุนแรงมากเป็นอันดับสองในรอบ 40 ปี นับตั้งแต่ปี 2522 รวมถึงฝนแล้งจะยาวนานจนถึงเดือน มิ.ย. โดยคาดว่าปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าปกติ 3-5 % ในพื้นที่แล้งซ้ำซาก ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ตอนบน
โครงการ“เอสซีจี 108 ชุมชนรอดภัยแล้ง”
ในเรื่องวิกฤตภัยแล้วนั้น องคมนตรี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ. เกษม วัฒนชัย ในฐานะประธานคณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี กล่าวว่า ด้วยเล็งเห็นว่าปัญหาภัยแล้งปีนี้รุนแรงมากที่สุดในรอบ 40 ปี และส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนอย่างมาก เอสซีจี จึงได้ร่วมกับ มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ สสน. และสยามคูโบต้า จัดโครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเอสซีจีครบรอบ 108 ปี ในปี 2564
ส่วนรายละเอียดของโครงการเพื่อส่งเสริม 108 ชุมชนที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก แต่มีความสามัคคี เข้มแข็ง พร้อมเรียนรู้การจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ ให้สามารถวางแผนการจัดการน้ำด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งได้ด้วยตนเองตลอดกระบวนการ โดยใช้ระยะเวลา 2 ปี ภายใต้งบประมาณ 30 ล้านบาท และมีชุมชนแกนนำของอุทกพัฒน์ฯ รวมทั้งเอสซีจีร่วมเป็นพี่เลี้ยง เพื่อให้ชุมชนรอดพ้นวิกฤตและไม่ประสบภัยแล้งอีกต่อไป พร้อมได้รับความช่วยเหลือจากกำลังพลกองทัพภาคที่ 1, 2 และ 3 ร่วมสำรวจและพัฒนาพื้นที่ประสบภัยแล้งด้วย
โดยก่อนนี้เอสซีจีได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) มาตั้งแต่ปี 2558 ในการสนับสนุนชุมชนที่ประสบภัยแล้งซ้ำซากให้บริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ ด้วยการพึ่งพาตนเอง ใน 9 พื้นที่ทั่วประเทศ ช่วยให้มีน้ำสำรองกว่า 16 ล้าน ลบ.ม. ประชาชนกว่า 6,700 ครัวเรือน มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร
สำหรับปัจจัยสำคัญของการอยู่รอดจากภัยแล้งอย่างยั่งยืนนั้น คือ “คนในชุมชนต้องร่วมแก้ปัญหาด้วยตนเอง โดยใช้ความรู้คู่คุณธรรม” ซึ่งต้องเริ่มจากการทำให้คนในชุมชนมีความรู้ รัก สามัคคี ลุกขึ้นมาพึ่งพาตนเอง และแก้ไขปัญหาร่วมกัน ขณะเดียวกันต้องสร้างการมีส่วนร่วมให้ชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของ และส่งเสริมคุณธรรมให้เกิดการแบ่งปันการใช้น้ำอย่างเป็นธรรม ไม่เช่นนั้นอาจเกิดการกระทบกระทั่งกันได้ หากชุมชนสามารถจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริดังกล่าวได้ด้วยตนเอง ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ทั้งน้ำแล้งและน้ำหลาก มีน้ำมาใช้ในการเพาะปลูก ทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น มีรายได้ ขจัดความยากจนให้หมดไป
“ ซึ่งที่ผ่านมาในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงห่วงใยปัญหาเรื่องภัยแล้งในชุมชนเป็นอย่างมาก โดยโครงการพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการนั้น กว่าครึ่งเป็นเรื่องบริหารจัดการน้ำ ส่วนแนวทางการทรงงานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 จะทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานดังกล่าวสืบต่อไป” นพ.เกษมกล่าวสรุป
แก้ปัญหาขาดน้ำอย่างยั่งยืน
ด้านดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่าภัยแล้งเป็นปรากฏการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงไปทั่วโลกจากความผันผวนของภูมิอากาศ สำหรับประเทศไทย แม้จะมีฝนตกเฉลี่ย 7-8 แสนล้าน ลบ.ม. ต่อปี ซึ่งเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมามีแม้จะมีทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องลงมาช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ว แต่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น เพราะหลายภาคส่วนยังขาดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการน้ำ จึงเกิดความไม่สมดุลระหว่างปริมาณน้ำที่มีกับความต้องการใช้ ทำให้เกิดภัยแล้งและน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี
มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯและเอสซีจีเล็งเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องมาแก้ปัญหาน้ำอย่างยั่งยืน ด้วยการเข้าไปช่วยชุมชนเล็ก ๆ ให้สามารถบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ตามธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเก็บกักน้ำในช่วงเวลา 3-4 เดือนที่มีน้ำ ให้พอใช้ในอีก 9 เดือนที่เหลือ เพื่อแก้ไขภัยแล้งได้สำเร็จ และคนในชุมชนต้องลุกขึ้นมาแก้ปัญหาด้วยตนเอง เพราะเป็นผู้ที่เข้าใจสภาพพื้นที่ของตัวเองดีที่สุด รวมถึงประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหารจัดการน้ำ ให้สามารถมีน้ำใช้ได้ตลอดปี ไม่ประสบภัยแล้งอีกต่อไป
“ชุมชนที่จะแก้ปัญหาภัยแล้งได้นั้น 1. ต้องเป็นชุมชนเข้มแข็ง มีความรู้และความสามัคคี ต้องการลุกขึ้นมาจัดการน้ำด้วยตนเอง 2. มีแหล่งน้ำอยู่ใกล้เคียง 3. หาที่กักเก็บน้ำ โดยอาจปรับปรุงแหล่งน้ำเดิมที่มีอยู่ เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้น้ำ และใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการน้ำ กระจายน้ำสู่ชุมชน เช่น ภาพถ่ายดาวเทียม GPS และโซลาร์ฟาร์มเพื่อประหยัดไฟฟ้า ซึ่งถ้าทุกคนลุกขึ้นมาช่วยกันก็จะสามารถข้ามผ่านวิกฤตภัยแล้ง และมีน้ำกิน น้ำใช้ อยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร” ดร.สุเมธ กล่าว
สมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่าถึงความร่วมมือในโครงการนี้ว่า “สยามคูโบต้ามีความเชี่ยวชาญด้านเครื่องจักรกลการเกษตรและอะกริโซลูชันเกษตรครบวงจร หรือ KAS จึงได้สนับสนุนความรู้และการขุดแหล่งน้ำด้วยรถขุดขนาดเล็กคูโบต้า โดยมุ่งหวังว่าความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในครั้งนี้จะช่วยให้ชุมชนมีสระน้ำที่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพและรายได้ที่มั่นคง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านเกษตรกรรมของประเทศไทยให้แข่งขันได้ในตลาดโลกอย่างยั่งยืน”
ตัวอย่าง “ชุมชนรอดแล้ง”
ตั้งแต่ปี 2550 เอสซีจีร่วมกับชุมชนหลายแห่งเพื่อทำโครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผาสู่มหานที” ที่เพื่อดำเนินการร่วมกับชุมชนบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ เริ่มต้นจากการสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อแก้ปัญหาไฟป่า ด้วยการส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น และลงมือทำด้วยตนเอง จนเกิดกระบวนการเรียนรู้ สามารถแก้ไขปัญหา และพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็ง รวมทั้งเรียนรู้จัดการน้ำชุมชน ส่งผลให้หลาย ๆ ชุมชนสามารถรอดจากภัยได้จากการลุกขึ้นมาแก้ปัญหาภัยแล้งด้วยตัวเอง
ซึ่งเอสซีจีได้เลือกชุมชนตัวอย่างเพื่อมาช่วยถ่ายทอดประสบการณ์การบริหารจัดการน้ำในชุมชนให้สามารถรอดจากภัยแล้วและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน อาทิ ธีระพงษ์ กลิ่นฟุ้ง เกษตรกร ชุมชนบ้านสาแพะเหนือ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง เล่าถึงภัยแล้งที่หมูบ้านประสบเมื่อปี 2558 ว่าข้าวที่ปลูกในนาตายหมด อ่างเก็บน้ำห้วยแก้วแห้งเหือด ขาดน้ำทำกิน ชาวบ้านไม่มีรายได้ ต้องขายวัว จำนองบ้าน หนี้สินล้นตัว
“ชาวบ้านมาปรึกษากับผู้ใหญ่และอบต.ว่าเราจะสู้กันไหม เพราะถ้าเราไม่สู้ เราจะต้องเจอัญหาแล้งซ้ำซากตลอดชีวิต อ่างห้วยแก้วน้ำเหือดแห้ง จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการรักษ์น้ำเพื่ออนาคตกับเอสซีจี ซึ่งความจริงเราไม่ได้ขาดน้ำ เพียงแต่บริหารจัดการน้ำไม่เป็นเท่านั้นเอง”
จึงเป็นที่มาของการร่วมกันสร้างฝาก สร้างฝายใต้ทราย ยกระดับน้ำใต้ดิน สร้าง Stop log เสริมสปริงเวย์ สามารถเพิ่มปริมาณน้ำสำรองได้มากกว่า 52,000 ลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ชาวบ้านยังร่วมกันรักษาป่า ไม่ตัดไม้ ไม่เผาป่า
ปัจจุบันชุมชนบ้านสาแพะ บริหารจัดการน้ำสามารถเพิ่มน้ำสำรองได้มากกว่า 52,000 ลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้ 150 ครอบครัวมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี ในช่วงฤดูแล้งที่น้ำน้อยก็หันมาปลูกพืชระยะสั้นเพื่อเสริมรายได้ นอกจากนี้ยังสร้างความสามัคคีในหมู่บ้าน เกิดการเรียนรู้และคนในชุมชนมีส่วนร่วม