มหาดไทยจับมือมูลนิธิรามาชวนบริจาคเงินซื้อชุด CPR ช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน

มหาดไทย ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์รามา มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์ฯ เปิด “โครงการฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานจิตอาสา CPR เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ผลักดันหลักสูตรอบรมช่วยชีวิตทั่วประเทศ พร้อมเชิญชวนคนไทยร่วมบริจาคสมทบทุนจัดซื้อชุดอุปกรณ์สอนกู้ชีพจำนวน 3,000 ชิ้น ส่งมอบให้แก่หน่วยงานจิตอาสาทั่วประเทศ สร้างโอกาสการเรียนรู้วิชาช่วยชีวิตด้วยวิธีปั๊มหัวใจกู้ชีพ CPR ลดอัตราการเสียชีวิตของคนไทยจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน


เนื่องจากภาวะหัวใจหยุดเต้น สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา หากผู้ประสบกับภาวะหัวใจหยุดเต้นได้รับการช่วยเหลือที่ล่าช้า โอกาสรอดชีวิตก็จะลดลงร้อยละ 7-10 ในแต่ละนาทีที่ผ่านไป ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน เล็งเห็นประโยชน์และความจำเป็นเร่งด่วนที่ประชาชนคนไทยจิตอาสา ต้องมีความรู้และได้รับการฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน และการใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (AED) อย่างมีประสิทธิภาพ จึงพิจารณาสนับสนุน “โครงการฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานจิตอาสา CPR เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ขึ้น

4 นาทีชีวิตที่มีค่า

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า “การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน นับเป็นสิ่งจำเป็นและมีคุณค่าอย่างมาก โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคหัวใจ นาทีชีวิตมีเพียง 4 นาทีเท่านั้น และที่สำคัญคือจะต้องมีผู้ที่ช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานซึ่งต้องมีความรู้ได้รับการฝึกอบรมอย่างถูกวิธีจึงจะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้”

โดยเมื่อปี 2562 กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับภาคเอกชนฝึกอบรมหลักสูตรวิทยากรอาสาสมัครการช่วยชีวิต ทำให้สามารถพัฒนาวิทยากรอาสาสมัคร (Instructor) จำนวน 476 คน และผู้ช่วยวิทยากร (Provider) จำนวน 1,620 คน นับว่าได้ทำให้ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีองค์ความรู้ และทักษะ พร้อมให้การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน และสามารถนำองค์ความรู้ไปขยายผล สู่ประชาชนทั่วไปเพิ่มมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีข้อจำกัดในด้านอุปกรณ์สำหรับการสอนช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานที่มีมาตรฐาน

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย

สำหรับปีนี้คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิรามาธิบดีในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เข้าร่วมสนับสนุนในการจัดหาอุปกรณ์การสอนผ่าน “โครงการฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน จิตอาสา CPR เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคล พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ซึ่งโครงการฯ นี้ เป็นการน้อมนำพระบรมราโชบายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโครงการจิตอาสาพระราชทานมาเป็นแนวทางดำเนินโครงการ

โดยพลเอก อนุพงษ์ กล่าวว่าพร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานจิตอาสา CPR เฉลิมพระเกียรติฯ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการขับเคลื่อนให้ประชาชนชาวไทยมีความรู้ในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานที่ถูกต้องจากบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและชุดอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน เพื่อที่จะสร้างความมั่นคงและหลักประกันความปลอดภัยในชีวิตขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชนต่อไป

“หัวใจของความสำเร็จของโครงการนี้คือทำอย่างไรให้คนที่อยู่ใกล้ผู้ที่มีปัญหาจะต้องมีความรู้ขั้นพื้นฐานที่สามารถช่วยชีวิตคนได้ จึงเป็นที่มาของการทำโครงการฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานจิตอาสา CPR เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก”

ชวนบริจาคซื้อเครื่องCPR

ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิรามาธิบดีฯ กล่าวถึงโครงการว่า

“ ในอดีตทางมูลนิธิฯร่วมมือกับกระทรวงสาธารณะสุขสอนเรื่องการช่วยชีวิตขั้นสูงให้กับแพทย์พยาบาล แต่ในภาคของประชาชนถือเป็นเรื่องยาก เพราะเมื่อ 20 ปีที่แล้วมีคนสามารถทำCPR เป็นเพียง 1 %ของประชากร ขณะที่ประเทศที่เจริญแล้ว ประชากร 30 – 40 % สามารถทำ CPR ได้ และผู้ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตรอดมากที่สุดไม่ใช่แพทย์หรือพยาบาล แต่เป็นประชาชนทั่วไปที่ได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องพื้นฐานการช่วยชีวิตหรือ CPR ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นผู้ที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตได้มากที่สุด”

ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

ปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยกับคำว่า “การทำ CPR” หรือการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่จำนวนประชากรที่มีทักษะเพียงพอที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยหากอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินยังมีน้อยมาก ทว่าการให้ความรู้และการจัดฝึกอบรมให้ประชาชนมีความสามารถในการทำ CPR ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้นั้น จำเป็นต้องมีปัจจัยสำคัญสามประการ ทั้งด้านครูผู้สอน อุปกรณ์การเรียนการสอน และด้านผู้ดำเนินการ

โดยมูลนิธิรามาธิบดีฯ ตระหนักถึงความเร่งด่วนในเรื่องนี้ และได้เป็นผู้สนับสนุนในการระดมทุนจัดซื้อชุดอุปกรณ์การสอนช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน เพื่อส่งมอบให้แก่หน่วยงานจิตอาสาส่วนภูมิภาคทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 3,000 ชุด มูลค่าชุดละ 15,000 บาท รวมมูลค่า 45 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการฝึกอบรม CPR ในส่วนภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนได้รับความรู้ในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานอย่างถูกวิธี ทางมูลนิธิจึงต้องอาศัยการสนับสนุนจากประชาชนชาวไทยที่มีจิตศรัทธาช่วยกันบริจาคเพื่อบรรลุเป้าหมายของภารกิจยิ่งใหญ่นี้ร่วมกัน

“ชุดอุปกรณ์การสอนช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานนี้คิดค้นโดยคนไทย ประกอบหุ่นยางพาราที่ใช้ยางพาราในเมืองไทย 3 ตัว ส่วนตัวเครื่อง AED (Automated External Defibrillator) ผลิตจากนักวิจัยคนไทย จากราชมงคลธัญบุรี ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการสั่งซื้อหุ่นและอุปกรณ์จากต่างประเทศซึ่งมีราคาแสนกว่าบาท แต่อุปกรณ์ที่คนไทยทำได้มีราคาเพียงชุดละ 15,000 บาท ”

ทุกจังหวัดขาดแคลนอุปกรณ์ CPR

พล.ต.ต.นพ.โสภณ กฤษณะรังสรรค์ ประธานมูลนิธิสอนช่วยชีวิตและที่ปรึกษาคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงความพร้อมของอุปกรณ์

“ปัจจุบันอุปกรณ์การสอน CPR มีอยู่ตามโรงเรียนแพทย์และโรงเรียนพยาบาล เพราะต้องใช้ในการสอน แต่สำหรับการสอนบุคคลทั่วไปนั้นยังมีน้อย เพราะนักเรียน 3 คนต้องมีอุปกรณ์ 1 ชุด ซึ่งถ้าให้จังหวัดละ 30 ชุด สามารถสอนนักเรียนได้ 90 คน แต่ในเวลานี้ไม่มีจังหวัดไหนที่มีอุปกรณ์การสอน CPR เพียงพอ ”

สำหรับ“โครงการฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน จิตอาสา CPR เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคล พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ตั้งเป้าจะนำอุปกรณ์ฯที่ได้รับบริจาคจำนวน 3,000 ชุด ไปมอบให้จังหวัดละ 30 ชุดเพื่อใช้เป็นอุปกรณ์การสอนให้แก่จิตอาสาในหลักสูตรช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน

“ ถ้าโครงการนี้เริ่ม จะสามารถผลิตเครื่อง AED ( เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ)ได้เดือนละ 200 เครื่อง และจะสามารถทยอยส่งมอบให้แต่ละจังหวัดได้เดือนละ 7 จังหวัด ส่วนอุปกรณ์หุ่นในชุดอุปกรณ์ช่วยชีวิตสามารถผลิตได้เดือนละ 200 ชุดเช่นกัน สำหรับแผนการในการฝึกอบรมนั้นขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละจังหวัด”

บิณฑ์ ศิลปินจิตอาสา

พล.ต.ต.นพ.โสภณ กฤษณะรังสรรค์ และ บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ให้ความรู้เรื่องการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน

โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการผลักดันให้ดำเนินการสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากศิลปินจิตอาสาที่อุทิศตัวให้แก่งานสังคมมากว่า 30 ปี บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ที่มาร่วมเป็นกระบอกเสียงประชาสัมพันธ์โครงการฯ ในครั้งนี้ พร้อมเผยว่า

“สำหรับภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันไม่ใช่เรื่องไกลตัว ความเป็นความตายบางครั้งก็ห่างกันเพียงเสี้ยวนาที ผมในฐานะที่ได้มีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานจิตอาสาทั่วประเทศ การช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้นก่อนที่ผู้ป่วยจะถึงมือแพทย์จึงเป็น สิ่งที่สำคัญมาก เมื่อก่อนพวกเราไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่อง CPR มาช่วงหลังเจ้าหน้าที่จิตอาสาตามมูลนิธิต่าง ๆ จึงมีโอกาสได้เข้าอบรมการทำ CPR ตามหลักสูตรสากล และผมดีใจมากที่วันนี้เห็นหลายหน่วยงานให้ความสำคัญและต้องการผลักดันให้เกิดการให้ความรู้ และจัดฝึกอบรมการทำ CPR ให้ประชาชนทั่วประเทศอย่างทั่วถึง จะทำให้โอกาสรอดของผู้ป่วยมีมากขึ้น”

ผู้มีจิตศรัทธาที่สนใจร่วมสนับสนุน “โครงการฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานจิตอาสา CPR เฉลิพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” สามารถบริจาคได้ที่ มูลนิธิรามาธิบดีฯ หรือwww.ramafoundation.or.th 

Stay Connected
Latest News