“เงินติดล้อ” ติดอาวุธทางการเงินสอนหลักเงินทองต้องบริหารให้แก่ผู้ต้องขัง

องุ่นสีดำไร้เม็ดพวงใหญ่ที่ห้อยระอยู่บนค้างหลายสิบพวง ต้นซูกินีที่ออกลูกดกแม้จะปลูกอยู่ในถุงเพาะชำ รวมถึงเมนลอนสีเหลืองลูกโตเหล่านี้กลายเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มาเยือน“ศูนย์การเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรดอยฮาง” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงรายที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าไปสัมผัสและศึกษาวิถีเกษตรกรรมแบบพอเพียง


“ศูนย์การเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรดอยฮาง” เป็นโครงการกำลังใจในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ตั้งอยู่ภายใน “เรือนจำชั่วคราวดอยฮาง” ซึ่งถือเป็น “เรือนจำชั่วคราว” แห่งแรกในประเทศไทยที่เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

บนพื้นที่ 75 ไร่ ของเรือนจำชั่วคราวดอยฮางแห่งนี้ ถูกจัดให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ผู้ก้าวพลาดที่ใกล้จะพ้นโทษของเรือนจำจังหวัดเชียงราย โดยเตรียมความรู้ทางวิชาชีพการเกษตรเพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถนำความรู้เหล่านี้ไปประกอบอาชีพหลังพ้นโทษ ซึ่งมีทั้งแปลงองุ่น แปลงพืชผักเมืองหนาว แปลงข้าว การเลี้ยงไก่ การทำปุ๋ยหมัก การทำน้ำส้มรมควัน การเพาะเลี้ยงไส้เดือน ฯลฯ.

 

ภวัต พลวัฒน์ ผู้บริหารเรือนจำชั่วคราวดอยฮาง , พุฒิพงศ์ ภักดีพิพัฒน์กุล ผู้บริหารจาก บริษัท เงินติดล้อ และตัวแทนจากโครงการกำลังใจฯ ร่วมเปิดหลักสูตรอบรมเรื่องการเงินให้แก่ผู้ก้าวพลาด ณ เรือนจำดอยฮาง จ.เชียงราย

 

ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ภวัต พลวัฒน์ นักวิชาการอบรมและฝึกวิชาชีพชำนาญการ เรือนจำชั่วคราวดอยฮาง ได้กล่าวถึงภารกิจสำคัญของศูนย์แห่งนี้ที่เป็นมากกว่าแหล่งท่องเที่ยวว่า

“ผู้ก้าวพลาดมีคุณสมบัติใกล้พ้นโทษ คือเหลือโทษอีกประมาณ 3-6 เดือน จะถูกส่งมาที่นี่เพื่อเรียนรู้ด้านการเกษตร ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้พวกเขาเมื่อพ้นโทษออกไปสามารถนำความรู้ที่ได้ไปเลี้ยงชีพในสังคมได้อย่างปกติสุข”

 

 

ปัจจุบันศูนย์การเรียนรู้ฯแห่งนี้จะมีผู้ก้าวพลาดจำนวน 150 คน ซึ่งถูกส่งมาจากเรือนจำเชียงรายเพื่อมาเข้าโครงการกำลังใจฝึกความรู้ด้านการเกษตรเป็นเวลา 5 เดือน โดยในแต่ละวันผู้ก้าวพลาต้องลงมือปฏิบัติจริงตามอาชีพที่เลือก เมื่อมีผลผลิตก็ส่งไปจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวยังร้านค้าหน้าศูนย์ฯ

“สินค้าที่ขายดี เช่นไข่ไก่ผลิตได้วันละ 6-7 แผง ปุ๋ยมูลไส้เดือน ผักสดและผลไม้ ซึ่งรายได้ทั้งหมดจะแบ่งให้แก่ผู้ต้องขังถึง 50 % เฉลี่ยมีรายได้คนละ1 – 2 พันบาทต่อเดือน”

หลังจากที่มีโครงการนี้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 12 แล้ว ภวัต กล่าวสรุปถึงผลสำเร็จว่า “ผู้ก้าวพลาดที่ผ่านการอบรมวิชาชีพจากเรา เมื่อพ้นโทษออกไปใช้ชีวิตในสังคมแล้ว กว่า 70 % สามารถไปประกอบวิชาชีพตามที่ได้เคยฝึกอบรมมาในเรือนจำ และมีกลับเข้ามาในเรือนจำเพียง0.5 % เท่านั้น”

 

เงินติดล้ออาสาเป็น”พี่เลี้ยง”

ทั้งนี้โครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ดำเนินการมาเป็นปีที่ 12 แล้ว ซึ่งนอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ก้าวพลาดระหว่างอยู่ในเรือนจำแล้ว ยังได้นำการพัฒนาจิตใจให้เข้มแข็งและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้เพื่อไม่ให้ผู้ก้าวพลาดต้องกลับมาใช้ชีวิตในเรือนจำอีก

โดยเรือนจำดอยฮางถือเป็นหนึ่งในโครงการนำร่องที่พระองค์ภาได้ใช้แนวทางหลักการเศรษฐกิจพอพอเพียงสอนแก่ผู้ก้าวพลาด เพื่อให้พวกเขาเมื่อออกไปแล้วจะได้นำหลักการนี้ไปดำรงชีวิต ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานการประมาณตน ความพอดีในการดำรงชีวิต ไม่ใช้จ่ายเกินตัว ไม่ใช้ชีวิตประมาท นอกจากนี้ต้องมีความรู้ ต้องวางแผน ต้องมีคุณธรรม ขยันอดทน ซื่อสัตย์ ต่อตนเองและครอบครัว

 

พุฒิพงศ์ ภักดีพิพัฒน์กุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายสื่อสารสาขาและพัฒนาศักยภาพผู้นำฝ่ายขาย บริษัท เงินติดล้อ จำกัด ก

และล่าสุดบริษัท เงินติดล้อ จำกัด เป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนที่เข้ามาให้การสนับสนุน ในโครงการกำลังใจ ผ่าน 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ การให้ความรู้ทางการเงินเพื่อการประกอบอาชีพ การให้สินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ และ การสนับสนุนผลิตภัณฑ์งานฝีมือจากกลุ่มผู้ก้าวพลาด

พุฒิพงศ์ ภักดีพิพัฒน์กุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายสื่อสารสาขาและพัฒนาศักยภาพผู้นำฝ่ายขาย บริษัท เงินติดล้อ จำกัด กล่าวถึงที่มาว่า

“การเข้ามาสนับสนุนโครงการกำลังใจ ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘เงินติดล้อ นำความรู้สู่ชุมชน เพื่อชีวิตหมุนต่อได้ที่เราทำอยู่แล้ว เริ่มจากทีมงานเงินติดล้อมีโอกาสได้ลงพื้นที่สำรวจปัญหาและความต้องการของกลุ่มผู้ก้าวพลาดที่เรือนจำจังหวัดระยองและจันทบุรี และทดลองสอนหลักสูตรให้แก่ผู้ก้าวพลาดที่เรือนจำชั่วคราว เขาระกำ จังหวัดตราด ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อสำรวจความต้องการของผู้ก้าวพลาดและนำมาพัฒนาเป็นหลักสูตรอบรมในรูปแบบการเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรม (activity-based learning) เพื่อให้การเรียนรู้ด้านการเงินเป็นเรื่องสนุกและเข้าใจง่าย”

โดยเริ่มจากวิเคราะห์ปัญหาของผู้ก้าวพลาดออกไปทำการเกษตรส่วนใหญ่ มีอะไรเป็นอุปสรรค์บ้าง “จากการสัมภาษณ์ทำให้รู้ปัญหาว่าตอนอยู่ในเรือนจำนั้น ผู้ก้าวพลาดไม่ต้องกังวลเรื่องการตลาดหรือการขาย เพราะทางเรือนจำมีแหล่งขาย และก็แบ่งรายได้ให้ แต่เวลาออกไปอยู่ในสภาพความเป็นจริง พวกเขาต้องคิดเองทำเองจึงเป็นที่มาของหลักสูตรสอนความรู้พื้นฐานด้านการเงิน เพราะแม้เขาจะออกไปทำการเกษตร ก็ต้องรู้เรื่องต้นทุนการผลิต ต้นทุนในการทำแปลง ตั้งราคาเท่าไหร่ เรียนรู้เรื่องต้นทุนกำไร รวมถึงสถานที่ขาย” พุฒิพงศ์ เล่าถึงที่มาของการสร้างหลักสูตรการสอนเรื่องความรู้ทางการเงินเพื่อการประกอบอาชีพ

นอกจากนี้บริษัทเงินติดล้อยังอาสาเป็น “พี่เลี้ยง” ให้กับอดีตผู้ก้าวพลาดที่ต้องการกู้เงินจากโครงการกำลังใจ โดยพุฒิพงศ์ เล่าจากประสบการณ์ว่า

 

บรรยากาศระหว่างผู้ก้าวพลาดกำลังเรียนรู้เรื่องการบริหารต้นทุน กำไร โดยมีเจ้าหน้าที่ของเงินติดล้อเป็นพี่เลี้ยง

“เราจะเป็นพี่เลี้ยงดูแผนว่าควรจะปรับเรื่องอะไรบ้างเพื่อก่อให้เกิดรายได้ บางคนที่ไม่มีต้นทุนทางสังคมเลย เราจะแนะให้เขาไปเป็นลูกจ้างในธุรกิจที่เขาอยากจะทำ เพื่อให้เขาเรียนรู้หาประสบการณ์ก่อน และระหว่างเป็นลูกจ้างก็เก็บเงินเอาไว้เป็นเงินทุน ซึ่งทำอย่างนี้พวกเขาจะได้ทั้งประสบการณ์และหาเงินทุนไปทั้ง 2 อย่างหลังจากนี้เขาสามารถมาเขียนแผนธุรกิจเสนอต่อเรา ยิ่งง่ายต่อการอนุมัติ”

ปัจจุบันบริษัทเงินติดล้อ ตั้งงบเงินกู้หมุนเวียนประมาณ 7 แสนบาทสำหรับผู้ก้าวพลาดที่เข้าอบรมโครงการนี้ โดยขณะนี้มีอดีตผู้ก้าวพลาดสนใจมาขอกู้ประมาณ 7 ราย เฉลี่ยวงเงินกู้ 2.5 หมื่นต่อราย ดอกเบี้ย 1.32 % ผ่อนชำระ 3-8 เดือนต่อราย ซึ่งพุฒิพงศ์กล่าวถึงเหตุผลของการบริหารจัดการเงินกู้ก้อนนี้ว่า

“เราคิดมากเกี่ยวกับเงินทุนที่จะให้ผู้ก้าวพลาดกู้ ซึ่งถ้าเราให้ไปแบบไม่ต้องใช้คืน ก็เหมือนเราจับปลามาป้อนให้เขากิน เขากิน 1- 2 มื้อก็หมด ซึ่งแนวคิดของเราคือการช่วยเหลือต้องยั่งยืน เพราะฉะนั้น เงินกู้ที่ให้ไปต้องพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการก่อน เพราะถ้าเราเริ่มต้นจากขอกู้โดยไม่ต้องใช้เงินคืนก็ได้ แต่แบบนี้ไม่ยั่งยืน “

แม้ว่าจะอนุมัติเงินกู้ไปแล้ว แต่ทางเงินติดล้อก็ยังคอยเป็นพี่เลี้ยงติดตามผู้ก้าวพลาดตลอดว่ามีปัญหาในการประกอบอาชีพพอย่างไรบ้าง เรียกได้ว่าช่วยทั้งทีต้องช่วยส่งให้ถึงฝั่งนอกจากสามารถใช้คืนเงินกู้แล้ว ยังต้องสามารถประกอบอาชีพได้ในระยะยาวด้วย

 

แอ๊ดผู้ก้าวพลาด

แอ๊ด ผู้ก้าวพลาดกำลังชื่นชมกับองุ่นไร้เม็ดที่เขารับหน้าที่ดูแลและเรียนรู้เรื่องการปลูกไปด้วย

 

แอ๊ด หนุ่มใหญ่วัย 45 ปีหนึ่งในผู้ก้าวพลาดที่ได้รับเลือกให้เข้าอบรมโครงการกำลังใจ เรื่องการเงินกับบริษัทเงินติดล้อ ซึ่งแอ๊ดกล่าวด้วยร้อยยิ้มที่มีความสุขว่า “ผมดีใจมาก เพราะพระกรุณาธิคุณของพระองค์ภาช่วย ทำให้ผมได้มีโอกาสเรียนรู้และฝึกงานอีกมากมาย เลยตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ ทั้งที่ความจริงผมได้รับการลดหย่อนโทษจะได้ออกเดือนเมษายน 2563 แต่พอรู้ว่าเราผ่านเกณฑ์โครงการกำลังใจผมก็เลือกที่จะเข้าโครงการเป็นเวลา 5 เดือนและได้รับการปล่อยตัวเดือนพฤษภาคม 2563 แทน”

หน้าที่ของแอ๊ดคือดูแลแปลงองุ่นทั้งหมดของโครงการ เพราะความตั้งใจเรียนรู้ทำให้แปลงองุ่นนี้งดงามและได้ผลผลิตมาก เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก สำหรับแผนการหลังจากที่พ้นโทษแล้ว แอ๊ดเผยว่า

“ ครอบครัวผมมีสวนผักผลไม้ สวนยางและนาอยู่แล้ว แต่เมื่อก่อนผมไม่เคยลงมือทำเลย หลังจากพ้นโทษ ผมจะนำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปต่อยอด เช่นการทำปุ๋ยหมักและปุ๋ยชีวภาพใช้เองจะได้ไม่ต้องพึ่งสารเคมีที่มีผลกระทบต่อดินด้วย “

นอกจากความรู้ด้านการประกอบอาชีพที่แอ๊ดได้จากโครงการแล้ว เขายังมีควมคิดที่จะน้อมนำหลักปรัชญาพอเพียงที่ได้รับการอบรมจากหลักสูตรนี้ไปใช้การดำเนินชีวิตนอกเรือนจำ

“เมื่อก่อนผมโลภอยากรวยเร็ว พี่น้องเตือนก็ไม่เชื่อ จึงทำผิดจนต้องโทษ 5 ปี 1 เดือน ที่เรือนจำมีการสอนหลักเศรษฐกิจพอเพียง หลังจากพ้นโทษผมจะนำหลักการนี้มาดำเนินชีวิต และแม้ผมไม่ได้เข้าโครงการกู้เงินจากบริษัทเงินติดล้อ แต่ความรู้ที่ได้จากการอบรมในเรื่องคำนวณต้นทุน การตั้งราคา กำไร และการออม ผมจะนำไปปฏิบัติในการประกอบอาชีพด้วยครับ ”

 

 

Stay Connected
Latest News