บทเรียนจีนสู้กับฝุ่นPM2.5 แต่กลับสร้างโอโซน”ผู้ร้าย”ตัวใหม่ที่เป็นมหันตภัย

ขณะที่ทั่วโลกปรบมือให้กับประเทศจีนในมาตรการเข้มข้บที่สู้กับฝุ่น PM 2.5 จนสามารถทำให้ฝุ่นมรณะลดลง แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการวิจัยระหว่างนักวิจัยชาวอเมริกันกับจีน พบว่าค่าโอโซนตัวร้ายที่มีผลต่อระบบทางเดินหายใจกลับเพิ่มขึ้น

วิกฤติฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดของประเทศไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครนับเป็นปัญหาต่อเนื่องมาหลายเดือนและยังไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ หนำซ้ำปริมาณฝุ่นกลับเพิ่มขึ้นเกินกว่ามาตรฐานกำหนดไว้ซึ่งส่งผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก

เมื่อย้อนไปมองเมืองปักกิ่งเมื่อหลายปีก่อน ที่นั่นก็มีปัญหามลพิษทางอากาศเช่นกัน ท้องฟ้าเหนือมหานครปักกิ่งถูกปกคลุมด้วยฝุ่นจิ๋ว PM2.5 จนต้องปิดถนน และฝุ่นหนาแน่นถึงขนาดเครื่องบินก็ไม่สามารถบินได้

แต่ปักกิ่งในวันนี้กลับแตกต่างจากหลายปีก่อนโดยสิ้นเชิง

การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดเกิดจากความพยายามของรัฐบาลจีนในการประกาศต่อสู้กับปัญหามลพิษทางอากาศอย่างจริงจัง ส่งผลให้อนุภาคฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ลดลงทั่วทั้งประเทศ

แต่อย่าเพิ่งดีใจ เพราะมีงานวิจัยชิ้นใหม่ที่ นักวิจัยชาวอเมริกันและชาวจีนศึกษาร่วมมือซึ่งชี้ให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศของจีนนั้น แม้จะสามารถลดฝุ่น PM2.5 ลงได้ แต่จีนกลับต้องเผชิญกับปัญหาใหม่ที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง นั่นคือค่าโอโซนระดับผิวดินทีเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจกลับเพิ่มขึ้น และถือเป็นบทเรียนให้กับประเทศอื่น ๆ ที่กำลังต่อสู้กับปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM 2.5

 

งานวิจัยดังกล่าวถูกตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences ในประเทศสหรัฐฯเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา และได้รับการเผยแพร่โดย John A. Paulson School of Engineering and Applied Sciences แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และ Nanjing University of Information Science and Technology

โดยงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าค่าฝุ่น PM2.5 ในประเทศจีนลดลงในบางพื้นที่ 40% แต่ค่าโอโซนตัวร้ายที่อยู่ในระดับพื้นดินกลับมีค่าเพิ่มสูงขึ้น (โอโซนดีจะอยู่บนชั้นบรรยากาศช่วยป้องกันแสงอัลตร้าไวอเล็ตที่ก่อความเสียหาย ส่วนโอโซนร้ายจะอยู่ระดับพื้นดินจะกลายเป็นอันตรายต่อทางเดินหายใจที่รุนแรง) โดยนักวิจัยวิเคราะห์ว่า “ขณะที่ฝุ่น PM2.5 ทำปฏิกิริยากับสารตั้งต้นที่ผลิตโอโซนร้าย ซึ่งส่วนใหญ่มาจากไนโตรเจนไดออกไซด์กับสารอินทรีย์ระเหยง่าย(ควันที่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล) ค่าฝุ่นที่ลดลงกลับเป็นการเร่งการผลิตโอโซนตัวร้ายให้เพิ่มมากขึ้น”

 

โดยโอโซนที่เพิ่มขึ้นเกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีที่ส่วนใหญ่มาจากไนโตรเจนไดออกไซด์กับสารอินทรีย์ระเหยง่าย ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล

ทั้งนี้นักวิจัยได้วัดคุณภาพอากาศจากไซท์งานจำนวน 1,000 แห่งทั่วประเทศจีนระหว่างปี 2556 ถึง 2560 โดยในปี 2556 รัฐบาลจีนได้เริ่มประกาศสงครามปราบปรามมลพิษทางอากาศและได้ออกมาตรการหลากหลาย ตั้งแต่การปิดโรงงานที่สร้างมลพิษสูงไปจนถึงห้ามไม่ให้รถยนต์และรถบรรทุกวิ่งในถนน”

ศาสตราจารย์ Liao Hong แห่ง Nanjing University of Information Science and Technology ซึ่งเป็นอีกหนึ่งนักวิจัยกล่าวว่า “เมืองทางตอนเหนือของประเทศจีนที่รวมถึงเมืองปักกิ่งและเมืองอุตสาหกรรมอย่าง ฉือเจียจวงและถังซานที่เคยมีค่าฝุ่น PM2.5 สูงที่สุด แต่กลับเป็นพื้นที่ที่มีบันทึกว่ามลพิษลดลงมากที่สุด”

 

โอโซนบนพื้นดินเป็นหนึ่งใน 6 องค์ประกอบของสารมลพิษซึ่งเป็นตัวชี้วัดคุณภาพอากาศของประเทศจีน (China’s official air quality index) รวมถึง ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ PM2.5 และPM10 ซึ่งถูกจับตามากขึ้นภายใต้แผนปฏิบัติการด้านมลพิษทางอากาศของประเทศจีน (China’s latest air pollution action plans) ที่เน้นการลดจำนวนการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์และสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายภายในปี 2563

ศาสตราจารย์ Liao กล่าวเสริมว่า “เนื่องจาก PM2.5 นั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ รัฐบาลจึงออกนโยบายที่พุ่งเป้าไปยังฝุ่นจิ๋ว นอกจานี้เราก็ยังมีความพยายามที่จะลดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์และสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายเพื่อควบคุมมลพิษทางอากาศอย่างต่อเนื่อง”

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ยังเป็นบทเรียนให้กับประเทศที่กำลังต่อสู้กับภาวะมลพิษทางอากาศไว้ว่า แม้ในขณะที่พวกเขาควบคุมระดับของฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นอันตรายได้แล้ว แต่ควรใช้มาตรการเพื่อควบคุมระดับโอโซนร้ายด้วยเช่นกัน

credit
www.straitstimes.com/asia/east-asia/chinas-fight-against-air-pollution-sees-pm25-levels-plunge-but-ozone-levels-are
https://www2.blueair.com/th/ozone-health-effects

Stay Connected
Latest News