ช.การช่าง ส่งเสริมช่างชุมชนสร้าง“สิ่งประดิษฐ์ต้นแบบ” พร้อมต่อยอดจากท้องถิ่นสู่ระดับประเทศ

“ย้อนกลับไปเมื่อ 47 ปีที่แล้ว ช.การช่างก่อตั้งจากพี่น้องตระกูลตรีวิศวเวทย์ ผู้ก่อตั้งหลัก 2 คน เป็นช่างเคาะพ่นสีรถยนต์และช่างไม้ทำประตู เราเริ่มจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเล็ก ๆ จนเติบใหญ่ถึงปัจจุบัน เราจึงให้ความสำคัญกับ “ช่าง” ซึ่งถือเป็นบุคลากรสำคัญและเป็นหัวใจหลักของธุรกิจเรา” ดร.ศุภมาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวถึงความสำคัญของ “ช่าง”ที่เป็นรากฐานของบริษัทช.การช่าง

 

ดร.ศุภมาส ตรีวิศวเวทย์ และ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์

และนั่นคือหนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้ให้ บริษัท ช.การช่าง มาให้การสนับสนุนโครงการ”สุดยอดนวัตกรรมช่างชุมชน” ซึ่งเป็นปีแรกที่ ช.การช่างร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA และสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น เพื่อสรรหาช่างชุมชนที่มีผลสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ซึ่งมี 10 ผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาชุมชน โดยจัดงานพิธีมอบรางวัลและมอบทุนพัฒนาสิ่งประดิษฐ์มูลค่ารวมกว่า 600,000 บาท

โดยโครงการ”สุดยอดนวัตกรรมช่างชุมชน” จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจชุมชน 2. ต้องการยกระดับช่างชุมชนให้มีทักษะมากขึ้นเพื่อพัฒนาต่อยอดผลงาน 3.สามารถสร้างnetwork เพื่อนำนวัตกรรมไปสร้างประโยชน์ในชุมชนอื่น ๆ

ช่างชุมชนสร้างประโยชน์ในชุมชน

 

ช่งชุมชนที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 10 คน

ดร.ศุภมาส ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงความสำคัญของช่างชุมชนว่า “หลาย ๆ โครงการจะให้ความสนใจกับช่างระดับชาติและระดับโลก ซึ่งดูแล้วไกลตัว แต่เรามองว่าช่างที่เข้าถึงชุมชน สามารถแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันของคนในชุมชน เป็นส่งหนึ่งที่สามารถสร้างประโยชน์ที่แท้จริงในกับคนส่วนรวมได้ เวลาจะสร้างบ้านก็นึกถึงช่าง เวลาจะซ่อมบ้านก็นึกถึงช่าง ดังนั้นช่างชุมชนจึงเป็น handy man ที่ตอบโจทย์ แก้ไขทุกปัญหาชุมชนในหมู่บ้าน”

ขณะที่ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า “ การจัดโครงการส่งเสริมนวัตกรรมช่างชุมชน เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ให้เห็นว่าคนไทยในท้องถิ่นทั่วประเทศล้วนมีทักษะในด้านนวัตกรรมและกระบวนการคิดเชิงออกแบบที่มีศักยภาพ สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนได้”

ผลงานสุดยอดนวัตกรรมช่างชุมชนที่ได้รับคัดเลือกมีทั้งสิ้น 10 สิ่งประดิษฐ์ส่วนมากมีพื้นฐานมาจากการพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ทางเกษตรกรรมอันเป็นวิถีชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่ในท้องถิ่น เช่นเครื่องจักรกลเกษตร ระบบชลประทานการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่หาได้อย่างแพร่หลายในประเทศไทย แต่สามารถนำมาพัฒนาเพื่อนำไปใช้งานในบริบทที่กว้างขึ้น กลายเป็นนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนไทยในวงกว้างหากมีโอกาสได้เข้าถึงการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐ และเอกชน ทั้งในด้านทรัพยากร องค์ความรู้ และแหล่งทุนอย่างเป็นรูปธรรม

สนับสนุนนวัตกรรมต้นแบบที่ใช้ได้จริง

สำหรับผลงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกทั้ง 10 ทีม ประกอบด้วย เครื่องเจาะดินนิวบอร์น, เรือรดน้ำอัตโนมัติ, จักรยานปีนต้นมะพร้าว, เครื่องอูดยุง, รถไถนั่งขับอีลุย, ตะบันน้ำถังแก๊ส, กาลักน้ำประปาภูเขา, เครื่องตัดหญ้าโซลาร์เซลล์, เครื่องบดผสมปุ๋ยหมักและดินปลูก และของเล่นไม้กลไกเคลื่อนไหว

 

กฤษณะ สิทธิหาญ เจ้าของสิ่งประดิษฐ์เครื่องตัดหญ้าโซลาร์เซลล์ ประหยัดพลังงาน

โดยทั้ง 10 ทีมจะได้รับเงินทุนสนับสนุนสำหรับการพัฒนาผลงานในเบื้องต้น พร้อมเข้าร่วมกิจกรรมอบรมด้วยกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ก่อนที่จะมีการคัดเลือกผลงานที่ดีที่สุด3 ผลงานเพื่อเข้ารอบสุดท้ายซึ่งจะได้เงินรางวัลสำหรับเป็นทุนในการพัฒนาผลงาน รางวัลละ 100,000 บาท พร้อมโอกาสในการรับคำปรึกษาอย่างใกล้ชิดจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์ เทคนิคทางวิศวกรรม และการจัดการธุรกิจนวัตกรรม

ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงและพัฒนาผลงานดังกล่าวให้เป็นเลิศทั้งในด้านประโยชน์ ประสิทธิภาพประสิทธิผลในการใช้งาน โครงสร้าง คุณสมบัติรูปลักษณ์ ความสะดวกในการใช้งานการบำรุงรักษา ฯลฯ จนได้เป็นนวัตกรรมต้นแบบที่สามารถเผยแพร่ใช้งานในวงกว้างเพื่อตอบโจทย์ปัญหาชุมชนและสังคมในบริบทได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้ง 10 ทีมที่เข้ารอบจะได้เข้าร่วมกิจกรรมเวิร์คช็อปการพัฒนาแนวคิดนวัตกรรมช่างชุมชน แบบ 4 มิติ (การออกแบบ, กลไกและวิศวกรรม, ต้นทุนราคา, การทำการตลาด) ซึ่งแบ่งออกเป็น 1) การนำเสนอนวัตกรรมช่างชุมชน จากความตั้งใจสู่การปฏิบัติของแต่ละนวัตกร 2) กิจกรรมเรียนรู้จากแรงบันดาลใจนวัตกรรมช่างชุมชนระดับโลก 3) กิจกรรมร่วมกันวิเคราะห์จาก 4 มิติ (การออกแบบ, กลไกและวิศวกรรม, ต้นทุนราคา, การทำการตลาด) 4) สรุปปัญหา โอกาส และแผนเบื้องต้นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนานวัตกรรมของแต่ละชิ้นงาน และ 5) เรียนรู้โอกาสการต่อยอดนวัตกรรม และแนวทางการรับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น NIA และITAP

และสุดท้ายจะเป็นช่วงวันสำหรับการเข้าพบที่ปรึกษา โดยจะมีทีมวิศวกรอาสาจาก ช.การช่าง เป็นที่ปรึกษา ด้านวิศวกรรม อาจารย์จากภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบ และนักวางแผนธุรกิจและการเงินจากสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น เป็นที่ปรึกษา ด้านต้นทุนราคาและการจัดการและการตลาด

นวัตกรรมบ้าน ๆที่ช่วยสิ่งแวดล้อม

สุรเดช ภูมิชัย หนึ่งในช่างชุมชนที่ได้รับการคัดเลือก เจ้าของผลงานเครื่องบดผสมปุ๋ยหมักและดินปลูก เล่าถึงที่มาของงานประดิษฐ์ชิ้นนี้ว่า

 

สุรเดช ภูมิชัย เจ้าของสิ่งประดิษฐ์เครื่องบดผสมปุ๋ยและดินปลูก

 

“เกษตรกรชาวสวนลำไยและสวนมะม่วงต้องตัดกิ่งเป็นประจำแล้วนำกิ่งไม้ไปเผาทิ้ง ซึ่งจะเกิดควันและฝุ่น ผมจึงคิดว่าแทนที่จะนำกิ่งไม้ไปเผา ลองทำเครื่องที่สามารถบดกิ่งไม้ให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ได้แล้วได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดลำพูน ทำให้กลุ่มสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ดินพร้อมปลูกจากปุ๋ยหมักที่ทำจากเศษใบไม้ จะได้ปุ๋ยหมักที่ไปใช้กับพืชทุกชนิดให้เจริญเติบโตแทนการใช้สารเคมี ”

เครื่องบดผสมปุ๋ยหมักของสุรเดช ทำมาจากวัสดุรีไซเคิลทั้งสิ้น อาทิ แผ่นสังกะสีจากโต๊ะเก่า ๆ ถังน้ำมัน และใบมีดเก่าใช้แล้ว โดยใช้เงินทุนไม่สูง ปัจจุบันสุรเดชสร้างเป็นกลุ่มชุมชนขึ้นในหมู่ 6 ต.หนองล่อง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน เพื่อรับซื้อเศษใบไม้จากชาวบ้านโดยใช้ไข่ไก่หรือผักที่ปลูกไปแลก หลังจากได้ใบไม้มาแล้วก็จะรวมกลุ่มกันทำปุ๋ยหมัก เมื่อได้ผลผลิตก็จำหน่ายมีรายได้เข้ากลุ่มคนละประมาณ 200-300 บาทต่อวัน

สุรเดชกล่าวว่าหลังจากที่ทำปุ๋ยหมักเป็นผลสำเร็จนั้น สามารถลดการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรของชาวบ้านได้เป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ในหมู่บ้านยังนำปุ๋ยหมักไปปลูกพืชแทนการใช้สารเคมี ส่งผลให้คนในหมู่บ้านมีผักปลอดสารรับประทานและเหลือขาย การทำปุ๋ยหมักสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน

“ ผมคาดหวังว่าจะนำเงินรางวัลไปพัฒนาต่อยอดเครื่องบดนี้ให้มีความปลอดภัยมากขึ้น เพื่อจะได้ขยายไปยังชุมชนข้างเคียงให้ได้ทำแบบหมู่บ้านผมบ้าง”

Stay Connected
Latest News