ทีเส็บเปิดพื้นที่ดึงประชาชน นักเรียน นักศึกษา และชุมชนท้องถิ่น ร่วมขับเคลื่อนการจัดงานยั่งยืน โดยจับมือโครงการ แยก แลก ยิ้ม จาก ปตท. สนับสนุนจัดประกวดโครงการจัดงานอย่างไร ลดการใช้พลาสติก “Say No To Plastic” ณ จังหวัดขอนแก่น ผลงาน“งานกล้วย ช่วยรักษ์โลก” จากทีมลำพูนสร้างสรรค์งานทำมือที่นำต้นกล้วยมาใส่ไอเดียสร้างแบรนด์ให้กับท้องถิ่น
วิชญา สุนทรศารทูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานบริหาร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า ทีเส็บร่วมกับโครงการ แยก แลก ยิ้ม จาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สนับสนุนโครงการประกวดจัดงานอย่างไร ลดการใช้พลาสติก “Say No To Plastic” ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อรณรงค์ลดการใช้พลาสติกในการจัดประชุมสัมมนาทั่วประเทศ ตามแนวทางการดำเนินงานของทีเส็บที่มุ่งมั่นพัฒนาการจัดงานอย่างยั่งยืน พร้อมกับผลักดันไมซ์ซิตี้สู่เมืองแห่งไมซ์ที่ยั่งยืน
โดยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทีเส็บประกาศความร่วมมือกับเมืองไมซ์ซิตี้ทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพ พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ และขอนแก่น ร่วมกันดำเนินงานแคมเปญแรกที่จะผลักดันในปีนี้คือ “Zero Plastic Events” มีเป้าหมายเพื่อลดจำนวนขวดพลาสติกที่ใช้ในการประชุมใน 5 เมืองไมซ์ซิตี้ ซึ่งมีปริมาณสูงถึง 17,345,674 ขวด ให้ลดลง 50% เหลือ 8,672,837 ขวด ภายใน 1 ปี
“ขอนแก่นเป็นเมืองไมซ์ซิตี้หลักและเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยล่าสุดในปี พ.ศ. 2562 มีจำนวนนักเดินทางธุรกิจไมซ์หรือนักเดินทางในประเทศที่เข้าร่วมงานธุรกิจที่เกิดขึ้นในจังหวัดขอนแก่นถึง 2,045,693 คน และในปีนี้ขอนแก่นเป็นจังหวัดแรกที่ได้มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ลดการใช้พลาสติกในพื้นที่และสถานที่จัดงาน ทั้งในห้องประชุม การจัดเลี้ยง อุปกรณ์และบรรจุภัณฑ์ สนับสนุนการจัดอาหารและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดการใช้พลาสติกและลดค่าใช้จ่ายจากการจัดงานภายในปี พ.ศ. 2563 ไม่ต่ำกว่า 50 %”
โครงการประกวดจัดงานอย่างไร ลดการใช้พลาสติก “Say No To Plastic” มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ลดการใช้พลาสติกในการจัดงาน ผ่านการให้ความรู้เรื่องการจัดงานอย่างยั่งยืนเพื่ออนุรักษ์พลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม สร้างความเข้าใจเรื่องลดการใช้และการสร้างขยะพลาสติกในกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย นักเรียน นักศึกษา เจ้าของกิจการ นักธุรกิจ หน่วยงาน ผู้ประกอบธุรกิจจัดงาน และองค์กรต่างๆ ตลอดจนจัดประกวดผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อทดแทนการใช้พลาสติกในการจัดประชุมสัมมนาโดยใช้วัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น
หลักเกณฑ์พิจารณาจาก 4 องค์ประกอบ ได้แก่ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การนำไปใช้ประโยชน์ ความสวยงาม ความละเอียดประณีต และความน่าสนใจของการนำเสนอ ซึ่งมีผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจำนวน 10 ทีม จาก 7 จังหวัดทั่วประเทศ โดยในงานประกาศผลการประกวดโครงการฯ ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ มีผู้ชนะ 3 ทีมที่ได้รับรางวัล แบ่งเป็นรางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง และรองชนะเลิศอันดับสอง ส่วนอีก 7 ทีมได้รับรางวัลชมเชย โดยทั้ง 10 ทีม ได้รับประกาศนียบัตรและเงินรางวัลมูลค่ารวม 100,000 บาท
ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีมลำพูนสร้างสรรค์ จ.ลำพูน ด้วยผลงานโครงการ “งานกล้วย ช่วยรักษ์โลก” เป็นการนำกาบกล้วย ก้าน และใบตองที่แห้งแล้วมาประดิษฐ์เป็นของใช้ต่างๆ แทนพลาสติก เช่น จานใส่อาหาร ที่รองแก้ว ปากกา ป้ายชื่อ กระเป๋าใส่เอกสาร แฟ้มเอกสาร ซองใส่เอกสาร ซองใส่แก้ว ดอกไม้ตกแต่งในงาน กล่องทิชชู่ ป้ายชื่อตำแหน่ง ฯลฯ รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ทีมกราฟฟิก R ตานี จ.ปัตตานี ด้วยผลงานโครงการ “บรรจุภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ” โดยนำวัสดุธรรมชาติที่มีอยู่มากมายในท้องถิ่น เช่น กาบกล้วยตานี มาใช้แทนพลาสติก ประดิษฐ์เป็นบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารว่าง โดยนำตีหมาสำหรับตักน้ำของชาวใต้มาเป็นแนวคิดในการออกแบบรูปทรงบรรจุภัณฑ์ และรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ ทีมวิถีลาวบ้านสะนำ จ.อุทัยธานี ด้วยผลงานโครงการ “ใบไม้เปลี่ยนเมือง” เป็นการนำกาบหมากที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ในสวน ซึ่งมีต้นหมากเป็นจำนวนมากในหมู่บ้านสะนำ นำมาผลิตเป็นภาชนะบรรจุอาหารแทนการใช้โฟมหรือพลาสติก ช่วยลดขยะในชุมชน และรักษาสิ่งแวดล้อมให้โลก
ศิริลักษณ์ จักรแก้ว จากทีมลำพูนสร้างสรรค์ ชุมชนประตูป่า อ.เมือง จ.ลำพูน ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศ กล่าวว่า “โครงการฯนี้ เป็นโครงการที่ดี เพราะนอกจากจะช่วยรักษ์โลกแล้ว ยังช่วยสร้างโอกาสในการสร้างงาน สร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้านด้วย พร้อมเล่าถึงผลงานที่ส่งเข้าประกวดว่า เป็นการนำวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น คือ ใบตองแห้ง กาบกล้วย และส่วนต่างๆ ของต้นกล้วยที่ถูกตัดทิ้งแล้วมาทำผลิตภัณฑ์ เป็นการนำเศษวัสดุธรรมชาติมาสร้างมูลค่าเพิ่ม”
“ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป็นงานทำมือ เป็นทั้งงานศิลป์และงานฝีมือ ใช้งานได้หลายอย่าง เช่น จาน แฟ้มเอกสาร กระเป๋า แล้วแต่โจทย์ที่ได้รับ ใช้ทุนน้อย วัสดุหาง่ายเพราะต้นกล้วยในท้องถิ่นมีอยู่มาก ใช้ต้นกล้วยที่ออกลูกแล้วซึ่งต้นจะถูกตัดทิ้ง เราจะเอาต้นที่ถูกทิ้ง ใบตองแห้ง กาบกล้วย มาทำ ใส่ไอเดียเข้าไป ทำงานออกมาให้สวยจะช่วยสร้างมูลค่าได้จึงต้องอาศัยฝีมือ เริ่มทำงานนี้เพราะความชอบ ของบางชิ้นราคาไม่กี่บาท แต่เราชอบ ทำแล้วมีความสุข”
ปัจจุบันทางกลุ่มฯ รับทำผลิตภัณฑ์ให้กับแบรนด์ที่ทำเป็นสินค้าส่งออก และคาดหวังว่าจะมีโอกาสได้พัฒนาแบรนด์เป็นของตนเอง ตลอดจนการเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายสินค้า นอกจากนี้ยังต้องการสร้างโอกาสขยายงานให้กับผู้สูงวัยในท้องถิ่น เนื่องด้วยงานมือที่ทำจากต้นกล้วยเป็นงานที่ไม่หนัก แต่ต้องใจเย็น จึงน่าจะเหมาะที่จะส่งเสริมให้ผู้สูงวัยทำอยู่กับบ้าน มีรายได้ ทำให้เกิดความภูมิใจ และมีสุขภาวะที่ดี