การรณรงค์ลดการใช้พลาสติกโดยเฉพาะพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากหลายองค์กรเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและลดปริมาณขยะพลาสติกที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ทั่วโลกในขณะนี้ แต่รู้หรือไม่ว่า พลาสติกเพียง 9% เท่านั้นที่กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยมากๆเมื่อเทียบกับปริมาณขยะพลาสติกที่เราสร้างขึ้นในแต่ละวัน
เสียงจากผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมได้ดังขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเรียกร้องให้ลดปริมาณการใช้พลาสติก เนื่องจากปริมาณขยะสะสมอยู่ในทะเล ในประเทศยากจนและแม้แต่ในตัวมนุษย์เอง การลดปริมาณขยะอย่างมีนัยสำคัญจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบทั้งหมด แต่ก็ยังมีวิธีง่ายๆที่คนอย่างเราก็สามารถมีส่วนร่วมในการลดปริมาณการใช้พลาสติกได้ด้วยเช่นกัน ได้แก่
1. พยายามใช้ขวด ช้อนส้อมและกระเป๋าซ้ำ ๆ ให้มากที่สุด
2. ปฏิเสธฝาปิดแก้วกาแฟ ลองจิบกาแฟสัก 2 จิบก่อนออกจากร้านเพื่อป้องกันไม่ให้กาแฟหก
3. เลือกผลิตภัณฑ์ที่บรรจุในแก้วหรือกระป๋อง แล้วนำไปรีไซเคิลใหม่
4. หากเป็นไปได้ก็ลองนั่งกินอาหารที่ร้านแทนการซื้อกลับบ้าน
5. หากสั่งอาหารประเภทนำกลับบ้าน (Takeout) หรือ Delivery บอกเจ้าหน้าที่ว่าไม่เอาช้อนหรือหลอดดูดพลาสติก
6. เลือกสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์น้อยๆ ไม่ซื้อผักผลไม้หรือชาที่ห่อหุ้มด้วยพลาสติก
7. ซื้อสินค้าอาหารจากแผนก Bulk section ที่ต้องนำไปชั่งกิโลโดยใส่ในภาชนะที่เตรียมมาเองแทนการใส่ในถุงพลาสติก
8. ใช้สบู่ก้อนแทนการใช้สบู่เหลวที่อยู่ในขวด และงดใช้ฟองน้ำขัดตัวพลาสติก
9. ใช้มีดโกนประเภทที่เปลี่ยนแค่ใบมีดเท่านั้น
10. ใช้แปรงสีฟันที่ทำจากไผ่หรือที่สามารถเปลี่ยนหัวแปรงได้
11. ซื้อน้ำยาทำความสะอาดชนิดเข้มข้นที่สามารถนำมาผสมกับน้ำในภาชนะรียูสได้
12. เลือกซื้อน้ำผลไม้แช่แข็งชนิดเข้มข้นที่บรรจุในขวดกระดาษแข็งแทนเหยือกพลาสติก
13. ไม่ซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติก เปลี่ยนมาดื่มน้ำกรองเองที่บ้านปลอดภัยกว่า
14. ซื้อเสื้อผ้าน้อยๆ หรือซื้อเสื้อมือสองก็ยังเข้าท่า ซักให้น้อยครั้งเพื่อการใช้งานที่ยาวนานขึ้นและตากให้แห้ง เพราะเสื้อผ้าส่วนใหญ่ประกอบด้วยเส้นใยสังเคราะห์ที่ผลิตจากพลาสติกนั่นเอง
15. เมื่อซื้อสินค้าออนไลน์ ลองจับกลุ่มสินค้าให้ได้จำนวนไอเท็มมากเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะจะช่วยลดจำนวนถุงห่อพลาสติกเมื่อเราได้สินค้านั่นเอง
ทิปง่ายๆเพียง 15 ข้อ คงไม่ยากเกินไปสำหรับคนที่ต้องการมีส่วนร่วมในการลดการใช้พลาสติกที่เป็นสาเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อม หากเราปฏิบัติจนชินเป็นนิสัย เชื่อว่าปัญหาพลาสติกล้นโลกก็จะแก้ไขได้ไม่ช้าก็เร็ว
credit:www.theguardian.com/environment/2019/nov/27/how-to-shrink-plastic-footprint-recycling?