ถอดบทเรียน เอส แอนด์ พี ปรับองค์กรสู่ความยั่งยืน “เป็นเรื่องยาก แต่ต้องทำ”

“เราอยากทำชีวิตที่เหลืออยู่ให้มีคุณค่า พอมาทำงานเรื่อง sustainable

แล้วรู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ เราอยากทำตัวให้มีคุณค่ามากกว่าการขายของไปวัน ๆ

ซึ่งผู้บริหารก็สนับสนุนเต็มที่ “

“คุณเอ็ม” มณีสุดา ศิลาอ่อน ผู้อำนวยสำนักพัฒนาความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บมจ. เอส แอนด์ พี ซินดิเคท เป็นเจ้าของคำพูดข้างบนที่สะท้อนความรู้สึกของเธอที่สร้างแรงบันดาลใจ ให้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับอุปสรรคมากมายบนเส้นทางที่จะก้าวไปสู่ Sustainable Development( SD ) หรือ “การพัฒนาที่ยั่งยืน”

ซึ่งการขับเคลื่อนองค์กรสู่เรื่องความยั่งยืน ของเอส แอนด์ พี นั้นเริ่มมาจาก “ศูนย์” คือไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อนเลย เพียงแค่มีใจเต็มร้อยที่จะทำเรื่องความยั่งยืนให้สำเร็จ

แต่ผ่านไป 1 ปี คุณเอ็มสามารถนำองค์กรคว้า 4 รางวัลด้าน sustainable จากหน่วยงานระดับประเทศ ซึ่งพิสูจน์ว่ากำลังเดินมาถูกทางแล้ว การที่ เอส แอนด์ พี ก้าวเข้าสู่เส้นทาง sustainable จึงน่าจะเป็นกรณีศึกษาให้หลาย ๆ องค์กรที่กำลังรีรอว่า จะเดินมาเส้นทางนี้ดีมั๊ย ได้ศึกษาก่อนที่จะเข้าเกียร์เดินหน้าต่อไป

บนชั้น 24 อาคารอิตัลไทย “คุณเอ็ม” พร้อมด้วยทีมงานสำนักพัฒนาความยั่งยืน ให้การต้อนรับ SDThailand.com ในวันที่อากาศสบาย ๆ กับการสนทนาเรื่องของความยั่งยืนที่กำลังเป็นกระแสอยู่นี้ แต่ “คุณเอ็ม” กลับไม่คิดว่าจะทำเพื่อตามกระแส เพราะการจะทำเรื่องความยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้นั้นจะต้องออกมาจากส่วนลึกของจิตใจที่อยากจะช่วยเหลือ อยากจะเปลี่ยนแปลงโลกไปในทางที่ดีขึ้น

“ บริษัท เอส แอนด์ พีเติบโตมาถึงปีนี้ก็ครบ 45 ปีแล้ว ช่วงแรกเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่ตอนนี้สถานของเราคือมั่นคงแล้ว เลยมาคิดว่าเราดำเนินธุรกิจมานาน มีทั้งความรู้ ความชำนาญในเรื่องอาหาร เครื่องดื่มและเบเกอรี่ ขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลง ในต่างประเทศบริษัทที่คิดถึงแต่เรื่องกำไรอย่างเดียว ไม่สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน เราต้องมีพาร์ทเนอร์ชิป มีกิจกรรมดี ๆ เพื่อสังคม เพื่อให้ห่วงโซ่ทั้งหมดเดินไปพร้อมกับเราได้”

นั่นคือแนวความคิดที่เกิดขึ้นมาก่อนที่จะตัดสินใจเดินหน้าตั้งสำนักพัฒนาความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร เมื่อปี 2561

เริ่มต้นตรงไหนก่อนดี??

 

 

“ การตัดสินใจจะเปลี่ยนองค์กรให้เป็นเรื่องsustainable จะต้องทำอย่างไร???”

นี่คือคำถามคำแรกที่ผุดขึ้นมาในความคิดของคนที่จะเริ่มเดินเข้าสู่เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals ) หรือ SDGs ของสหประชาชาติ

สำหรับองค์กร เอส แอนด์ พี นั้น คุณเอ็มเล่าว่าทุกอย่างเริ่มจาก “ศูนย์” ในช่วงแรกจึงต้องใช้บริษัทที่ปรึกษามาให้ความรู้เรื่อง SD และวางแผนเป็นขั้นตอนเพื่อเดินไปสู่เส้นทางของความยั่งยืนอย่างถูกวิธี ขณะเดียวกันคุณเอ็มก็เริ่มหาความรู้เรื่องนี้จากการเข้าร่วมอบรมและสัมมนาขององค์กรอื่น ๆ เพื่อหาแนวทางในการทำงาน

“ เราคุยกับผู้บริหารว่าเราอยากทำองค์กรนี้ให้เป็นsustainable ซึ่งผู้บริหารก็ให้การสนับสนุนเต็มที่ เราจึงตั้งสำนักพัฒนาความยั่งยืนและสื่อสารขึ้นมาเพื่อเสนอกิจกรรมด้านความยั่งยืนต่าง ๆ ให้บรรจุเป็น MISSION ของบริษัท ”

คุณเอ็มแนะนำว่าการจะทำเรื่องsustainable ให้ประสบความสำเร็จนั้น จะต้องให้ผู้บริหารและพนักงานมีส่วนในการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน

“ เราระดมสมองคนทั้งองค์กรว่าใน SDGs 17 ข้อของสหประชาชาตินั้น เราจะทำข้อไหนได้บ้างที่สอดคล้องกับธุรกิจของเรา เป้าหมายขององค์กรอยากเดินไปในเส้นทางไหนบ้าง โดยสรุปมีทั้งหมด  5 ข้อ เมื่อทิศทางถูกกำหนดโดยพนักงานทั้งหมดแล้ว ผู้บริหารก็จะสนับสนุนเราด้วย ”

 

“ หนึ่งใน SDG Goals ของเราคือ เราจะไม่มองคนอื่นเป็นคู่แข่งอีกต่อไป เพราะเราทำเองทั้งหมดไม่ได้ แต่เราจะมองพวกเขาเป็นพันธมิตรที่จะมาช่วยทำเรื่อง sustainable ให้สำเร็จ” นั่นคือการเปลี่ยนมุมมอง ”คู่แข่ง” อย่างสร้างสรรค์ที่คุณเอ็มแนะนำ

ซึ่งปัจจุบันเป้าหมาย ทั้ง 5 ข้อรวมทั้งกิจกรรมที่รองรับได้ถูกบรรจุให้เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักขององค์กรเอส แอนด์ พี เรียบร้อยแล้ว แม้จะได้รับไฟเขียวจากผู้บริหาร รวมถึงมีเป้าหมายที่ชัดเจน แต่เมื่อลงทำงานจริง ๆ ก็เจอปัญหาอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะเรื่อง การเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในองค์กร

“ เราเริ่มจากนำทีมงานไปให้ความรู้คนในองค์กรเรื่อง sustainable ว่าทำไมเราต้องทำ และต้องทำอะไรบ้าง ในช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลงก็ทำให้ชีวิตพนักงานยุ่งยากขึ้น ทั้งเรื่องแยกขยะ ประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ การปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ แต่ก็ต้องค่อย ๆ ทำไป ต้องบอกทุกคนว่าเรามีเป้าหมายเดียวกันและถ้าทำได้จะทำให้ภาพลักษณ์ขององค์กรโดยรวมดีขึ้น ในอนาคตนักลงทุนจะมองว่าหุ้นของเรามีคุณค่า”

ไม่เพียงแต่วางแผนให้คนในองค์กรเอส แอนด์ พี ต้องเรียนรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือ “ความยั่งยืน” เท่านั้น แม้แต่สมาชิกในครอบครัวของคุณเอ็มก็ยังต้องปรับตัวไปด้วยเช่นกัน

“เรื่อง sustainable ควรเริ่มที่บ้านก่อนเพื่อเป็นตัวอย่างให้คนภายนอกได้เห็นว่าเราทำได้จริง ไม่เช่นนั้นคนจะไม่เชื่อถือ” คุณเอ็มกล่าวอย่างจริงจัง ดังนั้นสมาชิกทุกคนในครอบครัวทั้งสามีและลูก ๆ ทั้ง 3 คนของคุณเอ็มจะต้องรู้จักแยกประเภทขยะ ใช้กระติกน้ำแทนการใช้ขวดพลาสติก ใช้ถุงผ้าแทนการใช้ถุงพลาสติก ฯลฯ.

“ตอนแรกลูก ๆ ก็บ่นว่าคุณแม่ทำไมเยอะจัง แต่ทำไปนาน ๆ ทุกคนก็ปรับตัวได้ค่ะ สามารถใช้ชีวิตแบบsustainable ได้อย่างปกติ “ คุณเอ็มเล่าอย่างภาคภูมิใจ

 

Sustainable เป็นเรื่องยาก แต่ต้องทำ

“ช่วงแรกบอกได้เลยว่าเหนื่อย” คุณเอ็มเล่าด้วยใบหน้ายิ้มพร้อมดวงตาเด็ดเดียวด้วยพลังของนักสู้ เพราะการไปบอกให้พนักงานจำนวนหลายพันคนต้องเปลี่ยนพฤติกรรมแบบ 360 องศาคงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ อยู่แล้ว รวมไปถึงการเข้าไปปรับเปลี่ยนระบบหลาย ๆ อย่างในองค์กรเพื่อให้สอดรับกับการเป็นsustainable จึงเป็นเรื่องที่จะต้องใช้สารพัดวิธีเพื่อโน้มน้าวทั้งผู้บริหารและพนักงานให้ทำตาม

“ เช่นเรื่องที่เราเสนอให้เปลี่ยนหลังคาโรงงานทั้งหมดมาเป็น Solar Rooftop เพื่อใช้พลังงานหมุนเวียนแทนการใช้ไฟฟ้า ซึ่งถ้าเปลี่ยนทั้งหมดพร้อมกันต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง เราจึงต้องเริ่มจากเปลี่ยนทีละโรงก่อน และด้วยความที่คุณกำธร ศิลาอ่อน เคยทำงานด้านสายการเงินมาก่อน จึงสามารถหาไฟแนนซ์ที่ดอกเบี้ยถูก ในที่สุดโครงการนี้จึงเกิดขึ้นได้ ซึ่งในระยะยาวเราจะประหยัดค่าไฟทำให้ต้นทุนถูกลง”

ทันทีที่โครงการ Solar Rooftop เกิดขึ้น กระทรวงพลังงานฯเห็นว่าเป็นโครงการดี จึงเลือกให้เอส แอนด์ พี เป็นบริษัทเอกชนตัวอย่างที่นำเรื่องประหยัดพลังงานมาใช้ พร้อมกับช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ไปยังสื่อต่าง ๆ จนมีคนภายนอกให้ความสนใจมากขึ้น

“เราเริ่มเดินก่อน เมื่อพบกับความสำเร็จ มีเสียงชื่นชม มีคนให้กำลังใจ  ทำให้เราอยากไปต่อ  วันนี้เราเริ่มเดินได้แล้ว  และกำลังจะเติมฝันของเราให้สมบูรณ์”

 


บรรจุภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลมีมติเห็นชอบ Roadmap การจัดการพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 เพื่อลดและเลิกการใช้พลาสติก โดยตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนว่าภายในปี 2562 นี้ ประเทศไทยต้องเลิกใช้พลาสติก 3 ประเภท ได้แก่พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของสารประเภทอ็อกโซ่ และ ไมโครบีดจากพลาสติก และในปี 2565 ตั้งเป้าเลิกใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว (Single use Plastic) คือ ถุงพลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบบาง และหลอดพลาสติก

“ เราได้เข้าไปคุยกับผู้บริหารและฝ่ายจัดซื้อเรื่องต้องปรับเปลี่ยนแพคเกจจิ้ง เพราะรัฐบาลประกาศแผนเรื่องนี้ออกมาอย่างชัดเจนแล้ว ถ้าเราไม่ปรับตัวตั้งแต่วันนี้ พอใกล้ ๆ แล้วเราจะเดือดร้อน เพราะการหาซัพพลายเออร์ในช่วงใกล้ ๆ ทำให้ราคาจะแพงขึ้น”

 

 

นั่นคือเหตุผลที่คุณเอ็มยกมาให้ฝ่ายบริหารตัดสินใจอนุมัติเรื่องการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดของเอส แอนด์ พี จากถุงพลาสติกมาเป็นถุงกระดาษซึ่งต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นถึง 90 ล้านบาท รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่ใช้อยู่ยังมีสต็อกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเป็นเรื่องใหญ่และท้าทายความสามารถของคุณเอ็มอย่างยิ่ง

“ ถ้าเราเปลี่ยนทั้งหมดทันทีคงทำไม่ได้เพราะต้องใช้เงินเยอะมาก เราเลยมาคิดว่าควรทำเหมือนต่อจิ๊กซอว์ คือขอทำทีละอย่าง เริ่มจากลดความหนาของถุงพลาสติกก่อน เพื่อให้จำนวนตันที่จะเข้าไปอยู่ในระบบนิเวศน์น้อยลงไปบ้าง”

เมื่อจิ๊กซอว์ตัวแรกเริ่มถูกตั้งขึ้นบนกระดาน ตัวต่อ ๆ ไป ก็เริ่มตามมา จากลดความหนาของถุงพลาสติก โครงการต่อมาคือการเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ รวมถึงหลอด biodegradable plastic และกำลังทดลองใช้หลอดกระดาษ

“ตอนนี้เรากำลังทำวิจัยร่วมกับซัพพลายเออร์ เพื่อทำบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ภายใน 180 วันถึง 3 ปี “นอกจากการลด ละ เลิก บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกค้าก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้ขยะพลาสติกลดลงไปได้ จึงมีการจัดโครงการลดถุงพลาสติก

“ลูกค้าของเอส แอนด์ พี่ ส่วนหนึ่งเป็นลูกค้าประจำที่น่ารักมาก ไม่น่าเชื่อว่าเราขอความร่วมมือจากลูกค้าไม่รับถุง นอกจากลูกค้าจะเข้าใจแล้ว เค้ายังมาซื้อถุงผ้าของเรา เพราะชอบโครงการลดถุงพลาสติก บางคนซื้อถุงผ้าเราไป 50 ใบ บอกว่าจะไปแจก นี่คือสิ่งทีเกินความคาดหมายของเรา เพราะเราแค่อยากให้ลูกค้าตระหนักถึงเรื่องผลร้ายของพลาสติกเท่านั้น”

 

 

“การรณรงค์ไม่ใช้ถุง เป็นเป้าหมายใหญ่ของเราว่าสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของคนรอบตัวได้ กว่าเราจะบอกได้ว่าเราเป็นบริษัทเพื่อความยั่งยืนอย่างแท้จริง คงต้องวางแผน10 ปี โดย 5 ปีแรกคือการเปลี่ยนแพคเกจจิ้ง”

“ วันนี้เอ็มเริ่มต่อจิ๊กซอว์ทีละจุดได้แล้ว แต่วันที่เสร็จสมบูรณ์คือการเปลี่ยนแพคเกจจิ้งทั้งระบบ และพัฒนาเรื่องสิ่งแวดล้อมในโรงงานครบวงจร มีผลิตภัณฑ์ที่ใช้แสงอาทิตย์ “คุณเอ็มเอ่ยถึงจุดหมายปลายทางที่ฝันไว้

งานหนักที่มีความสุข

 

ในธุรกิจด้านอาหารของเอส แอนด์ พีนั้น “เกษตรกร” ถือเป็นห่วงโซอุปทานที่มีส่วนสำคัญอีกมิติหนึ่ง และอยู่ในเป้าหมายข้อที่ 2 ,3 และ12 ที่เกี่ยวเนื่องต่อสุขภาพของผู้บริโภค คุณภาพชีวิตของเกษตรกร รวมถึงการรับรองแผนการบริโภค และการผลิตที่ยั่งยืน
โดยในเรื่องวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ผลิตอาหารให้กับผู้บริโภคนั้น คุณเอ็มตั้งเป้าไว้ภายในปี 2563 จะต้องมีผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ อย่างน้อย 20 % ของเมนูอาหารที่ขายอยู่ในร้านเอส แอนด์ พีทุกสาขา

“ เป็นเรื่องที่ยากอีกเช่นกัน เพราะเมืองไทยไม่มีเกษตรอินทรีย์ 100 % และเป็นงานหนักของฝ่ายจัดซื้อเพราะถ้าเราตัดพ่อค้าคนกลางออกเพื่อติดต่อกับเกษตรกรโดยตรง เราจะเจอปัญหามากมาย เช่น ผลผลิตที่ไม่มีสารเคมีจะไม่สวย การขนส่งก็ยุ่งยาก ซึ่งเอ็มกับฝ่ายจัดซื้อจะต้องเข้าไปคุยกับซัพพลายเออร์ที่เป็นเกษตรกรทุกราย และต้องทำหน้าที่audit คุณภาพเองทั้งหมด เพราะเรื่องอาหารเราต้องรับผิดชอบต่อผู้บริโภคให้มาก ทำให้เราต้องทำงานหนักมากขึ้น ซึ่งถ้าเราใช้ซัพพลายเออร์คนกลาง เค้าจะทำทำขั้นตอนนี้ให้เรา เราก็ไม่ต้องยุ่งยาก แต่เราก็ยอมยุ่งยากมากขึ้นเพื่อเข้าไปช่วยเกษตรกร”

 

โครงการ Kitchen for Kids

 

วัตถุดิบของเอส แอนด์ พี มาจากเกษรตรกรทั่วประเทศ ดังนั้นคุณเอ็มและทีมงานจึงต้องเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อไปศึกษาหาข้อมูลแต่ละสวน หาทีมงานเข้าไปช่วยพัฒนาผลผลิต ซึ่งเป็นงานที่หนักมาก แต่คุณเอ็มก็บอกว่าสุขใจทุกครั้งที่ได้เห็นรอยยิ้มอย่างมีความสุขของเกษตรกรที่ได้ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาดีขึ้น

“เราลงพื้นที่ไปคุยกับเกษตรกรหลาย ๆ จังหวัด รับรู้ปัญหาแล้วมาปรับใช้กับเมนูของเรา”

เกษตรกรรายแรกที่คุณเอ็มไปพบคือสวนของอนุชาเจ้าของสวนเผือก “เราสนใจสวนนี้เพราะ บัวลอยเผือกของเรามียอดขายเป็นอันดับหนึ่งในทุกสาขา “

 

มณีสุดา ศิลาอ่อน พร้อมทีมงานเข้าไปในสวนอนุชา เพื่อช่วยพัฒนาเผือกให้มีคุณภาพดี

 

จากเดิมที่เคยซื้อเผือกผ่านพ่อค้าคนกลาง แต่เมื่อต้องทำเรื่องความยั่งยืน คุณเอ็มจึงต้องไปคุยกับเกษตรกรโดยตรงถึงเรื่องคุณภาพของหัวเผือกในสเปคที่เอส แอนด์ พีต้องการ พร้อมทั้งนำทีม Food Sience ของบริษัทเข้าไปเป็นที่ปรึกษาด้วย

“ปกติคุณอนุชาปลูกเผือกไม่เกิน 4 เดือนก็เก็บขาย แต่เราขอให้เขาปลูกเผือกให้นานขึ้นเป็น 7 เดือน เพราะนอกจากเผือกมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น แป้งในเนื้อเผือกจะมีรสชาติดีขึ้น และขอให้ใช้แต่ปุ๋ยอินทรีย์”

หลายปีที่เอส แอนด์ พี ร่วมมือกับสวนอนุชาเพื่อปรับปรุงผลผลิตเผือกให้ได้ตามสเปค ในวันนี้ร้านเอส แอนด์ พีก็ได้เผือกที่มีคุณภาพไปทำบัวลอยเผือกที่รสชาติหอมอร่อย ส่วนอนุชาก็มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากการขายเผือกให้เอส แอนด์ พี งานนี้จึงถือเป็นเรื่อง win win ทั้ง 2 ฝ่าย นั่นคือความหมายของคำว่า “ ยั่งยืน”อย่างแท้จริง

อีกกรณีหนึ่งที่คุณเอ็มรู้สึกว่าทำแล้วมีความสุขคือการเข้าไปซื้อส้มที่จังหวัดน่าน

“ ส้มเจ้านี้ทำเป็นเกษตรอินทรีย์ซึ่งคัดลูกโต ลูกสวย ๆ ส่งให้กับห้างใหญ่ในกรุงเทพฯ เขาเล่าว่า 50 % ของผลผลิตที่ไม่ได้ขนาด ผิวไม่สวย ต้องคัดทิ้งแล้วปล่อยให้เน่า”

 

 

เมื่อได้รับฟังปัญหาของเกษตรกร คุณเอ็มจึงแก้ปัญหาด้วยการรับซื้อผลผลิตที่เหลือทั้งหมด ทำเอาเจ้าของสวนถึงกับดีใจมาก “เจ้าของสวนบอกกับเราว่า ถ้าหนูซื้อส้มที่เหลือจากป้า จะช่วยป้าปลอดหนี้ได้เลย”

เมื่อช่วงหน้าหนาวที่ผ่านมา ลูกค้าเอส แอนด์ พี หลายคนจึงได้มีโอกาสลิ้มลองน้ำส้มสด ๆ จากสวนจังหวัดน่าน ซึ่งหลายคนอาจไม่รู้ว่าน้ำส้มสดใหม่ถ้วยนี้สามารถช่วยปลดหนี้เกษตรกรได้!!

“ส้มน่านหวานหอมอร่อยค่ะ เพียงแต่เปลือกไม่สวย เอ็มก็เลยแก้ปัญหาด้วยการนำมาคั้นเอาแต่น้ำมาขายเป็นแก้ว ๆ  ซึ่งผลตอบรับจากลูกค้าดีมากค่ะ แต่เราทำเป็นแค่โปรโมชั่นเท่านั้น เพราะส้มแบบนี้ไม่ได้มีทั้งปี”

นี่เป็นแค่กรณีตัวอย่างที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับเกษตรกรในการพัฒนาวัตถุดิบ แต่คุณเอ็มยังนำทีมเข้าไปพัฒนาร่วมกับเกษตรกรอีกหลายแห่งเพื่อให้พวกเขาสามารถผลิตวัตถุดิบที่ดี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อาทิ ให้ทุนวิจัยแก่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่พัฒนาสายพันธุ์ปลาบึกสยามให้มีเนื้ออร่อยและมีสารอาหาร เพื่อนำแจกจ่ายให้กับชุมชนนำไปเลี้ยงเป็นอาชีพ , ให้การสนับสนุนและรับซื้อผลผลิตจากสวนมะพร้าว จ.สมุทรสงคราม ,ข้าวคุณหญิงพันทอง ฯลฯ.

รางวัลแห่งความสำเร็จ

1 ปีกว่าที่คุณเอ็ม นำพาองค์กรเดินทางไปในเส้นทางความยั่งยืน กับ Mission 5 Golds เพื่อตอบโจทย์ใน 3 มิติคือ เพื่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ได้เกิดเรื่องราวต่าง ๆ ที่ตามมาอีกมากมาย

“ เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการประชุมผู้ถือหุ้นของเอส แอนด์ พี มีผู้ถือหุ้นใหญ่ท่านหนึ่งถามว่า เราทำเรื่องความยั่งยืนบ้างมั๊ย ซึ่งเราตอบในที่ประชุมว่า ตอนนี้เรามี 5 Goals ของบริษัทที่กำลังทำอยู่ ซึ่งผู้ถือหุ้นได้ฟังแล้วก็พอใจมาก “

 

 

ไม่เพียงได้รับความพอใจจากผู้ถือหุ้นเท่านั้น เป้าหมายความยั่งยืนขององค์กรยังรวมไปถึงการนำพาหุ้นเอส แอนด์ พีเข้าไปอยู่ในลิสต์ของรายชื่อหุ้นยั่งยืน หรือ Thailand Sustainability ของตลาดหลักทรัพย์

“ ที่เมืองนอกถ้าเป็นหุ้นอยู่ในกลุ่ม Sustainability จะมีกองทุนขนาดใหญ่ให้ความสนใจ แต่เมืองไทยยังไม่ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามการเข้าไปอยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืนในระยะยาวจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าหุ้นปกติ เพื่อในอนาคตบริษัทจะเจริญเติบโตแบบมั่นคง”
คำถามสุดท้ายก่อนจบการสนทนาคือ ทำเรื่องความยั่งยืนมา 1 ปีกว่า ๆ นั้น ทำแล้วได้อะไรบ้าง

“ เราเริ่มทำ SD เพราะอยากทำเพื่อโลกเพื่อสิ่งแวดล้อมจริง ๆ แต่พอทำได้แล้ว ได้เห็นความสำเร็จจากคำชื่นชมของผู้ถือหุ้น ของลูกค้าที่ขอบคุณเรา ได้รางวัลจากหลาย ๆ องค์กร และทำให้พนักงานทุกคนมีความภาคภูมิใจในองค์กรที่ทำสิ่งดี ๆ เพื่อสังคมจริง ๆ “

 

 

 

S&P ได้รับรางวัลด้านความยั่งยืนปี 2562

 

1. โล่ประกาศเกียรติ การสนับสนุนโครงการ “เสริมสร้างคุณภาพชีวิตของนักเรียนในโรงเรียนที่ด้อยโอกาส” ประจำปี 2561 แก่โรงเรียนบ้านโคกใหม่นายม จ.ขอนแก่น เพื่อเสริมสร้างโภชนาการและสุขอนามัย อันเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตเยาวชนและคนในชุมชนให้ดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขอย่างยั่งยืน

2.รางวัล 3Rs Award รางวัล Zero Waste to Landfill Achievement Award และรางวัล 3Rs+ Awards ระดับเหรียญทอง จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในโครงการพัฒนาศักยภาพการใช้ประโยชน์กากของเสีย

3. รางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกดีเด่น (Prime Minister’s Export Award : PM Export Award 2019) ประเภทแบรนด์ไทยยอดเยี่ยม (Best Thai Brand) เกียรติคุณถึงความสำเร็จและความทุ่มเทของผู้ประกอบการไทย

4. ประกาศนียบัตรใน “พิธีมอบประกาศนียบัตรแก่ภาคอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการประชาสัมพันธ์มาตรการปรับลดปริมาณเกลือหรือโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารเชิงสมัครใจ” ในกิจกรรมรณรงค์ “รู้ฉลาก กินฉลาด ลดโซเดียม”

5. ประกาศนียบัตรเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์สำหรับผลิตภัณฑ์เค้กกล้วยหอม ในพิธีขอบคุณและมอบประกาศนียบัตร “ร้อยดวงใจ ร่วมใจลดโลกร้อน ประจำปี 2562” องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)จาก ผลิตภัณฑ์ Butter Cake ยังได้รับการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์สำหรับไปเมื่อปี 2561 ด้วย

 

Stay Connected
Latest News

KCG เปิดวิสัยทัศน์ CEO คนใหม่ ‘ดำรงชัย วิภาวัฒนกุล’ สร้างการเติบโตที่มั่นคง ยั่งยืน และพร้อมสู่อนาคตที่กำลังเปลี่ยนแปลง ทรานส์ฟอร์มองค์กร สานต่ออาณาจักรอาหารสไตล์ตะวันตก เนยและชีส