ในที่สุดเราก็มาถึงจุดที่ต้องใช้หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุแล้ว WHO ประเมินว่าปี พ.ศ.2583คนไทยจะมีผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก กทปส.จึงพร้อมเดินหน้ามอบทุนวิจัยให้ ม.มหิดล พัฒนา “ชูใจ” หุ่นยนต์ต้นแบบเพื่อดูแลสุขภาพใจผู้สูงอายุ
ดร.กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี หัวหน้าโครงการพัฒนาหุ่นยนต์ฯ และอาจารย์ประจำภาควิชา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลหุ่นยนตร์ชูใจว่า “หุ่นยนต์ตัวนี้ทำหน้าที่เฝ้าระวังภาวะอารมณ์ไม่พึงประสงค์ในผู้สูงอายุ และประเมินแนวโน้มปัญหาพฤติกรรม ตลอด 24 ชม. ทั้ง 7 วัน เพื่อป้องกันและช่วยเหลือผู้สูงอายุจากภาวะอารมณ์เศร้า เครียด กังวล และปัญหาด้านความจำ ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ อีกทั้งหุ่นยนต์ยังสามารถเรียนรู้พฤติกรรมเฉพาะของผู้สูงอายุแต่ละคน เพื่อเป็นข้อมูลในการประเมินพฤติกรรมที่ผิดไปจากปกติ และแจ้งเตือนไปที่ผู้ดูแลเพื่อรับมือและป้องกันก่อนเกิดเหตุได้ทันท่วงที และบันทึกข้อมูลทั้งหมดไว้ประกอบการบำบัดรักษาสำหรับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาต่อไป”
ทั้งนี้หุ่นยนตร์”ชูใจ” เป็นการต่อยอดงานวิจัยเดิมที่ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้พัฒนา “จับใจ” ระบบหุ่นยนต์โต้ตอบเพื่อเฝ้าระวังผู้มีภาวะซึมเศร้าบนเครือข่ายสังคม ซึ่งเป็นหุ่นยนต์โต้ตอบอัตโนมัติ (Chatbot) ที่มีหน้าที่คัดกรองสภาวะโรคซึมเศร้าของผู้ใช้งาน โดยทางมหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. ในการจัดทำโครงการพัฒนา “ชูใจ” หุ่นยนต์ดูแลสุขภาพใจผู้สูงอายุสำหรับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งโครงการนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างหลายภาคส่วน ได้แก่ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับสาขาวิชาจิตวิทยาคลินิก ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยมีระยะเวลาการดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 ถึง พฤษภาคม 2563
หุ่นยนต์ต้นแบบ “ชูใจ” จะทำหน้าที่ประเมินและคัดกรอง และการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นตามหลักจิตวิทยา เป็นการยกระดับคุณภาพการให้บริการของศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย ด้วยการบูรณาการระบบการดูแลสุขภาพใจของผู้สูงอายุแบบครบวงจรสำหรับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ ผู้สูงอายุมีสุขภาพใจดี ดำรงชีวิตอย่างมีความสุข รวมถึงยังเป็นการพัฒนาวงการวิจัย ระบบหุ่นยนต์ , IoT, ปัญญาประดิษฐ์ และจิตวิทยาคลินิกของประเทศไทย และยังก่อให้เกิดการบูรณาการระหว่างการแพทย์กับเทคโนโลยีอีกด้วย
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization (WHO) ประเมินว่าใน พ.ศ.2583 ประเทศไทยจะมีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก จากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้รัฐบาลต้องเร่งวางนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ในการเตรียมรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ จากการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560–2579) หรือ แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2545 – 2564) ที่เน้นมาตรการส่งเสริมความรู้ด้านการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน ดูแลตนเองเบื้องต้น และมาตรการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันและสร้างความเข้มแข็งขององค์กรผู้สูงอายุ
จึงนับเป็นความท้าทายต่อการวิจัยและพัฒนาในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ เนื่องจากพบว่า ผู้สูงอายุมักต้องทนทุกข์และเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่างๆ ประสบปัญหาด้านภาวะอารมณ์ เหงา ว้าเหว่ ถูกละเลยจากสังคมและลูกหลาน และบางกลุ่มอยู่ในภาวะพึ่งพิง เกิดความทุกข์ใจจากการที่ไม่สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตนเอง หรือความสามารถในการดำรงชีวิตได้ด้วยตนเองลดลง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดสภาวะอารมณ์เชิงลบได้ ไม่ว่าจะเป็นภาวะวิตกกังวล ภาวะเครียดที่จะเป็นภาระกับลูกหลานและอาจส่งผลรุนแรงไปเป็นภาวะซึมเศร้าได้
ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) มีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 จากฐานข้อมูลจำนวนประชากรของประเทศไทย ปี 2560 ที่ผ่าน ซึ่งพบว่ามีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 67.6 ล้านคน เป็นชาย 33 ล้านคน หญิง 34.6 ล้านคน และมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 11.3 ล้านคน หรือ 16.7% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งเป็นวัยทำงานอายุ 15-59 ปี จำนวน 44.60 ล้านคน วัยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 11.60 ล้านคน โดยวัยผู้สูงอายุยังคงทำงานอยู่ราว 3.9 ล้านคน เพื่อหารายได้เสริมและเลี้ยงครอบครัว เพราะผู้สูงอายุบางคนไม่มีคนดูแล ทั้งนี้ยังมีการประเมินว่า ในปี 2564 จะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป สัดส่วนสูงถึง 20% และในปี 2574 ประเทศไทยจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงถึง 28%
จากสถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลจึงมีแนวทางผลักดันให้มีการจัดตั้งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (nursing home) หรือผู้ป่วยระยะพักฟื้น ที่มีบุคลากรที่มีทักษะ มีความรู้ มีประสบการณ์ในการดูแลผู้สูงอายุและสามารถดูแลผู้สูงอายุได้ตามแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสม แต่ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์ในการดูแลผู้สูงอายุ บุคลากรเฉพาะทางการพยาบาลผู้สูงอายุมีจำนวนน้อย ไม่เพียงพอต่อปริมาณผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การผลิตบุคลากรที่มีศักยภาพและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านอารมณ์และจิตใจ ต้องใช้ระยะเวลานาน เพราะต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องสุขภาพจิต จิตวิทยาผู้สูงอายุ สภาวะอารมณ์ในผู้สูงอายุ ปัญหาและการเปลี่ยนแปลงในวัยสูงอายุ และต้องสามารถประเมินแนวโน้มปัญหาพฤติกรรมที่จะเกิดขึ้นของผู้สูงอายุได้ เพื่อให้สามารถให้คำปรึกษา การช่วยเหลือที่เหมาะสมได้ทันท่วงที
ดังนั้นงานวิจัยและพัฒนานี้จึงนำความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI บูรณาการกับหลักการทางจิตวิทยาคลินิกเฉพาะทางในเรื่องผู้สูงอายุ เพื่อนำมาพัฒนาและสร้างระบบหุ่นยนต์ที่เข้าใจสภาวะอารมณ์ของผู้สูงอายุ พร้อมทำหน้าที่เป็นเพื่อนที่มีความเชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและเข้าถึงจิตใจของผู้สูงอายุ รวมทั้งยังพูดคุยเล่าเรื่องราวด้วยภาษาไทย
ทางด้าน นิพนธ์ จงวิชิต รักษาการผู้จัดการกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ กล่าวเสริมว่า จากสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย ส่งผลให้ประเทศต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือและสร้างเครื่องมือ คือ หุ่นยนต์ สำหรับมาดูแลผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น กทปส. เล็งเห็นถึงความสำคัญและปัญหาดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการมอบทุนเพื่อทำโครงการพัฒนา “ชูใจ” หุ่นยนต์ดูแลสุขภาพใจผู้สูงอายุสำหรับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และเชื่อมั่นว่าจะเป็นเครื่องมือช่วยดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”