“บ้านปู”จัดค่ายเยาวชนเพาเวอร์กรีน ตั้งเป้า“เรียนรู้สู่การปฏิบัติจริง”

“ จังหวัดสตูลบ้านของหนูมีน้ำตกค่ะ แต่ก็มีคนที่ไปเที่ยวแล้วทิ้งขยะ ทำให้มีแต่ขยะลอยเต็มไปหมด หนูมาเข้าค่ายฯนี้คาดหวังว่าจะนำความรู้ที่ได้ไปจัดการกับขยะเหล่านี้ค่ะ”
“น้องใหม่” สุปรียา ศรีมณี นักเรียนชั้น ม.4 รร.ควนกาหลงวิทยาคม”นิคมวัฒนา” จ.สตูล

“เป้าหมายผมที่มาค่ายนี้เพราะต้องการนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดพัฒนาค่ายวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนโดยฝึกน้องม.2และม.3 เพื่อให้มีหลักคิดและมีโจทย์ให้แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม จากนั้นจะให้น้อง ๆ ไปทำค่ายเพื่อสอนเด็ก ๆ ชั้นประถมต่อครับ”
“น้องกู๊ด” ธีรายุวัฒน์ ศิริรักษ์ นักเรียนชั้น ม.2 รร.บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กรุงเทพฯ

 

จากซ้าย “น้องพี” กิตติภูมิ ตรีสาม ,”น้องใหม่” สุปรียา ศรีมณี และ”น้องกู๊ด” ธีรายุวัฒน์ ศิริรักษ์

 

เหล่านี้คือเสียงสะท้อนของบรรดานักเรียนที่ได้รับการคัดเลือกมาเข้าข่ายค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม “เพาเวอร์กรีน” ปีที่ 14 ซึ่งต่างคาดหวังว่าค่ายเยาวชนฯจะมีคำตอบและทางออกให้แก่พวกเขาที่จะทำไปต่อยอดเรื่องสิ่งแวดล้อมให้กับตัวเองและชุมชนรอบ ๆ

ปีนี้ค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม “เพาเวอร์กรีน”ซึ่งจัดโดย บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เดินทางมาถึงปีที่ 14 แล้ว โดยความร่วมมือกับ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ถูกจัดขึ้นเมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาภายใต้หัวข้อ “รวมพลังเยาวชน สู้วิกฤตโลกร้อน ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ”

 

 

กิจกรรมสำคัญคือค่ายฯ ได้นำนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 5 สายวิทยาศาสตร์จำนวน 70 คนที่ผ่านการคัดเลือกจากทั่วประเทศ ร่วมเข้าค่ายฯ กว่าหนึ่งสัปดาห์ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ณ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เยาวชนทุกคนต่างก็ได้ศึกษาผลกระทบจากวิกฤตโลกร้อนต่อสิ่งมีชีวิต รวมถึงเรียนรู้แนวทางการรับมือ วิธีการจัดการ ป้องกันและแก้ไขปัญหาจากวิกฤตดังกล่าวกันเต็มที่ พร้อมระดมไอเดียดีๆ มาสร้างสรรค์เป็นโครงงานวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่จัดแสดงและนำเสนอต่อสาธารณชนได้อย่างน่าประทับใจ

 

 

ในปีนี้เยาวชนทั้ง 70 คน ได้แบ่งทีมสร้างสรรค์โครงงานกลุ่มวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดยเน้นต่อยอดแนวคิดในการต่อสู้กับวิกฤตโลกร้อน เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีหลายโครงงานฯ ที่น่าสนใจ เช่น โครงงานสาหร่ายเปลี่ยนโลก ที่สร้างปะการังเทียมจากคลอโรพลาสต์ของสาหร่ายคลอเรลลา (Chlorella) ผสมกับโปรตีนเส้นไหม และนำขยะพลาสติกมาใช้เป็นส่วนประกอบ เพื่อสร้างที่อยู่ใหม่ให้สัตว์น้ำและปล่อยออกซิเจนคืนกลับสู่ธรรมชาติ และ โครงงานไบโอพลาสอ้อย ที่คิดค้นพลาสติกชีวภาพจากเซลลูโลสในใบอ้อยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ใบอ้อย ซึ่งเป็นส่วนที่เกษตรกรไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ และลดปัญหาการเผาใบอ้อยทิ้งก่อนการเก็บเกี่ยว ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ รวมถึงภาวะโลกร้อนอีกด้วย

สำหรับโครงงานฯ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในปีนี้มีชื่อว่า “ขยะทะเลมาสร้างทะเล” โดยเยาวชนได้ร่วมกันคิดค้น “สามเหลี่ยมโกงกาง” นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และฟื้นฟูชายฝั่ง รวมถึงคืนความอุดมสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศป่าชายเลน หนึ่งในระบบนิเวศที่สำคัญ โดยโครงสร้างถูกออกแบบให้มีลักษณะสามเหลี่ยม เพื่อช่วยลดความรุนแรงของคลื่นที่กระทบชายฝั่ง และมีรากแตกแขนงเหมือนลักษณะของต้นโกงกาง เป็นตัวช่วยค้ำจุนลำต้นและชะลอการไหลของน้ำ ซึ่งผลิตจากขยะพลาสติกที่นำมาผสมกับคอนกรีต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะพลาสติก และลดปัญหาขยะได้ด้วย

 

 

กิตติภูมิ ตรีสาม หรือ น้องพี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ตัวแทนทีมชนะเลิศ กล่าวว่า “ในจังหวัดของผม มีพื้นที่ป่าชายเลนที่กำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤติโลกร้อนและภัยธรรมชาติต่างๆ ค่อนข้างเยอะ ผมและเพื่อนๆ จึงเริ่มต้นคิดโครงงานฯ จากการนำเอาปัญหาดังกล่าวมาเป็นโจทย์ตั้งต้น พร้อมนำความรู้ที่ได้รับจากค่ายฯ มาประยุกต์ใช้ โดยหลังจากนี้ผมและเพื่อนๆ ตั้งใจว่าถ้ามีโอกาส จะนำเอาแนวคิดของโครงงานนี้ไปใช้กับพื้นที่จริงเพื่อแก้ปัญหาต่อไป

การได้เข้าค่ายเพาเวอร์กรีนเป็นการเปิดประสบการณ์ที่ดีมากๆ ทุกกิจกรรมการเรียนรู้ทำให้ผมรู้สึกรักและเห็นความสำคัญของธรรมชาติมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นผมยังได้พัฒนาตัวเองอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นทักษะการใช้ชีวิต ความเป็นผู้นำ ความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสาร และการนำเสนอผลงาน หลังจากค่ายนี้ ผมตั้งใจจะใช้ชีวิตประจำวันให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด และในอนาคตผมมีความฝันอยากเป็นนักบริหารธุรกิจ ที่จะทำงานโดยคำนึงถึงการดูแลและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างมีความรับผิดชอบ”

 

สำหรับกิจกรรมไฮไลต์ของค่ายฯ ปีนี้ ประกอบด้วยการทัศนศึกษา ณ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นพื้นที่แหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์ และมีระบบนิเวศที่หลากหลาย การร่วมกิจกรรมเพื่อสังคมด้วยการเก็บขยะบริเวณชายฝั่ง เพื่อคืนความสะอาดและความสวยงามให้ชายหาดไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้วิธีแยกประเภทขยะและผลกระทบของขยะต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการรับฟังเสวนาหัวข้อ “การต่อสู้เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อความหลากหลายทางชีวภาพ” จากคณะวิทยากรผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม เช่น นายวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

อุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงเป้าหมายของการจัดค่ายเยาวชน”เพาเวอร์กรีน”ว่าเน้นเรื่องการเรียนรู้สู่การปฏิบัติจริง ดังนั้นเยาวชนที่เข้ามาเรียนรู้ในค่ายฯนอกจากเรียนรู้มุมมองเรื่องสิ่งแวดล้อมในเชิงวิทยาศาสตร์แล้ว ยังเพิ่มทักษะการปฏิบัติด้วยการเข้าค่ายเพื่อไปเรียนรู้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากชุมชนจริง

 

อุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)

 

“ปีนี้เรามุ่งเน้นให้เยาวชนได้เรียนรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่กำลังเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับโลก เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนตระหนักถึงผลกระทบและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว เราเห็นสัญญาณที่ดีจากการแสดงออกถึงความรักและความหวงแหนธรรมชาติของเยาวชนในค่ายฯ ที่ชัดเจน ผ่านแพสชัน (Passion) ในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่นเดียวกับการจัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ที่น้องๆ ได้ร่วมกันสร้างสรรค์แนวคิดที่หลากหลายจากการคิดอย่างเป็นระบบ โดยนำความรู้เดิมมาเชื่อมโยงกับความรู้ใหม่ที่ได้รับจากค่ายฯ แล้วประยุกต์ใช้ให้เกิดขึ้นจริง เราเชื่อว่าน้องๆ เหล่านี้จะเติบโตไปเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีในการผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังในอนาคต และสร้างโลกใบนี้ให้น่าอยู่ยิ่งขึ้นได้อย่างแน่นอน”

ค่าย “เพาเวอร์กรีน” เป็นหนึ่งในโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมที่บ้านปูฯ ริเริ่มขึ้นบนความมุ่งมั่นของการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นตามกลยุทธ์ Greener ของบริษัทฯ ที่สอดคล้องกับหลัก ESG (Environmental, Social, Governance) หรือความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ซึ่งเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

 

 

รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เสริมว่า “การส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้เข้าใจถึงความเชื่อมโยงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทั้งพืช สัตว์ และมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญ ทุกกิจกรรมการเรียนรู้ในค่ายฯ จึงได้สอดแทรกการฝึกกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ และการเชื่อมโยงความรู้ เพื่อให้เยาวชนได้เข้าใจถึงปัญหาดังกล่าวอย่างลึกซึ้ง ตลอดจนสามารถนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมมาเป็นแนวทางการจัดการและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืน เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ที่เยาวชนอาศัยอยู่ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชนและประเทศชาติต่อไป”

 

สำหรับเยาวชนและผู้ที่สนใจค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม “เพาเวอร์กรีน” สามารถติดตามข่าวสารเพิ่มเติม ได้ที่ เฟซบุ๊ก www.facebook.com/powergreencamp หรือโทร 0 2441 5000 ต่อ 2112

 

Stay Connected
Latest News