ก่อนหน้านี้ “ พลังงานหมุนเวียน” กลายเป็นความหวังของมวลมนุษยชาติที่หวังพึ่งพาเมื่อหมดยุคฟอสซิลในอนาคตอันใกล้ แม้สายลม แสงแดดและน้ำจะเป็นพลังงานสะอาดที่ทุกคนคาดหวังให้มาแทนที่ เนื่องจากต้นทุนที่ถูก แต่จุดอ่อนสำคัญคือ “ความไม่เสถียร” หรือการผลิตที่ไม่สม่ำเสมอ จึงทำให้พลังงานหมุนเวียนไม่สามารถตอบโจทย์เพื่อใช้เป็นทางออกของการผลิตไฟฟ้าให้โลกปัจจุบันให้สามารถก้าวพ้นปัญหาด้านพลังงานไปได้
แต่อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมพลังงานก็เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีไม่หยุดยั้งเพื่อหานวัตกรรมด้านพลังงานใหม่ ๆ มาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทุกประเทศทั่วโลก ในที่สุดเราก็ได้เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ที่จะเข้ามาพลิกโฉมอุปสรรคข้างต้นได้ นั่นก็คือ “ระบบกักเก็บพลังงาน” หรือ Energy Storage System (ESS) ที่จะช่วยให้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน สามารถจ่ายออกมาใช้งานได้ตลอดเวลาเฉกเช่นการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานฟอสซิล ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนคุณลักษณะพื้นฐานของไฟฟ้าอย่างที่เราไม่เคยเจอมาก่อน
สำหรับประเทศไทยนั้น มีการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015) ซึ่งขณะนี้เตรียมปรับปรุงสู่แผนใหม่หรือ AEDP 2018 และยังกำหนดนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มุ่งสู่การนำนวัตกรรมมาปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต
และแน่นอนว่าหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ถูกกำหนดไว้คือ ยานยนต์ไฟฟ้า เพราะโลกกำลังมุ่งไปสู่ทิศทางดังกล่าว โดยเฉพาะตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมีโอกาสเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดขึ้นไปอยู่ระดับ 1 ใน 4 ของยอดขายรถยนต์รวมต่อปีทั้งประเทศ หรือคิดเป็นประมาณ 240,000 คัน ทำให้กลุ่ม ปตท. ในฐานะบริษัทพลังงานของประเทศ ที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงาน มองการขยายโอกาสไปยังธุรกิจใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ทิศทางการใช้พลังงานในอนาคตและนโยบายรัฐ
เป็นที่มาของการลงนามความร่วมมือระหว่าง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ในฐานะแกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. ในสัญญา “โครงการวิจัยและพัฒนาโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ (Pilot Plant) ด้วยเทคโนโลยีเซมิ-โซลิด (Semi-Solid)” ถือเป็นการปูเส้นทางที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายของธุรกิจใหม่ในอนาคต ในการต่อยอดเทคโนโลยีแบตเตอรี่หรือระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) เพื่อปิดจุดอ่อนของพลังงานหมุนเวียนที่ไม่สามารถผลิตไฟได้ต่อเนื่อง เพราะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและกลไกทางธรรมชาติ
ทั้งนี้ตลาดแบตเตอรี่เริ่มเป็นที่ต้องการของหลายภาคธุรกิจ ทั้งเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพ การลดต้นทุน การบริหารจัดการพลังงานภายในชุมชน หรือเมือง ในรูปแบบ Smart Energy ส่งผลให้ ปตท. และ GPSC มีแนวคิดสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ เพื่อต่อยอดไปสู่กระบวนการผลิตเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเริ่มที่การตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบด้วยกระบวนการผลิต Semi-Solid ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัท 24 M Technology ที่ GPSC เข้าไปร่วมลงทุน เพื่อให้การดำเนินงานรวดเร็ว และสะดวกต่อการพัฒนาพร้อมนักวิจัย
ในเบื้องต้น ได้วางกรอบการดำเนินการในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในไตรมาส 2/2563 ด้วยมีกำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งโรงงานต้นแบบนี้สามารถผลิตแบตเตอรี่สูตร LFP เพื่อใช้งานภายในบ้านที่อยู่อาศัย และแบตเตอรี่ Lithium Nickel Manganese Cobalt Oxide หรือ NMC สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้
ทั้งนี้เทคโนโลยี Semi-Solid เป็นคำตอบของนวัตกรรมการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบใหม่ของ 24M Technology จุดเด่นอยู่ที่กระบวนการออกแบบเซลล์แบตเตอรี่ให้มีความปลอดภัยสูง และสามารถลดขั้นตอนกระบวนการผลิตได้มากกว่า 50% ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตลดลง รวมถึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะสามารถนำวัสดุบางอย่างกลับมาใช้ได้ใหม่
“ไฟฟ้าเป็นพลังงานที่กักเก็บไม่ได้ หรือกักเก็บได้ก็ยังมีต้นทุนที่สูงอยู่ ขณะเดียวกันเราจะใช้ไฟได้ก็ต้องมีระบบสายส่งไปถึงบ้านเรือน สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายว่าเราจะทำเรื่องนี้ได้อย่างไร ขณะที่โลกกำลัง MOVE ไปหาพลังงานหมุนเวียนเพราะไม่มีประเด็นเรื่องการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยในอนาคต หากโรงงานต้นแบบสำเร็จแล้ว เชื่อว่ากลุ่ม ปตท. จะลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ดังกล่าว แต่เป็นขนาดเล็ก เพื่อใช้ในพื้นที่เขตนวัตกรรมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความต้องการใช้แบตเตอรี่สำหรับผลิตไฟฟ้าสูงก่อน” ชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC กล่าวถึงแผนการลงทุนในอนาคต
อย่างไรก็ตาม GPSC ร่วมกับ ปตท. ได้มีการทดลองนำร่องดำเนินการพัฒนา Smart Energy Community ในพื้นที่ EECi วังจันทร์วัลเล่ย์ จังหวัดระยอง ซึ่งจะมีการติดตั้งโซลาร์รูฟ และโซลาร์ลอยน้ำ มีการใช้บล็อกเชนมาใช้ในการซื้อขายไฟฟ้าแต่ละอาคารและมีการใช้เทคโนโลยี AI ในการติดตามสภาวะอากาศที่เหมาะสมในการผลิตและเลือกใช้แหล่งผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสม เป็นต้น
จากวิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรี มองว่า การพัฒนาเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะพลิกโฉมตลาดพลังงานโลก ระบบการกักเก็บพลังงาน จะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในระดับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ภายใน 5 ปีข้างหน้า นอกจากนี้การพัฒนาเทคโนโลยีที่ดีขึ้นและราคาที่ถูกลงจะช่วยลดระยะเวลาคุ้มทุน ส่งผลให้การนำ “ระบบกักเก็บพลังงาน” มาใช้ในระดับครัวเรือนและใช้กับรถยนต์ไฟฟ้ามีความเป็นไปได้มากขึ้นในอีก 5-10 ปีข้างหน้า