Nike เปิดตัว Circular Design คู่มือออกแบบเพื่อให้แบรนด์ยั่งยืน

“ หากคุณกำลังจะออกแบบอะไรสักอย่าง

คุณมักจะมีอำนาจในการควบคุมหรือวางแผนเส้นทางชีวิตของสิ่งนั้น

ดังนั้น คุณจึงต้องตัดสินใจอย่างรอบคอบและ

คิดเกี่ยวกับวงจรชีวิตของเสื้อผ้าให้มากกว่าแค่การตั้งอยู่ในร้าน ”

เป็นคำกล่าวของ Matthew Needham

ผู้ที่กำลังจะจบปริญญาโทด้านแฟชั่นจาก London design college Central Saint Matins

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าโลกกำลังอยู่ในช่วงวิกฤติจากภาวะโลกร้อนและมลพิษพลาสติกที่กำลังสร้างความหวาดกลัวให้กับชีวิตเราบนโลก ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่เลวร้ายไปกว่านี้อุตสาหกรรมทุกประเภทจำเป็นต้องสร้างตัวเองให้มีความยั่งยืนมากขึ้น

 

 

สำหรับนักออกแบบด้านแฟชั่นหลายคนโดยเฉพาะ Needham เชื่อว่าโซลูชั่นที่จะแก้ปัญหาได้นั้นคือจะต้องเน้นเรื่อง circularity ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำมารีไซเคิลได้นั่นเอง แต่กว่าจะไปถึงขั้นที่อุตสาหกรรมแฟชั่นจะสามารถผลิตเสื้อผ้าและรองเท้าชนิดหมุนเวียน (Circular) ได้นั้น บริษัทจำเป็นต้องมีการร่วมมือกันเพื่อหาโซลูชั่นสำหรับปัญหาใหญ่ๆ เช่น การสร้างสรรค์วัตถุดิบใหม่ๆและเครื่องมือสำหรับการรีไซเคิล เป็นต้น

เมื่อไม่นานมานี้ Nike ได้ร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับ Central Saint Martins ในการจัดทำคู่มือสำหรับนักออกแบบที่ได้วางกฎเกณฑ์ของ Circular Design ที่มาพร้อมกับกรณีศึกษาต่างๆของบริษัทที่ทำให้เกิดการค้นพบใหม่ๆ ซึ่งตัวอย่างบางกรณีก็มาจาก Nike เอง และอีกหลายตัวอย่างมาจากแบรนด์อื่นๆ เช่น Patagonia, Outerknown, For Days และ Eileen Fisher เป็นต้น

ทั้งนี้ คู่มือของ Nike ได้ร้อยเรียงรายละเอียดกฎเกณฑ์แต่ละข้อว่ามีบทบาทต่อกรณีศึกษาอย่างไร พร้อมกันนี้ยังมีคำถามเปิดสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยที่กฎทั้ง 10 ข้อจะนำคุณสู่วงจรผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้แก่ องค์ประกอบต่างๆ เช่น การเลือกวัตถุดิบที่มีผลกระทบต่ำ การออกแบบโดยคำนึงถึงความสามารถในการนำกลับมารีไซเคิล การลดขยะจากกระบวนการผลิต การยืดอายุของผลิตภัณฑ์ผ่านการซ่อมแซมและการสร้างสรรค์ที่คงทน และการใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีความใส่ใจมากขึ้น เป็นต้น

 

 

Nike ได้เปิดตัวคู่มือนี้ระหว่างที่มีการจัดงาน Copenhagen Fashion Summit เป็นงานประจำปีที่จัดขึ้นโดย the Global Fashion Agenda ซึ่งเป็นองค์กรที่ทุ่มเทให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่นให้มีความยั่งยืนมากขึ้น จากรายงานของการประชุมตอนหนึ่งความว่า “เพื่อให้อุตสาหกรรมแฟชั่นก้าวหน้าต่อไปในแง่ของความยั่งยืน บริษัทต่างๆจำเป็นต้องร่วมมือกันพัฒนาโซลูชั่นพื้นฐานขนาดใหญ่” ขณะที่คู่มือของ Nike อาจจะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมเดินไปข้างหน้าได้ อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความยากในการสร้างความยั่งยืนของธุรกิจที่แท้จริงตามขนาดของธุรกิจนั้นๆ

Nike เองเป็นบริษัทที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยเมื่อปีที่แล้ว บริษัทสามารถทำรายได้ถึง 36.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ เติบโต 6% จากปีที่ผ่านมา ทั้งยังได้ดำเนินโครงการด้านความยั่งยืนหลายปีที่ผ่านมาและมีความก้าวหน้าที่ดี รองเท้าและเครื่องแต่งกายของ Nike เกือบ 75% ใช้วัสดุรีไซเคิลและ Nike กำลังดำเนินการเพื่อให้บรรลุด้านการใช้พลังงานทดแทน 100% ในยุโรปและอเมริกาเหนือภายในปี 2020 ซึ่งก็ยังคงเป็นหนทางอีกยาวไกลที่จะสร้างระบบปลอดขยะและปลอดคาร์บอนให้ได้ทั้งระบบ

Nike Grind เป็นอีกหนึ่งซัพพลายเชนที่ Nike ได้เปิดตัวไปเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ซึ่งจะคอยเก็บรวบรวมรองเท้าใช้แล้ว เพื่อนำมาบดและแยกชิ้นส่วนออกจากกัน ได้แก่ ยาง โฟม ไฟเบอร์ หนังและผ้า โดยที่วัตถุดิบแต่ละชนิดจะถูกนำไปผลิตสินค้าใหม่ๆ รวมถึงสนามบาสเก็ตบอล เป็นต้น นอกจากนี้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา โปรแกรม Grind ได้พัฒนาขึ้นเพื่อรวบรวมวัสดุรีไซเคิลส่วนเกินและรองเท้าจากโรงงานของ Nike และ โรงงานของ Converse ที่ได้ทำสัญญากันไว้ โดยเมื่อปีที่แล้ว ยางจากโครงการ Grind ถูกนำมารีไซเคิลกว่า 3 ล้านปอนด์เพื่อนำมาผลิตรองเท้า ซึ่งนับเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งของ Nike แต่การกำจัดขยะในโรงงานและการรีไซเคิลรองเท้าที่ใช้แล้วที่มีอยู่ในตลาดตอนนี้ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องคิดอีกยาวไกลทีเดียว

 

 

Noel Kinder ประธานเจ้าหน้าที่ด้านความยั่งยืนของ Nike กล่าวว่า ความยั่งยืนนั้นเป็นความท้าทายที่ไม่มีที่สิ้นสุดสำหรับ Nike และทางแบรนด์ก็มีทีมสนับสนุนด้านความยั่งยืนภายในบริษัท ตั้งแต่ฝ่ายออกแบบไปจนถึงฝ่ายผลิต เขายังเสริมอีกว่า Nike จะร่วมมือกับองค์กรอื่นๆอย่างต่อเนื่องเพื่อแชร์แนวคิดเพราะ “ไม่มีใครจะแก้ปัญหาภัยคุกคามที่มีอยู่ได้เพียงลำพังหรอก”

Credit : https://www.fastcompany.com/90350603/nike-is-launching-a-guide-to-sustainability-for-brands-get-it-here?partner=rss&utm_source=twitter.com&utm_medium=social&utm_campaign=rss+fastcompany&utm_content=rss

Stay Connected
Latest News

สิงห์ เอสเตท สานต่อโครงการ “ปลูกป่าด้วยปลายนิ้ว” ปีที่ 3 เดินหน้าปลูกป่า 1 ล้าน ตร.ม. สร้างพื้นที่สีเขียว มุ่งสู่องค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนครบวงจร ตามปรัชญา “Go Beyond Dreams”