ปีนี้อากาศแปรปรวนอย่างมาก ทำให้มังคุดของชาวสวนภาคใต้ออกผลเร็วกว่าปกติ แถมยังให้ผลผลิตมากกว่าปีที่แล้วถึง 2 เท่า บรรดาชาวสวนที่คาดหวังว่าจะได้ราคามังคุดดีเหมือนปีที่แล้วจึงต้องผิดหวัง เพราะปีนี้ขายได้กิโลกรัมละไม่ถึง 10 บาท แค่ค่าแรงเก็บก็แทบจะไม่คุ้มแล้ว
แม้ว่ามังคุดจะเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับ 5 ของภาคใต้ รองจากยางพารา ปาล์ม เงาะ ทุเรียน แต่มังคุดที่ได้ชื่อว่าเป็น “ราชินีแห่งผลไม้” ถือเป็นหนึ่งในเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงทุกครอบครัวของคนภาคใต้ เนื่องจากทุกบ้านจะปลูกมังคุดเพื่อกินบ้างขายบ้าง ขณะที่หลายครอบครัวปลูกมังคุดเป็นอาชีพบนพื้นที่หลายสิบไร่
เมื่อปี 2561 ถือเป็นปีทองของชาวสวนมังคุดที่ยิ้มได้อย่างมีความสุข เพราะมังคุดเกรดดีได้รับการประมูลสูงถึงกิโลกรัมละ 200 บาท ขณะที่คละเกรดสามารถขายได้กิโลกรัมละ 50 บาท โดยผลผลิตรวมของปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 24,000 ตัน วางขายในประเทศ 22,000 ตัน ส่งออก 25,000 ตัน แปรรูป 200 ตัน ขายภายในประเทศแบ่งเป็นส่งล้ง 11,000 ตัน วิสาหกิจชุมชน 4,000 ตัน ตลาดผลไม้ในจังหวัด 5,000 ตัน สหกรณ์การเกษตร 500 ตัน ขายให้ผู้บริโภคโดยตรง 1,500 ตัน ฯลฯ.
แต่สำหรับปีนี้สถานการณ์มังคุดกลับพลิกหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียว เพราะผลผลิตกลับมากกว่าเดิมถึงหนึ่งเท่าตัว ส่งผลให้ราคาร่วงลงจนน่าตกใจ โดย วิบูลย์ รัตนาภรณ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กล่าวถึงสาเหตุว่า
“แม้ว่าทางจังหวัดจะวางแผนเรื่องการตลาดมาตั้งแต่ต้นปี แต่เนื่องจากปีนี้เกิดแล้งสลับฝน ทำให้ผลผลิตมังคุดออกมามากถึง 1 เท่าตัว หรือ 48,000 ตัน ซึ่งปกติมังคุดควรจะออกผลต้นเดือนสิงหาคม แต่ปีนี้ปลายกรกฎาคมมังคุดก็ออกมาแล้ว วันแรกออกมา 50 ตัน เกิดปัญหาทันทีคือล้งไม่สามารถรับซื้อได้เพราะไม่มีแรงงานคัดมังคุด จึงเกิดปัญหาตามมาจนต้องปิดล้งชั่งคราว”
ดอยคำรับเข้ามาช่วยเกษตรกรรายย่อย
ทันทีที่ได้ทราบข่าวว่าเกษตรกรชาวสวนจังหวัดชุมพรเดือดร้อนอย่างหนักเพราะผลผลิตของมังคุดขายได้ในราคาต่ำมาก พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ได้ติดต่อประสานงานกับผู้ว่าสมพร เพื่อเข้ามาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนมังคุดอย่างเร่งด่วน
“ดอยคำลงมาช่วยที่ชุมพร เพราะที่นี่มีมังคุดล้นตลาดมาก โดยเข้ามารับซื้อจากเกษตรกรรายย่อย ตั้งแต่วันที่ 9 – 21 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้ตั้งจุดรับซื้อ 2 แห่งคือ อ.หลังสวน และ อ.พะโต๊ะ โดยรับซื้อในปริมาณ 200 ตัน แบ่งเป็น 170 ตันคัดเกรดดีเป็นมังคุดปลอดสารเพื่อบรรจุกล่อง 5 กิโลกรัมจำหน่ายในตราดอยคำราคากล่องละ 180 บาท ส่วนอีก 30 ตันเป็นผลเล็กคละเกรด ส่วนหนึ่งส่งไปโรงงานที่แม่จัน จ.เชียงราย เพื่อสกัดทำน้ำมังคุดเข้มข้น “
ตลอดเวลากว่าสิบวันรถบรรทุกนำมังคุดคัดเกรดของดอยคำจากชุมพรขึ้นล่องไปส่งยังกรุงเทพฯหลายรอบ เพื่อไปวางจำหน่ายยังร้านดอยคำ ทุกสาขา รวมถึงบรรดาร้านที่เข้าร่วมด้วยช่วยกันเป็นพันธมิตร อาทิ ร้านโครงการหลวงทุกสาขา , ร้านโกลเด้น เพลซ ทุกสาขา, บริษัทปูนซิเมนต์ไทย , บริษัทการบินไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกสิกรไทยและ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เป็นต้น
“มังคุดที่ดอยคำรับซื้อจะคัดเกรดเอและปลอดสารเคมี เรานำไปขายทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัด มีร้านแฟรนไชส์ที่อุดร สั่งไปจำหน่าย 1 พันหีบ ปรากฏว่าขายหมดภายใน 2 วัน และมีเสียงสะท้อนจากสื่อสังคมออนไลน์ต่างชื่นชมว่ามังคุดของดอยคำอร่อยมาก หลายคนบอกว่าไม่คิดว่าจะได้ทานมังคุดที่อร่อยได้ขนาดนี้ เป็นที่เห็นได้ว่ามังคุดที่ชุมพรเป็นมังคุดที่มีคุณภาพจริง ๆ “พิพัฒพงศ์ เล่าถึงผลตอบรับของลูกค้า
“มังคุด” พืชแห่งความรัก
ทุกวันลุงสำเริง รัชเวทย์ วัยเกือบ 90 ปีจะต้องนำนักท่องเที่ยวเข้าไปดู “มังคุด 200 ปี” ในสวนอนุรักษ์รัชเวท์ของเขา พร้อมบอกเล่าที่มาของมังคุดอายุ 200 ปีที่ปลูกมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ของเขาอย่างภาคภูมิใจ
“ต้นไม้ที่นี่ปลูกกันมาตั้งแต่ปู่ย่าของผม ตกทอดมาถึงลูกหลานเราดูแลเหมือนคนในครอบครัว”
เพราะความรักและความผูกพันกับต้นไม้ที่เป็นเสมือนมรดกของบรรพบุรุษที่ปลูกไว้ให้ลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ได้เก็บผลไว้ขายเป็นรายได้เลี้ยงตัว ในสวนของลุงสำเริงจึงมีผลไม้ยืนต้นอายุกว่า 200 ปีจำนวนมากที่สูงเกือบ 20 เมตร ทั้งทุเรียน และมังคุด ต้นไม้ที่นี่จะตายยืนต้นเท่านั้นโดยไม่มีการโค่นเด็ดขาด
ขณะที่อรุณ คงสุวรรณ เลขานุการสหกรณ์การเกษตรหลังสวน จ.ชุมพร เล่าว่า “มังคุด”คือ “อัตลักษณ์ท้องถิ่น” ของภาคใต้ โดยมีแหล่งพิสูจน์ว่ามังคุดมีถิ่นกำเนิดที่ อ.หลังสวนก่อนที่จะขยายพันธุ์ไปยังที่อื่น ๆ ดังนั้นต้นมังคุดที่นี่แต่ละต้นจึงมีอายุไม่ต่ำกว่า 200 ปีขึ้นไป ขณะที่สวนมังคุดอำเภออื่น ๆ มีอายุ 20 – 30 ปีเท่านั้น ซึ่งชาวสวนมังคุดหลังสวนจะมีความผูกพันต้นมังคุดมาก ในช่วงฤดูกาลเก็บมังคุดสมาชิกในครอบครัวที่ไปอยู่ถิ่นฐานอื่น ๆ จะต้องเดินทางกลับบ้านถือเป็นวันครอบครัวที่จะได้พบปะกันปีละครั้ง
มังคุดหลังสวนส่วนมากปลูกแบบตามธรรมชาติ ปล่อยให้ใบไม้ทับถมใต้ต้นจนกลายเป็นปุ๋ยบำรุงดินโดยไม่ได้ใส่ปุ๋ยเคมีเร่ง และเนื่องจากแต่ละต้นมีความสูงกว่า 10 เมตรขึ้นไป จึงไม่สามารถปีนขึ้นไปฉีดยาฆ่าแมลงที่มากัดกินใบและผลได้ ถือเป็นการปล่อยให้ต้นไม้ป้องกันตัวเองตามธรรมชาติด้วยการปล่อยยางออกมาเคลือบผิว
ดังนั้นมังคุดหลังสวนจึงเป็นผลไม้ผลปลอดสาร ผลไม่ใหญ่มากนักและผิวไม่สวยมันเหมือนสวนอื่น ๆ แต่ทานแล้วเนื้อจะหวานฉ่ำตามธรรมชาติ
การแก้ปัญหามังคุดอย่างยั่งยืน
เมื่อได้ทราบข่าวว่าบริษัทดอยคำตั้งโต๊ะรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรรายย่อยอย่าง สุเชษฐ์ สกุลเดช ชาวสวนมังคุด อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร ก็เร่งมือเก็บมังคุดจากสวนของเขาบรรทุกมอเตอร์ไซต์วิ่งจากสวนมาถึงจุดรับซื้อที่สหกรณ์พะโต๊ะทุกวัน ๆ ละถึง 3 เที่ยว
ในพื้นที่สวนของสุเชษฐ์ ปลูกพืชผสมผสานโดยมีมังคุดเป็นหนึ่งในพืชหลักที่ทำรายได้ให้แก่เขา โดยเขาเล่าว่าเมื่อปีที่แล้วขายมังคุดได้ราคาถึงกิโลกรัมละ 70 บาท แต่ปีนี้ผลผลิตออกมากผิดปกติ
“เมื่อช่วงแรกที่มังคุดล้นตลาดผมขายได้กิโลกรัมละ 5 บาทเท่านั้น แต่ก็ต้องขายเพราะเอาเงินสดกลับมาทำทุนยังดีกว่าทิ้งเสียของ แต่ตอนนี้บริษัทดอยคำมารับซื้อผมขายได้กิโลกรัมละ 19 บาท ช่วยเกษตรกรได้มากเลย และผมก็ภูมิใจมากที่มังคุดผมได้มีโอกาสอยู่ในกล่องของดอยคำ “
อย่างไรก็ตามหลังจากที่บริษัทดอยคำเข้ามาช่วยรับซื้อมังคุดในอ.หลังสวนและอ.พะโต๊ะ ในราคาที่สูงกว่าท้องตลาดได้ระยะหนึ่ง ส่งผลให้ราคามังคุดดีดตัวกลับมาอยู่ในสภาวะปกติแล้ว แต่บทเรียนครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรปลูกมังคุด และคงจะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายเช่นกัน
ผู้ว่าวิบูลย์ได้ถอดบทเรียนครั้งนี้ออกมาเป็นแนวทางในการวางแผนบริหารจัดการกับผลผลิตมังคุดของคนชุมพรแบบยั่งได้ 3 แนวทางคือ 1.ต้องควบคุณภาพ 2.ควบคุมปริมาณ 3. สร้างช่องทางใหม่ ๆ
“การได้รับความช่วยเหลือจากดอยคำ ทำให้เราได้รับบทเรียนว่าต่อไปจะต้องผลิตมังคุดที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานจึงจะทำให้มังคุดได้ราคาดี ไม่ควรผลิตมังคุดลูกเล็กที่ไม่ได้ราคา และในวิกฤตของมังคุดครั้งนี้ นอกจากบทเรียนที่ได้รับแล้ว ยังกลายเป็นโอกาสช่วยให้ทางจังหวัดได้เรียนรู้ช่องทางการตลาดใหม่ ๆ เช่นขายมังคุดทางออนไลน์ซึ่งขายได้ 25 ตัน หรือการที่หอการค้าหลายจังหวัดมาช่วยเราขายหลายร้อยตัน ทำตลาดขายตรงกับเอกชน และภาคส่วนต่าง ๆ ที่นำไปช่วยเราขาย รวมทั้งผู้ว่าก็ต้องสวมวิญญาณนักขายโดยส่งไปขายให้กับผู้ว่าจังหวัดอื่น ๆ จากนี้ไปเราคงจะต้องเริ่มให้ความสำคัญกับตลาดใหม่ ๆ เหล่านี้ช่วยกระจายมังคุดด้วย
ขณะที่พิพัฒพงศ์นอกจากจะเข้ามาช่วยรับซื้อมังคุดเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนมังคุดแล้ว ยังเดินหน้าช่วยแก้ปัญหาผลผลิตมังคุดที่ตกเกรดลูกเล็ก
“ทางดอยคำกำลังให้แผนก R&D ทำวิจัยทำน้ำมังคุดพร้อมดื่มบรรจุกล่องกระดาษ ซึ่งน่าจะช่วยเกษตรกรได้มากขึ้น นอกจากนี้เราได้เข้าไปสอนเกษตรกรที่อำเภอพะโต๊ะให้แก้ปัญหามังคุดลูกเล็กหรือปีไหนที่ผลผลิตมังคุดล้นตลาด โดยให้แยกเฉพาะเนื้อออกมาแล้วแช่แข็ง ซึ่งทางดอยคำจะรับซื้อเฉพาะเนื้อ เป็นการสอนให้ทำเกษตรแบบยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้ ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ปีไหนถ้าราคาไม่ดีก็จัดเก็บเนื้อมังคุดแช่แข็งจำหน่าย”
ส่วน อรุณ คงสุวรรณ เลขาธิการ สหกรณ์การเกษตรหลังสวน กล่าวถึงปัญหาของสมาชิกสหกรณ์หลังสวนซึ่งมีจำนวน ว่า “ ทุกวันนี้ไม่มีหน่วยงานที่ลงไปกำกับและทำความเข้าใจกับเกษตรกร ผมเคยบอกกับสมาชิกว่าถ้าอยากได้มังคุดราคาดีส่งออกต้องหยุดใช้สารเคมีและต้องควบคุมให้ผลผลิตออกมาในจำนวนพอดีกับความต้องการของตลาด แม้ว่าปีไหนผลผลิตออกมามากกว่าปกติจะต้องตัดใจเด็ดดอกทิ้งไป ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติก็จะออกมาล้นตลาดเหมือนปีนี้”