สร้างสมดุลน้ำ TCP ประกาศฟื้นฟู “ทรัพยากรน้ำ” ทุกมิติ เพื่อ “ความยั่งยืน” ของชุมชน

“…หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่นถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ไม่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้…”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทาน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2529
จากแนวพระราชดำรัวข้างต้น ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ กลุ่มบริษัท ทีซีพี ได้น้อมนำแนวพระราชดำรัสมาสืบสาน รักษา ต่อยอด ผ่านโครงการต่าง ๆ มากว่า 31 ปี

ล่าสุดกลุ่มธุรกิจ TCP ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายเครื่องดื่มภายใต้ แบรนด์กระทิงแดง (Redbull) เรดดี้ โสมพลัส สปอนเซอร์ แมนซั่ม เพียวริคุ และซันสแนค เปิดตัว โครงการ “TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย” มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน โดยมุ่งหวังให้ชุมชนได้มีแหล่งน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชน สร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน

 

TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทยจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP เปิดเผยว่า “น้ำเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญ เป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต อีกทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมต่างมีความต้องการใช้น้ำที่มากขึ้นทุกปี รวมถึงปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อประเทศของเรา กลุ่มธุรกิจ TCP เป็นหนึ่งในองค์กรที่ใช้น้ำเป็นวัตถุดิบหลักในการดำเนินธุรกิจ จึงกำหนดให้การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำอยู่ในกรอบการทำงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กร โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย จึงเกิดขึ้น โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในทุกมิติ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการสร้างความยั่งยืนให้กับแหล่งน้ำที่หลากหลายเพื่อการอุปโภคบริโภคของชุมชนทั้งน้ำบนดิน และน้ำใต้ดิน ตั้งเป้าภายใน 5 ปี (พ.ศ. 2562 – 2566) จะสามารถพัฒนาแหล่งน้ำให้กับชุมชนได้มีน้ำใช้เพิ่มขึ้นกว่า 12 ล้านลูกบาศก์เมตร”

โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย จึงได้ร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ดำเนินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำปราจีน ก่อนขยายไปสู่ลุ่มน้ำอื่นๆ ทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะทำงานร่วมกับองค์กรพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรน้ำที่หลากหลายทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น สถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการสนับสนุนการศึกษาเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำใต้ดิน และส่งผลให้น้ำผิวดินมีความอุดมสมบูรณ์อีกด้วย

วางแผนระยะยาวพัฒนา 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ

ที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจ TCP ได้ทำงานใกล้ชิดกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และ สสน. ในการบริหารจัดการแหล่งน้ำบนดิน ในแถบพื้นที่จังหวัดแพร่ และปราจีนบุรี จากความสำเร็จดังกล่าวเป็นตัวจุดประกายและเป็นแรงขับเคลื่อนให้โครงการ “TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย” ต่อยอดเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการตลอดทั้งลุ่มน้ำ จึงได้ขยายความร่วมมือกับ มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และ สสน.สานต่อโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริ ในพื้นที่ลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำปราจีน เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง สร้างสมดุลน้ำให้แก่ชุมชนในทั้งสองพื้นที่ได้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี โดยในอนาคตพร้อมขยายการพัฒนาออกไปจนครบทั้ง 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “การตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการปริมาณน้ำฝน ปริมาณการกักเก็บน้ำและปริมาณน้ำใช้มีความจำเป็นมากในปัจจุบัน โดยมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ มีหน้าที่สนับสนุน และถ่ายทอดความสำเร็จเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตามหลักทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปสู่ชุมชนเพื่อสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยได้ทำงานร่วมกับ โครงการ “TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย” ผ่านหลักการทำงานที่ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” อันเป็นการขยายผลจากคน และชุมชน ไปสู่การบริหารจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ระดับตำบล และระดับลุ่มน้ำต่อไปตามลำดับ”

จากสถานการณ์ในปัจจุบัน สสน. เผยถึงตัวเลขว่า ประเทศไทยมีปริมาณฝนตกตลอดทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 754,730 ล้าน ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แต่กักเก็บน้ำฝนได้ราว 43,000 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นเพียง 5.7 % ของน้ำฝน ซึ่งเพียงพอต่อการใช้เพียงแค่ 17 % ของพื้นที่ประเทศไทยทั้งหมด แต่ในทางกลับกันมีความต้องการใช้น้ำมากกว่า 100,000 ล้าน ลบ.ม./ต่อปี นอกจากยังมีหมู่บ้านมากกว่า 36,000 หมู่บ้าน ที่อยู่นอกพี้นที่เขตชลประทานและยังไม่ได้จัดการน้ำชุมชน ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข

 

 

 

ดร. สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กล่าวเสริมว่า “สสน. และโครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย สานต่อการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ในการส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดความรู้ในการบริหารจัดการ และพัฒนาแหล่งน้ำ โดยนำวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในทุกพื้นที่ที่เราเข้าไป เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ส่งผลให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างน้ำ และการจัดการน้ำแบบพึ่งตนเองอย่างยั่งยืนแก่ชุมชน ทั้งนี้จะเริ่มใน 6 จังหวัดจากสองลุ่มน้ำ คือ จังหวัดแพร่ สุโขทัย พิจิตร สระแก้ว ปราจีนบุรี และนครนายก”

 

แนวทางนำน้ำคืนสู่ชั้นใต้ดิน

น้ำใต้ดิน หรือ น้ำบาดาล เป็นแหล่งน้ำที่ชุมชนจำนวนมากพึ่งพาเพื่อการเกษตรและการอุปโภค บริโภค เนื่องจากชุมชนเหล่านั้นอยู่นอกเขตชลประทาน และใช้น้ำบาดาลเป็นแหล่งน้ำประปาของชุมชนแต่การใช้น้ำบาดาลจำนวนมากโดยไม่มีการบริหารจัดการรักษาสมดุลที่ดีทำให้หลายพื้นที่มีระดับน้ำใต้ดินลดต่ำลงมาก กระทบทั้งทางด้านปริมาณ คุณภาพของน้ำใต้ดิน ไปจนถึงต้นทุนในการสูบน้ำที่สูงขึ้น

สราวุฒิ กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าน้ำใต้ดินไม่ได้เป็นแหล่งน้ำในการผลิตของกลุ่มธุรกิจ TCP แต่ด้วย ความห่วงใยในปัญหาทรัพยากรน้ำในทุกมิติ เราจึงให้ความสำคัญกับการเติมน้ำให้กับชั้นดินควบคู่กัน โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย จึงได้ทำงานร่วมกับ สถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัย ขอนแก่น ทำการศึกษา วิจัย รวมทั้งประเมินศักยภาพของพื้นที่ เพื่อหาแนวทางในการนำน้ำคืนสู่ชั้นใต้ดิน พร้อมกับให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องน้ำบาดาลอีกด้วย”

ดร.โพยม สราภิรมย์ ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “ปัจจุบันมีการใช้น้ำใต้ดินมากเกินสมดุล ส่งผลกระทบ 2 ด้าน ทั้งเรื่องปัญหาระดับน้ำบาดาลที่ลดต่ำลงไปเรื่อยๆ ทำให้ชุมชนมีต้นทุนสูงขึ้นกว่าเดิม 2-3 เท่าตัวในการสูบน้ำบาดาล เพราะต้องเจาะบ่อให้ลึกกว่าเดิมอีกเป็นเท่าตัวเพื่อให้ถึงระดับน้ำใต้ดิน อันกระทบต่อเศรษฐกิจชุมชมโดยตรง จึงนับเป็นโอกาสที่ดีที่สถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำใต้ดิน ได้ทำงานร่วมกับ โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย เพื่อทำการศึกษาแนวทางจัดการการเติมน้ำใต้ดิน ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำ ลดปัญหาภัยแล้ง โดยการกักเก็บน้ำที่มีมากในฤดูฝนไว้ใช้ในฤดูแล้ง และลดการระเหยของน้ำที่กักเก็บไว้ใช้ในฤดูต่างๆ โดยมุ่งหวังให้ผลที่ได้จากการศึกษาจะเป็นองค์ความรู้สำหรับการเติมน้ำในดิน คืนความสมดุลให้กับแหล่งน้ำใต้ดินและยังเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการอนุรักษ์น้ำใต้ดินให้แก่ชุมชนได้อีกทางหนึ่งด้วย”

 

 

“ตามแผนการดำเนินงาน 5 ปี ของโครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย และพันธมิตร เราคาดว่าจะสามารถช่วยให้ชุมชนในลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำปราจีน กว่า 16,000 ครอบครัว ใน 6 จังหวัด ได้เข้าถึงแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคมากกว่า 12 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือกว่า 3 เท่าของปริมาณน้ำที่กลุ่มธุรกิจ TCP ใช้ในตลอดกระบวนการ และคาดว่าจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับชุมชนจากการมีน้ำใช้ในการเกษตรอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจ TCP ได้สนับสนุนเงินทุนในการดำเนินการไว้ราว 100 ล้านบาท” สราวุฒิ กล่าว

 

TCP Spirit จิตอาสาพยาบาลลุ่มน้ำ

และเพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นกับคนทั่วไป กลุ่มธุรกิจ TCP ยังได้วางแผนจัดกิจกรรมอาสาสมัครผ่านโครงการ “TCP Spirit” ซึ่งเน้นการทำกิจกรรมร่วมกับอาสาสมัครคนรุ่นใหม่ ให้ได้เรียนรู้ถึงการเชื่อมโยงของสรรพสิ่งรอบตัว สอดแทรกสาระความรู้ แฝงความสนุกสนาน และประสบการณ์แปลกใหม่ พร้อมกับได้ลงมือทำเองทุกขั้นตอน

โดยโครงการ TCP Spirit ปีที่ 2 นี้จะจัดกิจกรรม 2 ครั้ง ภายใต้แนวคิด “พยาบาลลุ่มน้ำ” เพื่อพาอาสาสมัครรุ่นใหม่เกือบ 200 คน ไปเปิดประสบการณ์ เข้าใจปัญหาลุ่มน้ำและสร้างความตระหนักรู้ รวมทั้งร่วมลงมือทำงานแก้ปัญหา อันจะนำไปสู่การจุดประกายสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนในเรื่องนี้สืบไป โดยเริ่มครั้งแรกในเดือนสิงหาคม ที่จังหวัดน่าน และปิดท้ายโครงการในเดือนตุลาคม

 

 

 สืบสาน รักษา ต่อยอด

กลุ่มธุรกิจ TCP ดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นสร้างการเติบโตของธุรกิจไปพร้อมๆ กับการสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ผ่านหลายโครงการที่กลายเป็นต้นแบบของการทำ CSR ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น โครงการอีสานเขียว, โครงการกระดานดำกับกระทิงแดง, กระทิงแดงสปิริต, เรารักษ์น้ำ, โครงการเกษตรอินทรีย์ วิถียั่งยืน, โครงการยุวเกษตรอินทรีย์ วิถียั่งยืน และโครงการกระทิงแดง ยูโปรเจ็ค เป็นต้น

โครงการแรกที่กลุ่มธุรกิจ TCP เข้าไปช่วยเหลือเรื่องน้ำเกิดขึ้นเมื่อปี 2530 เมื่อเกิดปัญหาการขาดน้ำอย่างรุนแรงทวีเพิ่มมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงตระหนักและห่วงใยในความทุกข์ยากของพสกนิกรภาคอีสานเป็นอย่างยิ่ง จึงทรงมีพระราชกระแสกับพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นเข้าแก้ปัญหาให้กับราษฎรในภาคอีสาน

นั่นคือที่มาของโครงการน้ำพระทัยจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งต่อมารัฐบาลโดย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้รับโครงการนี้ไว้เป็นโครงการสำคัญของรัฐบาล และมอบหมายให้กองทัพบกเป็นหน่วยประสานงาน มีหน่วยราชการจากหลายภาคส่วนร่วมวางแผนพัฒนาให้ภาคอีสานอุดมสมบูรณ์ด้วยแหล่งน้ำและป่าไม้ รวมถึงภาคเอกชนอย่าง บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด ที่ร่วมให้การสนับสนุนเงินจำนวน 50 ล้านบาท โครงการอีสานเขียว จึงได้ถือกำเนิดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ข้อคือ การยกระดับรายได้ของประชาชน, ก่อให้เกิดการจ้างงาน และพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น

 

 

ต่อมาในปี 2549 บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด ได้จัดตั้งโครงการ “เรารักษ์น้ำ” ขึ้น เพื่อสนองแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้ ส่งเสริมคุณภาพชีวิต สนับสนุนให้ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง และคืนกำไรให้กับสังคมตามนโยบายของบริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด โดยกิจกรรมนำร่องของโครงการฯ คือ การสร้างอ่างเก็บน้ำสำหรับชุมชน จำนวน 80 อ่างในพื้นที่ของมูลนิธิโครงการหลวงบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย และขุดสระเก็บน้ำอีก 210 สระ ในพื้นที่ภาคอีสานพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชุมชนที่มักประสบปัญหาภัยแล้ง

ทั้งป่าและน้ำ ล้วนมีความสำคัญ เพราะเป็นแหล่งกำเนิดชีวิต แหล่งกำเนิดอาหาร เพื่อหล่อเลี้ยงสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งการอนุรักษ์สิ่งเหล่านี้เอง ถือเป็น 1 ในพันธกิจที่ TCP เล็งเห็นมาตลอดระยะเวลาหลายปี ในปี 2551 จึงทำให้เกิดโครงการ กระทิงแดงสปิริต ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงความเกี่ยวข้องของระบบนิเวศน์ กับความเป็นอยู่ของมนุษย์ไว้ด้วยกัน

โดยทำงานร่วมมือกับชุมชน ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 ส่วน เริ่มตั้งแต่ชุมชนต้นน้ำ ด้วยการกักเก็บน้ำ เพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำ สร้างแนวคิดในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืนและยั่งยืน สู่ชุมชนลุ่มน้ำที่อยู่ถัดลงมา ด้วยการรณรงค์ให้ลด ละ เลิก การใช้สารเคมีในการทำการเกษตร ไปจนถึงปลายน้ำ การปกป้องระบบนิเวศน์ชายฝั่งและท้องทะเลร่วมกับชุมชนชาวเล เพื่อช่วยกับบำบัด และลดผลกระทบที่เกิดตั้งแต่ต้นน้ำ เพื่อคงความอุดมสมบูรณ์ของทะเล ให้อยู่กับเราอย่างยั่งยืนตลอดไป

Stay Connected
Latest News