มาช่วยกินผักหน้าตาไม่สวย เพื่อช่วยเกษตรกรให้ยิ้มได้

เส้นซูกินีผัดสปาเก็ตตี้ เสิร์ฟพร้อมน้ำพริกอ่องที่ทำจากมะเขือเทศสด โดยมีเครื่องเคียงเป็นผักสดหวานกรอบ แม้จะเป็นอาหารที่ถูกตกแต่งมาสวยน่ากิน แต่เบื้องหลังความอร่อยและสวยงามคือการนำผักไม่สวยที่เคยถูกคัดทิ้งไปอย่าน่าเสียดามารังสรรค์เป็นเมนูพิเศษ ใครที่สั่งเมนูนี้ในร้านเกรฮาวด์ คาเฟ่ นอกจากคุณจะช่วยลดขยะให้โลกแล้ว ยังมีส่วนช่วยเหลือเกษตรกรโครงการหลวงให้กลับมายิ้มได้อย่างมีความสุข

 

ในการปลูกพืชของเกษตรกรโครงการหลวงทุกรอบการเก็บเกี่ยว จะมีผักที่ “ตกสเปค” คือผักที่รูปลักษณ์ไม่สมบูรณ์แบบ แต่ยังคงคุณภาพและรสชาติดี เพียงแต่รูปทรงไม่ได้มาตรฐานตามที่ลูกค้าต้องการ ผักเหล่านี้มีปริมาณถึง 10 – 30 % และเมื่อขายไม่ได้ภาระก็จะตกแก่เกษตรกรที่ปลูก เพราะนี่คือเงินทุนในกระเป๋าของเกษรตรที่หายไป

จึงเป็นที่มาของแคมเปญ “เพอร์เฟ็กต์ลี่ อิมเพอร์เฟ็กต์” (Perfectly Imperfect) โดย บัตรเครดิตซิตี้ และเกรฮาวด์ คาเฟ่ ร่วมมือกับมูลนิธิโครงการหลวง รังสรรค์เมนูที่ดีต่อกายและใจ โดยนำพืชผักจากโครงการหลวงที่รูปลักษณ์ไม่สมบูรณ์แบบ แต่ยังคงคุณภาพและรสชาติดี มารังสรรค์เมนูพิเศษที่ไม่ใช่แค่อร่อยอย่างเดียว แต่ช่วยลดขยะอาหาร ลดภาวะโลกร้อน และช่วยเหลือเกษตรกรให้ยิ้มได้อีกด้วย

 

มร.ซานดีพ บาตระ จากCITI BANK และ พรศิริ โรจน์เมธา จากเกรฮาวด์ คาเฟ่

 

มร.ซานดีพ บาตระ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวถึงความพิเศษของแคมเปญแห่งปีครั้งนี้ ว่า “ขยะจากอาหารหรือวัตถุดิบในการประกอบอาหารที่ถูกทิ้ง (food waste) เป็นหนึ่งในปัญหาระดับโลกที่ทุกคนต้องตื่นตัว ซึ่งในหลายประเทศก็มีโครงการรณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เช่นเดียวกับซิตี้แบงก์ที่ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และต้องการมีส่วนร่วมในการรณรงค์เพื่อลดปัญหาขยะจากอาหารหรือวัตถุดิบในการประกอบอาหารที่ถูกทิ้ง จึงร่วมมือกับพันธมิตรอย่าง เกรฮาวด์ คาเฟ่ และ มูลนิธิโครงการหลวง สร้างสรรค์แคมเปญ “เพอร์เฟ็กต์ลี่ อิมเพอร์เฟ็กต์” ขึ้นมา เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาดังกล่าวได้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแคมเปญนี้จะเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงในการปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้บริโภค เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร (food security) ที่ยั่งยืนต่อไป”

 

อะไรคือผักตกสเปค

 

ปัจจุบันผักสดซึ่งเป็นผลผลิตของโครงการหลวงมีแหล่งรับซื้อใหญ่ที่สุดคือห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์สโตร์ คิดเป็น 65 % ของผลผลิตทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีก 35 % จำหน่ายให้กับร้านอาหาร โรงแรม แต่กระนั้นก็ตามยังมีผักส่วนหนึ่งของโครงการหลวงที่ไม่ได้สเปคตามที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งมีจำนวนมากถึง 10 -30 %

ผักตกสเปคคือผักที่ไม่ได้มาตรฐานตามที่ลูกค้าต้องการ เพียงแค่หน้าตาไม่สวยงามเท่านั้นแต่ยังคงความสด และคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน ที่สำคัญคือปลอดภัยจากสารเคมี เช่นซูกินีต้องเป็นผลตรง แต่ถ้าเป็นทรงเบี้ยวหรือหักงอก็ขายไม่ได้ มะเขือเทศต้องมีสีแดง สีซีดแม้จะสดลูกค้าก็ไม่รับซื้อ เห็ดพอตโตเบลโล่ถ้าดอกใหญ่หรือเล็กเกินมาตรฐานก็จะถูกคัดออก เบบี้แครอทจะต้องมีสีส้มทั้งอันและทรงตรงเท่านั้นจึงจะขายได้ นอกเหนือจากมาตรฐานเหล่านี้จะถูกคัดเลือกออกให้กลายเป็นกองผักอันไร้คุณค่า

เมธัส กิจโอภาส ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายตลาด มูลนิธิโครงการหลวง เล่าถึงที่มาของผักที่ตกสเปคว่า “ การทำเกษตรของโครงการหลวงจะไม่ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้สารเคมี แต่การที่พืชผักจะสวยได้สเปคนั้นต้องใช้สารเคมีมาก เช่น เบบี้แครอทที่หัวอยู่ใต้ดิน ถ้าโดนไส้เดือนที่อยู่ใต้ดิน หัวจะบิดเบี้ยวทำให้ลูกค้าไม่รับซื้อ ถ้าต้องการให้ได้ตรงตามสเปคลูกค้าจะต้องใส่สารเคมีลงไปในดินมากเพื่อป้องกันแมลง

หรือกะหล่ำปลีหน้าแล้งจะมีแมลงเยอะ ถ้าเป็นแปลงอื่นจะฉีดยาฆ่าแมลงที่เป็นเคมี แต่โครงการหลวงจะไม่รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่ใช้ยาฆ่าแมลง ดังนั้นผักกะหล่ำปลีช่วงหน้าแล้งจึงอาจไม่สวย และตกสเปคจำนวนมากกว่าปกติ”

 

เมธัส กิจโอภาส ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายตลาด มูลนิธิโครงการหลวง

อย่างไรก็ตามโครงการหลวงจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเกษตรกรที่ต้องแบกรับภาระผักที่ขายไม่ได้ 10- 30 % ตั้งแต่ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญไปให้คำปรึกษา สอนการทำปุ๋ยหมัก และการใช้ชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชแทนการใช้สารเคมี และการรับซื้อผลผลิตที่ตรงตามสเปคในราคาที่สูงกว่าท้องตลาดเพื่อชดเชยรายได้ที่ขาดหาย

“ สำหรับผักที่ไม่ได้สเปคของเกษตรกรนั้นถือเป็นเรื่องของ Food Waste ที่จะกลายเป็นขยะ เมื่อก่อนโครงการหลวงจะแนะนำให้นำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก นำไปบริโภค หรือบางที่โครงการหลวงก็ซื้อเพื่อมาทำเป็นสลัดกล่อง หรือนำไปทอดขาย แต่ก็ยังรับซื้อได้ไม่มาก สรุปแล้ว Food Waste เหล่านี้เป็นส่วนที่เกษตรกรจะต้องรับเป็นต้นทุนในการผลิต”

 

“เพอร์เฟ็กต์ลี่ อิมเพอร์เฟ็กต์”

ดูเหมือนว่าในขณะนี้ปัญหาเรื่องผักตกสเปคที่เหลือเป็นกองโตบนดอยนั้น เริ่มมีทางออกที่ช่วยให้เกษตรกรมีรอยยิ้มขึ้นมาได้แล้ว เมื่อมีเอกชนอย่างเกรฮาวด์ยื่นมือเข้ามาช่วย

“ จุดเริ่มต้นที่ทำให้เกรฮาวด์เข้ามาทำโครงการ “เพอร์เฟ็กต์ลี่ อิมเพอร์เฟ็กต์” เพราะเราได้ไปร่วมสัมมนาเรื่อง Food Waste ที่ศศินทร์ ทำให้เราทราบว่าขยะในโลกนี้ที่มาจากอาหารมีจำนวนเยอะมาก รวมถึงผักผิดสเปคเหล่านี้ก็มีจำนวนเยอะเช่นกัน” อังสนา พวงมะลิต Marketing and Business Development Director Greyhound Cafe กล่าว

 

เมื่อปีที่ผ่านมาเกรฮาวน์จึงได้เริ่มเข้าไปโปรโมทเมนูที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของโครงการหลวงในร้านอาหารAnother Hound Café ก่อน และมาต่อยอดในปีนี้ด้วยการเข้าไปช่วยเรื่อง Food Waste เรื่องผลผลิตที่ตกสเปคของเกษตรกรมในโครงการ“เพอร์เฟ็กต์ลี่ อิมเพอร์เฟ็กต์” ซึ่ง พรศิริ โรจน์เมธา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เกรฮาวด์ คาเฟ่ จำกัด ถ่ายทอดแรงบันดาลใจของเมนูพิเศษในแคมเปญแห่งปี ว่า “1 ใน 5 ของวัตถุดิบที่ถูกคัดออก เป็นเพราะความไม่สมบูรณ์แบบ ผิวไม่สวย เล็กไป อ้วนไป และคนส่วนใหญ่ก็มักจะคิดว่าแครอทเบี้ยว ๆ คงอร่อยสู้พวกรูปร่างเรียวไม่ได้ สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการเป็นขยะ ทั้งที่คุณค่ายังอยู่ครบ นั่นทำให้เราหันมามองผักเหล่านี้ใหม่ หาวิธีการใช้วัตถุดิบอย่างรู้คุณค่า เปลี่ยนวัตถุดิบเหล่านี้ให้เป็นอาหารที่อร่อยเหนือความคาดหมาย”

แม้จะเป็นวัตถุดิบที่ไม่สมบูรณ์แบบ แต่เมื่อถูกส่งมายัง เชฟต่อ – ต่อสิทธิ์ สฤษฎิวงษ์ และทีมงานของร้านอาหารเกรฮาวด์แล้ว เหล่าเชฟมืออาชีพก็สามารถรังสรรค์เมนูพิเศษที่ใช้วัตถุดิบตกสเปคจากโครงการหลวง มาแปลงโฉมกลายเป็นเมนุที่ทุกคนกินแล้วรู้สึกอย่างเดียวว่าอร่อยล้ำจากความสดใหม่จนลืมไปเลยว่ามันเคยเป็นผักที่ไม่สวยงามมาก่อน
“ ปกติซูกินีจะหั่นเป็นแว่น ๆ เพื่อนำมาทำสลัด แต่ซูกินีผิดสเปคจะมีรูปทรงบิดเบี้ยว เราก็นำมาหั่นเป็นเส้นแล้วผัดกับสปาเก็ตตี้ มะเขือเทศที่สีไม่สวยงาม เราก็นำมาสับละเอียดทำเป็นน้ำพริกอ่องสีสันสวยรสชาติหวานอร่อย” เชฟต่ออธิบายถึงกรรมวิธีการแปลงโฉมผักตกสเปคแบบเนียน ๆ

 

อังสนา พวงมะลิต Marketing and Business Development Director Greyhound Cafe

ทั้งนี้เกรฮาวด์ทั้ง 15 สาขา (ยกเว้นสาขาหัวหิน) ได้เริ่มจำหน่ายเมนูพิเศษนี้แล้วแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ไปจนถึงสิ้นเดือนสิหาคม 2562 และนโยบายของเกรฮาวน์ไม่ได้หยุดให้ความช่วยเหลือเกษตรกรเพียงแค่แคมเปญนี้เท่านั้น อังสนา พวงมะลิต เล่าถึงโครงการในอนาคตที่จะร่วมมือกับโครงการหลวงว่า

“สำหรับแคมเปญนี้เรารับซื้อผักจากโครงการหลวงประมาณ 10 ชนิด แต่ในอนาคตเรากำลังคุยกับโครงการหลวงว่าเมนูในร้านเกรฮาวด์ทั้งหมด 90 เมนูจะมีอะไรที่สามารถใช้วัตถุดิบผิดสเปคแบบนี้ได้อีกในระยาวเพื่อนำมาใช้กับเมนูประจำของร้าน เพราะเราไม่คิดจะช่วยแค่ระยะ 3 เดือนเท่านั้น “

เมธัส กิจโอภาส กล่าวปิดท้ายว่า “ สิ่งที่เกษตรกรได้จากโครงการนี้คือรายได้ที่เพิ่มขึ้นสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างพอมีพอกิน ไม่ต้องย้ายถิ่นฐานทำกิน ไม่ใช้สารเคมี ถือว่าเป็นการช่วยดูแลรักษาธรรมชาติป่าต้นน้ำบนดอยไปด้วย นี่คือเป้าหมายของโครงการหลวง”

Stay Connected
Latest News