ปรบมือให้กับ 2 เด็กไทยคือ ตุลย์และดรีม ที่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศการออกแบบอย่างยั่งยืนจากเวทีระดับเอเชีย กับผลงาน “แนวกั้นคลื่นบางแก้ว “ และ “S.A.L.T WORK” ถือเป็นตัวแทนของนักออกแบบรุ่นใหม่ที่คำนึงถึงชุมชนที่มีความสมดุลระหว่างการพัฒนา คุณค่าทางวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ความเป็นย่าน ในงานออกแบบที่เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ตุลย์-เรืองวิทย์ วีระพงษ์ และ ดรีม-เจนจิรา เทียบเพชร เป็นตัวอย่างคนรุ่นใหม่ที่สนใจงานออกแบบที่สร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาและวัฒนธรรมหลังจากได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ สาขาการออกแบบงานสถาปัตยกรรมและการออกแบบตกแต่งภายใน จาก โครงการ Asia Young Designer Awards 2018 ล่าสุดยังสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ครองตำแหน่งการออกแบบอย่างยั่งยืนยอดเยี่ยม หรือ Best Sustainable Design Award ทั้งประเภทสถาปัตยกรรมและประเภทออกแบบตกแต่งภายใน จากเวทีประกวดระดับเอเชียของโครงการนี้ คือ Asia Young Designer Summit 2018/19 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ที่ประเทศสิงคโปร์อีกด้วย
โครงการ Asia Young Designer Awards นั้นเป็นโครงการที่ บริษัท นิปปอนเพนต์ เดคโคเรทีฟ โคทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด จัดขึ้นต่อเนื่องทุกปี เพื่อสนับสนุนนักออกแบบรุ่นใหม่ไฟแรง ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนวงการออกแบบของประเทศ ให้ได้แสดงความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ออกมาได้อย่างไร้ขีดจำกัด โดยผู้ชนะจากการประกวด Asia Young Designer Awards ระดับประเทศ ได้เดินทางไปเข้าร่วมเวที Asia Young Designer Summit 2018/19 กับผู้ชนะเลิศอีก 14 ประเทศทั่วเอเชียที่ประเทศสิงคโปร์ และผู้ชนะเลิศระดับเอเชียจะได้รับโอกาสพิเศษในการเข้าเรียนคอร์สฤดูร้อน 6 สัปดาห์ฟรีที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สาขาการออกแบบ (Harvard University Graduate School of Design หรือ Harvard GSD)
ในการเป็นตัวแทนเยาวชนไทยบนเวทีการออกแบบระดับเอเชียที่สิงคโปร์ครั้งนี้ ทั้งสองมีโอกาสนำเสนอผลงานชิ้นเอกที่พาทั้งคู่ขึ้นแท่นผู้ชนะจากการประกวดระดับประเทศ คือผลงานของ ตุลย์-เรืองวิทย์ ที่นำเสนอเกี่ยวกับการพัฒนาแนวกันคลื่นอย่าง Bang Keao Wave Brace หรือ แนวกันคลื่นบางแก้ว ที่มุ่งแก้ไขปัญหาชุมชนควบคู่ไปกับปัญหาที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ด้านปัญหาคลื่นชายฝั่ง พัฒนาแนวกันคลื่นไม้ไผ่ที่ชาวบ้านสร้างไว้เพื่อลดแรงกระทบจากแนวคลื่นให้มีความสวยงาม สวยงาม และมีฟังก์ชั่นที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนมากขึ้น ซึ่งการเข้าไปพัฒนานี้จะช่วยรักษาระบบนิเวศ สร้างพันธุ์พืช พันธุ์ปลาที่อุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และพัฒนาต่อยอดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งรวมตัวของคนในชุมชน
ส่วนอีกหนึ่งผลงานที่เล็งเห็นปัญหาของนาเกลืออย่าง S.A.L.T WORK ที่ ดรีม-เจนจิรา ต้องการพัฒนาพื้นที่นี้ให้คนที่ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องสามารถทำรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นได้ โดยผลงานนี้มีดีไซน์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำภูมิปัญญาและพื้นที่ที่ชุมชนมีอยู่มาพัฒนา เพิ่มการใช้งาน เพิ่มพื้นที่สำหรับชุมชนในการทำอาชีพอื่น พร้อมสร้างให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ส่งผลให้ชุมชนมีรายได้ตลอดปี สร้างความยั่งยืนและความสมดุลให้แก่การดำเนินชีวิตของพวกเขาได้
ซึ่งทั้งสองผลงานของเด็กไทยต่างได้รับความสนใจจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สื่อมวลชน และทีมนักศึกษาจากประเทศอื่นๆ ด้วยกัน จนสามารถคว้ารางวัล Best Sustainable Design Award ติดมือกลับมาได้ทั้งสองผลงานได้เป็นครั้งแรกจากเวทีนี้
ตุลย์-เรืองวิทย์ วีระพงษ์ กล่าวถึงความรู้สึกหลังจากที่ได้ไปร่วมโครงการนี้ว่า “เหตุผลที่ได้รางวัลน่าจะมาจากมิติของการออกแบบที่ไม่ได้คิดแค่สถาปัตยกรรม แต่รวมถึงการมีส่วนร่วมและพัฒนาวิถีชุมชนในเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย การมาร่วมงาน Asia Young Designer Summit 2018/19 ที่สิงคโปร์ครั้งนี้ นอกจากรางวัลที่ได้รับแล้ว ยังมีโอกาสได้พบและพูดคุยกับผู้เข้าประกวดและกรรมการจากประเทศต่างๆ ทำให้ได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ทั้งในเรื่องงาน วิธีการเล่าเรื่อง การนำเสนอผลงานให้คนอื่นเข้าใจ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการทำงานในสายอาชีพการออกแบบต่อไป”