สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในงานสัมมนา “รักษ์ป่าน่าน” ครั้งที่ 4 ณ ศูนย์การเรียนรู้และบริการ เครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดน่าน ต.ผาสิงห์ อ.เมือง จ.น่าน ทรงมุ่งเน้นความร่วมมือระดมความรู้จากทุกภาคส่วนเพื่อนำไปสู่การหาแนวทางและวิธีการฟื้นฟูป่าน่านอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้มีคณะผู้เข้าร่วมสัมมนาจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัด น่าน ผู้พิพากษาศาลจังหวัดน่าน แม่ทัพภาค 3 ผู้บัญชาการตำรวจภาค 3 บัณฑูร ล่ำซำ นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าเฝ้ารับเสด็จฯ
โดย บัณฑูรล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย ได้กล่าวคำกราบบังคมทูลถึงวัตถุประสงค์ของโครงการฯเพื่อแสวงหาความร่วมมือในการฟื้นฟูป้าต้นน้ำน่าน พร้อมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนคนน่านได้ประกอบสัมมาชีพที่สร้างสรรค์และพอเพียง ทำให้สามารถดำรงชีพที่มีคุณภาพรวมอยู่กับป่าได้ ตลอดจนปลูกจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชนน่าน ได้รับช่วงต่อไปในการรักษาทรัพยากรอันเป็นสมบัติแผ่นดินสืบไปในภายภาคหน้า
ซึ่งในวโรกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงบรรยายเรื่อง “ สร้างป่า สร้างรายได้” เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาฟื้นฟูป่า ความว่า
สมัยเด็ก ๆ เคยตามเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปที่ต่าง ๆ ได้เห็นความสมบูรณ์ของป่ามากกว่าปัจจุบันที่มีแต่ภูเขาหัวโล้น เนื่องจากสมัยก่อนคนยังไม่การตัดไม้ทมากเท่าสมัยนี้ เพราะสมัยก่อนต้องใช้แรงกายช่วย แต่สมัยนี้มีเครื่องมือทันสมัยป่าจึงถูกทำลายเร็วกลายเป็นเขาหัวโล้น
**ปลูกพืชเชิงเดี่ยว
วันนี้ได้ดูนิทรรศการ มีการพูดเรื่องปลูกพืชเชิงเดี่ยว ก็มีหลายสำนักบอกว่าปลูกพืชเชิงเดี่ยว จะได้ผลผลิตเป็นกอบเป็นกำ ไปดูงานที่เยอรมันปลูกพืชเชิงเดี่ยว เขาบอกว่าเป็นตัวอย่างที่ไม่ควรทำ เป็นบทเรียนว่าถ้าปลูกพืชอย่างเดียวแล้วมีแมลงมาลงก็จะถูกกินทั้งหมด อีกประการคือพืชจะไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เพราะพืชผลราคาขึ้นลง ถ้าปีนั้นราคาลงแล้วเราปลูกพืชชนิดนั้นอย่างเดียวก็จะแย่เลย ไม่มีอะไรมาประกันความเสี่ยง
อีกประเด็นคือการดูแลทรัพยากร คงเคยได้ยิน “สุขภาพหนึ่งเดียวหรือ one health” one health ไม่ใช่เรื่องเฉพาะสุขภาพของคนเพียงอย่างเดียว เป็นเรื่องสุขภาพของสัตว์หรือพืชด้วย ถ้าสัตว์สุขภาพดี คนก็สุขภาพดีไปด้วย สิ่งแวดล้อมก็เป็นสุขภาพหนึ่งเดียว หมายถึงสุขภาพของคนในบริเวณนั้นด้วย อย่างเช่นคนไทยสุขภาพดี แต่บริเวณนั้นติดกับพม่า คนพม่าไม่ต้องสุขภาพดีก็ได้ เพราะไม่เกี่ยวกับเรา ซึ่งไม่ได้ เพราะเรามีเขตติดต่อกัน
**ปลูกป่า 3 อย่างได้ประโยชน์ 4 อย่าง
เรื่องป่า 3 อย่างได้ประโยชน์ 4 อย่าง เป็นทฤษฏีของในหลวงรัชกาลที่ 9 ปลูกป่า 3 อย่างคือ ป่าใช้สอย ป่ากินได้ และป่าเศรษฐกิจ ส่วนประโยชน์ที่ 4 คือป่าไม้ช่วยรักษาอนุรักษ์ดินและน้ำได้ เดี๋ยวนี้สอนเด็กให้รักน้ำรักป่า ก็หวังว่าเยาวชนจะมีจิตสำนึกมากขึ้น สามารถดูแลสมบัติของพวกเขาได้ อยากจะแนะนำส่วนการศึกษาว่าควรขายไปทำกับเด็กอนุบาลด้วย เพราะตอนนี้มีโครงการสร้างนักวิทยาศาสตร์น้อย ซึ่งสอนให้เด็กคิดกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งถ้าเราใช้ของที่มีในท้องถิ่น มีข้อมูลเอกสารเยอะแยะไปหมด ให้มีครูมาสอน เพื่อให้เด็กเห็นว่าป่าไม้มีประโยชน์ หล่อเลี้ยงชีวิตเรา ให้เห็นภาพที่สวยงาม ไม่ใช่เห็นภาพป่าหัวโล้น ค่อย ๆสอนให้เห็นความสวยงามจะดีกว่า
ถ้าเราปลูกให้ได้สภาพใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด ประกอบด้วยชั้นเรือนยอดต่าง ๆ เป็นชั้นเรือนยอด ชั้นรอง เป็นไม้พุ่มและไม้คลุมดิน จะเกิดความหลากหลายความสมบูรณ์ของพันธุ์ไม้ ซึ่งต้องไปสำรวจก่อนว่าจะปลูกไม้ประธานที่เป็นไม้ดั้งเดิมในท้องถิ่น ผสมผสานกับปลูกพืชเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ ให้แก่คนท้องถิ่น เราก็จะได้สภาพป่าที่มีสภาพใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด
มีงานวิจัยของคณะวิศวกรรม จุฬา บอกว่าใช้วิธีการทางวิศวกรรมศึกษาแรงของรากพืชแต่ละชนิดที่สามารถยึดเกาะติดดินได้ซึ่งส่วนมากเป็นพืชพื้นถิ่น ตอนนั้นภาคเหนือมีปัญหาดินถล่มลงมาทับบ้านเรือนและผู้คนถึงแก่ชีวิตไปหลายคน เพราะหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจพวกส้ม ก็เลยแนะนำไปว่านอกจากหญ้าแฝกที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงแนะนำไปแล้ว ก็ให้นำพืชพื้นเมืองมาแซมด้วย
**สร้างป่า สร้างรายได้
พื้นที่ดำเนินการสร้างป่าสร้างรายได้นั้น เมื่อก่อนเริ่มทำเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน และอ.นาแห้ว จ.เลย จากนั้นก็ขยายไปเรื่อย ๆ ที่เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอนและตาก จากสถิติตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงในปี 2561 จะเห็นว่ามีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 19,890 ครัวเรือน คิดเป็นพื้นที่ป่าที่กำลังฟื้นฟูและอนุรักษ์รวมทั้งหมด 71,786 ไร่ มีการปลูกพืชเศรษฐกิจเช่น กาแฟ ขิง ข่า ขมิ้น
ในการดำเนินโครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากกรมป่าไม้และการศึกษานอกโรงเรียน ช่วยเป็นแกนผักดันโครงการ นอกจากนี้ยังมีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร
หลังจากที่นำกาแฟมาปลูกเองได้ 2 รอบแล้วก็ชมตัวเองว่าอร่อยดี การปลูกกาแฟต้องมีแดด ดังนั้นต้องให้กรมป่าไม้ไปช่วยดูเพราะปลูกต้นกาแฟในป่าต้องสางกิ่งให้แดดรำไร แดดแรงไปก็ไม่ได้ จึงต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญมาแนะนำเรื่องการสางกิ่งให้ถูกวิธีควรจะทำอย่างไร
ยังมีอีกหลายโครงการที่ช่วยมาส่งเสริมเรื่องการปลูกป่า โดยชาวบ้านและหน่วยงานอื่น ๆ เช่นโครงการบ้านนี้มีรักษ์ ปลูกผักกินเอง ก็มาช่วยทำเมล็ดพันธุ์ หรือกิ่งไม้ผลแจกจ่ายให้ชาวบ้านนำไปปลูกกินเอง และเสริมด้วยต้นไม้ที่ยึดดินเอาไว้
ในพื้นที่จ.น่าน เริ่มมีการปลูกป่าโดยมีกรมป่าไม้ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) แบ่งพื้นที่รับผิดชอบ และมีภาคเอกชนเข้ามาช่วยรับซื้อผลผลิตจากเกษรกรมาแปรรูป มหาวิทยาลัยก็เข้ามาให้ความรู้ทางด้านวิชาการ อย่างศูนย์ภูฟ้าฯก็มาช่วยเรื่องการแปรรูป ส่วนเรื่องตลาดก็สำคัญมาก ร้านภูฟ้าฯรับมาแปรรูแล้วก็วางขายผลิตภัณฑ์ในหลาย ๆ สาขา บางอย่างก็ส่งไปขายต่างประเทศ
สิ่งที่ทำให้เค้าประสบความสำเร็จทั้งในด้านการประกอบอาชีพและรักษาธรรมชาติไว้ได้คือความขยันหมั่นเพียรและความสนใจใฝ่รู้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก
แต่ยังมีเรื่องที่น่าห่วงให้เรื่องลดละเลิกการใช้สารเคมี 2 ปีมานี้แล้งมากถ้าใส่สารเคมีมาก อาจมีผลต่อพืชที่นำมาเป็นอาชีพเสริม เช่นพืชที่นำมาทำสีย้อมผ้า เพราะเดี๋ยวนี้ผ้าที่ย้อมด้วยสีเคมีฝรั่งไม่ซื้อ ผ้าย้อมสีธรรมชาติเป็นที่นิยม แต่ถ้าใส่สารเคมีมากเกินไปจะทำให้ต้นคลั่งที่ใช้ย้อมผ้าสีแดงตายได้
โครงสร้างปลูกป่าสร้างรายได้
พื้นที่ว่างเปล่าที่กรมทรัพยากรฯทำการสำรวจมีพื้นที่ว่างเปล่า 1 – 5 ปีที่ไม่ได้ทำอะไรเลยหลังจากเผาป่าแล้ว จะนำมาดำเนินโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้จะเข้าไปสำรวจพื้นที่ตั้งแต่ลักษณะดิน ความสูงจากระดับน้ำทะเล ความลาดชันของพื้นที่ สิ่งเหล่านี้เป็นตัวแปรที่ทำให้รู้ว่าเราควรจะปลูกพืชอะไร วิเคราะห์โครงสร้างป่าธรรมชาติที่มีอยู่เดิมเพื่อทำข้อมูลใช้ในการวางแผนให้เหมาะสมกับการปลูกพืช
หลังจากนั้นกรมป่าไม้ก็มีการประชุมเพื่อรองรับสมาชิกที่จะเข้าร่วมโครงการ ให้สมาชิกเสนอความต้องการว่าอยากจะปลูกอะไร แล้วกรมป่าไม้ก็จะแนะนำพันธุ์ เมื่อได้ชนิดและพันธุ์พืชแล้ว กรมป่าไม้สนับสนุนกล้าให้แก่ชาวบ้านไปปลูก รวมทั้งส่งเสริมให้ชาวบ้านเพาะพันธุ์กล้าไม้ในพื้นที่ของตนเอง ขั้นตอนต่อมาคือปลูกดูแลรักษา
โดยกำหนดโครงสร้างให้ปลูกไม้ป่าเป็นไม้ประธาน และปลูกไม้เกษตรเป็นพืชควบในลักษณะ 4 ชั้นเรือนยอด ซึ่งเป็นสภาพใกล้เคียงป่าธรรมชาติมากที่สุดซึ่งต้องใช้เวลานานถึงต้องปลูกพืชผสมผสานให้เหาะสมกับพื้นที่ เช่น
ปีที่ 1 ปลูกพืชสวนครัวเป็นไม้เรือนยอดขึ้นผิวชั้นดิน เช่น ขิง ข่า ขมิ้นชัน ไพล มันเทศ ซึ่งจะทำให้มีรายได้ในครัวเรือน
พอปีที่ 2 เริ่มปลูกไม้พุ่มเช่นเมี่ยง หวาย ถั่วมะแฮะ กล้วย กาแฟ ชาอัสสัม เสาวรส วานิลา ซึ่งจะเป็นรายได้หลักในระยะยาว เพิ่มจากเดิม เพื่อให้มีรายได้เพิ่มจากพืชสวนครัว
ปีที่ 3 เสริมด้วยไม้เรือนยอดชั้นรอง เช่น มะขามป้อม มะแขว่น หว้า ไผ่ อะโวคาโด ส่วนพืชคลุมผิวดินก็สามารถนำไปแปรรูป เช่นไพล ทำเป็นยาหม่อง ส่วนปีที่ 4 เริ่มปลูกไม้เรือนยอด เช่น ไม้ยาง แมคคาเดเมีย ตะเคียนทอง จะมีรายได้จากกาแฟ หวาย
พอเข้าปีที่5 – 9 พืชเรือนยอดก็เริ่มโตเต็มพื้นที่และให้ผลผลิตไปเรื่อย ๆ เช่นกาแฟตอนนี้ยังป็นที่ต้องการของตลาดโลก
ผลสำเร็จของโครงการ
ผลจากการเข้าไปช่วยเกษตรกรที่ อ.บ่อเกลือมา 6 ปี จากเดิมที่มีสมาชิกเพียง 30 กว่าครัวเรือน ปัจจุบันมีสมาชิก 1ล241 ครัวเรือน ป่าเสื่อมโทรมก็ฟื้นฟู กว่า 2 หมื่นไร่ ประชากรมีรายได้มากขึ้น ในปี2561 มีรายได้151,529 บาท ทำให้คนมีกำลังใจในการพัฒนา
มีตัวอย่างเกษตรกรที่เข้าโครงการนี้ คือ นายธนวัฒน์ จรรมรัตน์ อยู่ที่บ้านห้วยขาบ ต.บ่อเกลือ จ.น่าน นำพื้นที่มาเข้าโครงการทั้งหมด 10 ไร่ ปัจจุบันมีรายได้จากการขายกาแฟเฉลี่ย 23,960 บาทต่อปี อีกรายคือ นายพิพัฒน์ ศิริวัฒนการุณ บ้านห่างทางหลวง ต.ภูฟ้า อ.บ่อเกลือ จ.น่าน นำพื้นที่มาเข้าโครงการ 15 ไร่ ในปี 2561 ครอบครัวหันมาทำการเกษตรผสมผสาน มีรายได้จากการขายกาแฟโรบัสต้า กล้วย ขมิ้น ไพล เฉลี่ย 10,875 บาทต่อปี นายพิพัฒน์เล่าถึงประโยชน์ของการเข้าร่วมโครงการว่า พอเข้าร่วมโครงการแล้วไม่ต้องไปทำไร่เลื่อนลอย มีหน่วยงานที่รองรับผลผลิตที่ปลูก เช่นศูนย์ภูฟ้าพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการศูนย์ภูฟ้าพัฒนา กรมป่าไม้ได้จำหน่ายผลผลิตที่ปลูก
รายที่ 3 คือนางสุภาพร วงศ์พันธ์ ต.ภูฟ้า อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เข้าร่วมกับโครงการเมื่อปี 2559 นำพื้นที่เข้าโครงการ 11 ไร่ มีผลผลิตจาก อโวคาโด หวาย ขมิ้นชั้น ใบเมี่ยง ฯลฯ นางสุภาพรเล่าว่าชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น รายได้เลี้ยงตัวมีเวลาอยู่กับลูก ต้องไปแข่งขันทำมาหากินกับคนอื่น
สำหรับโครงการ “รักษาป่าต้นน้ำน่าน” มีสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นผู้อำนวยการโครงการ ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กองทัพบก มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และจังหวัดน่าน โดยมีธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้สนับสนุนและประสานงานโครงการ ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2557 เพื่อแก้ปัญหาการสูญเสียพื้นที่ป่าต้นน้ำน่านที่มีความสำคัญกับแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีอัตราการสูญเสียพื้นที่ป่าแบบก้าวกระโดด ตั้งแต่ปี 2551 – 2555 ป่าน่านมีอัตราการถูกทำลายจาก 5.2 หมื่นไร่ต่อปี เพิ่มเป็น 1.25 แสนไร่ ต่อปี ขณะที่ช่วงปี 2555 เป็นต้นมา ป่าน่านมีการถูกทำลายเพิ่มขึ้นสูงถึง 2.5 แสนไร่ต่อปี ทำให้ จ.น่านที่เคยมีพื้นที่ป่าตาม พ.ร.บ.ป่าสงวน 2507 อยู่ราว 6.4 ล้านไร่ ปัจจุบันเหลือเพียง 4.5 ล้านไร่เท่านั้น