สถาปนิก ’62 “กรีน อยู่ ดี” ชูการใช้ชีวิตแบบง่ายแต่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

เริ่มแล้วงานสถาปนิก’62 ภายใต้แนวคิด “กรีน อยู่ดี : Living Green” ที่สร้างสรรค์สถาปัตยกรรมเพื่อให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการออกแบบเพื่อวิถีชีวิตที่ยั่งยืน หวังสร้างจิตสำนึกและกระตุ้นให้คนไทยเปิดมุมมองด้านการใช้ชีวิตประจำวันง่าย ๆ ในแบบที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

 

พิธีเปิดงานสถาปนิก’62 จากซ้าย ศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล ,ดร.อัจฉราวรรณ จุฑารัตน์ และอัชชพล ดุสิตนานนท์

“งานสถาปนิก” เป็นงานจัดแสดงสถาปัตยกรรมและเทคโนโลยีก่อสร้าง โดย สมาคมสถาปนิกสยามฯ จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2529 และต่อเนื่องมาครั้งนี้เป็นครั้งที่ 33 โดย อัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ว่า

“เพื่อแสดงศักยภาพและนำเสนอผลงานความก้าวหน้าของวิชาชีพสถาปัตยกรรม งานสถาปนิกจึงเป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่เชื่อมโยงระหว่างสถาปนิกกับประชาชน มุ่งหวังที่สร้างประโยชน์ให้กับสมาชิกและคนในสังคม เป้าหมายของเราคือการขยายฐานสมาชิกให้กว้างขึ้น ไม่ใช่เฉพาะแค่กลุ่มสถาปนิกเท่านั้น แต่รวมถึงผู้แสดงสินค้าและผู้ชมงานสถาปนิกด้วย ปัจจุบันงานสถาปนิก ได้กลายเป็นงานแสดงด้านสถาปัตยกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ซึ่งเราคาดหวังว่าจะก้าวขึ้นเป็นงานระดับโลกในอนาคตอันใกล้นี้”

 

 

 

สำหรับธีมงานของปีนี้คือ “กรีน อยู่ ดี : Living Green” เพื่อชูแนวคิดการออกแบบเพื่อความยั่งยืน ฝ่าวิกฤตสิ่งแวดล้อม โดย ดร.อัจฉราวรรณ จุฑารัตน์ ประธานจัดงานสถาปนิก ’62 กล่าวถึงที่มาว่า

“การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก มลพิษทางสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อคน สังคม และเศรษฐกิจ เป็นเรื่องสำคัญและเกี่ยวข้องกับวิชาชีพสถาปัตยกรรมโดยตรง ทางคณะกรรมการจัดงานสถาปนิกปีนี้ จึงกำหนดให้แนวคิดการจัดงานคือ “กรีน อยู่ ดี : Living Green” นำเสนอการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการออกแบบเพื่อวิถีชีวิตที่ยั่งยืน นับเป็นครั้งแรกของงานสถาปนิกที่นำเสนอ “ประสบการณ์สีเขียว” (Green Experience) ผ่านการออกแบบการจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมต่างๆ ในทุกรายละเอียด”

 

ด้าน ศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด กล่าวว่า “นีโอได้รับการแต่งตั้งจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ ให้เป็นผู้บริหารจัดงานครั้งนี้ เพื่อให้ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซี่ยนจึงได้เรียนเชิญผู้ประกอบการในวงการสถาปัตยกรรมและก่อสร้างจากทั่วโลกมาร่วมจัดแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีล้ำสมัยทางด้าน สถาปัตยกรรมและวัสดุก่อสร้าง โดยมีสินค้าหลายพันแบรนด์จาก 40 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมแสดงภายในงาน และยังมีสินค้าไฮไลต์จาก 16 พาวิลเลี่ยนมาจัดแสดง ประกอบด้วย ออสเตรเลีย จีน เยอรมนี ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ตุรกี อังกฤษ อเมริกา และเวียดนาม “

นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่อยู่ในวงการสถาปัตยกรรมและการก่อสร้างจากทั่วภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอย่าง CLMV มาร่วมเจรจาธุรกิจ โดยคาดการณ์ว่าจะมีการจับคู่เจรจาธุรกิจมากกว่า 400 นัดหมาย และคาดว่าตลอดทั้งงานนี้จะก่อให้เกิดการซื้อขายรวมมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท

 

ไฮไลต์ของงาน คือโซนนิทรรศการที่เกี่ยวเนื่องกับการออกแบบอย่างยั่งยืน ที่มีขนาด 5,000 ตารางเมตร เพื่อนำเสนอธีม “กรีน อยู่ ดี: Living Green” ที่มุ่งสร้างความตระหนักรู้ในหมู่สถาปนิกถึงบทบาทเรื่องการออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมๆ กับนำเสนอแรงบันดาลใจให้กับบุคคลทั่วไปในการใช้ชีวิตอย่าง “กรีน” ยิ่งขึ้น อาทิ

innovative green materials เป็นการนำนวัตกรรมของอาจารย์จากสถาบันต่าง ๆ ซึ่งทำเกี่ยวกับวัสดุออกมาเผยแพร่ เพื่อเป็นแนวคิดให้สามารถนำไปต่อยอดได้

Green Building Showcase การสร้างอาคารเขียวหรืออาคารประหยัดพลังงานนั้นได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในเมืองไทยมีอยู่หลายแห่งด้วยกัน อาคารตึกสูงทั้งที่คุ้นหน้าและไม่คุ้นหน้าแต่ได้รับรางวัลการันตีถึงการเป็นส่วนสำคัญในการลดโลกร้อนจะถูกรวบรวมไว้ในนิทรรศการนี้ พร้อมด้วยอาคารเขียวอีกหลายแห่งทั่วภาคพื้นเอเชียกว่า 21 ประเทศ

 

Zero Waste Exhibition โดยความร่วมมือกับศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ หรือ สสส. กระตุ้นให้ทุกคนได้ตระหนักถึงการใช้ขยะในแต่ละวัน แบ่งโซนนิทรรศการเป็น 4 โซนด้วยกัน คือ โซน Check & Shock กระตุ้นให้ทุกคนสำรวจพฤติกรรมตนเองว่าแต่ละวันได้สร้างขยะมากแค่ไหน โซน Waste Land บอกเล่าให้เห็นถึงสถานการณ์ขยะในปัจจุบันที่เข้าขั้นวิกฤติ ต่อด้วยโซน Waste Wow นำเสนอนวัตกรรมจัดการขยะใกล้ตัว และโซน Waste World นำเสนอหนทางในการต่อสู้กับภาวะขยะล้นโลก

ภูมิปัญญาจาก 3 ภูมิภาค สู่ปัจจุบัน : นำเสนอนวัตกรรมท้องถิ่นที่อาจเป็นคำตอบของการใช้ชีวิตที่ยั่งยืนในอนาคต เป็นการเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยในงานสถาปัตยกรรมจาก 3 ภูมิภาค เพื่อนําเสนอแนวทางสู่การประยุกต์ใช้ในโลกปัจจุบัน
Innovative Green Products : รวมวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การนำเศษวัสดุที่เหลือทิ้งจากการก่อสร้าง มาทำเป็นแผ่นคอนกรีตเพื่อใช้ในการก่อสร้าง , นวัตกรรมไม้สังเคราะห์เพื่อทดแทนการใช้ไม้จริง โดยนำท่อพีวีซีผสมกับเยื่อไม้ เป็นต้น

 

SCG กับแผงโซล่า รูฟ

นอกจากนี้ยังมี กิจกรรมสัมมนา “ASA Seminar” ภายใต้ธีม ธาตุ 4+1 : ดิน น้ำ ลม ไฟ และมนุษย์ ซึ่งมีหัวข้อสัมนาหลากหลาย อาทิ สถาปัตยกรรมหายใจได้ เมืองอัจฉริยะ เรื่องของแสงกับเมืองใหญ่ รวมถึงสวนสาธารณะในฐานะพื้นที่สีเขียวของทุกคน”

งานสถาปนิกไม่ได้มีกลุ่มเป้าหมายแค่กลุ่มสถาปนิกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่มคนในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจก่อสร้าง รวมถึงประชาชนทั่วไป ก็สามารถเพลิดเพลินไปกับการจัดแสดงที่ให้ความรู้และกิจกรรมน่าสนใจอีกมากมาย อาทิ เวิร์กชอป ‘Scrab Lab’ เปลี่ยนของเหลือใช้ให้เป็นงานดีไซน์

 

บริษัท SYS เสนอ solar carport

ส่วนใครที่สนใจเรื่องโซล่าเซลล์ลองแวะไปที่บูธของ SCG มีแพคเกจดี ๆ เกี่ยวการการติดตั้ง solar roof solution ที่สามารถติดตั้งได้ทั้งบ้านพักอาศัยและโรงงาน นอกจากนี้ที่บูธ SYS นำเสนอ solar carport ที่จอดรถโครงสร้างเหล็ก สำเร็จรูป ส่วนหลังคาติดตั้งแผงโซล่าเพื่อผลิตไฟฟ้า ในราคาแพจเกจเริ่มต้นที่ 139,000 บาท สำหรับพื้นที่ติดตั้ง 6-8 ตารางเมตร

สำหรับผู้ที่สนใจไลฟ์สไตล์แบบรักษ์โลก ‘หมอบ้านอาษา’ บริการให้คําปรึกษาการออกแบบและก่อสร้างกับประชาชนทั่วไป โดยปีนี้ได้ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมมาให้คำแนะนำฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

 

บูธ GC มาในคอนเซ็ปต์ construction for better living โชวนวัตกรรมการนำพลาสติกมา uocycling เป็นของใช้ภายในบ้าน ตั้งแต่กระถามต้นไม้ โต๊ะ เก้าอี้ พื้น บรรได เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ.

อีกหนึ่งไฮไลต์ที่ไม่ควรพลาดคือ ASA Forum 2019 งานสัมมนาสถาปัตยกรรมระดับนานาชาติ โดยปีนี้มีสถาปนิกจากบริษัทระดับโลกมาร่วมบรรยายบนเวทีอย่างคับคั่ง เช่น Foster + Parners, Bjarke Ingels Group (BIG), MVRDV, Atelier Ten และสถาปนิกไทยที่กำลังมาแรงอย่าง Eco Architect และ Stu/D/O Architects”

งานสถาปนิก ’62 “กรีน อยู่ ดี : Living Green” เริ่มตั้งแต่วันนี้ – 5 พฤษภาคม 2562 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี

Stay Connected
Latest News