อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงโรม ชูบทบาทภาครัฐและเอกชนทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความมั่นคงอาหารในระดับภูมิภาคและระดับโลก เชื่อมโยงการทำงานร่วมกันและการมีส่วนร่วมของภาครัฐและเอกชน (Partnership) ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
โดยบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ และ ซีพี เมียนมา มีส่วนร่วมช่วยสร้างความยั่งยืนด้านความมั่นคงทางอาหาร และแก้ปัญหาความอดอยาก ขณะนี้ได้เตรียมจัดทำข้อเสนอต่อโครงการอาหารโลก (World Food Programme) แต่งตั้งประเทศไทยเป็น “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านอาหารกลางวันและนมโรงเรียน” แหล่งเรียนรู้ด้านอาหารมั่นคงของโลก
ดร.ธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงโรม เปิดเผยว่า จะนำรูปแบบและแนวทางของโครงการ “เลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” ที่ดำเนินการโดยซีพีเอฟและมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และ โครงการ “Milk for Kids” ของ ซีพี เมียนมา ไปเป็นต้นแบบเพื่อนำเสนอให้ประเทศไทยจัดตั้งเป็น “ศูนย์ความเป็นเลิศอาหารกลางวันและนมโรงเรียนของโลก” ยกระดับบทบาทของไทยในการเป็นแหล่งเรียนรู้ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก
โดยมีองค์กรที่ดำเนินโครงการเกี่ยวกับอาหารมั่นคงทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมแบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์ในการสร้างโอกาสเข้าถึงอาหารอย่างยั่งยืนแก่ประเทศที่สนใจ ร่วมผนึกพลังขจัดความหิวโหย (Zero Hunger) ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs)
“ประสบการณ์และแนวทางการดำเนินโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน และ Milk For Kids ส่งเสริมให้เกิดการพึ่งพาตนเองและยั่งยืน เป็นสิ่งที่องค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญ หากไทยสามารถประกาศตัวเป็น ศูนย์ความเป็นเลิศอาหารกลางวันและนมโรงเรียนของโลก ของ WFP ได้ จะช่วยตอกย้ำภาพลักษณ์ของประเทศในการแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการสร้างความมั่นคงทางอาหารของโลกให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นในสายตาของนานาประเทศ” ดร.ธนวรรษกล่าว
ด้าน สุปรี เบ้าสิงห์สวย กรรมการและผู้ช่วยเลขาธิการ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท กล่าวว่า มูลนิธิฯ ร่วมกับซีพีเอฟ สนับสนุน โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ตั้งแต่ปี 2532 เพื่อแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการของเยาวชนในชนบทมีทักษะเลี้ยงไก่ไข่ ด้วยแนวคิดการสนับสนุนโรงเรือน แม่พันธุ์ไก่ไข่ และอาหาร เป็นทุนตั้งต้นเพื่อผลิตไข่ไก่ใช้เป็นวัตถุดิบปรุงเป็นอาหารกลางวันนักเรียน และให้ความรู้และฝึกทักษะการเลี้ยงและบริหารจัดการการผลิต ตั้งแต่ต้นทุน การขายผลผลิต และการบัญชีให้แก่นักเรียนและครูของโรงเรียน
ปัจจุบันมีโรงเรียนได้รับการสนับสนุนกว่า 700 แห่งทั่วประเทศ ช่วยให้เด็กกว่า 155,000 คน ได้รับโปรตีนคุณภาพสูงจากไข่ไก่อย่างเพียงพอ ช่วยให้ครูและนักเรียนสามารถนำทักษะและเงินจากกองทุนโรงเรียนไปต่อยอดทักษะในการผลิตอาหารอื่นๆ เช่น การเลี้ยงปลา ปลูกผัก เป็นต้น ช่วยให้โรงเรียนมีแหล่งการผลิตอาหารให้แก่นักเรียนและชุมชน พร้อมกับมีกองทุนที่เติบโตงอกงามจากการดำเนินในรูปแบบสหกรณ์โรงเรียนเชื่อมโยงสู่ธุรกิจชุมชนที่นำรายได้จากขายไข่ไก่ไปใช้เป็นทุนในบริหารการผลิตไข่ไก่อย่างต่อเนื่อง โดยไม่เป็นภาระของงบประมาณ ตลอดจนเป็นการปลูกฝังการเป็นผู้ประกอบการจิตสาธารณะ (Social Enterprise Practices) ตั้งแต่วัยเยาว์อีกด้วย
ขณะเดียวกัน โครงการ Milk for Kids ที่พนักงานจิตอาสาของ ซี.พี.เมียนมา ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) ริเริ่มและดำเนินงานต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 โดยสนับสนุนนมสดให้แก่โรงเรียนที่อยู่ใกล้กับโรงงานและฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปัจจุบัน ช่วยให้เด็กนักเรียนร่วม 5,000 คนในพื้นที่กรุงย่างกุ้ง กรุงเนปิดอร์ และเมืองมัณฎะเลย์ ได้ดื่มนมสดที่มีคุณภาพอย่างเพียงพอ ทั้งนี้นมสดดังกล่าวซื้อมาจากโรงผลิตนมสดพาสเจอไรซ์ ในกรุงเนปิดอร์ ที่เครือซีพีให้ทุนสนับสนุนชุมชนสร้างฟาร์มเลี้ยงวัวนมและโรงผลิตนมสดพาสเจอไรซ์ เพื่อส่งเสริมพัฒนาอาชีพเลี้ยงโคนมให้เป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพ และสร้างพื้นฐานอาชีพให้แก่เกษตรกรเมียนมาด้วยอีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ สุธี สมุทระประภูต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ยังได้ต่อยอดการสร้างโอกาสการเข้าถึงอาหาร ไปสู่โครงการ “ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต” ที่ส่งเสริมให้พนักงานขององค์กรนำความรู้และความสามารถร่วมพัฒนาการผลิตอาหารกับครูและนักเรียนของโรงเรียนที่อยู่รอบสถานประกอบการของบริษัทฯ และนำไปสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการผลิตอาหารของโรงเรียนและชุมชน สร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน.