ถนนสามเสนบริเวณสะพานซังฮี้ฝั่งพระนคร เป็นแหล่งที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 300 ปีที่บันทึกไว้ว่าบริเวณนี้มีหลากหลายชนชาติ ที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกันอพยพเข้ามาอาศัย แม้จะมีความแตกต่างทางชาติพันธุ์แต่ก็สามารถอยู่ด้วยกันอย่างสงบบนผืนแผ่นดินไทย
ในโอกาสนี้ “เคทีซี” ได้จัดกิจกรรม “เยี่ยมบ้านญวน เยือนบ้านเขมร และคารวะศาสนสถานริมเจ้าพระยา” โดยมี อ.ธานัท ภุมรัช นักประชาสัมพันธ์ กลุ่มงานพัฒนาการท่องเที่ยว ส่วนการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร เป็นมัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ เพื่อนำคณะสัมผัสความหลากหลายทางวัฒนธรรมบนพื้นฐานความต่างของชาติพันธุ์และความเชื่อทางศาสนาแห่งเมืองบางกอกในย่านสามเสน
**ศาลเจ้าจุ่ยบ่อเนี้ย **
คนจีนโพ้นทะเลที่เดินทางโดยเรือสำเภามาค้าขายและตั้งถิ่นฐานในเมืองไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาล้วนแต่นับถือ “เจ้าแม่ทับทิม” ซึ่งนับถือเป็นเทพธิดาแห่งท้องทะเล ที่จะช่วยให้ชาวจีนทีเดินทางโดยเรือปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวงในท้องทะเล
ศาลเจ้าแม่ทับทิมจึงมีอยู่ทุกหนแห่งที่มีคนจีนอพยพมาอาศัย แต่ ศาลเจ้าจุ่ยบ่อเนี้ย ที่บริเวณสะพานซั้งฮี้นับว่าศาสนสถานที่เก่าแก่ที่สุดและงดงามมาก สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อปีพ.ศ.2385 และที่พิเศษกว่าที่อื่น ๆ คือเป็นศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งเดียวที่สร้างโดยชุมชนไหหลำขนาดใหญ่ในยุคสมันต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งกินอาณาเขตไปจนถึงวัดส้มเกลี้ยง
เดิมเป็นศาลเจ้าขนาดเล็กที่ไม่มีหลังคาตามสถาปัตยกรรมฮกเกี้ยน เพื่อให้ควันธูปได้ระบายออก ต่อมาจึงมีการสร้างต่อเติมเป็นลักษณะ “เรือนล้อมลาน” มี 4 อาคารล้อมโดยมีพื้นที่โล่งอยู่ตรงกลาง
ที่ศาลเจ้าแห่งนี้มีของสำคัญอย่างหนึ่งคือ กระถางธูปซึ่งเป็นเครื่องสังเค็ดในพระราชพิธีพระบรมศพของรัชกาลที่ 4 ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 5 พระราชทาน ”กระถางธูป” หลักและรอง รวม5 กระถางให้แก่ศาลเจ้าแห่งนี้
องค์เจ้าแม่ทับทิมสร้างด้วยไม้ สวมเครื่องทรงสีแดงเหมือนทับทิมจึงเรียกขานว่าเจ้าแม่ทับทิม นอกจากชาวไหหลำในย่านที่นับถือแล้ว ยังมีชาวจีนนอกชุมชนมาสักการะเพื่อขอพรให้แคล้วคลาดปลอดภัย การเงิน การงาน โชคลาภ บุตรหลานสอบได้ตำแหน่งดี ๆ
**ย่านบ้านญวน**
ไม่ไกลจากชุมชนชาวจีนไหหลำ มีชุมชนเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งมีชื่อเรียกขานกันว่า “บ้านญวน” ซึ่งมีประวัติศาสตร์อันยาวนานมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่ได้พระราชทานพื้นที่บริเวณนี้ให้แก่ชาวโปรตุเกสที่อพยพมาจากเมืองมะละกา
ต่อมาในสมันรัชกาลที่ 3 เกิดสงครามอันนัมสยามยุทธซึ่งไทยรบกับเวียดนาม ก็มีญวนกลุ่มหนึ่งที่นับถือศาสนาคริสต์ขอเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร เนื่องจากรัชกาลที่ 3 ทรงเห็นว่าญวนสวามิภักดิ์เหล่านี้นับถือศาสนาคริสต์จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ดินติดกับชาวโปรตุเกสให้แก่ญวนอพยพ
นอกจากนี้รัชกาลที่ 3 ยังพระราชทานพระราชทรัพย์ให้สร้างศาสนสถานเพื่อให้ชาวคริสต์ได้ประกอบศาสนกิจ เดิมเป็นอาคารไม้ไผ่เล็ก ๆ ใช้ชื่อว่า “วัดแซงต์ฟรังซัวซาเวียร์” 3 ปีต่อมาโบสถ์แห่งนี้ก็ทรุดโทรม จึงมีการก่อสร้างขึ้นใหม่แล้วเปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดนักบุญฟรังซิสเซเวีย”
ปัจจุบันโบสถ์แห่งนี้ถือเป็นโบสถ์หลังที่ 3 ใช้เวลาก่อสร้างนานถึงถึง 10 ปี ตัวอาคารก่ออิฐแบกปูน เป็นอาคารที่ไม่มีเสาเข็มแต่ใช้ไม้ซุงมาเรียงอยู่ด้านล่างเพื่อไม่ให้วัดทรุด ถือเป็นโบสถ์ที่มีความงามด้วยสถาปัตยกรรมนีโอโกธิค ภายในเป็นโถงขนาดใหญ่ จุดคนได้ถึง 600 คน หน้าต่างตกแต่งด้วยกระจกสีต่าง ๆ สวยงามมาก และรอบ ๆ ยังรูปปั้นของนักบุญต่าง ๆ ของศาสนาคริสต์เป้นจำนวนมาก
สำหรับที่นี่วัดคือศูนย์รวมของชุมชน โดยมีพระสงฆ์ดูแลเอาใจใส่ชาวบ้านที่เคร่งศาสนา เพราะทุก 6 โมงเย็นสมาชิกทุกคนในบ้านจะกลับเข้าบ้านเพื่อสวดมนต์ และในช่วงปีใหม่ทุกบ้านก็จะสืบสานประเพณีทำขนมเพื่อนำไปไหว้ผู้ใหญ่ เป็นชุมชนที่อบอุ่น
**โบสถ์คอนเซ็ปชัญ**
เสน่ห์อย่างหนึ่งของถนนสามเสนแห่งนี้คือมีความหลากหลายของชาติพันธุ์ที่อพยพมาจากต่างถิ่นแบบหนีร้อนมาพึ่งเย็น อย่างชุมชนโบสถ์คอนเซ็ปชัญนั้นถือเป็นชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่ครั้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งพระองค์ได้ทรงพระราชทานที่ดินบริเวณนี้ให้กับชาวโปรตุเกสที่ร่วมทำสงครามมะละกาให้กับพระองค์ พร้อมทั้งสร้างวัดคอนเซ็ปชัญขึ้นมาเพื่อประกอบศาสนกิจ ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าให้ชาวโปรตุเกสในเขมรและชาวเขมรจำนวน 500 คน ที่หลบหนีลี้ภัยมาจากเขมร มาอยู่รวมกับชาวโปรตุเกสในชุมชนนี้ และตั้งแต่นั้นมาก็มีการเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านเขมร”
วัดคอนเซ็ปชัญหลังแรกสร้างด้วยไม้ไผ่และผุพังตามกาลเวลา จึงมีการสร้างขึ้นใหม่ในสมัยบาทหลวงปาลเลอกัว เจ้าอาวาสองค์ที่ 17 ในช่วงรัชกาลที่ 3 ซึ่งปัจจุบันคือ “วัดน้อย” ซึ่งใช้เป็นพิพิธภัณฑ์เก็บประวัติศาสตร์ที่มีมายาวนานกว่า 300 ปีทั้งของใช้ที่นำมาทำพิธี และเสื้อคลุมสำหรับพระสงฆ์ เป็นต้น
โบสถ์หลังปัจจุบันนั้นสร้างมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2480 โดยใช้รูปแบบผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมสยามและสถาปัตยกรรมตะวันตก เรียกกันว่าอาคารแบบวิลันดา ภายในโบสถ์มีรูปสลักพระแม่มารีที่คณะผู้อพยพอัญเชิญมาจากเขมร ถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมคาทอลิกที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังมีการใช้งานในปัจจุบัน
**วัดเทวราชกุญชร**
วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร เดิมชื่อ วัดสมอแครง สร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี (ต้นสกุลมนตรีกุล) พระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ จากนั้น กรมพระพิทักษ์เทเวศร หรือ”พระองค์เจ้ากุญชร” (ต้นสกุลกุญชร) พระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงบูรณ์ปฏิสังขรณ์อีกครั้ง ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงรับเป็นพระอารามหลวงและพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดเทวราชกุญชร วรวิหาร” ทรงนำคำว่า เทวราช มานำหน้าพระนามของพระองค์เจ้ากุญชร ซึ่งเป็นพระนามเดิมของ กรมพระพิทักษ์เทเวศร ผู้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้มาก่อน
วัดนี้มีความสำคัญเนื่องจากมีพระอุโบสถขนาดใหญ่มากซึ่งสร้างขึ้นในรัชกาลที่ 3 มีขนาดยาว 36 เมตร กว้าง 17 เมตร ภายในมี“พระพุทธเทวราชปฏิมากร”เป็นพระประธานประดิษฐาน ส่วนภาพจิตกรรมภายในพระอุโบสถมีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ใช้เป็นภาพเหตุการณ์เหล่าเทวดามาชุมนุมกันขณะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้านล่างระหว่างช่องหน้าต่างเป็นภาพภิกษุกำลังปลงอสุภกรรมฐาน ส่วนจิตรกรรมที่ผนังตอนล่างระหว่างช่องประตูหน้าเป็นภาพทศชาติ เรื่อง สุวรรณสาม และด้านหลังเป็นภาพวัดเทวราชกุญชรเดิมก่อนที่จะมีการสร้างพระอุโบสถหลังนี้
**พิพิธภัณฑ์สักทอง**
พิพิธภัณฑ์สักทอง ถือเป็นสถานที่ล้ำค่าที่ตั้งอยู่ภายในวันเทวราชกุญชรฯ เดิมเป็นบ้านของ ดร.อุกฤษและ ท่านผู้หญิงมณฑินี มงคลนาวิน ซึ่งซื้อบ้านไม้สักทองทั้งหลังทรงปั้นหยามาจาก จ.แพร่ ปี 2549 จากนั้น ดร.อุกฤษได้ยกบ้านหลังนี้ถวายแก่วัดเทวราชกุญชรฯ โดยรื้อจากคลอง 2 จ.ปทุมธานีเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2549 สร้างเสร็จเดือนธันวาคม 2551 มูลค่าในการก่อสร้างเป็นเงิน 110 ล้านบาท
นอกจากความงดงามอันทรงคุณค่าของบ้านไม้สักทองหลังนี้แล้ว เสาไม้ขนาดใหญ่จำนวนทั้งหมด 59 ต้นยังมีอายุถึง 400 ปี และถ้านับจำนวนวงปีมีถึง 179 วงปี แสดงถึงอายุของต้นไม้สักทองที่เก่าแก่มาก
พิพิธภัณฑ์ไม้สักทอง สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นศูนย์เผยแพร่ความรู้ทางด้านพระพุทธศาสนา และแหล่งการเรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์ ชั้นบนมีห้องจัดแสดงหุ่นรูปเหมือนของอริยสงฆ์ 19 องค์ มีพระพบรมสารีริกธาตุอุรังคธาตุ(กระดูกส่วนพระอุระ)ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระสังฆราช ศรีลังกา ส่วนอีกห้องจัดแสดงหุ่นรูปเหมือนสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้ง 19 พระองค์ พร้อมประวัติในด้านคุณูปการต่อพระพุทธศาสนาและประเทศชาติของทุกๆ