แนะ”คนเมือง”ใช้พื้นที่น้อยทำสวน” 5 ระดับ 5 ด.” ตามรอยศาสตร์พระราชา

เมื่อพูดถึงการน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” สู่การลงมือปฏิบัติ หลายๆ คนคงนึกถึงการทำการเกษตรพอเพียง โดยจัดการพื้นที่ตามแนวคิด “โคก หนอง นา โมเดล” และอาจคิดไปอีกว่าจะต้องอาศัยพื้นที่ไม่น้อย แต่อันที่จริงแล้ว ศาสตร์อันทรงคุณค่านี้ สามารถนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตในทุกพื้นที่ รวมถึงการใช้ชีวิตในเมืองซึ่งมีพื้นที่จำกัด คนเมืองที่ต้องการตามรอยศาสตร์พระราชา จึงไม่ต้องมองหาพื้นที่เพื่อทำการเกษตรที่ไหนไกลๆ แต่เริ่มต้นได้ที่บ้านของตนเองโคก หนอง นา แบบฉบับคนเมือง


“โคก หนอง นา โมเดล” คือแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ ซึ่งนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาประยุกต์ใช้และผสมผสานให้เข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยให้สามารถพึ่งพาตนเองได้

สำหรับคนเมืองนั้น ก็สามารถนำแนวคิดนี้มาปรับใช้กับบ้านของตนเองได้เช่นเดียวกัน โดยเปรียบ “โคก” กับหลังคาบ้านซึ่งเป็นแหล่งรองรับน้ำฝนจำนวนมาก ในแต่ละปี การกักเก็บน้ำก็สามารถทำได้ เพียงสร้างรางน้ำแล้วต่อท่อให้น้ำฝนไหลจากหลังคาลงไปสู่ “หนอง” หรือที่กักเก็บน้ำในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโอ่ง ตุ่ม แท็งก์น้ำ หรือแม้กระทั่งถังน้ำ เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ทำการเพาะปลูก หรือผ่านกระบวนการกรองฆ่าเชื้อโรคสำหรับอุปโภคบริโภคได้ในภายหลัง

 

ส่วน “นา” ก็คือพื้นที่สร้างแหล่งอาหาร ที่คนเมืองสามารถเลือกเพาะปลูกให้เหมาะสมกับลักษณะพื้นที่ของตนเอง ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว การปลูกพืชนั้นแบ่งออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ สูง กลาง เตี้ย เรี่ยดิน และใต้ดิน แต่เนื่องด้วยที่อยู่อาศัยของคนเมืองส่วนใหญ่ มีพื้นที่ไม่มากนัก จึงอาจเลือกปลูกพืชใน 4 ระดับหลัง ซึ่งมีมากมายกว่า 80 ชนิด อาทิ พืชในระดับกลาง เช่น กล้วย มะม่วง ลำไย ระดับเตี้ย เช่น มะกรูด มะนาว เสาวรส ระดับเรี่ยดิน เช่น มะเขือเทศ ชะพลู สะระแหน่ และ ระดับใต้ดิน เช่น เผือก ข่า ตะไคร้ โดยเลือกปลูกตามความชอบและคำนึงถึงลักษณะทางภูมิศาสตร์ของแต่ละพื้นที่

 

 

**ทางออกพื้นที่จำกัดของคนเมือง**

 

กรณีอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม หรือทาวน์เฮ้าส์ ซึ่งมีพื้นที่ใช้สอยน้อย ก็หันมาทำสวนผักแนวตั้งได้ ตัวอย่างเช่น สร้างชั้นวางกระถางปลูก ทำระแนงไม้แบบตั้งพื้น หรือทำสวนลอยฟ้าด้วยการแขวนภาชนะปลูกจากด้านบน ซึ่งจะช่วยประหยัดพื้นที่ได้มากกว่าเดิม นอกจากนั้น ยังนำวัสดุเหลือใช้มาเป็นภาชนะเพาะปลูกได้อีก เช่น ขวดพลาสติก แกลลอนน้ำ หม้อ ถัง หรือกะละมังที่ชำรุดแล้ว ขอเพียงให้มีช่องสำหรับระบายน้ำ และควรมีความลึกไม่น้อยกว่า 20 ซม. เพื่อให้รากมีพื้นที่ในการเจริญเติบโต บางคนนำของเล่นเก่าๆ มาประยุกต์ใช้ กลายเป็นไอเดียตกแต่งบ้านแบบเก๋ๆ ที่ช่วยประหยัดรายจ่ายได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

**ซูเปอร์มาร์เก็ตในบ้าน**
นอกเหนือจากการบริหารจัดการพื้นที่แล้ว ก็มาถึงคำถามสำคัญว่า ควรจะปลูกผักอะไร หลักการง่ายๆ คือ การเลือกปลูกพืชผักตามจานโปรดของเรา โดยผสมผสานการปลูกพืชผักสวนครัวที่ใช้เป็นประจำ จำแนกตามการใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกันด้วยหลัก 5 ด. คือ สวนดู สวนดม สวนกิน (แดก) สวนดื่ม และสวนโด๊ป เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ เช่นประโยชน์จากการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ หรือสวนดู จะช่วยเรียกแมลงมาผสมเกสรและกำจัดศัตรูพืช ทำให้พืชเติบโตได้ดี แถมยังช่วยให้คนที่พักอาศัยในบ้านได้รู้สึกผ่อนคลายอีกด้วย การทำสวนผักเองจึงเปรียบเสมือนมีซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่ภายในบ้าน ที่นอกจากประหยัดเงินค่าวัตถุดิบในการปรุงอาหารแล้ว ยังช่วยประหยัดพลังงานในการเก็บรักษาอีกด้วย ทั้งยังแน่ใจได้ว่าปลอดสารเคมี ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บที่มาจากสารพิษตกค้างได้

ทั้งนี้ การเพาะปลูกพืชผลให้งอกงามนั้น สิ่งสำคัญ คือ ดินที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งเราสามารถบำรุงดินด้วยน้ำหมักรสจืดที่ทำจากหยวกกล้วย และใช้กากมะพร้าวแห้งสับหรือเศษใบไม้แห้งในการห่มดิน เพื่อรักษาความชุ่มชื้นของผิวดิน ทำให้จุลินทรีย์ทำงานได้ดี ซึ่งเมื่อดินดี พืชผลก็จะงอกเงย
เพียงเท่านี้ ทุกคนก็สามารถสร้างสวนคนเมืองในรูปแบบของตนเองได้ไม่ยาก และนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของใครหลายๆ คน ที่หันเหเข้าสู่วิถีชีวิตแบบพอเพียงอย่างจริงจัง

 

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หลายๆ คนคงเกิดแรงบันดาลใจที่จะนำแนวคิด “โคก หนอง นา โมเดล” มาปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง สำหรับผู้ที่สนใจอยากเรียนรู้เพิ่มเติม ไม่ควรพลาดกับกิจกรรมเอามื้อ ที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 6-7 เมษายน 2562 ณ บ้านทุ่งเทิง ต.โป่ง อ.ด่านซ้าย จ.เลย

โดยผู้เข้าร่วมจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับบุคคลต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการน้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้กับพื้นที่ของตน ตลอดจนได้ร่วมลงมือสร้างต้นแบบการจัดการพื้นที่ ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “ฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสัก ตามรอยพ่อ” อันเป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน

ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน

Stay Connected
Latest News