เปิด 3 แอปไอเดียเจ๋งจากstartupเยาวชนไทยเพื่อแก้ปัญหาสังคม

ประกาศแล้วโครงการยูธ โคแล็บ ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยปีนี้มีเยาวชนกลุ่มstartup สนใจเข้าร่วมกว่า 150 คน ซึ่งผู้ผ่านการคัดเลือกเพื่อไปแข่งระดับชาติเป็น 3 startup ที่สร้างapp ไอเดียสุดเจ๋งเพื่อแก้ปัญหาสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนยั่งยืน


มูลนิธิซิตี้ ในฐานะองค์กรที่มุ่งเน้นส่งเสริมความก้าวหน้าทางเยาวชน และพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงสร้างสภาพเศรษฐกิจชุมชมให้ดีขึ้น ที่ผ่านมาได้ ร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) จัดโครงการ ยูธ โคแล็บ (Youth Co:Lab) โดยเปิดพื้นที่ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้นำเสนอไอเดีย และเฟ้นหานวัตกรรม ที่จะช่วยรับมือ และแก้ไขปัญหาสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้กรอบปัญหาที่ทวีความท้าทายมากขึ้นในปัจจุบัน 3 ด้าน ได้แก่ การสร้างสังคมที่เข้าถึงได้กับทุกคน การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และการผลิต และบริโภคอย่างยั่งยืน

 

วันวิสาข์ โคมินทร์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสื่อสารองค์กร ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย ตัวแทนมูลนิธิซิตี้ กล่าวว่า โครงการดังกล่าว เน้นการพัฒนาศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถของเยาวชน เนื่องจากมูลนิธิซิตี้ เชื่อมั่นในศักยภาพของเยาวชนไทย ที่จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ขับเคลื่อนสังคมที่สำคัญในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวคิดการประยุกต์เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้ไอเดียนวัตกรรมเพื่อสังคมนั้น ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ และเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น โดยมีผลงานที่โดดเด่นจำนวนมาก

และผลการคัดเลือกมี 3 start up ที่ผ่านเข้ารอบครั้งนี้ เพื่อเดินทางไปร่วมแข่งขันในงาน ยูธ โคแล็บซัมมิท 2019 (Youth Co:Lab Summit 2019) ระหว่างวันที่ 4 – 5 เมษายน 2562 ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัย เนชั่นเนล อีโคโนมิคส์ ฮานอย ประเทศเวียดนาม โดยมีตัวแทนจาก 20 ประเทศเข้าร่วมในการประชุม และคาดว่าจะมีผู้สนใจ และเยาวชนเข้าร่วมกว่า 1,000 คนจากทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งภายในงานจะมีตัวแทนจากทีมที่ชนะเลิศการประกวดจากประเทศไทยเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวอีกด้วย

 

แอปจัดหารงานเพื่อผู้พิการ-ผู้สูงวัย

 

ประเทศไทยปัจจุบัน มีจำนวนผู้พิการสูงกว่า 1.8 ล้านคน และมีเพียง 13,000 คน เท่านั้นที่มีงานทำ จึงเป็นที่มาของ Inclusive Recruitment Company ไอเดียโมเดลบริษัทสตาร์ทอัพจัดหางาน บนดิจิทัลแพลต์ฟอร์ม ที่เปิดให้ผู้พิการได้เข้ามาค้นหาตำแหน่งงานที่เปิดรับ จากบริษัทพาร์ทเนอร์ที่เข้าร่วม ทั้งในรูปแบบงานประจำ และอาชีพอิสระ โดยนอกเหนือจากฟังก์ชันการจัดหางานแล้ว ทางบริษัทยังมีการส่งเสริมการเทรนนิ่งฝึกอาชีพให้กับผู้พิการก่อนเข้าสู่การทำงานจริง ซึ่งนอกเหนือจากจะเป็นการสร้างรายได้ ให้ผู้พิการสามารถพึ่งพาตัวเองได้แล้ว ยังสร้างความมั่นใจ และพัฒนาจิตใจให้กับผู้พิการ ให้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้อย่างไม่แตกต่าง โดยแนวคิดดังกล่าว สามารถต่อยอดแพลตฟอร์มเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุในอนาคต

“the Root Routes”ท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้ชุมชน

 

 

ไอเดียนวัตกรรมเชื่อมต่อระหว่างนักท่องเที่ยว กับชุมชนแหล่งท่องเที่ยวท้องถิ่น ในรูปแบบแอปพลิเคชัน ในชื่อ “the Root Routes” ที่ได้รับแรงบันดาลใจเพื่อการอนุรักษ์อัตลักษณ์ของชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อันนำไปสู่การส่งเสริมรายได้ และส่งเสริมธุรกิจสร้างสรรค์ให้กับชาวบ้านในชุมชนอย่างยั่งยืน โดยโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมดังกล่าว มีแนวคิดนำร่องในชุมชนริมน้ำของกรุงเทพ เพื่อให้เป็น พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตกลางแจ้ง หรือ Living heritage and open-air museum ซึ่งภายในแอปพลิเคชั่นมาพร้อมฟังก์ชันนำเสนอข้อมูลเชิงลึกอย่างครอบคลุมของพื้นที่ที่ต้องการไป อาทิ การเดินทาง ที่พัก เอกลักษณ์ของชุมชน ไปจนถึงกิจกรรม วัฒนธรรม ประเพณีของชุมชนหรือท้องถิ่นนั้นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการท่องเที่ยวแก่นักท่องเที่ยว และเผยแพร่คุณค่าด้าน นอกจากนี้ ยังมีฟังก์ชันการจองตารางเข้าร่วมกิจกรรมท้องถิ่น เพื่อให้นักท่องเที่ยวร่วมสัมผัสประสบการณ์การเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างเต็มรูปแบบ

 

“Food Hunter”ลดขยะของเหลือจากอาหาร

 

 

ปัญหาขยะ ที่มีปริมาณมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ หนีไม่พ้นขยะเปียก หรือขยะเศษอาหาร และส่งผลให้ประเทศสูญเสียงบประมาณจำนวนมากในการจัดการขยะ รวมถึงต้องเผชิญผลกระทบปัญหาสิ่งแวดล้อม โดย ขยะจำนวนมหาศาล มาจากอาหารปรุงสุก ของสด และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ที่วางขายตามห้างสรรพสินค้า และร้านอาหาร ที่มีมากเกินความต้องการ จนทำให้ผู้ขายต้องทิ้งเป็นขยะในท้ายที่สุด

จึงเกิดเป็น “Food Hunter” ไอเดียนวัตกรรมอีคอมเมิร์ซ ที่รวบรวมอาหารที่ยังสามารถรับประทานได้ แต่ขายไม่หมดในแต่ละวัน และกำลังจะถูกทิ้งจากห้างร้าน มาขายให้แก่ผู้บริโภคในราคาที่ถูกลง โดยใช้ระบบ Location Based จับตำแหน่งผู้บริโภค และค้นหาซูเปอร์มาร์เก็ตใกล้ที่สุดสำหรับการสั่งซื้อ พร้อมฟังก์ชันอำนวยความสะดวกผู้บริโภคอย่างการจัดส่งสินค้า หรือการแจ้งเตือนเมื่อมีสินค้าจากร้านค้าที่ตนชื่นชอบวางขาย ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าได้ในราคาที่ถูกลงแล้ว ผู้ขายยังมีรายรับเพิ่มขึ้น ยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากขยะดังกล่าวอีกด้วย

นอกเหนือจาก 3 ไอเดียเจ๋งดังกล่าวแล้ว ยังมีอีกหลากหลายไอเดียสร้างสรรค์ ที่สร้างความแปลกใหม่ให้กับการจัดการปัญหาสังคม เพื่อการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนในสังคมอย่างเท่าเทียม

Stay Connected
Latest News