คิดไม่ถึง “หรีดกระดาษ”จะเป็น “สะพานบุญ” ให้คนได้ทำบุญตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

ถ้าคุณสั่งหรีดกระดาษของ Carenation (แคร์เนชั่น) เพียง 1 พวง รู้มั๊ยว่าจะมีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นตามมาอีกมากมายในสังคมอย่างคาดไม่ถึง เพราะหรีดกระดาษนี้ไม่ใช่เพียงแค่เป็นสัญลักษณ์ของการไว้อาลัยแด่ผู้วายชนเท่านั้น

 

เบื้องหลังที่มาของหรีดสวย ๆ อันนี้เป็นฝีมือการประกอบของแม่ค้าหมูปิ้ง และคนในชุมชน เพื่อหารายได้พิเศษมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง
กระดาษที่ทำหรีดมาจากป่าปลูกไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
เงินที่ได้จากการขายหรีดหัก 20 – 35 % นำไปทำบุญให้แก่องค์กรการกุศลรวมถึงโรงพยาบาลต่าง ๆ พร้อมใบเสร็จการบริจาคที่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้เพื่อความโปร่งใส
ตั้งแต่ผู้ซื้อหรีดไปจนถึงเด็กมอเตอร์ไซต์ส่งหรีดจะได้รับคำ “อนุโมทนา” กันถ้วนหน้า

เพราะไอเดียหรีดกระดาษที่วางคอนเซ็ปต์ให้สามารถทำบุญได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำด้วยหรีดเพียง 1 อันเท่านั้น ทำให้เราอยากรู้จักเจ้าของไอเดียแหวกแนวนี้

บิ๊ก – ปริชญ์ รังสิมานนท์ คือเจ้าของความคิด “หรีดกระดาษ” นี้ ที่เริ่มบทสนทนาด้วยประโยคสั้น ๆ ของเขา แต่กินใจเราอย่างมากว่า “ ผมทำหรีดนี้ขึ้นมาเพราะอยากสร้างสังคมแห่งการให้ เพื่อช่วยให้สังคมดีขึ้นอย่างสร้างสรรค์ และยั่งยืนโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม”

หรีดกระดาษ carenation เกิดจากคนหนุ่ม 2 คนที่มีเคมีตรงกันคือ “ อยากช่วยสังคม “ บิ๊ก จบจาก สถาบัน MIT ( Massachusetts Institute of Technology) และเป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เคยเป็นนักลงทุนดูแลการเงินให้กับรัฐบาลสิงคโปร์ ( Government of Singapore Investment Corporation ) แล้วกลับมาใช้ความรู้ทางเทคโนโลยีมาเป็นนักพัฒนาการเกษตร โดยก่อตั้งบริษัทผลิตปุ๋ยตรา “ พาริช” ช่วยปรับปรุงวัตถุดิบทางการเกษตรและพัฒนาการเกษตรไทย

 

เอิร์ท – สรณัชญ์ ชูฉัตร (ซ้าย)และ บิ๊ก – ปริชญ์ รังสิมานนท์ 2 หนุ่มที่มีเคมีตรงกันคือ “อยากช่วยสังคม”

นอกเหนือจากงานหลัก บิ๊กก็ชอบอาสาช่วยสังคมมาโดยตลอดตั้งแต่เด็ก “ช่วงเกิดสึนามินั้น ผมได้ร่วมกับเพื่อนร่วมงานตั้งกลุ่ม Thai Charity Advisory Group เพื่อระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ ซึ่งตอนนั้นพวกเราก็สามารถระดมทุนได้กว่า 30 ล้านบาทเพื่อบริจาคไปที่ต่างๆช่วยผู้ประสพภัย”

นี่คือผลงานชิ้นโบว์แดงของ Mr. Fund Raiser หรือ บิ๊ก ปริชญ์ ที่ทำให้สื่อยักษ์อย่าง CNBC ต้องเชิญเขามาสัมภาษณ์สดออกรายการเลย

อีกคนคือ เอิร์ท – สรณัชญ์ ชูฉัตร นักออกแบบที่เคยได้รับรางวัล Red Dot Design Award และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Almoand Design Group บริษัทที่ปรึกษาทางด้านการออกแบบและนวัตกรรม

ด้วยความที่อยากสร้างสังคมดี ๆให้เกิดขึ้นกับโลกใบนี้ ทั้งบิ๊กและเอิร์ทจึงได้ร่วมมือกันตั้งบริษัทแนว Social Enterprise ขึ้น เมื่อเดือนธันวาคม 2561 เพราะเชื่อว่าสังคมอยู่ได้ และองค์กรอยู่ได้ไปพร้อม ๆ กัน โดยเอิร์ธทำหน้าที่เป็น โปรดัก ดีเวลลอปเม้นต์ ส่วนบิ๊กทำหน้าที่บริหาร

“ปกติผมหาเงินไปช่วยบ้านลูกเหรียง เด็กกำพร้าชายแดนภาคใต้อยู่แล้ว และเมื่อปีที่แล้วผมไปร่วมงานศพงานหนึ่งและมองเห็นพวงหรีดที่รายเรียง เลยรู้สึกว่าค่าพวงหรีดในงานศพแต่ละงานน่าจะเป็นเงินที่มากพอสมควร น่าจะเอาไปทำประโยชน์อย่างอื่นได้อีก ผมก็เลยปิ๊งไอเดียว่าทุกวันมีคนเสียชีวิตซึ่งจะต้องซื้อหรีดอยู่แล้ว อยากเปลี่ยนความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ เป็นการทำบุญทุกวันแทน จึงเกิดเป็นไอเดียหรีดกระดาษขึ้นมา” บิ๊กเริ่มเล่าถึงแรงบันดาลใจในการทำหรีดกระดาษ

 

“ถ้าคุณซื้อหรีดกระดาษ 1 อันเท่ากับรนำเงิน 500 บาท ไปเป็นค่าอาหารให้เด็กบ้านลูกเหรียงได้ถึง 10 คน “บิ๊กกล่าว

เอิร์ธ ทำหน้าที่ออกแบบหรีดกระดาษภายใต้คุณสมบัติที่ต้องตอบโจทย์รอบด้าน เพราะนอกจากต้องสวยงามแล้ว ยังต้องสะดวกแก่การใช้งาน มีน้ำหนักเบา แขวนและจัดเก็บง่าย สะดวกต่อการนำไปรีไซเคิล เพราะรถซาเล้งสามารถนำไปขายต่อไม่ทิ้งเป็นภาระให้แก่วัดในการนำไปทิ้งเป็นขยะหรือนำไปบริจาคต่อ

และต้องเป็นพวงหรีดที่ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย เพราะพวงหรีดนี้เลือกใช้กระดาษรีไซเคิลและกระดาษมาจากป่าปลูกและไม่มีโฟมปะปนอยู่เลย แต่ก็กลายเป็นภาระทำให้ต้นทุนที่สูงมากเช่นกัน

“ กระดาษรีไซเคิลกับกระดาษที่มาจากการปลูกป่า ต้นทุนสูงมาก แต่เราก็ยอมเพราะเราอยากช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย” บิ๊กให้ข้อมูล

“ นอกจากการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้กระดาษรักษ์โลก เรายังต้องการให้มี waste น้อยที่สุด จึงนำเศษกระดาษที่ต้องถูกตัดทิ้งจากการขึ้นรูปพวงหรีดมาทำเป็นกล่องชา โดยเราซื้อตรงจากชาวเขาที่ปลูกชาในภาคเหนือ ให้ชาวเขาแพคชาให้ในแบรนด์ carenation เพื่อให้รายได้เสริมกับชาวเขาอีกทางหนึ่ง โดยเมื่อปลายปีที่ผ่านมาผมก็นำชานี้ไปขอบคุณลูกค้าทุกคนที่ทำให้เราได้เริ่มต้นงานที่อยากจะช่วยสังคม “

บิ๊กเล่าว่าการทำหรีดกระดาษนั้นไม่มีโรงงานหรือคนงานเลยสักคน แต่เขาใช้แค่แม่ค้าขายของข้างถนนกับคนในชุมชนมาช่วยกันทำ โดยใช้พื้นที่ว่างของบริษัทเขาเป็นสถานที่ประกอบพวงหรีด

 

“ พวงหรีดกระดาษถูกออกแบบมาให้ง่ายในการทำมาก แค่นำทุกอย่างไปติดตามรูปก็จะออกมาเป็นหรีด 1 พวงแล้ว ไม่ต้องใช้ฝีมืออะไรเลย แต่เป็นโจทย์ที่ยากมากสำหรับคนออกแบบอย่างเอิร์ธ”

ดังนั้นพวงหรีดกระดาษที่สวยงามนี้ “พี่น้อย” แม่ค้าหมูปิ้งริมถนนหน้าออฟฟิศของบิ๊กก็สามารถใช้เวลาหลังปิดร้านมานั่งทำ

“ พี่น้อยขยันทำได้เฉลี่ยเดือนละ 8 พันบาท ถือเป็นรายได้เสริม เพื่อนำเงินไปจุนเจือครอบครัว เพราะแต่ก่อนพี่น้อยขายหมูปิ้งได้แค่ช่วงเช้าและกลางวัน และพี่น้อยก็จะภูมิใจที่หรีดกระดาษทุกอันจากฝีมือพี่น้อยจะถูกส่งรายได้ไปทำบุญ เท่ากับพี่น้อยก็ได้ทำบุญไปด้วย ใครที่มาอยู่ในวงจรหรีดกระดาษถือว่าได้เข้ามาทำบุญทุกคน”

ตอนนี้หรีดกระดาษมีให้ลูกค้าเลือก 7 แบบ ในราคาเริ่มต้นที่ 1,500 – 3,000 บาท เมื่อลูกค้าสั่งหรีดกระดาษแล้ว จะมีการส่งต่อ 20-35 % ของราคาพวงหรีดเพื่อมอบให้กับมูลนิธิและองค์กรต่างๆที่ลูกค้าเลือกได้ รวม 10 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาฯ โรงพยาบาลรามาฯ unicef ยุวพุทธิฯ เครือข่ายพุทธิกา บ้านลูกเหรียง มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิปรารถนาดี เทใจดอทคอม และกลุ่มใครรักป่ายกมือขึ้น

“ทุกครั้งที่ลูกค้าซื้อพวงหรีดจาก Carenation เราจะมีใบเสร็จการบริจาคที่ออกโดยองค์กรนั้น ๆ ส่งให้ลูกค้าภายใน 1-2 อาทิตย์ ซึ่งใบเสร็จการบริจาคนี้ยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย เพราะผมมีประสบการณ์ด้าน fund raising มาแล้ว เรื่องความโปร่งใสจึงสำคัญมาก”

ดังนั้นบิ๊กจึงสรุปยอดการบริจาคผ่านหรีด Carenation ใน เพจ Carenation สังคมแห่งการให้ เป็นระยะ ๆ เพื่อความโปร่งใสไร้คำถาม ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมาได้นำเงินยอดบริจาค 274,350 บาท ไปมอบให้แก่ มูลนิธิต่างๆตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค

 

“ทุกวันนี้ผมทำหรีดกระดาษยังต้องยอมขาดทุน เพื่อให้ธุรกิจนี้เดินหน้าต่อไปได้“ บิ๊กเปรยคำพูดนี้ออกมาขณะที่สีหน้าของเขากลับยิ้มอย่างขำ ๆ ไม่ทุกข์ใจกับคำว่า”ขาดทุน”เลย

นักการเงินอย่างบิ๊กวิเคราะห์ ถึงสาเหตุของการขาดทุนว่า “ เพราะค่าการพิมพ์กระดาษจะแพงมากเมื่อทำน้อยชิ้น โดยเฉพาะถ้าเลือกเฉพาะกระดาษที่รักษ์โลกดวยนั้นต้นทุนจะยิ่งสูง” ปัจจุบันหรีดกระดาษแต่ละแบบจะสั่งพิมพ์เพียงไม่กี่ชุดเท่านั้น เพราะยอดขายเฉลี่ยต่อวันยังน้อยเท่านั้น แต่ถ้าต้องการให้ต้นทุนถูกลงต้องพิมพ์ครั้งละกว่าพันชุด และมียอดขายต่อวันสูงกว่านี้อีกหลายเท่าตัวถึงจะเริ่มมีกำไร ซึ่งบิ๊กก็มั่นใจว่าน่าจะทำได้

“ ตอนนี้ Carenation เพิ่งเริ่มต้น ผมขายหรีดกระดาษได้เฉลี่ยแค่วันละ 7 พวง แต่ก็ได้ส่งเงินประมาณวันละ 3,500 บาท ไปทำบุญอย่างโปร่งใสทุกวัน ไม่มีวันหยุด รวมๆปีหนึงทำบุญเป็นหลักล้านบาท แค่นี้ผมก็ดีใจแล้ว เพราะมันคือการที่ให้ทุกคนมาร่วมทำดีร่วมกัน ผมไม่รู้จักลูกค้าที่มาซื้อพวงหรีด แต่ผมสามารถทำให้คนที่ผมไม่รู้จักนี้มาร่วมทำบุญด้วยกันได้ทุกวัน คนละนิดหน่อยก็ได้ก้อนใหญ่แล้วครับ ผมรู้สึกเหมือน Carenation เป็นพลังอย่างหนึงที่ให้ทุกคนได้ร่วมกันทำดีครับ “ นี่คือคำตอบของผู้ชายคิดบวก

“ผมไม่ใช่มูลนิธิ เพราะมูลนิธิทำกำไรไม่ได้ ผมมาทำในรูปบริษัทเพราะผมต้องการมีกำไร การมีกำไรทำให้บริษัทอยู่ได้และการให้นั้นจะได้ยั่งยืนไม่ต้องพึ่งการบริจาค แต่การทำธุรกิจของผมคือยิ่งขายมากสังคมยิ่งได้มาก ตั้งแต่สิ่งแวดล้อม ชุมชนคนผลิต ยันองค์กรต่างๆที่เข้าร่วม เราเน้นคำว่า สังคมแห่งการให้ เราต้องการนำกำไรไปทำบุญช่วยเหลือสังคมจริง ๆ นอกจากนั้นกำไรที่เกิดจากกิจการก็จะคืนไปให้กับสังคมในรูปแบบต่างๆและนำไปใช้ในการพัฒนาสินค้าใหม่ๆเพื่อตอบโจทย์ต่างๆของสังคมให้มากขึ้นครับ”

 

“หรีดกระดาษจะช่วยคนอย่างยั่งยืน เพราะถ้าธุรกิจนี้เดินไปได้เรื่อย ๆ สมมุติว่าวันหนึงผมตายไป Carenation ก็ยังสามารถที่จะช่วยคนช่วยสังคมต่อไปทุก ๆ วัน มันดีมาก ๆ เลยนะครับ”

การสนทนาจบลงด้วยวาทะของบิ๊กแบบคนที่มีจิตใจอยากช่วยสังคม เป็นแง่คิดให้เราทุกคนต้องหันกลับมาถามตัวเองบ้างว่า “ วันนี้คุณช่วยสังคมแล้วหรือยัง”

หากท่านสนใจท่านสามารถร่วมทำบุญโดยผ่านการสั่งซื้อพวงหรีดได้ที่
1. Website : www.care-nation.com
2. Line : @care-nation (มี @ นำหน้า)

Stay Connected
Latest News