“ตุ๊กแก”หรือคนเหนือเรียกว่า “ต๊กโต” เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่คนทั่วไปรังเกียจเพราะหน้าตาที่น่ากลัว แต่ตอนนี้ตุ๊กแกกำลังเป็นความหวังของคนพิการที่อำเภอสันติสุข จ.น่าน เพราะถ้าเลี้ยงได้ขนาดใหญ่จะทำรายได้มากถึงตัวละ 1 แสนบาท
ดาวใจ จันทะนิล ชาวบ้าน ต. ตู่พงษ์ อ.สันติสุข จ. น่าน ในบ้านของ ปู-ดาวใจ มีคนพิการถึง 3 คือพ่อ แม่และลูกของเอ จึงทำให้เธอต้องรับภาระหนักเป็นทั้งผู้ดูแลพร้อมกับทำงานหาเงินไปด้วย หลังจากที่เดินทางไปเข้าอบรมอาชีพที่ศูนย์ฝึกชีพคนพิการอาเซียน อำเภอเชียงดาว จบมารุ่นที่ 1 ปู-ดาวใจก็กลับมาบ้านเกิดเพื่อประกอบอาชีพเลี้ยงจิ้งหรีด ปลูกผักไฮโดรโปนิคส์และฟาร์มเห็ด ตามที่ได้ฝึกอบรมมานานกว่า 3 ปีแล้ว
แต่จากการติดต่อพูดคุยกับ สมบูรณ์ ปัญญาเหล็ก ผู้เข้าอบรมในศูนย์ฝึกอาชีพรุ่นเดียวกัน ทำให้ปู-ดาวใจทราบว่าสมบูรณ์สามารถต่อยอดธุรกิจจาก “ ฟาร์มจิ้งหรีด” มาสู่ “ มินิฟาร์มตุ๊กแกยักษ์” อยู่ที่ ต.บ้านหล่อ จ.เชียงใหม่ จึงสนใจและเข้าไปศึกษาการเลี้ยงตุ๊กแกยักษ์ที่ฟาร์มของสมบูรณ์
ในฐานะที่ปู –ดาวใจ เป็นหัวหน้าศูนย์บริการอาชีพอิสระคนพิการและครอบครัวระดับพื้นที่ อ.สันติสุข จึงมีหน้าที่หาอาชีพใหม่ ๆ ที่เหมาะกับคนพิการในพื้นที่รับผิดชอบ
“ เป้าหมายของศูนย์คือต้องการสนับสนุนให้คนพิการทำอาชีพอะไรก็ได้เพื่อมีรายได้เพิ่มเติม สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่ต้องไปหวังความช่วยเหลือจากคนอื่น “
ดังนั้นการเลี้ยงตุ๊กแกจึงเป็นอาชีพเสริมที่เหมาะสำหรับคนพิการมาก เพราะลงทุนต่ำ เพียงแค่ทำกรงเล็ก ๆ 1 กรงสำหรับเลี้ยงตุ๊กแก 1 ตัว และข้อดีคืออาหารของตุ๊กแกคือจิ้งหรีดที่เลี้ยงในฟาร์มอยู่แล้วไม่ต้องไปซื้อจากที่อื่น
ปู – ดาวใจเล่าถึงขั้นตอนการเลี้ยงตุ๊กแกว่า ถ้าไม่มีทุนแนะนำให้เริ่มจากไปจับตุ๊กแกจากป่ามาเลี้ยง หรือใครที่มีเงินทุนอยู่บ้างก็สามารถซื้อตุ๊กแกจากชาวบ้านที่ไปจับมาจากป่า ในราคาตัวละ 3,000 บาท ตุ๊กแกจะกินจิ้งหรีดวันละ 4 – 6 ตัวเท่านั้น
ตุ๊กแกโตเต็มที่มีขนาดความยาวตั้งแต่ 15 นิ้วขึ้นไป จะสามารถขายได้ในราคาเริ่มต้นที่ 3,000 บาท แต่ถ้าเลี้ยงจนมีขนาดความยาว 18 นิ้วราคาจะพุ่งขึ้นถึงตัวละ 1 แสนบาท แต่กว่าจะเลี้ยงได้ความยาวขนาดนี้ต้องใช้เวลานาน 6-8 ปี โดยมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อเพื่อนำเซลล์ส่วนหางไปทำสเต็มเซลล์สำหรับความงามหรือผู้บริโภคคนจีนนิยมนำไปทำยาบำรุง
“ ปัจจัยที่จะทำให้ตุ๊กแกตายมีมาก เช่นอากาศเปลี่ยนแปลง ต้องทำความสะอาดกรงทุกวัน และตุ๊กแกโตช้ามาก เลี้ยง 1 ปีลำตัวจะยาวขึ้นแค่ครึ่งนิ้ว และต้องไม่ทำให้มันตกใจ เพราะความยาวจะหดกลับไปอีก “
ปู – ดาวใจศึกษาการเลี้ยงตุ๊กแกจากสมบูรณ์ พร้อมกับมาทดลองเลี้ยงอยู่นานถึง 3 ปี ปัจจุบันเธอเป็นหนึ่งในวิทยากรรับเชิญไปบรรยายเรื่องการเลี้ยงตุ๊กแกให้กับศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการหลายแห่ง และกำลังมีโครงการจให้สมาชิกผู้พิการในศูนย์ที่เธอดูแล หันมาเลี้ยงตุ๊กแกครัวเรือนละ 3 – 5 ตัวเป็นอาชีพเสริม