นับเป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์ เมื่อคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมมือกับ ซีพีเอฟ ร่วมกันพัฒนาสูตรอาหารเหลวสำหรับผู้ป่วยที่สามารถเก็บได้นานเป็นปี เพื่ออำนวยความสะดวกให้ญาติผู้ดูแล หลังจากนี้พร้อมต่อยอดสูตรอาหารเหลวงสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน โรคไต โรคอ้วน
ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า “ความร่วมมือในโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภคที่ รพ.รามาธิบดี ทำร่วมกับบริษัท เตจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด ถือเป็นอีกโครงการนวัตกรรมอาหารเพื่อสังคมที่สามารถผลิตอาหารปลอดภัยต่อผู้ป่วยและอำนวยความสะดวกแก่ทั้งผู้ป่วยและญาติ โดยที่ผ่านมามีการทดลองใช้กับผู้ป่วยใน และพบว่าผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรงขึ้นเป็นที่พอใจของแพทย์ผู้ทำการรักษา จึงเริ่มนำผลิตภัณฑ์แรกคือ ซุปไก่ผสมฟักทองและไข่ ตราสมาร์ทซุป ที่ผลิตจากสูตรของฝ่ายโภชนาการ รพ.รามาธิบดี ออกจำหน่ายแก่บุคคลภายนอก ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยและญาติผู้ดูแล”
ความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นจากข้อจำกัดในการจัดเตรียมอาหารปั่นผสมสำหรับผู้ป่วยใน ของโรงพยาบาลรามาธิบดีที่ต้องการอาหารเหลวหรืออาหารทางสายยาง ซึ่งมีขั้นตอนการจัดเตรียมที่ยุ่งยากและไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย ขณะที่ “อาหารเพื่อผู้ป่วยที่มีสารอาหารครบถ้วน” เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูร่างกายของผู้ป่วยให้กลับมาแข็งแรงโดยเร็ว ทางมหาวิทยาลัยฯจึงพิจารณาถึงภาคเอกชนที่มีศักยภาพในการผลิตอาหารปลอดภัย ตลอดจนมีเทคโนโลยีการผลิตและนวัตกรรมในการยืดอายุผลิตภัณฑ์เข้ามาร่วมทำงานวิจัยคิดค้นอาหารดังกล่าว เพื่อลดขั้นตอนการทำงานและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วย
ด้าน รศ.นพ. สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยปกติจะมีการซื้ออาหารเหลวเพื่อผู้ป่วยจากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูงและต้องนำมาละลายน้ำเอง ขณะที่ซุปไก่ผสมฟักทองและไข่ ที่ทางรพ.รามาธิบดีคิดค้นร่วมกับซีพีเอฟนี้ นอกจากจะมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายในช่วงพักฟื้นอย่างครบถ้วน ยังมีราคาที่ถูกกว่ามาก รวมถึงสะดวกกว่า เนื่องจากสามารถรับประทานหรือโหลดใส่สายยางได้ทันทีโดยไม่ต้องละลายน้ำเอง ลดโอกาสปนเปื้อนของเชื้อโรคลงได้อีกระดับหนึ่ง
นอกจากนี้ อาหารปั่นที่ รพ.ผลิตเองมีอายุการเก็บสั้นเพียง 24 ชั่วโมง โดยต้องแช่เย็นที่อุณหภูมิ 2-6 องศาเซลเซียสตลอดเวลา แต่ทางผู้ผลิตอาหารสามารถใช้นวัตกรรมในการยืดอายุผลิตภัณฑ์ให้สามารถเก็บรักษาในอุณหภูมิปกติได้ยาวนานขึ้นถึง 12 เดือน ลดภาระในการเตรียมและจัดเก็บอาหารปั่นผสมของทางโรงพยาบาล รวมถึงอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยและญาติที่จะหาซื้ออาหารประเภทนี้ได้ง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาลบ่อยครั้ง
“สูตรนี้ได้มาจากอาหารปั่นของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาฯ ซึ่งใช้กับคนไข้มากว่า 30 ปีแล้ว เป็นอาหารที่สามารถสร้างเสริมสุขภาพ มีโปรตีน คาร์โบไฮเดรท เส้นใยครบถ้วนและเกลือต่ำ และทางรามากำลังพัฒนาสูตรอาหารเหลวสำหรับผู้ป่วยกลุ่มอื่น ๆ ทั้งกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน กลุ่มผู้ป่วยโรคไต กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องการลดน้ำหนัก “
สุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจอาหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าการได้เข้าร่วมทำโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภคสำหรับผู้ป่วยกับทางโรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของบริษัท ด้วยเป็นโครงการเพื่อสังคมที่จะสร้างประโยชน์ต่อผู้ป่วย ญาติ แพทย์ และวงการสาธารณสุข โดยซีพีเอฟมีกำลังการผลิตซุปฟักทองและไข่นี้ได้มากถึงวันละ 150,000 ซอง และพพร้อมที่ีจะร่วมมือกับรพ.รามาเพื่อผลิตอาหารเหลวอื่น ๆ อีกในอนาคต