“ซีพีเอฟ” ดันนโยบาย “ บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน” กำหนดให้ทุกกลุ่มธุรกิจในไทยหันมาใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ทำจากวัสดุ “นำกลับมาใช้ซ้ำ นำมาใช้ใหม่ และย่อยสลายได้” ครอบคลุมกิจการทั้งในและต่างประเทศ สนับสนุนการลดพลาสติกตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน
ปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะพลาสติก เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ได้รับความสนใจในระดับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ จึงได้ประกาศนโยบายบรรจุภัณฑ์ฯ โดย ตั้งเป้าหมายบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งหมดของบริษัทจะต้องสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reusable) หรือ นำมาใช้ใหม่ (Recyclable) หรือ นำไปผลิตเป็นสินค้าใหม่ได้ (Upcyclable) หรือสามารถย่อยสลายได้ (Compostable) 100% และจะยกเลิกการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ไม่จำเป็นภายในปี 2568 สำหรับกิจการในประเทศไทย ส่วนกิจการในต่างประเทศจะดำเนินการภายในปี 2573
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายฯ บริษัทได้กำหนดแนวทางปฏิบัติสำคัญ 4 ข้อ คือ
1. ส่งเสริมการใช้วัสดุที่ทดแทนใหม่ได้จากแหล่งที่มีการจัดการอย่างยั่งยืน
2. สนับสนุนการนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle System) หรือนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วไปผลิตเป็นพลังงาน (Energy Recovery) ได้แก่ โครงการรับคืนบรรจุภัณฑ์จากผู้บริโภค (Take-back System)
3.เพิ่มสัดส่วนวัสดุรีไซเคิลตามความเหมาะสมในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ที่สามารถทำได้ โดยไม่กระทบกับคุณภาพ และความปลอดภัยอาหาร
4.มุ่งพัฒนารูปแบบการใช้ซ้ำแทนการใช้ครั้งเดียวสำหรับบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิต หรือ การขนส่ง ตามความเหมาะสม
สุขสันต์ เจียมใจสว่างฤกษ์ ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม และกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ มุ่งมั่นพัฒนาและบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ให้เกิดความยั่งยืน เพื่อให้ใช้ทรัพยากรในการผลิตบรรจุภัณฑ์อย่างคุ้มค่า ซึ่งคาดว่านโยบายนี้จะช่วยลดปริมาณของเสียที่กำจัดโดยการฝังกลบและเผาต่อหน่วยการผลิตลง 30% เมื่อเทียบกับปีฐาน 2558 ตามเป้าหมายความยั่งยืนปี 2563 ของบริษัท ซึ่งในปี 2560 บริษัทสามารถลดปริมาณของเสียได้แล้ว 9.08%
“ซีพีเอฟ มุ่งมั่นพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าและบรรจุภัณฑ์ด้วยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการใช้พลาสติก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจุดที่เป็น Hot spot ตั้งแต่ กลุ่มโรงงานผลิตอาหารสัตว์บก กลุ่มฟาร์มสัตว์น้ำ รวมถึงโรงงานผลิตอาหารของบริษัท” สุขสันต์ กล่าว
ซึ่งนโยบาย “บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน” ยังเป็นการสนับสนุนนโยบายของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งกำหนดให้ทุกกลุ่มธุรกิจที่ดำเนินการในประเทศไทยต้องหันมาใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ทำจากวัสดุ “นำกลับมาใช้ซ้ำ นำมาใช้ใหม่ และย่อยสลายได้” ทั้งหมด ภายในปี 2568 ขณะเดียวกันยังเป็นการสนับสนุนนโยบายขององค์กรด้านความยั่งยืนระดับโลกซึ่งซีพีเอฟเป็นสมาชิกอยู่ เช่น for Ocean Stewardship (SeaBOS) และ World Business Council for Sustainable Development (WBCSD) รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติข้อ 12 การผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ สุขสันต์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ซีพีเอฟ ลดการใช้พลาสติกในกระบวนการผลิตด้วยการลงทุนและพัฒนานวัตกรรมสีเขียวมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดขยะพลาสติกในห่วงโซ่คุณค่าทุกสายธุรกิจ ทำให้ในปัจจุบันสามารถลดการใช้พลาสติกได้มากกว่า 10,000 ตันต่อปี เช่น ในปี 2556 โรงงานผลิตอาหารสัตว์บกของซีพีเอฟ ใช้ Bulk feed tank ทดแทนการใช้ถุงพลาสติกบรรจุอาหารสัตว์ และในปี 2560 สามารถลดการใช้พลาสติกได้ 60% ของการใช้พลาสติกในกระบวนการผลิต หรือคิดเป็นพลาสติกมากกว่า 8,000 ตัน เทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 17,000 ตันคาร์บอน
นอกจากนั้นยังได้ขยายผลไปยังกิจการต่างประเทศได้แก่ เวียดนาม ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์และรัสเซีย และในธุรกิจสัตว์น้ำได้นำ Q-pass tank มาใช้ที่ฟาร์มสัตว์น้ำเพื่อทดแทนการใช้ถุงพลาสติกบรรจุลูกกุ้ง ลดพลาสติกได้มากกว่า 1,600 ตัน เทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 3,600 ตันคาร์บอน
ในส่วนโรงงานแปรรูปเนื้อไก่และอาหารแปรรูป บริษัทมีการพัฒนาการลำเลียงวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิตและการขนส่งสินค้า ด้วยเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ทันสมัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้ลดปริมาณการใช้พลาสติกตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันได้มากกว่า 3,500 ตัน นอกจากนี้ถุงพลาสติกทั้งหมดที่บริษัทใช้ในโรงงานแปรรูปเนื้อไก่และอาหารแปรรูปจะต้องไม่ก่อให้เกิดขยะฝังกลบ ภายในปี 2568
ด้านสุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจอาหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) ของบริษัท กล่าวว่า ซีพีเอฟเป็นบริษัทแรกในประเทศไทยที่นำพลาสติกชีวภาพย่อยสลาย (Poly Lactic Acid หรือ PLA) ซึ่งทำจากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่นข้าวโพด และสามารถย่อยสลายได้เร็วกว่าพลาสติกทั่วไป มาใช้กับบรรจุภัณฑ์อาหารหมูสดและไก่สด
“บริษัทมุ่งสร้างนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารที่ตอบสนองความต้องการให้แก่ผู้บริโภคทั้งด้านการใช้งาน ด้านภาพลักษณ์ ตลอดจนถึงความปลอดภัยด้านอาหาร และการใช้ทรัพยากรให้เกิดคุณค่าที่สุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้” สุขวัฒน์ กล่าว