วิบากกรรม “เต่าทะเล” ยังไม่หมด ล่าสุดพบ microplastics ในกระเพาะอาหาร

เหล่านักวิจัยทางทะเลจากมหาลัย Exeterและ Greenpeace ต้องตะลึงอีกครั้งเมื่อค้นพบ “Micropalstics” พลาสติกขนาดเล็กอยู่ในท้องของเต่าทะเล จากตัวอย่างที่นำมาจากมหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

 

จากความร่วมมือระหว่างนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Exeter กับห้องปฏิบัติการทางทะเล Plymouth และห้องปฏิบัติกาวิจัยของ Greenpeace  เพื่อค้นหาอนุภาคสังเคราะห์ที่รวมถึงพลาสติกขนาดจิ๋วที่มาจากถุงพลาสติก บรรจุภัณฑ์พลาสติกอาหารปรุงสำเร็จ เเละหลอดดูดพลาสติกในท้องทะเล โดยขยะพลาสติกเหล่านี้เเยกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แต่ไม่ย่อยสลาย หรือรู้จักกันในชื่อ Micropalstics ซึ่งพบว่าอยู่ในท้องเต่าทะเลจำนวน 102 ตัว ทั้ง 7 สายพันธุ์ในมหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

 

มีการวิจัยค้นพบใหม่ว่ามี พลาสติกขนาดเล็กที่เรียกว่า Micropalstics อยู่ในท้องของเต่าทะเล ทั้งในมหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

โดยพบเศษชิ้นส่วนขยะกว่า 800 ชิ้น ในท้องของสัตว์ทะเลที่นำมาวิจัยในครั้งนี้ นักวิจัยยังได้เตือนว่าจำนวนของชิ้นส่วนขยะอาจจะสูงกว่า 20 เท่า ทั้งนี้ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์การอนุรักษ์แห่งมหาวิทยาลัย Exeter และนักเขียนงานวิจัยอาวุโส Brendan Godley ได้กล่าวในกับสำนักข่าว CNN ว่า “อนุภาคและเส้นใยที่พบโดยทั่วไปย้ำให้เห็นถึงปัญหาในทะเลและเราต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาดต่อการใช้พลาสติกในทางที่ผิด”

 

จากการชันสูตรซากเต่าทะเลในห้องปฏิบัติการที่ตั้งอยู่ในรัฐนอร์ธแคโรไลนา ไซปรัสตอนเหนือ และควีนส์แลนด์ ในออสเตรเลีย พบว่าในกระเพาะของเต่ามีเศษขยะที่หลากหลาย เช่น เศษชิ้นส่วนยางรถ บุหรี่ เสื้อผ้า เชือกและอวน โดย Pennie Lindeque นักวิทยาศาสตร์อาวุโสแห่งห้องปฏิบัติการทางทะเล Plymouth เสริมว่า “การศึกษาครั้งนี้เป็นเครื่องยืนยันว่าเราต้องลดปริมาณขยะพลาสติกที่ตกไปสู่ท้องทะเล และรักษามหาสมุทรให้สะอาด เพื่ออนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานของเราในอนาคต”

 

ส่วน David Santillo นักวิจัยจาก Greenpeace แห่งมหาวิทยาลัย Exeter กล่าวว่า “จากเดิมเราทราบว่าอุปกรณ์จับปลาและการสำลักชิ้นส่วนพลาสติกขนาดใหญ่ล้วนเป็นภัยคุกคามต่อเต่าทะเล แต่การศึกษาครั้งนี้ได้เผยให้เห็นว่าเต่าจากมหาสมุทร 3 แห่ง ล้วนแต่มี microplastics ในกระเพาะทั้งสิ้น ซึ่งสะท้อนถึงปัญหามลพิษของพลาสติกที่มากเกินกว่าที่คาดไว้”

 

แต่ Emily Duncan นักเขียนหลักแห่งศูนย์นิเวศวิทยาและการอนุรักษ์แห่งมหาวิทยาลัย Exeter ได้ตั้งข้อสังเกตว่าผลกระทบของการกินเศษพลาสติกในเต่านั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัดนัก เนื่องจาก microplastics สามารถเคลื่อนผ่านลำไส้ของสัตว์ได้โดยไม่ไปอุดตันทางลำเลียง และตอนนี้ทุกฝ่ายก็ไม่แน่ใจว่าเต่ากินเศษพลาสติกเข้าไปอย่างไร แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงผลกระทบของการกิน microplastics ต่อระบบอวัยวะของสัตว์น้ำ เช่น การลำเลียงไวรัสหรือแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายซึ่งอาจจะมีผลกระทบในระดับเซล

 

เศษซากที่ได้จากการผ่าท้องของเต่าทะเลที่เสียชีวิต พบว่าในกระเพาะอาหารเต็มไปด้วย เศษพลาสติก หนังยางและลูกโป่ง

 

Godley กล่าวเสริมว่า ทีมวิจัยยังทำงานวิจัยกับเต่าหนุ่มในออสเตรเลียอย่างต่อเนื่องเพื่อหาผลกระทบจากสารเคมีในเต่า เขาตั้งข้อสังเกตว่าหนึ่งในภัยคุกคามของพลาสติกที่ซ่อนอยู่ที่เป็นไปได้คือการแพร่กระจายของสารเคมีอื่นๆ ผ่านห่วงโซ่อาหาร โดยอัตราการปนเปื้อนที่สูงที่สุดพบในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แต่นักวิจัยยอมรับว่าขนาดตัวอย่างและวิธีการของการศึกษาไม่เอื้อให้มีการเปรียบเทียบทางภูมิศาสตร์อย่างละเอียดนัก

 

ในแต่ละปีคาดว่ามีปริมาณขยะพลาสติกที่ทิ้งลงสู่มหาสมุทรราวๆ 4.8 – 12.7 ล้านตัน ซึ่งคาดการณ์ว่ามีขยะพลาสติกราว 3 พันล้านชิ้นลอยอยู่บนผิวน้ำ โดย Dilyana Mihaylova ผู้จัดการโครงการพลาสติกทางน้ำแห่งองค์กรการกุศล Fauna & Flora International กล่าวกับ CNN ว่า

“ไม่แปลกใจกับผลการศีกษานี้เลย” เขาเสริมว่า “มลพิษของ microplastics กระจายไปในมหาสมุทรและเมื่อสัตว์น้ำกินพลาสติกเหล่านี้ไป สารเคมีต่างๆที่ออกมาจากพลาสติกเป็นสาเหตุให้เกิดอันตรายต่อชีวิตพวกมัน การที่เรารู้ว่าพลาสติกเหล่านั้นมาจากไหนจะเป็นส่วนสำคัญในการหยุดยั้งปริมาณพลาสติกที่ลงสู่มหาสมุทรได้”

 

Credit:https://edition.cnn.com/2018/12/05/world/microplastic-pollution-turtles-study-intl-scli/index.html?no-st=1545713617

Stay Connected
Latest News