“ต้นกล้าหญิง” พฤติพร จินา ผู้ขับเคลื่อนงานสังคม ควบคู่กับการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืน

เพราะแนวคิด “ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Business)” เป็นสิ่งที่ตอกย้ำ และทำให้ “ต้นกล้าหญิงพฤติพร จินา” ต้นกล้าชุมชนของมูลนิธิเอสซีจี ยึดมั่นและใช้แนวทางดังกล่าวในการขับเคลื่อนงานสังคมไปพร้อมๆ กับการดำเนินธุรกิจ

 

การทำงานครั้งแรก เปิดมุมมองธุรกิจเพื่อสังคม

“ต้นกล้าหญิง” เริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า พื้นเพเดิมเกิดที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เพราะคุณพ่อไปรับราชการอยู่ที่นั่น จนอายุได้ราว 10 ขวบ จึงย้ายมาอยู่ที่ อ.แม่ทา จ.ลำพูน ซึ่งเป็นบ้านเดิมของคุณแม่ พอเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้โควต้านักกีฬา เข้าศึกษาต่อในระดับปริญาตรีสาขาคอมพิวเตอร์บริหารธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทิรน์ จ.เขียงใหม่

 

หลังจากที่เรียนจบ ได้เข้าทำงานกับบริษัทออแกไนซ์เซอร์แห่งหนึ่ง ในตอนนั้นคำว่า “ธุรกิจเพื่อสังคม” หรือ “กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise)” ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก  แต่ด้วยพันธกิจขององค์กรนี้มุ่งเน้นให้คำปรึกษาด้านธุรกิจที่มีมิติของชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงทำให้ตัวเองรู้สึกว่าแนวคิดดังกล่าว เป็นการเปิดโลกเปิดมุมมองเกี่ยวกับธุรกิจเพื่อสังคมตั้งแต่นั้นมา

 

“การทำงานในตอนนั้นมีความสุขมาก แต่วันหนึ่งเกิดคำถามขึ้นกับตัวเองว่าถ้าเราไม่มีเงินเราจะอยู่ได้ไหม เพราะบริบทชุมชนที่เคยอยู่มาตั้งแต่เด็ก พืชผักสวนครัวต่างๆ ไม่ต้องซื้อ หาได้ในชุมชน แต่เมื่อเข้ามาอยู่ในสังคมที่มีความเป็นเมืองจำเป็นจะต้องซื้อทุกอย่างเพื่อให้ดำรงชีวิตต่อไปได้ ตอนนั้นยอมรับว่าตัวเองคิดเรื่องเหล่านี้หนักมาก จนกระทั่งตัดสินใจลาออกจากงาน เพื่อหาคำตอบ และทดลองกับคำถามที่ตัวเองตั้งขึ้น ตรงนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของชีวิต”

 

ลาออกจากงาน เริ่มหาค้นหาคำตอบ

 

หลังจากที่ลาออกมาอยู่บ้าน “ต้นกล้าหญิง” บอกว่า อยู่ได้แค่เดือนเดียวเท่านั้น เพราะเงินหมด ทำให้ต้องกลับไปทำงานอีกครั้ง โดยไปเป็นเจ้าหน้าที่ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ทำงานเกี่ยวข้องกับธุรกิจและวิสาหกิจเพื่อสังคม

 

แต่เมื่อทำงานอยู่ได้ระยะหนึ่ง รู้สึกว่างานที่ทำอยู่ยังไม่ได้ตอกย้ำความเป็นตัวตนมากเท่าไหร่ จึงตัดสินใจลาออกมาเรียนต่อในหลักสูตรบัณฑิตอาสาสมัคร (บอ.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งทำให้มิติของสังคม และการพัฒนาชัดเจนมากขึ้น อีกทั้งด้วยความสนใจในประเด็นเหล่านี้ จึงได้มีโอกาสลงพื้นที่ไปเรียนรู้เกี่ยวกับ “วนเกษตร” ของ “ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม”

 

“ตลอดระยะเวลากว่า 7 เดือนของการเรียนรู้เกี่ยวกับวนเกษตร ทำให้ค้นพบคำตอบที่ตัวเองพยายามค้นหา และทดลองทำมาตลอด โดยเฉพาะสิ่งที่ชาวบ้านยังทำอยู่เป็นวิถีชีวิต ทั้งการพึ่งตัวเอง ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก และต้องมีการอนุรักษ์ การรักษา จึงมองว่าในชีวิตไม่ใช่แค่การมีเงินเท่านั้น แต่การมีอยู่มีกินก็สำคัญ ตรงนี้ถือเป็นการเปิดกรอบความคิดของตัวเอง ทั้งยังเป็นจุดหมายใหม่ของชีวิต”

 

ค้นพบคำตอบ สู่การทดลองด้วยตัวเอง

 

หลังจากนั้นจึงกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านอีกครั้งหนึ่ง โดยครั้งนี้ “ต้นกล้าหญิง” กลับมาทำเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกทุกอย่างกิน กินทุกอย่างที่ปลูก แต่แล้วอยู่ได้ราว 6 เดือน เพราะต้นไม้ตายหมด เงินทุนที่มีอยู่ก็เริ่มหมดไปตอนนั้นเราจึงลองถอดบทเรียนจากสิ่งที่ทำ ทำให้รู้ว่าตัวเองมีแต่องค์ความรู้ แต่ไม่ทักษะด้านการเกษตรเลย

 

“หญิงตัดสินใจกลับไปทำงานอีกครั้งหนึ่ง และการกลับไปครั้งนี้ถือว่ามีเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้น คือ ต้องเป็นงานที่เพิ่มความรู้และทักษะที่ตัวเองต้องการนั่นคือ การเกษตร โดยในตอนนั้นถือว่าโชคดีมาก เพราะได้ทำงานที่ Green Net และถูกส่งไปอยู่ที่ จ.ยโสธร ซึ่งเป็นศูนย์เกษตรอินทรีย์ที่เราได้เรียนรู้ ทดลอง ลองผิดลองถูกหลายๆ อย่าง จน 3 ปี ผ่านไป หญิงจึงขอลาออกเพื่อกลับมาอยู่บ้าน มาทำการเกษตรของตัวเอง”

 

การกลับบ้านรอบนี้ถือว่าตัวเองอยู่ได้นานมาจนถึงปัจจุบัน เพราะนอกจากองค์ความรู้ ทักษะที่มีติดตัวกลับมาแล้ว สิ่งสำคัญคือ การมีเครือข่าย ทั้ง มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ วิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่มีหลักสูตรเอาคนรุ่นใหม่กลับบ้าน ภายใต้โจทย์ที่ต้องทำเกษตรให้สามารถอยู่รอดได้ ทั้งยังมีแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคมอยู่ด้วย ถือว่าตรงกับความชอบของตัวเองตั้งแต่การทำงานครั้งแรก เพราะตัวเองเชื่อว่าธุรกิจเพื่อสังคมและกิจการเพื่อสังคมจะตอบโจทย์ทุกอย่างได้

 

ร่วมทำงานกับทุกเครือข่ายเพื่อเป้าหมายเรื่อง SE

 

“เมื่อกลับมาเรียนรู้ชุมชนด้วยตัวเอง ด้วยประสบการณ์ที่ตัวเองมีคือ การให้คำปรึกษา คำแนะด้านธุรกิจ โดยเฉพาะในการทำงานครั้งแรก ทำให้เมื่อเจอผลิตภัณฑ์ชุมชนรู้ว่าจะต้องต่อยอดอย่างไร อย่างในลุ่มน้ำทามีสินค้าเป็นจำนวนมาก เพียงแค่ไม่ได้เชื่อมโยงกัน เพราะต่างคนต่างทำ แม้ว่าคนรุ่นใหม่จะกลับมาอยู่บ้านเป็นจำนวนมาก แต่ก็แอบทำของใครของมัน”

 

จากประสบการณ์ สู่การเชื่อมโยงคนในชุมชน

 

ตอนนั้น “ต้นกล้าหญิง” มองว่า ต้องทำให้ผลิตภัณฑ์ และเครือข่ายคนรุ่นใหม่เกิดการเชื่อมโยงกัน จึงออกไปเยี่ยมเพื่อนๆ พี่ๆ ที่กลับมาอยู่บ้าน ว่าทำอะไรกันอยู่ จนวันหนึ่งจะมีโรงไฟฟ้าขยะเข้ามาตั้งในพื้นที่ชุมชน ทุกคนทุกฝ่ายเริ่มมีความกังวลเกิดขึ้น จึงทำให้เกิดการรวมตัวกันของเครือข่าย ที่มีทั้งคนรุ่นใหม่ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ในการร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ ด้วยการเอาข้อมูลที่มีอยู่มาเชื่อมโยงกัน อธิบายสร้างความเข้าใจผ่านกิจกรรมและเวทีต่างๆ

 

แต่การขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ ชาวบ้านกลับไม่มีส่วนร่วมเท่าที่ควร ฉะนั้นสิ่งที่คิดกันขึ้นมาในตอนนั้นคือ การแห่ช้างเผือกตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเหตุผลที่เราทำเรื่องนี้คือ เอาเย็นดับร้อน อย่างเมื่อมีเรื่องร้อน เช่นการที่จะมีโรงไฟฟ้าขยะเข้ามาในพื้นที่ แต่ทุกคนไม่มีส่วนร่วม ดังนั้นเราต้องทำงานเย็นควบคู่กันไป ผ่านกระบวนการสร้างมีส่วนร่วมในชุมชน ทำให้ทุกคนรู้สึกความเป็นเจ้าของร่วมกัน และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นต้องร่วมกันแก้ไข”

 

“การทำงานแบบเอาเย็นดับร้อน หรือร้อนก็ทำ เย็นก็ทำ ถือเป็นการทำให้คนในชุมชนเห็นปัญหา และร่วมกันหาทางออก ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ของพลเมืองที่ดี ในขณะเดียวกันยังเชื่อมโยงบริบทชุมชน พื้นที่ ที่ร่วมกันสะท้อนความต้องการ ตระหนักถึงปัญหา และร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งที่ดี ควบคู่ไปกับการสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นให้อยู่ดี กินดี พึ่งตัวเองได้ ถือเป็นเป้าหมายและยุทธ์ศาสตร์ที่สำคัญที่ทำให้คนในพื้นที่ลุกขึ้นร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาท้องถิ่นของตัวเองอย่างมีส่วนร่วม”

 

จากการทำงานชุมชุมเล็กๆ สู่การเป็นต้นกล้าชุมชน มูลนิธิเอสซีจี

 

ถ้าถามว่ารู้จักโครงการต้นกล้าชุมชน มูลนิธิเอสซีจีได้อย่างไรนั้น “ต้นกล้าหญิง”บอกว่า รู้จักผ่านพี่ๆ เครือข่ายที่ทำงานด้านอาสามัคร เพราะพี่ๆ น้องๆ ที่ทำงานร่วมกันจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันอยู่ตลอดเวลา

 

“สิ่งที่ทำให้เราตัดสินใจที่สมัครโครงการต้นกล้าชุมชน เพราะแนวคิดตรงกัน ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงการสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังสนับสนุนเบี้ยยังชีพให้แก่คนทำงาน ทำให้ตัวเขาเองรู้ว่าในการทำงานที่เกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนมีความมั่นคงตลอดระยะเวลา 3 ปี”

 

 

ต้นกล้า หญิงให้องค์ความรู้พันธุกรรมท้องถิ่น ผ่านเมนูอาหารกับเด็กในพื้นที่

 

“ต้นกล้าหญิง” ส่ง “โครงการสืบสานและอนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่น ผ่านเมนูอาหารในลุ่มน้ำแม่ทา จ.ลำพูน” ที่มุ่งเน้นการสืบสานและอนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่นผ่านเมนูอาหาร ผ่านการรวบรวมข้อมูลเป็นองค์ความรู้ และขยายผลต่อไปถึงการให้ชุมชนพึ่งตนเองด้านอาหาร มีอาหารที่ปลอดภัยบริโภค เช่น รวบรวมเมนูพื้นบ้านและเมนูอาหารที่เหมาะสมกับฤดูกาล ถ่ายทอดสู่เด็กๆ และสื่อสารต่อผู้บริโภค ซึ่งมี “วิเศษ สุจินพรัหม” ผู้ประสานองค์กร โครงการปฏิรูปการเกษตรและพัฒนาชนบทเป็นพี่เลี้ยง”

 

พี่วิเศษ พี่เลี้ยงต้นล้าหญิง

 

“ภายใต้โครงการต้นกล้าชุมชนทำให้หญิงได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ มากมาย ทั้งมิติธุรกิจ มิติทางด้านสังคม โดยเฉพาะการทำธุรกิจที่ใส่ใจหรือให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่หญิงสนใจตั้งแต่แรกแล้ว รวมถึงเรื่องของการตลาด การสร้างแบรนด์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่สำคัญยังทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยเฉพาะเครือข่ายนักพัฒนาด้วยกัน”

 

ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของชุมชน จากการออกบูธ ใสถานที่ต่างๆ เป็นรายได้ของวิสาหกิจชุมชน “รักพูน พูน SE

 

“ไม่เพียงเท่านี้ยังทำให้เราเห็นว่าเรื่องการพัฒนาและงานด้านธุรกิจเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกันได้ และต้องมีการส่งต่อองค์ความรู้ที่มีคืนกลับไปสู่ชุมชน เครือข่ายต่างๆ หรืออย่างการไปดูงานที่ญี่ปุ่นทำให้เรารู้ว่าที่มาที่ไปว่า กว่าเขาจะสำเร็จได้นั้น เกิดจากความร่วมมือ ซึ่งเขาเริ่มต้นจากปัญหา ที่ร่วมกันลงมือแก้ไขด้วยตัวเองก่อน และค่อยๆ พัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างการมีส่วนร่วม สร้างเครือข่าย ขยายความร่วมมือ จนประสบความสำเร็จมาอย่างทุกวันนี้”

 

การที่จะเป็นต้นกล้าชุมชนได้นั้น “ต้นกล้าหญิง” บอกว่า สิ่งที่สำคัญคือ

1.“ความตั้งใจ” ตั้งใจที่จะกลับมาอยู่บ้าน ต้องมาเรียนรู้วิถีชีวิต บริบทชุมชน
2.“ต้องเห็นปัญหาในชุมชน” ที่อยากมีส่วนร่วม อยากขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขให้ดีขึ้น หรืออาจจะเรียกว่า “การเอาธุระกับสังคม”
3.“การอุทิศที่จะทำ” ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัย โดยต้องทำให้เป็นเป้าหมายชีวิต และเป้าหมายที่จะทำให้กลายเป็นเรื่องเดียวกันอย่างชัดเจน
4.“พร้อมที่จะเรียนรู้” และเปิดรับกับสิ่งต่างๆ ในสังคม
5.“มององค์ประกอบในการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน” โดยเฉพาะกลุ่มอื่นๆ เครือข่ายอื่นๆ ในการร่วมกันขับเคลื่อน

 

ปัจจุบันเครือข่ายนิเวศน์ลุ่มน้ำแม่ทา ได้มีการต่อยอดและจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน “วิสาหกิจแม่ทา SE” เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการทำงานตลอดทั้งห่วงโซ่ ทั้งกลุ่มผู้ส่วนได้ส่วนเสีย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยมีศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิเวศน์ลุ่มน้ำแม่ทาเป็นตัวกลางในการขับเคลื่อนกระบวนการ เพื่อให้องค์ประกอบต่างๆ เกิดการเชื่อมโยงร้อยเรียง ทั้งการรวบรวมองค์ความรู้ และการขับเคลื่อนงานต่างๆ ให้เกิดขึ้น พร้อมกับการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชน โดยในตอนนี้ได้ริเริ่มทำร้านแม่ทา SE เพื่อรวบรวมและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ อาหารต่างๆ จากสมาชิกในเครือข่าย ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการในเร็วๆ นี้

 

ขณะเดียวกันได้มีการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ของเครือข่าย เพื่อให้สามารถเก็บไว้ได้นานขึ้น มีฉลากระบุคุณลักษณะของสินค้าให้มีมาตรฐานขึ้น ทั้งยังขยายกลุ่มสมาชิกเครือข่ายผู้ผลิต ไปยังอาสาสมัครในชุมชนกลุ่มเป้าหมาย เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้มีความแข็งแรง

 

อย่างไรก็ตาม ในการทำงานของศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิเวศน์ลุ่มน้ำแม่ทา และวิสาหกิจแม่ทา SE จะดำเนินงานควบคู่กันไป โดยมุ่งเน้นความเกื้อกูลกัน ด้วยการแบ่งกำไรที่ได้จากการดำเนินธุรกิจไปขับเคลื่อนงานกระบวนการในชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม อันเป็นเป้าหมายของ “ต้นกล้าหญิง” ในการขับเคลื่อนชุมชน ท้องถิ่น ให้มีความเข้มแข็ง และยั่งยืนต่อไป

 

มูลนิธิเอสซีจี ร่วมสร้างนักพัฒนา ก้าวที่กล้าเพื่อชุมชน…

Stay Connected
Latest News