ภูมิศาสตร์นครนายก เสมือนโรงเรียนทางธรรมชาติขนาดใหญ่ทั้งภูขาแหล่งน้ำ เปิดรับนักท่องเที่ยว คนในท้องถิ่นให้ซึมซับความหลากหลายทางชีวภาพของธรรมชาติ ซึ่ง โชคนิธิ คงชุ่มหรือเก่ง เห็นว่าจะต้องมี “เครือข่ายเยาวชน เพื่อการอนุรักษ์พื้นที่ให้ยั่งยืน”
ด้วยพื้นฐานครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่ของ โชคนิธิ คงชุ่ม หรือ เก่ง เป็นครู จึงเปิดโอกาสให้เก่งลูกในวัยเด็ก มีประสบการณ์หลากหลายผ่านทางกิจกรรมการอ่านหนังสือ เล่นดนตรี รวมถึงท่องเที่ยวทางธรรมชาติในพื้นที่บ้านเกิด เมื่อเรียนถึงมัธยมปลายเก่งก็รู้ตัวว่าชอบงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาก จึงเลือกสอบเข้าเรียนระดับปริญญาตรี สาขาวิชาชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ที่ไทรโยค โดยสาขาวิชาดังกล่าวเป็นชีวะประยุกต์ เจาะลึกถึงระบบเชิงนิเวศน์ ป่าไม้ สิ่งแวดล้อมศึกษา โดยเฉพาะ
“พอมาเรียนมหาวิทยาลัยในสาขาที่ชอบและใช่กับชีวิตตัวเอง ผมจึงตั้งกลุ่มอนุรักษ์ พร้อมทั้งเขียนโครงการต่างๆ ทั้งเรื่องค่ายและการอนุรักษ์ตั้งแต่ปี 1 โดยจันทร์ถึงศุกร์เรียนตามหลักสูตร ส่วนเสาร์อาทิตย์ไปใช้ชีวิตนอกห้องเรียนเป็นกิจกรรมอาสาโดยตั้งกลุ่มกับเพื่อนๆ ในจากหลากหลายมหาวิทยาลัย รวมถึงเพื่อนๆตั้งแต่เรียนประถมที่สนใจเรื่องนี้ ใช้ชื่อ “กลุ่มใบไม้”
หลังจากนั้น เก่งมีโอกาสได้ทำกิจกรรมที่รัก ได้ทำงานร่วมกันกับชุมชน ตลอดจนได้เห็นปัญหาคนกับป่า เรื่องสัตว์ป่าต่างๆ จากการทำงานกับเครือข่ายอื่นๆ เช่น มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ที่เก่งได้เรียนรู้แบบลงลึก ทั้งงานอนุรักษ์ งานอาสา และได้มองเห็นปัญหาในพื้นที่ ไม่ใช่เพียงเรื่องกิจกรรมเท่านั้น
“เมื่อช่วงใกล้จะเรียนจบเกิดจุดเปลี่ยนในการคิด ผมตั้งคำถามกับเพื่อนๆ ว่า เมื่อเราเรียนจบปริญญาตรีแล้วจะทำอย่างไร เลยขอพ่อแม่ว่า หลังจากเรียนจบยังไม่ทำงานอะไร แต่จะทำงานกลุ่มใบไม้ 1 ปี โดยผมและเพื่อนได้ตั้งเงินเดือน ได้บริหารคน สร้างอาสาสมัครออกไปทำงานอาสาร่วมกับชุมชน ขณะเดียวกันผมและเพื่อนๆ ในกลุ่มใบไม้ทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐ ในเขตอุทยานแห่งชาติรักษาพันธุ์สัตว์ป่า”
แต่แล้วปัญหาเกิดขึ้น เพราะยังบริหารงานไม่ค่อยเป็น ส่งผลให้เงินทุนที่ระดมมาได้กับเพื่อนๆ นั้น หมดไป เก่งจึงได้ปรับโครงสร้างการบริหารใหม่ด้วยการเพิ่มงานประเภทการรับจัดค่าย การเป็นวิทยากร เพื่อให้กลุ่มใบไม้มีรายได้เพิ่มเติม สำหรับการดูแลทีมงาน
พบมูลนิธิเอสซีจี “เชื่อมั่นคุณค่าคน”
“ผมเปิดเฟซบุ๊คดูเห็นโครงการต้นกล้าชุมชน ของมูลนิธิเอสซีจีน่าสนใจ แต่เราก็ไม่รู้จักมูลนิธิฯ มาก่อน แต่เราก็ลองสมัครเข้าไปเลย โดยที่ผมก็ไม่มีใครที่รู้จักเพื่อจะเป็นที่ปรึกษา เมื่ออ่านแล้วผมก็เขียนรายงานเสนอเลย ซึ่งก็ผ่าน สิ่งที่ผมประทับใจคือ โครงการต้นกล้าฯ สนับสนุนคนทำงาน คือมีเงินเดือนให้คนที่กลับบ้านไปทำงานเพื่อสังคม สอดรับกับโครงการที่เราทำอยู่ แตกต่างจากแหล่งทุนที่เราขอจะให้เฉพาะเงินที่เราทำกิจกรรม ไม่ดูแลคนทำงาน”
เก่งยอมรับว่า การมาเจอโครงการต้นกล้าชุมชน มูลนิธิเอสซีจี คือใช่เลยกับสิ่งที่ต้องการ !
นอกจากนี้โครงการต้นกล้าฯ ยังให้อิสระในการคิด ขอเพียง “คุณกลับบ้านไป กลับชุมชนคุณ มองปัญหาให้ออก แล้วลุกขึ้นมาทำงาน” ขอให้ตรงกับแนวทางที่วางไว้ คณะกรรมการเห็นชอบ ก็ผ่านเข้าโครงการได้
“นักพัฒนาสังคม เราพยายามต่อสู้เรื่องสวัสดิภาพของคนทำงานทางด้านนี้ด้วย เพราะที่ผ่านมาเรารับเป็นวิทยากรก็เหมือนการรับงานอิสะ ต้องขยัน ต้องสู้ ซึ่งเราก็เจอปัญหาพี่ๆ น้องๆ ที่ทำงานเพื่อสังคม ถ้าวันหนึ่งเขามีอายุมากขึ้น แก่ตัวไป ทำงานได้น้อย ถึงเวลานั้นแทบจะไม่มีสวัสดิการใดๆ มาจุนเจือชีวิตเลย ดังนั้นโครงการต้นกล้าชุมชนจึงตอบโจทย์มาก”
เก่งกล่าวเพิ่มเติมต่อไปว่า จากการร่วมงานกับมูลนิธิเอสซีจี ได้มองเห็นโมเดลที่มูลนิธิเอสซีจีดูแลต้นกล้าชุมชน สอดคล้องกับความเชื่อของมูลนิธิฯ ที่ว่า “เชื่อมั่นในคุณค่าคน” ถือเป็นการตอบโจทย์คนทำงานเพื่อสังคมมากๆ
สิ่งที่เปลี่ยนไปสำหรับเก่งหลังจากเป็นต้นกล้าชุมชนคือ การมีเพื่อนที่ทำงานกับชุมชนหลากหลายมิติ ซึ่งมีสถานะที่คล้ายกันคือเป็นคนหนุ่มสาว กลับสู่ชุมชนตัวเองพัฒนาสังคม ซึ่งความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในลักษณะ การให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
“การที่เพื่อนเราอยู่ลำพูนลุกขึ้นมาทำตลาดเกษตรอินทรีย์ เพื่อนที่อยู่ทางใต้ เพื่อนที่อยู่ทางอีสานทำผ้ามัดย้อมขาย สิ่งเหล่านี้เสมือนกำลังใจที่มีให้แก่กัน ถือเป็นประสบการณ์ในการทำงานแต่ละพื้นที่ที่นำมาแชร์กันได้ ซึ่งผมพยายามใช้เครือข่ายให้หนุนเสริมการทำงานระหว่างกัน อย่างเพื่อนผมทำของขายเป็นสมุดทำมือ เป็นของที่ระลึก เพื่อเป็นรายได้ให้ชุมชน ก็สั่งผ้ามัดย้อมจากพี่ต้นกล้าชุมชนรุ่น 1 พี่นะโม ถือเป็นมือโปรด้านการมัดย้อมเลย ก็เป็นการแลกเปลี่ยนกัน”
อีกมุมหนึ่งเป็นเรื่องการพัฒนาศักยภาพ เพราะ 1 ปี จะเจอกันประมาณ 2 เวที พร้อมทั้งเชิญวิทยากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาถ่ายทอดองค์ความรู้ในสิ่งที่ต้นกล้าชุมชนยังขาดอยู่ เช่นเรื่องการสร้างแบรนด์ การคิดราคา ซึ่งเก่งยอมรับว่า เรื่องเหล่านี้เขาเองคิดภาพไม่ออกเลยว่า การนำของจากชุมชนมาขายต้องตั้งราคาเท่าไหร่ ทำการตลาดอย่างไร ฯลฯ นับเป็นการเปิดมุมมองในเรื่องนี้มาก
“ยกตัวอย่างเรื่องโลกออนไลน์เป็นเรื่องใหม่มากสำหรับผม เพราะผมเองอยู่กับเด็กๆ การอนุรักษ์ การเดินป่าเท่านั้น จึงไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องขายค้า จนกระทั่งทำเพจในการสื่อสาร ค้าขาย และก็พบว่าหากเรามีเนื้อหาที่ดี ทำผลิตภัณฑ์ที่ดี บนออนไลน์ก็จะเป็นหนึ่งในช่องทางการสื่อสารที่ไปได้ไกล หรือวันที่เราไปดูงานจากผู้เชี่ยวชาญ ยิ่งเป็นการตอกย้ำสิ่งที่เราสนใจเบื้องต้นว่าการสื่อสารแบบนี้มีพลังมาก สร้างความเข้าใจให้เรา สุดท้ายเป็นเรื่องความพอเพียง ซึ่งผมรู้สึกว่าคลิกมาก เพราะการทำงานกับชุมชนกับเด็ก หากไม่มีจุดพอแล้ว ก็จะต้องการไปเรื่อยๆ เหมือนภาคธุรกิจ ทำให้ผมสบายใจว่าสิ่งที่มูลนิธิฯ ทำและเราก็ทำด้วยไม่ใช่การเดินทางไปสู่ธุรกิจ แต่เป็นการนำหลักธุรกิจมาปรับใช้ว่า ทำอย่างไรจะให้ชุมชนเดินไปได้ ผมเองก็ทำหลายอย่างในชุมชนมากขึ้น”
ส่งต่อการอนุรักษ์สู่เครือข่ายเยาวชนนครนายก
ต้นกล้าเก่งในวันนี้ยังเดินหน้าเรื่อง “เครือข่ายเยาวชนนครนายก” รักสิ่งแวดล้อม ตามโครงการที่เสนอกับมูลนิธิเอสซีจีอย่างเต็มกำลัง โดยนำความรู้จากกิจกรรมต่างๆ มาปรับใช้ เช่น เรื่องการสื่อสาร การจัดทำฐานข้อมูลในเรื่องต่างๆ เช่น เครือข่ายต้นกล้าชุมชน เครือข่ายเยาวชนเพื่อการอนุรักษ์ เครือข่ายเยาวชนอื่นๆ เป็นต้น
เก่งขยายความต่อเนื่องว่า คนหนุ่มสาวที่จะเป็นต้นกล้าชุมชน ทำงานในชุมชน ควรจะมีองค์ประกอบคือ
1.ต้องมีความชัดเจนว่าเราจะกลับบ้านกลับชุมชนเพื่อไปทำอะไร แม้ว่าจะได้ทุนหรือไม่ก็ตาม
2.ต้องมองประโยชน์การทำงานของเราที่เกิดกับชุมชนเป็นที่ตั้ง และทำงานแบบบูรณาการร่วม
3.ต้องมีความต่อเนื่อง 3 ปีของต้นกล้าชุมชน มูลนิธิเอสซีจี ถือว่าเป็นเวลาไม่น้อยที่จะเกิดผล เห็นว่า การสร้างตัวตนในพื้นที่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะมีความไว้เนื้อเชื่อใจของผู้ใหญ่ และเด็กๆ ในชุมชน เช่น ขณะนี้ในนครนายก หากนึกถึงกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็จะเป็นกลุ่มใบไม้
4.ต้องมองความเป็นไปของชุมชนด้วยว่าเขาต้องการหรือมีปัญหาอะไร ต้องช่วยกันแก้ไขอย่างไร
“วันนี้การที่ผมเป็นต้นกล้าฯ ช่วยทำให้ผมมีตัวตนในพื้นที่มากขึ้น และเราสามารถสร้างเยาวชนในพื้นที่ได้โดยเดินหน้าคุยกับครูในโรงเรียนที่นครนายก ค้นหาเด็กๆ ชวนเด็กๆ มาร่วมกิจกรรม ได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนเล็กๆ แนวชายขอบของจังหวัดนครนายก ซึ่งกลุ่มใบไม้จะใช้รูปแบบกิจกรรมนำ จัดค่าย 3 วัน 2 คืนเดินป่า ดูนก จนกระทั่งสร้างกลุ่มเยาวชนนครนายกเป็นเครือข่ายเยาวชนท้องถิ่นรักษ์สิ่งแวดล้อม เราจะพยายามสร้างให้เครือข่ายมีความเข้มแข็งต่อไป”