“๕ ธันวา ตามรอยพระราชา” เรียนรู้ศาสตร์แห่งแผ่นดิน ที่ชุมชนบ้านศาลาดิน

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) มูลนิธิชัยพัฒนาฯลฯ ร่วมสืบสานศาสตร์พระราชา จัดกิจกรรม “๕ ธันวา ตามรอยพระราชา” ผ่านการเรียนรู้ของชุมชนบ้านศาลาดิน ที่น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาสู่เกษตรทฤษฏีใหม่นำมาปฏิบัติพลิกฟื้นชีวิตเกษตรกรที่อยู่ยั่งยืนอย่างมีความสุข

 

 

ปนัดดา เจณณวาสิน กรรมการรองผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด ถ่ายภาพร่วมกับดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี

 

ปนัดดา เจณณวาสิน กรรมการรองผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด กล่าวว่าตรีเพชรอีซูซุเซลส์ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่ง ในการผลักดันให้เกิดโครงการ “๕ ธันวา ตามรอยพระราชา” ขึ้น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชาอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เพียงอ่านผ่านหน้ากระดาษและตัวอักษร แต่ได้มาสัมผัส เรียนรู้วิถีชีวิตของปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ซึ่งนำเอาศาสตร์พระราชา สิ่งที่พระองค์ทรงสอน มาปฏิบัติกับการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนจนถึงทุกวันนี้

“ เราได้ดำเนินการและสนับสนุนกิจกรรมปรัชญาแห่งความพอเพียงซึ่งถือว่าเป็นมรดกอันล้ำค่าที่ในหลวง ร.9 ได้ทรงพระราชทานให้แก่ประชาชนชาวไทย วันนี้คนไทยมีโครงการเดินตามรอยพระราชาเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว และจะมีอีกหลายเส้นทางในโครงการนี้ พร้อมที่จะพาให้คนไทยได้เดินทางไปเรียนรู้ศาสตร์ของพระราชาจนครบ 81 เส้นทาง”

 

รศ.นพ.สุริยเดว และ ป้าแจ๋ว 1 ในปราชญ์ชาวบ้านแบ่งปันเรื่องราวการน้อมนำศาสตร์พระราชา

 

ด้าน รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวถึงความป็นมาของโครงการ “หนังสือเดินทางตามรอยพระราชา” ว่า

“องค์ความรู้ต่าง ๆ ของในหลวง ร.9 มีหลากหลายมากทั้งเรื่องกิน เรื่องน้ำ การดำเนินชีวิต และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้เป็นที่น่าเสียดายมากถ้าเราไม่เก็บรวบรวมเอาไว้ เพื่อสื่อสารให้เยาวชนคนรุ่นหลังได้ทราบถึงพระมหากรุณาธิคุณและรับรู้ถึงพระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงพระราชทานให้กับคนไทย เราเลยมีแนวคิดที่จะทำเป็นหนังสือคู่มือขึ้นมา ที่สำคัญนอกจากรวบรวมองค์ความรู้เหล่านี้ให้ถูกต้องและเป็นหมวดหมู่ สิ่งที่สคัญคือการนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปเผยแพร่ให้คนรุ่นใหม่ได้รับรู้ ทราบซึ้งกับสิ่งที่พระองค์ทรงทำให้กับคนไทย “

 

วันชัย สวัสดิ์แดง (ซ้าย) ประธานกลุ่มวิสาหกิจ กลุ่มผู้ใช้น้ำ บ้านศาลาดินบอกเล่าเรื่องราวการปรับใช้ศาสตร์พระราชา

 

ชุมชนบ้านศาลาดินแห่งนี้ เป็น 1 ใน 9 เส้นทาง 81 แหล่งเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์มีชีวิต โครงการในพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ทรงพระราชทานพื้นที่กว่า 1,009 ไร่ ให้ชาวบ้านและเกษตรกรยากไร้ ได้มีพื้นที่ทำกิน จนก่อเกิดเป็นชุมชนริมคลองมหาสวัสดิ์ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณ และศาสตร์ของพระราชา

วันชัย สวัสดิ์แดง ประธานกลุ่มวิสาหกิจ กลุ่มผู้ใช้น้ำบ้านศาลาดิน เกิดและเติบโตมากับชุมชนนี้ เล่าถึงที่มาของชุมชนฯว่าเมื่อปี 2518 ในหลวง รัชกาลที่ 9 พระราชทานที่ส่วนพระองค์ในคลองมหาสวัสดิ์ให้แก่เกษตรกรทำกิน ครอบครัวละ 20 ไร่ จำนวนทั้งสิ้น 1,009 ไร่ โดยผ่านการปฏิรูปที่ดินจากสปก. เพื่อให้เกษตรกรมีที่ทำกิน เป็นมรดกชั่วลูกหลาน

 

นั่งเรือชมวิถีชีวิตของชุมชนบ้านศาลาดินที่ต้องอาศัยน้ำจากคลองสวัสดิ์เพื่อทำการเกษตร

 

“ก่อนหน้านี้คลองมหาสวัสดิ์มีแต่ผักตบชวาเต็มไปหมด น้ำก็เน่าเสีย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ได้เข้ามาให้คำแนะนำเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ให้มีกระบวนการทางความคิด คือ ใช้ข้อมูล, บันทึก ,พึ่งตนเอง , ลงมือทำ , คิดอย่างเชื่อมโยง ,ทำเป็นต้นแบบก่อน แล้วค่อยขยายผลและที่สำคัญคือปรับตามภูมิสังคม”

หลังจากชาวบ้านชุมชนศาลาดินได้น้อมนำคำสอนตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ตามความถนัดของแต่ละคน ทุกครัวเรือนจึงมีผลผลิตทางการเกษตรเลี้ยงตัวเองทำให้ชีวิตสบายขึ้น ปัจจุบันนชุมชนศาลาดินกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่มีความหลากหลาย และเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ให้นักท่องเที่ยวมาสัมผัสวิถีชีวิตเกษตกรที่ดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน

สำหรับกิจกรรมของชุมชนบ้านศาลาดินเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้มี 4 ฐานกิจกรรม ได้แก่

 

“เมี่ยงวกลีบบัว” หนึ่งในเมนูขึ้นชื่อของสวนป้าแจ๋ว ซึ่งส่วนประกอบทั้งหมดเป็นของที่ปลูกภายในชุมชนบ้านศาลาดิน

 

1. สวนผลไม้และนาข้าว เรียนรู้วิถีชีวิตชาวสวนชาวสวนจากป้าแจ๋วปราชญ์ของชุมชน พร้อมนั่งรถอีแต๋นเที่ยวชมนาข้าว พร้อมลิ้มรสผลไม้สดจากสวนที่มีให้รับประทานอย่างหลากหลายตลอดทั้งปี ร่วมกิจกรรมทำข้าวตูแสนอร่อย และชิม “เมี่ยงกลีบบัว” จากวัตถุดิบในสวนที่แปลงมาเป็นเมนูสุขภาพ

2. เยี่ยมชมนาบัวลุงแจ่ม ซึ่งปลูกสัตตบงกชที่สร้างรายได้ให้ทั้งจากการขายดอกบัว เลี้ยงปลาในนาบัว และการปลูกพืชผักรอบนาบัว พร้อมทั้งร่วมกิจกรรมพับดอกบัวถวายเป็นราชสักการะหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

 

นาบัวลุงแจ่ม

 

3. บ้านฟักข้าว ของขนิษฐา พินิจกุล ที่ทำสวนฟักข้าวริมคลองมหาสวัสดิ์ และนำมาแปรรูปเป็นน้ำฟักข้าว ซอสเย็นตาโฟ คุกกี้ฟัก หมี่กรอบฟักข้าว พร้อมฟังการร้องเพลงแหล่เสียงหวาน ๆ ของเจ้าของสวน

 

4. ปิดท้ายที่บ้านข้าวตัง เรียนรู้วิถีชุมชนที่น้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ พร้อมชมการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ บ้านศาลาดินมีผลิตภัณฑ์ข้าวตังจากข้าวกล้องหอมมะลิและข้าวไรซ์เบอรี่โดยกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรมหาสวัสดิ์ และยังมีผลิตภัณฑ์อื่นอีกหลายชนิด

 

บ้านสวนฟักข้าว ของขนษฐา พินิจกุล ที่ปลูฟักข้าวและแปรรูปมาทำเป้นผลิตภัณฑ์ขาย

 

นอกจากนี้ยังมีการให้ความรู้ทางการเกษตร เช่น การแปรรูปผลไม้ตามฤดูกาล โดยใช้โรงแสงอาทิตย์ การทำผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา รวมถึงมีพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ที่มูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์เปิดให้เป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ด้านการจัดการน้ำชุมชน นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมโครงการยังได้ลองลงมือทำข้าวตังด้วยตัวเองอีกด้วย

การเรียนรู้ที่ชุมชนบ้านศาลาดินในวันนี้เป็นเพียงหนึ่งใน โครงการตามพระราชดำริ ซึ่งมีอยู่ ทั่วประเทศรวมกว่า 4 พันโครงการ เพื่อสืบสานปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช ที่ทรงให้ความสำคัญกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาตลอดระยะเวลา 70 ปี ที่ทรงอยู่คู่ปวงชนชาวไทย

Stay Connected
Latest News

KCG เปิดวิสัยทัศน์ CEO คนใหม่ ‘ดำรงชัย วิภาวัฒนกุล’ สร้างการเติบโตที่มั่นคง ยั่งยืน และพร้อมสู่อนาคตที่กำลังเปลี่ยนแปลง ทรานส์ฟอร์มองค์กร สานต่ออาณาจักรอาหารสไตล์ตะวันตก เนยและชีส