Smart Patrol ปฏิบัติการฝึกหน่วยลาดตระเวนรักษาป่า

เสียงปืนดังอย่างต่อเนื่องในป่าใหญ่ของอุทยานแห่งชาติคลองลาน ครั้งนี้ไม่ใช่การจับกุม “ ผู้บุกรุกป่า” แต่เป็นการฝึก ranger patrol หรือ “เจ้าหน้าที่ลาดตระเวน” เพื่อเสริมสร้างทักษะการใช้อุปกรณ์ที่ทันสมัยเพื่อจับกุมผู้กระทำผิด ฯลฯ.  

 

การฝึกซ้อมยิงปะทะกับผู้บุกรุกป่า ในโครงการ Smart Patrol

 

ปีนี้เป็นปีที่ 5 แล้วที่ บริษัท บี.กริม ร่วมกับ WWF ประเทศไทย เข้ามาจัดโครงการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) ให้กับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อเสริมทักษะให้แก่เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน จำนวน 39 คน ภายใต้ “โครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน จ.นครสวรรค์ และ จ.กำแพงเพชร”

ดร.รุ้งนภา พูลจำปา ผู้จัดการโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง อุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF-ประเทศไทย) กล่าวถึงโครงการฝึกอบรมครั้งนี้ว่า

“ ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพหรือ Smart Patrol เป็นส่วนหนึ่งในโครงการอนุรักษ์เสือโคร่ง ซึ่งเน้นในเรื่องการเสริมสร้างการป้องกันให้เข้มแข็ง ในด้านการใช้เทคโนโลยี สอนให้เจ้าหน้าที่ลาดตระเวน ใช้ GPSและเครื่องมือทันสมัยเพื่อใช้ในการเก็บข้อมูลเสือโคร่งที่มีอยู่ในพื้นที่อุทยาน รวมถึงใช้ในการหาหลักฐานจับกุมผู้บุกรุกป่า”

 

 

พิธีเปิดการฝึกอบรมโครงการ Smart Patrol และมอบอุปกรณ์เพื่อเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน จากซ้ายสุระชัย โภคะมณี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ คลองลาน , ธวัชชัย เพชระบูรณิน ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ ,ดร.รุ้งนภา พูลจำปา ผู้จัดการโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง,กิตติพัฒน์ ธาราภิบาล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และเจ้าหน้าที่จากบี.กริม

 

บี.กริม ซึ่งเป็นองค์กรที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมานานกว่า 140 ปี ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่า และพร้อมให้การสนับสนุนช่วยเหลือเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู ส่งต่อให้กับคนรุ่นหลังต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทฯได้ให้ความสำคัญในการอนุรักษ์เสือโคร่ง เพราะในศตวรรษที่ผ่านมา จำนวนประชากรเสือโคร่งในผืนป่ารอบโลกลดลงอย่างน่าใจหาย

 

ทางบี.กริม จึงได้ให้การสนับสนุนโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง ร่วมกับ WWF-ประเทศไทย โดยเน้นการสร้างเสริมประสิทธิภาพและเทคนิคการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าติดต่อกันเป็นระยะมากว่า 4 ปีแล้ว โดยวัตถุประสงค์หลักของโครงการคือเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในผืนป่าของไทย เพราะการมีเสือโคร่งในผืนป่า คือ ดัชนีชี้วัดที่บอกได้ว่าผืนป่าของประเทศไทยนั้นอุดมสมบูรณ์

 

 

 

ปัจจุบันประชากรเสือโคร่งมีจำนวนลดลงจากในอดีต เหลือประมาณ 3,890 ตัว จาก 13 ประเทศทั่วโลก ส่วนประเทศไทย มีประชากรเสือโคร่งอยู่ประมาณ 150 – 200 ตัว ซึ่งอุทยานแห่วงชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน มีเสือโคร่งอยู่ประมาณ 10 ตัว

 

“การนำเทคนิคลาดตระเวนเชิงคุณภาพมาอบรมแก่เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า โดยช่วยให้เจ้าหน้าที่มีความรู้ ความมั่นใจในการปฏิบัติงานซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งสุดท้ายจะสามารถช่วยในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดต่อทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า โดยเฉพาะเสือโคร่งซึ่งถือป็นสัตว์ที่ถูกคุกคามและมีประชากรลดลงอย่างต่อเนื่อง” ดร.รุ้งนภา กล่าวเสริม

 

 

 

 

แม้ว่ากรมอุทยานฯ จะมีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่อยู่บ่อยครั้ง แต่เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่จำนวนมากตามพื้นที่อุทยานต่าง ๆ การอบรมจึงไม่ทั่วถึง  ดังนั้นทุกปีบริษัท บี.กริมจะใช้งบประมาณ 5 ล้านบาท เพื่อใช้ในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนและซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นในการดูแลผืนป่า ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภาระกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงการเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง ในเขตอุทยานแห่งชิตแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน

 

โดยธวัชชัย เพชระบูรณิน ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 นครสวรรค์ กล่าวถึงความสำคัญของการฝึกอบรมหลักสูตร Smart Portal ว่า

 

 

 

 

“สมัยก่อนเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนจะเดินสำรวจป่าแบบไม่จุดหมาย แต่การลาดตระเวนเชิงคุณภาพจะสอนแบบกำหนดเส้นทางเดินให้แก่เจ้าหน้าที่เพื่อให้เดินสำรวจไปตามแผนที่เราวางไว้ เป็นการสำรวจได้อย่างทั่วถึง มีประสิทธิภาพ เป็นเรื่องของการเก็บข้อมูลของสิ่งที่พบเช่น ร่องรอยสัตว์ พันธุ์ไม้หายาก รอยกระสุนปืน ปางที่พัก เราเก็บทั้งหมดเพื่อนำมาวิเคราะห์ และเราจะนำข้อมูลจากการเดินลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่ทั้งเดือนมาประชุมกันเดือนละครั้งเพื่อตรวจสอบว่ายังมีปัจจัยคุกคามหรือไม่ สำรวจร่องรอยการเคลื่อนย้ายของสัตว์ป่า เก็บข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามจากพวกต่างถิ่นที่มารุกราน เพื่อนำมาวางแผนว่าจุดไหนที่ยังมีภัยคุกคาม เราก็จะเพิ่มความถี่ในการลดาตระเวนมากขึ้น”

 

โครงการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) ใช้เวลา 5 วันในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนรุ่นใหม่จำนวน 39 คน โดยได้รับการอนุเคราะห์เจ้าหน้าที่จากกองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจภูธร ภาค 3 และกองบังคับการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน มาเป็นวิทยากรอบรมในครั้งนี้

 

ซึ่งเนื้อหาในการฝึกเพื่อลดโอกาสในการบาดเจ็บขั้นร้ายแรงหรือเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงเสริมสร้างความเข้มแข็ง ระเบียบวินัย และสมรรถนะทางด้านร่างกาย-จิตใจ ให้เจ้าหน้าที่ลาดตระเวน ซึ่งต้องรับมือกับผู้กระทำผิดที่มีวิธีการกระทำผิดที่แปลกใหม่และรุนแรงมากขึ้น การฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างทักษะการใช้อุปกรณ์และการจับกุมผู้กระทำผิด มุ่งเน้นให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย เกิดจิตสำนึกและทัศนคติที่ดีต่อการลาดตระเวน

 

 

 

 

เฉลิมฤทธิ์ ม่านเมือง ตำแหน่งคนงานอุทยานแห่งชาติคลองลาน อยู่ในอาชีพลาดตระเวนมา 21 กล่าวถึงหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนว่า

 

“ เจ้าหน้าที่ป่าไม้เสี่ยงอันตรายมาก เพราะทุกครั้งที่เข้าป่าไปลาดตระเวน เราไม่รู้ว่าจะต้องเจออะไรบ้าง ในป่าไม่ใช่จะเจอเฉพาะคนที่กระทำความผิดเท่านั้น เราอาจเจออุบัติเหตุ สัตว์ร้าย สัตว์ป่ามีพิษ การทำงานลาดตระเวนจึงต้องระวังตัวเป็นพิเศษ”

 

เฉลิมฤทธิ์ ม่านมูลและลูกชายพีรพัฒน์ ม่านมูล

แม้เฉลิมฤทธิ์ จะมองว่าอาชีพลาดตระเวนเสี่ยงอันตราย แต่ในวันนี้ พีรพัฒน์ ม่านมูล ลูกชายคนโตของเขาก็ตัดสินใจสมัครเข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนเหมือนพ่อ และเป็นหนึ่งใน 39 คนของผู้เข้ารับการอบรมในรุ่นนี้ ซึ่งเขากล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า

“ อยากให้ลูกมาสืบสานเจตนารมของผมคือรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้สืบต่อไปยังรุ่นลูกหลาน”

Stay Connected
Latest News