เบื้องหน้า “ฝายชะลอน้ำ” คือความหลากหลายทางชีวภาพ สังคมของพืชและสัตว์ป่า

การบุกรุกพื้นที่ป่าในรูปแบบต่างๆ รวมถึงทำเป็นพื้นที่ทางการเกษตรและปศุสัตว์ ส่งผลให้แหล่งน้ำที่สัตว์ป่าใช้ดำรงชีวิตหายไป ซึ่งหลังจากมีการสร้าง “ฝายชะลอน้ำ” ขึ้นมาแล้วพบการกลับมาของสัตว์ป่าและพืชพันธุ์หายาก สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ให้เกิดขึ้น


ความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้คงไม่ต้องอธิบายกันมาก เช่นเดียวกับเรื่องราวของป่าที่ถูกทำลายในรูปแบบต่างๆ สิ่งที่ตามมาคือ นอกจากจะไม่เห็นสัตว์ป่าแล้ว ยังเห็นสัตว์ป่าต้องออกไปหา “แหล่งน้ำ” อื่นทดแทน โดยส่วนหนึ่งมักจะออกนอกเขตป่าไปใช้แหล่งน้ำที่ชุมชนอาศัยอยู่ใกล้เขตป่า ทำให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรกรรมของชุมชน

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เพียงสัตว์ป่าเท่านั้นที่อยู่ในสภาพความหลากหลายทางชีวภาพเปลี่ยนไป หากแต่ชุมชนที่อยู่รอบป่า ซึ่งเคยอยู่ร่วมกับป่าเสมือนป่าเป็น “ซูเปอร์มาร์เก็ต” ให้เลือกพืชผักตามธรรมชาติขนาดใหญ่ ก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน เพราะพืชพรรณในป่าเริ่มหาได้น้อยลง กลายเป็นปัญหาปากท้องขึ้นมาทันที

ปัญหาที่เกิดขึ้นข้างต้น จึงเป็นที่มาของงานวิจัยในเชิงวิชาการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) “โครงการตรวจติดตามตรวจสอบทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ฝายอย่างยั่งยืน ระยะที่ 2” โดยมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรีร่วมกับเอสซีจี จัดทำโดย ผู้ช่วยศาตราจารย์ ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และนายสุภัทร ประสพศิลป์ ซึ่งมี “รายงาน” 2 หัวข้อประกอบด้วย

การศึกษาฝายและการใช้ประโยชน์จากฝายเพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับและใช้เป็นแหล่งน้ำของสัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก (Small Mammals)และสัตว์ในกลุ่มนก (Avian Group)

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า “แหล่งน้ำ” เป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับสัตว์ป่า และเมื่อแหล่งน้ำขาดหายไปตามสภาพแวดล้อมภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป หรือแม้กระทั่งการบุกรุกพื้นที่ป่า ส่งผลให้สัตว์ป่าต้องหาแหล่งน้ำใหม่ๆ จนกระทั่งอาจจะไม่พบสัตว์ป่าที่เคยมีอยู่อีกเลย ซึ่งย่อมส่งผลเสียต่อระบบนิเวศรวมถึงงานอนุรักษ์และงานวิชาการ

ถึงแม้เราจะทราบว่า “แหล่งน้ำ” สำคัญมาก แต่ไม่มีใครรู้ว่า หากเป็น “แหล่งน้ำชั่วคราว” ซึ่งเป็นผลพลอยได้มาจากการสร้างฝายชะลอน้ำนั้น จะช่วยให้สัตว์ป่ารู้ได้หรือไม่ว่ามีแหล่งน้ำใหม่เกิดขึ้น อีกทั้งสัตว์ป่าชนิดใดจะเข้ามาใช้แหล่งน้ำดังกล่าวนี้เป็นประเภทแรก รวมถึงมาใช้บ่อยเพียงใด

ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้เลือกศึกษาชนิด ปริมาณ และการกระจายตัวของสัตว์ป่าในพื้นที่ศึกษา รวมถึงประโยชน์ของฝายต่อสัตว์ และปริมาณการใช้ประโยชน์จากฝายเปรียบเทียบกับแหล่งน้ำถาวรในธรรมชาติ เพื่อวางแผนการบริหารจัดการฝายที่ถูกสร้างขึ้นและจัดการพื้นที่เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ให้คงอยู่ในพื้นที่นั้นต่อไปโดยใช้อุปกรณ์เช่น กล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า เป็นการสำรวจทางอ้อม ส่วนการสำรวจทางตรงใช้เครื่องบอกตำแหน่งพิกัดทางภูมิศาสตร์ในการทำงานระหว่างการเดิน

ผลที่เกิดขึ้นมี 2 ความรู้สึกคือ

1. มีประชาชนโดยรอบพื้นที่ศึกษาได้บุกรุกเข้ามาล่าสัตว์ป่าโดยใช้อาวุธปืน และสภาพพื้นที่ที่เป็นป่าไผ่ซึ่งเป็นป่าธรรมชาตินั้น ยังเป็นแหล่งหาของป่า โดยเฉพาะหน่อไม้ป่าที่ประชาชนเข้ามาเก็บหาในช่วงฤดูฝน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างมาก

2. พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ยังมีความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหาร และมีความหลากหลายของสัตว์ป่าแห่งหนึ่งในประเทศ เพราะผลสำรวจพบว่าพบสัตว์ป่า จำนวน 10 ชนิด ได้แก่ 1. นิ่ม 2. หมาใน 3. สุนัขจิ้งจอก 4. เสือลายเมฆ5. แมวดาว 6. อีเห็นธรรมดา 7. กระรอกปลายหางดำ 8. ไก่ป่า 9. ไก่ป่าหลังเทา และ 10. ตะกวด ซึ่งสัตว์ป่าที่พบล้วนมีความสำคัญต่อระบบนิเวศทั้งสิ้น และจากการศึกษาครั้งนี้ทำให้ได้พบสัตว์ป่าหายาก ซึ่งพบได้น้อยมาก และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จำนวน 2 ชนิด คือ ตัวนิ่ม และเสือลายเมฆ สัตว์ทั้ง 2 ชนิดนี้ แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพที่กลับมาได้จริงจัง จากแหล่งน้ำชั่วคราว หรือฝายชะลอน้ำที่ชุมชนร่วมกันสร้างไว้ สามารถใช้เป็นดัชนีชี้วัดได้อย่างหนึ่งว่า พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรีสมบูรณ์มาก

@ ป่า ม.มหิดล กาญจนบุรี (บนซ้ายไปขวา) ตัวนิ่ม เสือลายเมฆ (ล่างซ้ายไปขวา) ไก่ป่าและไก่หลังเทา

จากการตั้งกล้องดักถ่ายภาพทั้งหมด 6 ตัว ถ่ายภาพได้ 922 ภาพ บริเวณฝายของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี สัดส่วนสัตว์ป่าที่ถูกถ่ายภาพได้มากที่สุด คือ ไก่ป่า โดยถูกถ่ายได้จากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าทุกตัว และพบมากที่สุดในช่วงเดือนตุลาคม และสัตว์ป่าที่ถูกถ่ายภาพได้น้อยที่สุด เพียงครั้งเดียว ได้แก่ หมาใน สุนัขจิ้งจอก ตะกวด และตัวนิ่ม

ในเชิงวิชาการ ความหลากหลายทางชีวภาพ ก็คือวิถีของ “คนกับป่า” เช่นเดียวกัน

ผลพลอยได้ทางเศรษฐศาสตร์ของชุมชนในพื้นที่การสร้างฝายชะลอน้ำ บริเวณ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี

ดังได้กล่าวไว้ข้างต้น ถึงวิถีที่มีอย่างยาวนานระหว่าง “คนกับป่า” เป็นการพึ่งพิงกันและกัน แต่เมื่อความหลากหลายทางชีวภาพในป่าใหญ่หายไป ทุกคนพร้อมใจที่จะฟื้นฟูแหล่งอาหารหรือแหล่งปัจจัยสี่ของพวกเขากลับมาอีกครั้ง และการขออนุมัติจัดตั้งป่าชุมชนจึงเกิดขึ้น ซึ่งป่าจะถูกดูแลรักษาโดยคนในชุมชน และการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่าจึงเกิดขึ้น

การศึกษา 4 ชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยครั้งนี้จึงให้ความสำคัญในเรื่องของการบริหารจัดการและการเข้าไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้จากป่าชุมชน โดยตั้งสมมติฐานของการศึกษาไว้ว่าพืชป่าหลายชนิดที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ภายในครัวเรือนนั้นมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของผู้คนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปากท้องและรายได้เสริม

แฟนเพจเอสซีจีช่วยกันขนหินไปสร้างฝาย ความภาคภูมิใจเมื่อฝายเสร็จ ร่วมเรียนรู้ที่สถานีฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ

จากการศึกษาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพืชของชุมชนท้องถิ่น ที่มีผลต่อเนื่องมาจากการสร้างฝายชะลอน้ำพบว่ามีการใช้ประโยชน์จากพืช 27 วงศ์ 53 สกุล 65 ชนิด และพืชที่อยู่ในวงศ์ขิงมีการนำมาใช้มากที่สุด รองลงมาเป็นพืชวงศ์ถั่ว และ ไผ่ ซึ่งพืชในวงศ์ไผ่ที่ชาวบ้านให้ความสำคัญมากที่สุดคือพืชวงศ์หญ้า(ไผ่) และวงศ์ผักหวาน เป็นพืชที่สร้างรายได้เสริมให้กับคนในชุมชนและจัดเป็นพืชอาหารที่มีความสำคัญมากในการดำรงชีวิต

หากแยกออกมา พืชในวงศ์ผักหวาน และหน่อไม้ไผ่ชนิดต่างๆ นำมาแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่า ผักหวานก็นำมาประกอบอาหาร และขายในช่วงฤดูกาลแต่อย่างไรก็ตาม ชุมชนได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมหลังจากเห็นผลจากการสร้างฝายโดยนอกจากพืชพันธุ์ที่หาได้จะใช้ทำอาหารในครอบครัวแล้ว ยังแบ่งขายสร้างรายได้อย่างดี

“แค่คนในชุมชน 1 คน เดินเข้าป่าไปเก็บหน่อไม้เพียง 2 กระสอบปุ๋ย สามารถสร้างรายได้ให้ถึง 300 บาทต่อวัน หรือประมาณ5,000 – 6,000 บาทต่อเดือน ส่วนรายได้ของชุมชนที่มาจากการขายหน่อไม้ เห็ดโคน พืชสมุนไพร ไม้ใช้สอยในครัวเรือน มากถึง 4,000,000 บาทต่อปียิ่งไปกว่านั้น ไม่น่าเชื่อว่าเพราะการที่ชุมชนช่วยกันลงแรง ร่วมใจกันสร้างฝายชะลอน้ำ จะทำให้ชุมชนบ้านยางโทนของเรามีโอกาสพูดคุยกัน เข้าใจกัน และรักสามัคคีกันมากขึ้น” ประธานป่าชุมชนแถบมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจบุรี เล่าถึงสิ่งที่ตามมาหลังจากมีฝายชะลอน้ำ

แต่อย่างไรก็ตาม ชุมชนยังต้องการความช่วยเหลือจากทางรัฐมาช่วยสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรส่วนท้องถิ่น ที่จะช่วยสนับสนุนในด้านกิจกรรมต่างๆ เพราะยังขาดความรู้ด้านการใช้ประโยชน์จากพืชที่ถูกต้อง ส่วนหนึ่งคนส่วนใหญ่ย้ายมาจากอ่างทองและพื้นที่ต่างๆ และคนที่มีความรู้ทางด้านพฤกษศาสตร์พื้นบ้านมีน้อยมาก และการถ่ายทอดสู่รุ่นปัจจุบันนั้นอาจทำได้ยากขึ้น จึงควรจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ขึ้นมา เพื่อให้เด็กรุ่นหลังๆได้เข้าไปศึกษาหาความรู้

เอสซีจีได้น้อมนำและสืบสานพระราชดำริ “จากภูผา สู่มหานที”เป็นแนวทางในการรักษาดูแลจัดการน้ำให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ที่เข้าไปดำเนินการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำในพื้นที่กว่า 20 จังหวัดทั่วประเทศไทยผ่านกระบวนการสร้างความรัก ความเข้าใจ และส่งเสริมให้ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันอย่างแท้จริง

ฝายจากความร่วมมือของผู้บริหารเเละเครือข่าย

 

ทั้งนี้ บริษัท สยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด ธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี มีฐานสำคัญในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ได้ทำงานเรื่องสร้างฝายกับชุมชนตั้งแต่ปี 2552 เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่แห้งแล้งจากการแผ้วถางป่าโดยร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ในการดำเนินโครงการ การติดตามตรวจสอบทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการจัดการฝายอย่างยั่งยืน และในปัจจุบัน ได้ร่วมมือทางวิชาการต่อยอดสู่ “สถานีเรียนรู้ฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ” เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชน ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ซึ่งมีการวางแผนจะสร้างฝายชะลอน้ำให้ครบ จำนวน 500 ฝาย ในปี 2561นี้

Stay Connected
Latest News